คอลัมนิสต์

'คสช.'แปลงร่างเข้า 'กลาโหม'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์... ถอดรหัสลายพราง โดย... พลซุ่มยิง

 

 

          หากต้องเผชิญทั้งศึกนอก-ศึกใน อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ การเข้ามาควบตำแหน่ง รมว.กลาโหม ของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดต่อสถานการณ์การเมืองในช่วงเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) มาเป็นรัฐบาลตามระบอบประชาธิปไตย

 

 

          เหตุจากปัญหาสุขภาพ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ที่ต้องรับบทหนักดูแลด้านความมั่นคงและงานการเมืองมาตลอด 5 ปี เริ่มส่งสัญญาณไม่ดีมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2560 หลังเข้ารับการผ่าตัดทำบายพาสเส้นเลือดหัวใจและต้องไปตรวจเช็กสุขภาพตามวงรอบ รวมทั้งอุบัติเหตุจักรยานล้ม ยังส่งผลต่อกำลังขาไม่สามารถเดินได้เป็นปกติ


          การลดบทบาท “บิ๊กป้อม” เหลือเพียงตำแหน่ง “รองนายกรัฐมนตรี” ยังช่วยลดการตกเป็นเป้าโจมตีจากขั้วการเมืองตรงข้าม แม้ปัญหาสุขภาพไม่ได้ส่งผลต่อสติปัญญา ความจำ และการตัดสินใจ แต่หากต้องเจอสภาวะความกดดัน ความเครียดที่เกิดจากการตรวจสอบแบบเข้มข้นในเวทีสภาของฝ่ายค้าน หรือการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจในอนาคต ย่อมไม่ส่งผลดี


          การเฟ้นหาบุคคลจะเข้ามารับตำแหน่ง รมว.กลาโหม ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องให้ความสำคัญ เพราะนอกจากต้องทำงานสอดผสานกันแล้ว จะต้องเข้าใจกองทัพ ซึ่งในอดีตมี “นายกรัฐมนตรี” ที่เป็นทั้งทหารและพลเรือนควบตำแหน่งนี้มาแล้ว เช่น พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ, นายชวน หลีกภัย, นายสมัคร สุนทรเวช, นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์

 

          แต่นั่นก็ไม่ใช่เครื่อง “การันตี” ว่า “นายกรัฐมนตรี” ควบ รมว.กลาโหม จะไม่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางการเมือง หรือ คลื่นใต้น้ำในกองทัพ ดังที่เคยเกิดกับรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ที่ถูกรัฐประหาร โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) นำโดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการททหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) และ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.)




          หรือแม้แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เป็นทั้งนายกรัฐมนตรีหญิง และ รมว.กลาโหมหญิงคนแรกของประเทศไทย ที่เชื่อกันว่า ความอ่อนโยนจะสามารถง้างความแข็งกร้าวทหารในกองทัพให้โอนอ่อนผ่อนตามเหมือนต้นไผ่ที่ลู่ไปตามลม แต่สุดท้ายรัฐบาลพรรคเพื่อไทยก็ถูกรัฐประหาร โดย คสช.ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในขณะนั้น


          การเข้ามารับไม้ต่อ ดูแลงานกระทรวงกลาโหม ของ “พล.อ.ประยุทธ์” จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ในฐานะเคยเป็นอดีตผู้บังคับบัญชาตั้งแต่ระดับผู้บังคับหมวด, ผู้บังคับกองร้อย, ผู้บังคับกองพัน, ผู้บังคับการกรม, ผู้บัญชาการกองพล, แม่ทัพภาค และผู้บัญชาการทหารบก ย่อมคุ้นเคยและเข้าใจกองทัพเป็นอย่างดี โดยเฉพาะความสัมพันธ์แนบแน่นกับ “บิ๊กแดง” พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก คนปัจจุบัน


          อีกทั้งยังส่งผลดีในการทำงานร่วมกันระหว่างฝ่ายการเมืองและกองทัพ เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลชุดใหม่ราบรื่น โดยเฉพาะบทบาทของ คสช. ที่ต้องสิ้นสุดลงและไม่มีอำนาจตามมาตรา 44 เป็นเครื่องมือพิเศษ


          ต่อสถานการณ์การเมืองที่เริ่มเห็นเค้าลางความวุ่นวายและการเดินเกมทั้งในและนอกสภา รวมถึงปัญหาความไม่เป็นหนึ่งเดียวของพรรคร่วมรัฐบาลที่เกิดจากความไม่ลงตัวในการจัดสรรตำแหน่งในพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) อาจส่งผลกระทบในระยะยาว การเข้ามาของ “พล.อ.ประยุทธ์” ในฐานะ รมว.กลาโหม นอกจากเป็นการเพิ่มความแข็งแกร่งให้เก้าอี้ “นายกรัฐมนตรี” แล้ว ยังพยุงเสถียรภาพของรัฐบาลให้มั่นคงยิ่งขึ้น


          เปรียบเสมือนการถ่ายโอนอำนาจ จากเก้าอี้หัวหน้า คสช. มาสู่เก้าอี้ รมว.กลาโหม  และใช้กลไกภายใต้การประชุมสภากลาโหม แทนการประชุม คสช. โดยมีผู้บัญชาการเหล่าทัพเข้าร่วมเช่นเดิม
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ