คอลัมนิสต์

เจาะสารระเบิด "บึ้มป่วนกรุง"โยงชายแดนใต้จริงหรือ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์... ล่าความจริง..พิกัดข่าว โดย... ปกรณ์ พึ่งเนตร

 

 

          คดีระเบิดป่วนกรุงกำลังเดินหน้ามาถึงจุดสำคัญ คือการเตรียมออกหมายจับผู้เกี่ยวข้อง 7 คน หลังจากเจ้าหน้าที่คุมตัวผู้ต้องสงสัยมาได้แล้ว 4-5 คน เป็นคนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งหมด


          แต่ประเด็นที่ยังพูดถึงกันน้อยก็คือ การวิเคราะห์เจาะลึกไปยังวัตถุระเบิดที่คนร้ายใช้ ซึ่งจะทำให้พอสันนิษฐานได้ว่า แท้ที่จริงแล้ว การลอบวางระเบิดป่วนกรุง เป็นการกระทำของกลุ่มจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ล้วนๆ หรือคนจากสามจังหวัดเป็นแค่ “ทีมปฏิบัติการ” แต่มี “มาสเตอร์มายด์” และ “ทีมประกอบระเบิด” แยกต่างหาก

 

 

          หลังจากเกิดเหตุมีภาพวัตถุพยานจากที่เกิดเหตุ เป็นภาพสารเคมีที่คนร้ายใช้ประกอบระเบิด กับอุปกรณ์หน่วงเวลาระเบิด โดย “อาจารย์อ๊อด” หรือ รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ นักเคมี จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก ระบุว่า สารประกอบระเบิดที่ใช้คือ PETN และมี “วงจรหน่วงเวลา” ที่เรียกว่า IC Timer


          ข้อมูลจาก อาจารย์อ๊อด ชี้ต่อว่า PETN นิยมใช้ทำระเบิดพลาสติก โดยสารระเบิดชนิดนี้ น้ำหนักแค่ 100 กรัมขึ้นไป แรงดันสามารถทำลายรถยนต์ได้ 1 คัน ส่วน IC Timer ใช้ IC558 หรือ IC555 เป็นการหน่วงเวลาข้ามคืนหลายวัน และตั้งเวลาให้ระเบิดในเวลาพร้อมกัน


          นี่คือข้อมูลจากนักวิชาการ ซึ่งอาจารย์ไม่ได้สรุปต่อว่าสารระเบิด และ IC Timer แบบนี้มีใช้ก่อเหตุรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยหรือไม่ ซึ่งถ้าใช่ หรือตรงกัน ก็มีโอกาสสูงที่ปฏิบัติการระเบิดป่วนกรุง จะเป็นการทำงานของทีมจากชายแดนใต้ครบวงจร แต่ถ้าไม่ใช่ ไม่ตรงกัน ก็อาจจะแปลว่า ทีมจากชายแดนใต้เป็นแค่ “มือวางระเบิด” หรือ “ทีมปฏิบัติการ” แต่จริงๆ แล้วมี “มาสเตอร์มายด์” หรือ “ผู้บงการ” และมี “ทีมสนับสนุน” ซึ่งเปฺ็นมืออาชีพร่วมด้วย


          วันนี้ “คมชัดลึก” มีคำตอบมาฝาก...
          เริ่มจาก IC Timer หรือ “ไอซี ตั้งเวลา” เป็นวงจรที่มีความสามารถในการกำหนด “หน่วงเวลาการทำงาน” ของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งวงจรระเบิด โดยสามารถหน่วงได้ตั้งแต่ระดับวินาที ไปจนถึงหลายๆ ชั่วโมง โดยอุปกรณ์ที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายคือ IC Timer 555

 



          ภายใน IC Timer 555 ประกอบด้วยทรานซิสเตอร์ 23 ตัว ไดโอด 2 ตัว เรียงกันบนชิพซิลิกอนแผ่นเดียว โดยติดตั้งในตัวถัง 8 ขา นอกจากนี้ยังมี IC Timer 556 เป็นการรวมไอซี 555 จำนวน 2 ตัวในชิพซิลิกอนตัวเดียว มี 14 ขา และอีกตัวคือ IC Timer 558 เป็นตัวที่พัฒนามาจาก IC Timer 555 เป็นการรวมเอา IC Timer 555 จำนวน 4 ตัว เข้าไปใส่ในชิพซิลิกอนตัวเดียว มี 16 ขา ซึ่ง IC Timer 555 หรือ IC Timer 558 เป็นตัวเดียวกับที่ถูกพบในวงจรระเบิดแสวงเครื่องที่คนร้ายใช้ก่อเหตุในกรุงเทพฯ


          ส่วนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ผ่านมากลุ่มก่อความไม่สงบนำ IC Timer มาใช้ประกอบวงจรจุดระเบิดแบบตั้งเวลา หรือ “วงจรผสม” ร่วมกับระบบจุดระเบิดแบบอื่นๆ และที่พบบ่อยในช่วงหลังๆ คือระเบิดแสวงเครื่องแบบขว้าง หรือ “ไปป์บอมบ์” มีการนำ IC Timer มาประกอบวงจรเพื่อใช้หน่วงเวลาการทำงานของระเบิด หลังจากดึงสลักหรือเปิดสวิตช์ระเบิดแล้ว เพื่อไม่ให้ระเบิดทำงานทันทีจนเป็นอันตรายต่อตัวผู้ขว้างระเบิดเอง


          จากข้อมูลสถิติระเบิดของหน่วยข่าวความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนใต้ พบว่าระเบิดที่คนร้ายใช้ มีการนำ IC Timer มาใช้เป็นวงจรจุดระเบิดครั้งแรกเมื่อปี 2547 เพียง 1 ครั้ง จากนั้นก็เว้นว่างมาจนพบ IC Timer ถูกนำมาใช้กับวงจรจุดระเบิดอีกครั้งในปี 52 และพบมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน เนื่องจากมีการใช้ไปป์บอมบ์มากขึ้น โดยอุปกรณ์ชนิดนี้หาซื้อได้ง่าย ราคาถูก และเจ้าหน้าที่แกะรอยจากเศษซากระเบิดได้ยากกว่าการใช้นาฬิกาตั้งเวลา


          ส่วนสารระเบิด PETN หรือ Pentaerythritol Tetranitrate เป็นวัตถุระเบิดทางทหารที่จัดอยู่ในกลุ่ม “ดินระเบิดแรงสูง” คือมีอำนาจในการทำลายรุนแรงมาก สร้างความเสียหายทำให้สิ่งที่อยู่ในรัศมีขณะเกิดระเบิดให้ฉีกขาดและแหลกเป็นชิ้นเล็กๆ ได้ ความแรงพอๆ กับ อาร์ดีเอ็กซ์ (RDX) และ ไนโตรกลีเซอรีน และยังมีคุณสมบัติไม่ละลายน้ำ สามารถใช้ใต้น้ำได้ โดยมากจะถูกใช้เป็นดินขยายการระเบิด ไม่ค่อยถูกใช้เป็นดินระเบิดหลัก ส่วนใหญ่พบถูกนำบรรจุใน “ชนวนฝักแคระเบิด” หรือ “เชื้อปะทุไฟฟ้า” ซึ่งใช้ในการจุดระเบิด


          สำหรับในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากข้อมูลสถิติพบว่า มีการใช้ PETN ในการทำเป็นดินระเบิดเพียงครั้งเดียว ในปี 2554 นอกจากนั้นไม่เคยพบถูกนำมาใช้เป็นดินระเบิดหลักในการประกอบระเบิดอีกเลย มีเพียงนำมาใช้ประกอบเป็นเชื้อปะทุไฟฟ้า สาเหตุน่าจะเพราะ PETN เป็น “วัตถุระเบิดทางทหาร” หามาใช้ในปริมาณมากได้ยาก ทำให้ดินระเบิดหลักที่นิยมใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงเป็น ANFO (แอน-โฟ) เหมือนเดิม ซึ่งก็คือ แอมโมเนียมไนเตรต ผสมน้ำมัน


          พิเคราะห์จากอุปกรณ์ประกอบระเบิดที่คนร้ายใช้ น่าจะยังสรุปไม่ได้ชัดเจนว่างานนี้เป็นเรื่องโจรใต้ขยายพื้นที่ประกาศศักดา แต่น้ำหนักที่ดูน่าเชื่อถือมากกว่าคือน่าจะมี “มาสเตอร์มายด์”

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ