คอลัมนิสต์

แก้รัฐธรรมนูญหรือความขัดแย้งรอบใหม่กำลังมา!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์... รักแผ่นดิน โดย... ฅนไท  / หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

 

 

          เริ่มจากประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญ 2560 นอกสภา โดยพรรคอนาคตใหม่ ที่เริ่มสร้างกระแสรณรงค์ให้ภาคประชาชนเข้ามากดดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ถูกออกแบบให้ “แก้ยาก” 


 

          ถึงแม้ว่าการเสนอแก้ ไม่ยากเกินความสามารถในการรวบรวมเสียง ส.ส. 1 ใน 5 คือเกิน 100 เสียง แต่พรรคอนาคตใหม่ 81 เสียง รวมกับพันธมิตรฝ่ายค้าน 20 เสียงขึ้นไป ก็สามารถยื่นให้สภาเริ่มกระบวนการแก้ไขได้ แต่การจะให้ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา ก่อนลงประชามติเป็นเรื่อง “ยาก”


          เพราะมีการตั้งเงื่อนไขการแก้ไขไว้ว่า ในการพิจารณา วาระแรก จะต้องผ่านความเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของ 2 สภา (สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภารวมกัน ) นั่นหมายความว่าต้องได้รับเสียงเห็นชอบ 376 เสียงขึ้นไป และเขียนผูกไปด้วยว่า ในเสียงที่ผ่านนั่นจะต้องมีเสียงของ ส.ว. สนับสนุนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของ ส.ว.ที่มีอยู่ คือไม่น้อยกว่า 84 คน


          ในขณะที่พรรคอนาคตใหม่ พุ่งเป้าแก้ที่มาของ ส.ว.ชุดนี้ เพราะมองว่าเป็น “มรดกแห่งการสืบทอดอำนาจ” และค้ำยันรัฐบาล ลุงตู่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่เงื่อนไขในวาระแรกเช่นนี้ การยื่นตามกระบวนการในสภาก็ “แท้ง” ตั้งแต่เริ่ม


          นอกจากจะตั้งเงื่อนไขให้ต้องใช้เสียงกึ่งหนึ่งของสองสภา และต้องมี ส.ว. 1 ใน 3 เห็นชอบ ยังกำหนดให้มีเสียงสนับสนุนจากพรรคการเมืองทุกพรรค ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของแต่ละพรรค 


          กรณีนี้ต้องได้รับการสนับสนุนจากพรรคพลังประชารัฐ ไม่น้อยกว่า 23 คน ในขณะที่พรรคพลังประชารัฐได้ประโยชน์กับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และเห็นว่าการแก้รัฐธรรมนูญมาทีหลังการแก้ปัญหา “ปากท้อง”ของประชาชน เงื่อนไขนี้ก็ทำให้การแก้รัฐธรรมนูญ “เดินลำบาก”เช่นกัน


          ยังไม่นับว่า ก่อนจะผ่านรัฐสภาต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ข้อเสนอแก้รัฐธรรมนูญ ขัดหรือจงใจล้มรัฐธรรมนูญฉบับเดิม ซึ่งทำไม่ได้ เช่น การแก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์ เป็นต้น และยังต้องผ่านการลงประชามติของประชาชน


          ด้วยความยากในประเด็นเหล่านี้ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และพรรคอนาคตใหม่ จึงเริ่มรณรงค์หาเสียงสนับสนุนจากภาคประชาชน ตั้งแต่ก่อนการนำเสนอแก้ไขอย่างเป็นทางการ ด้วยการหวังว่าจะ “ก่อกระแส” ให้เสียงประชาชน “บีบ” สมาชิกรัฐสภาให้ผ่านการแก้ไข เหมือนการเกิด “กระแสธงเขียว” ในการรณรงค์ ผ่านรัฐธรรมนูญ ปี 2540 (รัฐธรรมนูญ ที่เชื่อกันว่าเป็นประชาธิปไตยที่สุดใน 20 ฉบับที่เราเคยใช้) 


          ความยากและการรณรงค์สภาที่ถูกเริ่มต้นเมื่อ 4 สิงหาคมที่ผ่านมา จะเป็นชนวนความขัดแย้งรอบใหม่ในสังคมไทยหรือไม่ เป็นปัจจัยหนึ่งที่น่ากังวลและขึ้นอยู่กับประชาชน ที่จะตอบรับกระแสของอนาคตใหม่ว่า “จุดติด” หรือไม่ ต้องติดตาม

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ