คอลัมนิสต์

เท่าทันข่าวลวง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันพุธที่ 7 สิงหาคม 2562

 

 

          มีข้อมูลจากเจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ หรือ ปอท. ว่า กลุ่มบุคคลที่ตกเป็นเหยื่อของข่าวลวง หรือ Fake News มากที่สุดคือกลุ่มผู้สูงวัย หรือที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป นั่นหมายถึงว่า วุฒิภาวะ ไม่อาจจะเป็นเกราะกำบังหรือภูมิคุ้มกันสกัดกั้นข่าวลวงได้ ในเมื่อกลุ่มคนสูงวัยซึ่งพ้นจากวัยทำงาน มีเวลาว่าง และมักจดจ่ออยู่กับโลกโซเชียลมีเดียอันเป็นช่องทางให้ข่าวลวงเข้าถึงได้มาก ขณะเดียวกัน เพราะความไม่ช่ำชองที่จะหาข้อมูลประกอบอย่างรอบด้านเหมือนเยาวชนคนรุ่นใหม่ ก็ทำให้กลายเป็นเหยื่อที่หลงเชื่อได้ง่าย ซ้ำร้ายยังส่งต่อหรือแชร์ข้อมูลไปยังหมู่มิตร ญาติพี่น้องอีกทอดหนึ่งด้วย นี่เป็นปัญหาในรายละเอียดหนึ่ง ในยุคที่สังคมของเรากำลังสับสนอลหม่านกับปรากฏการณ์ข่าวลวงที่เกิดขึ้นไม่เว้นวัน โดยเฉพาะในช่วงเกิดสถานการณ์ร้ายๆ

 


          ขณะที่มีข้อมูลจาก กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระบุกรณีศึกษาการใช้โซเชียลมีเดีย ในบริบทของประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบันมีผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตโดยโทรศัพท์มือถือสูงถึง 180%ของประชากร และมีการใช้สื่อโซเชียลจำนวนมาก จำแนกเป็นผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก มีจำนวนสูงสุด 54 ล้านคน ไลน์ 42 ล้านคน และทวิตเตอร์ 12 ล้านคน รมว.ดิจิทัลฯ บอกว่า การใช้สื่อโซเชียลมีเดียของประชาชน ทำให้เกิดความท้าทายต่อสภาพเศรษฐกิจ สังคม ศีลธรรม วัฒนธรรมและประเพณี และมีความขัดแย้งต่อกฎหมายและกฎระเบียบของประเทศไทยในหลายกรณี ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ กฎหมายอาญาว่าด้วยการหมิ่นประมาท กฎหมายด้านการจัดเก็บภาษี กฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญา


          ข่าวลวงมีหลากหลายรูปแบบ แต่ที่เป็นผลในวงกว้างที่พบบ่อยก็คือ การสร้างหรือแชร์ข่าวที่สร้างความเสียหายให้แก่คนอื่น ข่าวลวงที่ซ้ำเติมสถานการณ์ให้คนเกิดความตื่นตระหนก ทั้งสองกรณีนี้มีตัวอย่างที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่นักการเมืองใช้เครื่องมือโซเชียลห้ำหั่นกันและกัน ขณะที่เกิดเหตุการณ์ลอบวางระเบิดหลายจุดในย่านธุรกิจของกรุงเทพฯ ทั้งที่ก่อนหน้านั้น กระทรวงดิจิทัลฯ และปอท.ก็ได้ออกคำเตือนมาหลายครั้งให้ระมัดระวังข่าวลวง แต่สุดท้ายก็ยังมีข่าวแบบนี้เกิดขึ้น ทั้งยังเอาการเมืองกับสถานการณ์มาผูกโยงกันด้วย นั่นแสดงให้เห็นว่า คำขอร้อง คำเตือนเรื่องความผิดตามกฎหมายคอมพิวเตอร์ซึ่งมีโทษถึงจำคุก รวมทั้งข้อเสนอแนะใดๆ จากส่วนราชการไม่ได้ส่งผลในทางป้องปรามแต่อย่างใดเลยกระนั้นหรือ


          ระหว่างนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ กำลังหาแนวทางในการจัดตั้งศูนย์สกัดข่าวลวง เพื่อคัดกรอง กลั่นกรอง ป้องกัน เน้นการสื่อสาร ข่าวการเตือนภัยพิบัติและข่าวลวงด้านความมั่นคง เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง และลดความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม ความรวดเร็วในการติดตาม แก้ไข และให้ข้อมูลที่เป็นจริงก็เป็นสิ่งสำคัญเพื่อยับยั้งความเสียหาย ความตื่นตระหนก ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแต่ก็มีความจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งต้องอาศัยทุกหน่วยงานร่วมบูรณาการทำงานแบบตาสับปะรดสอดส่องในโลกโซเชียล ซึ่งต้องออกแบบโครงสร้างให้รวดเร็ว ว่องไว และสามารถตัดสินใจให้ข้อมูลได้ทันการณ์ ขณะที่ประชาชนเองก็จำเป็นต้องใช้วิจารณญาณอย่างยิ่ง หากตรวจสอบไม่ได้ก็ต้องยับยั้งชั่งใจ ไม่รีบแชร์จนตกเป็นเหยื่อและเครื่องมือของขบวนการข่าวลวง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ