คอลัมนิสต์

เข้าใจม็อบ ฮ่องกง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เข้าใจม็อบ"ฮ่องกง" คอลัมน์... รู้ลึกกับจุฬาฯ

 


   
          สถานการณ์การประท้วงในฮ่องกงยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ นับตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนจนถึงตอนนี้นับเป็นเวลากว่า 11 สัปดาห์ที่เหล่าผู้ชุมนุมยังรวมตัวในที่สาธารณะ ล่าสุดเมื่อต้นเดือนสิงหาคม การประท้วงยังลุกลามไปถึงระดับการปิดสนามบิน ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวตกค้างในสนามบินเป็นจำนวนมาก

 

 

          ในการนี้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้จัดเสวนาวิชาการในหัวข้อ “ฮ่องกง : ทำไมต้องประท้วง” ขึ้นเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม ที่ผ่านมา เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่รวมถึงโครงสร้างกฎหมายที่เป็นต้นตอของปัญหาดังกล่าว


          อ.ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจีนเล่าว่า การประท้วงฮ่องกงขณะนี้เป็นผลจากการพยายามผ่านกฎหมายการส่งผู้ร้ายข้ามแดนของคณะผู้ปกครองฮ่องกงแต่งตั้งโดยจีน โดยเป็นกรณีสืบเนื่องจากคดีคู่รักหนุ่มสาวชาวฮ่องกงไปเที่ยวไต้หวัน ชายหนุ่มฆ่าแฟนสาวตัวเองและหนีกลับมาฮ่องกง

 

 

เข้าใจม็อบ ฮ่องกง

ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร

 


          “การกระทำความผิดเกิดขึ้นที่ไต้หวัน แต่ฮ่องกงไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายกับไต้หวัน ทางเลือกมีสองทางคือ 1.ทำสัญญากับไต้หวัน ซึ่งทำไม่ได้เพราะฮ่องกงอยู่ภายใต้จีน หรือ 2.ทำสนธิสัญญากับจีน ซึ่งก็ไม่เคยสำเร็จมาตั้งแต่ปี 1997 เพราะคนฮ่องกงไม่เชื่อมั่นระบบยุติธรรมของจีน”


          ที่ผ่านมาทางออกที่นักกฎหมายฮ่องกงเลือกใช้คือให้ฮ่องกงส่งคนร้ายข้ามแดนเป็นกรณีๆ ไป แม้ว่าจะไม่มีสนธิสัญญาคู่กันระหว่างประเทศก็ตาม จุดเริ่มต้นของการประท้วงมาจากการที่คนฮ่องกงเชื่อว่ากฎหมายนี้จะเปิดโอกาสให้ส่งผู้ร้ายในคดีการเมืองของจีนที่ลี้ภัยมาฮ่องกงกลับไปยังจีนได้ และกลัวอิทธิพลที่จีนจะแทรกซึมการควบคุมมากขึ้นเรื่อยๆ




          “คนฮ่องกงไม่เชื่อมั่นระบบยุติธรรมจีน ในสายตานักวิชาการฝรั่ง ศาลจีน 90 เปอร์เซ็นต์ไม่มีปัญหา แต่ถ้าเป็นคดีการเมืองเมื่อใดก็ตามรัฐบาลหรือพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะมีธงในใจชัดเจนอยู่แล้วว่าต้องจัดการกับกรณีนี้อย่างไร และศาลก็ต้องทำตามที่พรรคบอก” ทำให้ในวันที่ 9 มิถุนายน มีผู้ประท้วงกฎหมายฉบับดังกล่าวกว่าล้านคน


          อาจารย์อาร์มอธิบายว่า ระบบการปกครองของจีนและฮ่องกงถูกเรียกว่า 1 ประเทศ 2 ระบบ เป็นนวัตกรรมที่คิดค้นโดยรัฐบาลจีนให้ทั้ง 2 แห่งมีกฎหมายต่างกัน กฎหมายฮ่องกงเป็นอิสระจากการควบคุมของรัฐบาลปักกิ่ง ขณะที่รัฐบาลจีนจะดูแลแค่ด้านการทหารและด้านการต่างประเทศเท่านั้น


          “ความพิเศษคือความไม่ชัดเจน ธรรมนูญฮ่องกงชี้ว่าเป้าหมายในท้ายสุดคือฮ่องกงจะต้องมีสิทธิเลือกตั้งสภานิติบัญญัติและผู้บริหารฮ่องกง แต่ไม่บอกว่าจุดหมายนี้ต้องสำเร็จในปีไหน ปี 2014 เกิดการประท้วงล่มก็เพราะรัฐบาลให้เลือกตั้งผู้บริหารที่ผ่านจีนคัดกรองก่อน คนเลยไม่พอใจ”


          อาจารย์อาร์มชี้ว่าขณะนี้สถานการณ์การชุมนุมยังมีความยืดเยื้อทั้งสองฝ่ายไม่เชื่อใจซึ่งกันและกัน และรับข้อมูลข่าวสารแต่ฝั่งตนเอง ฝั่งผู้ประท้วงมองว่ารัฐบาลทำเกินกว่าเหตุ มีการใช้ความรุนแรง ขณะที่ฝั่งรัฐบาลมองว่ามีการยั่วยุให้เกิดความุรนแรงตลอด


          รศ.ดร.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ จากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา อธิบายบริบทเชิงประวัติศาสตร์ว่าฮ่องกงไม่ได้ผ่านประวัติศาสตร์หลายอย่างแบบที่สาธารณรัฐประชาชนจีนหรือจีนแผ่นดินใหญ่เผชิญ เช่น ยุคปฏิวัติวัฒนธรรม และฮ่องกงมีลักษณะเป็นพื้นที่สีเทารับผู้ลี้ภัยมาแต่ดั้งเดิม

 

 

เข้าใจม็อบ ฮ่องกง

รศ.ดร.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์

 

 


          “เรามักจะเห็นฮ่องกงเป็นสถานที่รับผู้ลี้ภัยทางการเมืองมาตลอด สมัยนโยบายลูกคนเดียวในจีนเราจะเห็นเรื่องเล่าที่ครอบครัวที่ท้องลูกคนที่สองว่ายน้ำหนีมาฮ่องกง สมัยประเทศไทยปราบปรามคอมมิวนิสต์รุนแรงเราก็เห็นพวกนักธุรกิจใหญ่ของไทยถูกแรงกดดันจากไทยจนต้องหนีมาฮ่องกง เป็นต้น”


          ขณะเดียวกันวัฒนธรรมกวางตุ้งของคนฮ่องกงก็มีความเข้มแข็งและเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง คนฮ่องกงมีความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมตนเอง มรดกทางวัฒนธรรมของตนเอง และมักแบ่งแยกการถูกนำไปรวมกับชาวจีนในสาธารณรัฐประชาชนจีน


          “คนฮ่องกงใช้ภาษากวางตุ้งและกลัวว่าการใช้ภาษาจีนกลางจะกลืนวัฒนธรรมของเขา ไม่พอใจที่ภาษาราชการเป็นจีนกลาง และมักปฏิเสธการพูดภาษาจีนกลาง และด้วยการที่เคยเป็นอาณานิคมอังกฤษ ดังนั้นจะมีการเฟื่องฟูทางวัฒนธรรม ความคิด มีนักเขียน นักคิดชื่อดัง มีเสรีภาพในการแสดงออกความคิดเห็น เขาก็มองตัวเองว่าเป็นผู้มีอารยะ มีความภาคภูมิใจ และทำไมต้องถูกครอบงำจากจีนซึ่งวัฒนธรรมล่มสลายไปแล้วด้วย”


          ขณะที่ผ่านมารัฐบาลจีนเล็งเห็นว่าฮ่องกงเป็นเมืองทุนนิยม เป็นตลาดโลก และมีความพยายามสร้างความสัมพันธ์อันดีกับชนชั้นนำ ชนชั้นนายทุนในฮ่องกง ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำตามมา


          “ที่ผ่านมารัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ก็เอาใจนายทุนฮ่องกงมาก แต่หลงลืมคนข้างล่าง ทุกวันนี้นายทุนทั้งฮ่องกงและชนชั้นนำทางเศรษฐกิจของจีนซึ่งเข้ามาอยู่ทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ของฮ่องกงพุ่งสูง คนทำงานออฟฟิศไม่มีโอกาสเลื่อนฐานะทางเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำก็เป็นส่วนหนึ่งทำให้คนไม่พอใจจึงเกิดม็อบตามมา”


          อาจารย์วาสนายังระบุอีกว่า “จุดจบ” ของม็อบฮ่องกงไม่น่าจะถูกสลายด้วยการใช้กำลังจากรัฐบาลจีนเช่นเดียวกับกรณีเทียนอันเหมิน เพราะยุคสมัยปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปแล้ว และบริบทของสถานที่ต่างกัน


          “ถ้าจะใช้วิธีนี้แสดงว่าเป็นหนทางสุดท้ายคือจีนไม่เอาฮ่องกงแล้ว ไม่วางตำแหน่งให้ฮ่องกงเป็นเมืองท่าด้านเศรษฐกิจ ศูนย์กลางการเงินโลกอีกต่อไป เอาเข้าจริงขนาดเศรษฐกิจของเมืองเซี่ยงไฮ้หรือแม้แต่เสิ่นเจิ้นก็แซงฮ่องกงได้แล้ว แต่ท้ายที่สุดอะไรจะเกิดขึ้นเป็นเรื่องที่เดายากเพราะคอมมิวนิสต์จีนก็เคยทำเรื่องที่หักปากกาเซียนเรื่องที่คาดไม่ถึงมานักต่อนัก” อาจารย์วาสนาทิ้งท้าย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ