คอลัมนิสต์

เปิดโผชื่อ กก.สิทธิฯ..."พรรคฝ่ายค้าน"หายไปไหน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  ทีมข่าวรายงานพิเศษ

 

 


          ประเทศไทยมีองค์กรอิสระ “คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ” ก็เพราะคุณูปการของรัฐธรรมนูญปี 2540 หากจำกันได้ช่วงนั้น กรรมการรุ่นบุกเบิกออกมาลุยแสดงอิทธิฤทธิเรียกร้องต่อสู้เพื่อชาวบ้านที่ถูกรังแกและละเมิดสิทธิอย่างแข็งขัน จนกลายเป็นข่าวเด่นดังเกือบทุกวัน...ผ่านไป 22 ปี กลับกลายเป็นว่า “กรรมการ” โดนรังแกเสียเอง...

 

 

          กฎหมายกำหนดให้ “คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ” หรือ “กสม.” มีจำนวน 7 คน วาระดำรงตำแหน่ง 6 ปี จนถึงปัจจุบันนี้นับเป็นรุ่น 3 ซึ่งมาจากการคัดเลือกในยุค “คสช.” ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2558 แต่อยู่ด้วยกันไม่เท่าไร ก็มีข่าววงในสะพัดว่าทำงานขัดขาและขัดแย้งกันเอง


          เนื่องจาก “รัฐธรรมนูญ 2560” กำหนดให้มีการสรรหา “กสม.” ชุดใหม่รุ่น 4 ในระหว่างนั้นชุดเก่าก็ให้ปฏิบัติหน้าที่แทนไปก่อนจนกว่าจะได้ชุดใหม่ แต่การขัดแย้งเริ่มถึงจุดแตกหัก “กรรมการสิทธิฯ” บางคนขออนุญาตไขก๊อกลาออก 

 

 

เปิดโผชื่อ กก.สิทธิฯ..."พรรคฝ่ายค้าน"หายไปไหน

 


          เริ่มจาก “สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย” ลาออกวันที่ 5 เมษายน 2560 ตามมาด้วย "ชาติชาย สุทธิกลม” ลาออก 1 มิถุนายน 2562 จากนั้นก็ถึงจุดไคลแมกซ์เมื่อ “เตือนใจ ดีเทศน์” และ “อังคณา นีละไพจิตร” ยื่นหนังสือลาออกพร้อมกันเมื่อ 31 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ทำให้เหลือ กสม.ทำงานแค่ 3 คน กลายเป็นว่ามีจำนวนไม่ถึงครึ่งจากที่กำหนดไว้ 7 คน !


          ทำไมต้องไขก๊อกทิ้งทวนให้เป็นข่าวใหญ่ !
          ผู้ใกล้ชิดแวดวงกรรมการสิทธิฯ วิเคราะห์ให้ “คม ชัด ลึก” ฟังว่า การทำงานที่ผ่านมาของกรรมการสิทธิฯรุ่น 1 -2 ค่อนข้างจะเป็นอิสระ เพราะถือว่าทุกท่านมีเกียรติและศักดิ์ศรี สามารถทำงานได้ตามสไตล์ที่ตัวเองต้องการ เช่น ลงพื้นที่ไปหาชาวบ้าน ไปดูม็อบ ไปขึ้นเวทีสาธารณะ หรือแม้กระทั่งให้สัมภาษณ์นักข่าวในมุมมองความคิดของตัวเอง แต่ “กสม.รุ่น 3” ยุค “คสช.” มีสไตล์แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง เน้นการทำงานแบบเพ่งดูเอกสาร ไม่ค่อยมีความกระตือรือร้นที่จะเข้าไปแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิอย่างจริงจัง

 

 

เปิดโผชื่อ กก.สิทธิฯ..."พรรคฝ่ายค้าน"หายไปไหน



          ตัวอย่างเช่น กรณี “ปัญหาเจ้าสาวเบบี๋” หรือ “การออกใบอนุญาตแต่งงานเด็ก” ในพื้นที่พิเศษ 4 จังหวัดชายแดนใต้ของไทยที่ถูกทั่วโลกต่อต้าน แม้กระทั่งชาวมาเลเซียยังทนไม่ไหวช่วยกันล่ารายชื่อรณรงค์ให้ไทยยกเลิกการย่ำยีเด็กโดยใช้ข้ออ้างทางศาสนา แต่ปรากฏว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของไทยกลับไม่ค่อยสนใจปัญหาที่เกิดขึ้น เสมือนนั่งบนหอคอยงาช้าง 


          เนื่องจาก กสม.ชุดนี้มีวิธีการทำงานหรือการประชุมที่ขอร้องแกมบังคับให้กรรมการทุกคนทำเหมือนกันอย่างเคร่งครัด จะออกสื่อ จะสัมภาษณ์เดี่ยว จะแสดงความในใจ ฯลฯ ต้องได้รับความยินยอมและเห็นพ้องต้องกันจาก “คณะประชุมใหญ่” ยิ่งไปกว่านั้น การทำงานหรือการตัดสินใจเรื่องราวเอกสารต่างๆ ทุกอย่าง ส่วนมากใช้วิธีการโหวตหรือลงคะแนนตัดสินด้วย “เสียงส่วนใหญ่” แทนที่จะเป็นการพูดคุยส่งเสริมการทำงานซึ่งกันและกันอย่างสร้างสรรค์ สร้างความอึดอัดให้แก่กรรมการบางคนที่เป็น “เสียงส่วนน้อย”


          นักสิทธิมนุษยชนชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกระดับท็อปอย่าง “เตือนใจ” และ “อังคณา” ตัดสินใจลาออกดีกว่า เพราะโหวตทีไรก็แพ้ทุกที “อยู่ไปก็ไลฟ์บอย!!!”


          การลาออกครั้งนี้สร้างความสั่นสะเทือนได้ไม่น้อย เพราะส่งผลให้เกิดคำถามว่า “กสม.” ที่เหลือ 3 คนจาก 7 คน ควรลาออกทั้งหมดหรือไม่ เพื่อ “ความเหมาะสมและความสง่างาม”

 

 

เปิดโผชื่อ กก.สิทธิฯ..."พรรคฝ่ายค้าน"หายไปไหน

 


          เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2562 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และเครือข่าย ได้ลงชื่อเรียกร้อง กสม.ที่เหลืออีก 3 คน ได้แก่ “วัส ติงสมิตร” “ประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์” และ “ฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง” ลาออกจากตำแหน่ง แล้วเร่งกระบวนการสรรหา “กสม.ชุด 4” มาทำหน้าที่แทน


          ขั้นตอนนี้น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจาก พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 2560 มาตรา 11 กำหนดให้มี “กรรมการสรรหา” ที่จะมาคัดเลือกผู้ที่ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิฯ ต้องประกอบด้วย


          (1) ประธานศาลฎีกา (2) ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นําฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร (3) ประธานศาลปกครองสูงสุด (4) ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน (5) ผู้แทนสภาทนายความ ผู้แทนสภาวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุข ผู้แทนสภาวิชาชีพสื่อมวลชน (6) อาจารย์จากสถาบันอุดมศึกษา


          แต่ช่วงที่ตั้ง “คณะกรรมการสรรหา” ที่ผ่านมานั้น ยังไม่มีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง แต่ในวันนี้มีสภาผู้แทนราษฎรเรียบร้อยแล้ว

 

เปิดโผชื่อ กก.สิทธิฯ..."พรรคฝ่ายค้าน"หายไปไหน

 

 

          วันที่ 2–3 สิงหาคม 2562 “คณะกรรมการสรรหา” มีการนัดกันประชุมใหญ่ โดยรายชื่อผู้เข้าร่วม ได้แก่
          1.นายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา 2.นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร 3.นายปิยะ ปะตังทา ประธานศาลปกครองสูงสุด 4.นายสมชาย หอมลออ ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน 5.นางสุนี ไชยรส ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน 6.ศ.อมรา พงศาพิชญ์ ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน 7.ดร. ถวัลย์ รุยาพร ผู้แทนสภาทนายความ 8.นายสุกิจ ทัศนสุนทรวงศ์ ผู้แทนสภาวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุข 9.นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ผู้แทนสภาวิชาชีพสื่อมวลชน 10.ศ.สุริชัย หวันแก้ว กรรมการ ผู้แทนจากสถาบันอุดมศึกษา

 

          หลังการประชุมได้ปรากฏรายชื่อ “บุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ” 3 คน ได้แก่ “ลม้าย มานะการ” ตัวแทนด้านสิทธิมนุษยชน, “วิชัย ศรีรัตน์” ตัวแทนด้านกฎหมาย และ “บุญเลิศ คชายุทธเดช” ตัวแทนด้านปรัชญา วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตไทย ไปรวมกับ 1 คนที่ได้รับการเสนอชื่อไปก่อนหน้านี้คือ “สุชาติ เศรษฐมาลินี” ผู้เชี่ยวชาญด้านสันติศึกษา และอีก 2 คนที่ผ่านการสรรหาและได้รับความเห็นชอบจาก สนช.ไปแล้ว คือ “ปิติกาญจน์ สิทธิเดช” อดีตอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพและ “พรประไพ กาญจนรินทร์” อดีตอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ

 

          สรุปคือ รายชื่อผ่านทุกขั้นตอนไปแล้ว 2 คน และรายชื่ออีก 4 คนรอเสนอขอความเห็นชอบจาก “วุฒิสภา” รวมเป็น 6 หมายความว่า ตอนนี้เหลืออีกแค่ 1 คนเท่านั้น ที่ยังไม่ผ่านการ “สรรหา”

 

          ขณะนี้จึงต้องรอฝ่ายค้าน ในเมื่อ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เข้ามาทำหน้าที่กรรมการสรรหาแล้ว ก็ควรมีตัวแทนฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรตามที่กฎหมายกำหนดไว้

 

          คนไทยจะได้มี “กสม.รุ่น 4” เข้ามาทำหน้าที่ปกป้องสิทธิมนุษยชนที่กำลังถูกละเมิดกันอยู่ในทุกพื้นที่ทั่วไทย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มแรงงาน กลุ่มเด็ก ผู้หญิง ชนกลุ่มน้อย กลุ่มผู้บริโภค ฯลฯ

 

          และหวังว่าชุดใหม่จะมาลบล้างคำครหาว่า “คณะกรรมการสิทธิฯ” ทำหน้าที่คุ้มครองตัวเอง “มากกว่า” สนใจคุ้มครองประชาชน !

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ