คอลัมนิสต์

รธน.60ทำการเมืองไทยล้มเหลวแต่มีบันไดหนีไฟให้รบ.เสียงปริ่มน้ำ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  ขนิษฐา เทพจร 

 

 

          ภายหลังการประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 เวลาผ่านมาแล้ว 2 ปี ด้วยเงื่อนไขที่วางกลไกไว้ในเป็นพื้นฐานต่อการสร้างประชาธิปไตยระยะเปลี่ยนผ่าน จากมือของ "คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไปเป็น “สภาผู้แทนราษฎร-ตัวแทนปวงชนชาวไทย” ที่มาจากการเลือกตั้ง

 

 

          แน่นอนว่าภายใต้เวลา 2 ปีของการบังคับใช้รัฐธรรมนูญมีทั้งสิ่งตรงกับความคาดหวังของสังคมและไม่ตรงกับสิ่งที่ทุกคนวาดฝันเอาไว้ เนื่องจากกลไกที่เขียนไว้ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ในเชิงปฏิบัติการนั้น เหมือนถูกวางทางเพื่อให้ “อำนาจ” อยู่กับฝ่ายผู้ครองอำนาจเดิมตั้งแต่ปี 2557


          ในงานครบรอบ 60 ปี ของ “สมคิด เลิศไพฑูรย์” อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ จัดงานมุทิตาจิตขึ้นพร้อมจัดเวทีปาฐกถาและเสวนาวิชาการ เรื่อง “การเมืองไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 เดินหน้าหรือถอยหลัง” โดยมีนักวิชาการและฝ่ายการเมืองที่มีประสบการณ์ร่วมยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันสะท้อนมุมมอง


          ศ.ดร.อุดม รัฐอมฤต นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฐานะอดีต กรธ. ยอมรับกับจุดเริ่มต้นของการทำร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 คือสร้างความรู้สึกที่ไม่ดีต่อนักการเมือง พบการคอร์รัปชั่น ดังนั้นรัฐธรรมนูญ ฐานะกติกาของบ้านเมือง ต้องวางกรอบการใช้อำนาจของฝ่ายการเมือง โดยวางเป้าหมายสำคัญให้ได้คนดีเข้าสู่การปกครองบ้านเมืองและทำให้นักการเมืองที่เข้าสู่ระบบแล้วไม่สามารถทำสิ่งไม่ดีได้


          “ช่วงต้นของการยกร่างรัฐธรรมนูญมีความเห็นผ่านจดหมายจากคุณชวน หลีกภัย ระบุว่า ทำรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องจำเป็น แต่สิ่งสำคัญคือต้องใจกว้าง ไม่คิดร้ายกับฝ่ายใด ดังนั้นเป็นสิ่งที่ผมยึดถือผ่านความเข้าใจ คือนักการเมืองมีดีและไม่ดี สำหรับนักการเมืองที่มีปัญหาจะต้องควบคุม และการเข้าสู่อำนาจ ผ่านการเขียนไว้ในคุณสมบัติของรัฐธรรมนูญ ก่อนการสมัครรับเลือกตั้ง รวมถึงสร้างกระบวนการตรวจสอบและสำคัญคือเขียนให้รัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่ปฏิบัติตามได้ อย่างไรก็ตามต่อให้เขียนรัฐธรรมนูญได้ดี แต่ปัจจัยของความสำเร็จคือขึ้นอยู่กับจริยธรรม จรรยาบรรณและสำนึกของผู้นำกฎหมายไปปฏิบัติใช้”




          อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญย้ำด้วยว่า สำหรับรัฐธรรมนูญ 2560 คือสิ่งที่สร้างมิติใหม่ ว่าด้วยการปฏิรูป เพราะที่ผ่านการการเมืองพาประเทศไปในทิศทางต่างๆ จนทำให้เกิดการปฏิวัติหลายครั้ง แต่ไม่ว่ารัฐบาลจะเป็นเผด็จการ หรือประชาธิปไตย สิ่งสำคัญคือการพาประเทศไปสู่เป้าหมายตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด รวมถึงให้นักการเมืองนำพาประเทศไปสู่การพัฒนาในที่สุด


          อย่างไรก็ตามกับประเด็นที่เป็นมิติใหม่ของรัฐธรรมนูญตาม “อดีตกรธ.” ยกตัวอย่างนั้น ถูกโต้แย้งภายใต้หลักการของแนวคิด โดย "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์" เพราะตามหลักคิดของการปฏิรูปภายใต้รัฐธรรมนูญที่สำเร็จได้คือ กระบวนการที่นำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างแท้จริง


          “ผมฟันธงว่ารัฐธรรมนูญทำการเมืองถอยหลัง เมื่อเทียบลำดับการพัฒนาและความสำเร็จของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เช่น รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 แม้ไม่ถูกเรียกว่าเป็นการปฏิรูป แต่บางบทบัญญัติเล็กๆ เช่นการกระจายอำนาจ ทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนต่อการเปลี่ยนแปลง ขณะที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 พบการใช้อำนาจที่ไม่เคารพกติกาในบทบัญญัติ ส่วนรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่เคยกำหนดแนวทางเปลี่ยนแปลงโครงสร้างต่างๆ ที่ชัดเจนว่า อย่างไร และเพื่ออะไร ส่วนที่เขียนว่าด้วยการปฏิรูปจำนวนมาก ไม่ส่งผลให้เกิดการปฏิรูปอย่างที่คนคาดหวัง และเมื่อนำไปรวมกับแผนยุทธศาสตร์ชาติคือการสร้างความเข้มแข็งให้รัฐราชการ ทั้งที่แนวทางการปฏิรูปที่ประสบความสำเร็จต้องใช้ความยืดหยุ่น ไม่ใช่ไม่พอใจในประเด็นใด จึงเขียนไว้ในหมวดปฏิรูป ทั้งนี้การปฏิรูปเป็นสิ่งที่ต่อเนื่องจากความขัดแย้งของรัฐประหารแต่ขาดวิสัยทัศน์ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศที่ชัดเจน”


          นอกจากนั้น “อภิสิทธิ์” ยังมองต่อความล้มเหลวของรัฐธรรมนูญ เมื่อถูกพูดถึงการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งมีปัจจัยที่ซ่อนอยู่อย่างสำคัญ คือ “ให้อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ให้ประชาชนมีส่วนร่วมต่อการกำหนดอนาคตการเมืองไทย” และ “ผู้ถือและผู้ใช้อำนาจต้องใช้อำนาจตามหลักธรรมาภิบาล ยึดนิติรัฐ นิติธรรม และต้องตรวจสอบได้ว่าการใช้อำนาจเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน”


          “ปัญหาใหญ่ของรัฐธรรมนูญ คือความขัดแย้งยังมีสูง แม้ผมไม่เห็นด้วยกับที่เขามา แต่พร้อมจะยอมรับได้ หากเขามาสร้างบรรทัดฐานที่ดีเพื่อปูทางไปสู่ประชาธิปไตย แม้ที่มาจะไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่หากสามารถพาประเทศเดินหน้าผ่านการใช้อำนาจที่เป็นธรรมผมยอมรับได้ อย่างไรก็ตามกติกาที่ออกแบบต่อการเลือกตั้ง ผมเชื่อว่า ส.ส.ในสภารู้ว่าใช้เงินซื้อเสียงที่รุนแรง โจ่งแจ้ง และฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบขาดการดูแล เหมือนจะเป็นพฤติกรรมที่เกื้อหนุนกัน กับประเด็นที่เกิดขึ้นผมเชื่อว่าหากไม่แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญ 2560 จะไม่ใช่ฉบับสุดท้ายของประเทศ และอาจนำไปสู่จุดเริ่มต้นใหม่”


          ทั้งนี้ “อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์” ทิ้งท้ายในความเห็นด้วยว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเหมือนพาการเมืองไต่บนเส้นลวด และสร้างความกดดันให้สังคม รวมถึงฝืนเจตนารมณ์ประชาชน ฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตย หากไม่ทำเพื่อสิ่งที่ดีกว่าเชื่อว่าความขัดแย้งในสังคมจะถูกยกระดับเกิดขึ้นได้ในที่สุด


          ต่อประเด็นจากมุมมองของ “นักการเมือง” ถูกเห็นพ้องและตอกย้ำผ่านมุมมองของ "ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก ประธานคณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย" ฐานะอดีตที่ปรึกษาคณะยกร่างรัฐธรรมนูญ ในทำนองเดียวกันที่ว่า รัฐธรรมนูญแม้จะผ่านการทำประชามติ แต่ขาดการยอมรับร่วมกันของประชาชน เนื่องจากมีประเด็นที่ทำให้รัฐธรรมนูญไม่สามารถใช้งานได้ หากนำรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เทียบกับฉบับอื่นๆ อาจถือว่าถอยหลัง แต่สิ่งที่สังคมต้องพิจารณาลงลึกไปกว่านั้นคือเป้าหมายและทิศทางของประเทศ


          “หากใช้รัฐธรรมนูญเป็นกติกา และเปรียบเหมือนเป็นการเล่นกีฬาที่มุ่งไปข้างหน้า เช่น วิ่งแข่ง มุ่งไปทิศทางเดียว และต้องเข้าเส้นชัยเพื่อชนะแบบนั้นรัฐธรรมนูญถือว่าถอยหลัง แต่หากเปรียบเป็นกีฬาฟุตบอล ที่มีคำพูดว่าเกมรับที่ดีที่สุดคือเกมรุก แต่ไม่จำเป็นต้องรุกตลอด ดังนั้นการเมืองต้องมีทั้งรุกและรับ ดังนั้นการสร้างกลไกของรัฐธรรมนูญ คือการสร้างกลไกให้ทุกคนรู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย ผมเห็นด้วยว่าผู้เล่นเป็นผู้เล่น รัฐธรรมนูญ 2560 มีสิ่งที่เป็นปัญหาคือกรรมการ โค้ช ผู้จัดการ เจ้าของทีม กรรมการ ลงเล่นเกมในสนามด้วย”


          กับประเด็นนี้ “ดร.เจษฎ์” ทิ้งท้ายไว้เป็นมุมมองสำคัญว่า “เมื่อกติกาทำให้ทุกอย่างกลืนกันหมดกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาล และทำให้เกิดปัญหา ดังนั้นหนทางที่จะแก้ไขได้คือ ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยระบบรัฐสภา ไม่ใช่การฉีกทิ้ง หรือใช้วงจรรัฐประหารเพื่อยกร่างกันใหม่”


          สำหรับประเด็นสำคัญต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 หลังจากที่ลองใช้กว่า 2 ปี "ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์"  ชำแหละจุดอ่อนของเนื้อหา คือ ระบบเลือกตั้งที่ล้มเหลว ที่ทำให้มีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส.จำนวนมาก และกำหนดให้ใช้ผู้สมัครของแต่ละพรรคในต่างเขตได้หมายเลขสมัครเบอร์ ทำให้ประชาชนสับสน จนกลายเป็นปัจจัยทำให้เกิดบัตรเสียจำนวนมาก และด้วยกลไกที่เกี่ยวกับกระบวนการเลือกตั้ง ทั้งการประกาศผลเลือกตั้ง คำนวณคะแนน ทำให้หลังเลือกตั้งกว่า 100 วันยังจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ไม่ได้


          นอกจากนั้นคือกลไกของ “วุฒิสภา” จำนวน 250 คน ที่มาจากการเลือกของ “คสช.” ดร.ปริญญา มองว่า นี่คือกลไกที่ทำให้ “รัฐบาล” สามารถอยู่ได้ ภายใต้ระบบรัฐสภาเสียงปริ่มน้ำ มีหลายพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะการออกกฎหมายที่จะช่วยให้ “รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ” เป็นเสียงข้างมาก เพราะมี 250 คนส่วนวุฒิสภาเข้าร่วมผ่านการตีความของร่างกฎหมายที่เข้าข่ายเป็นกฎหมายว่าด้วยปฏิรูป ที่มาของนายกฯ ซึ่งไม่ได้กำหนดให้ “นายกฯ” ต้องเป็นส.ส. ทำให้ “พล.อ.ประยุทธ์” กลายเป็นนายกฯภายใต้กติกาไม่หมือนกับสมัยของผู้นำทหารที่อยากกลับสู่สังเวียนการเมือง และที่มาขององค์กรอิสระ รวมถึงศาลรัฐธรรมนูญที่ให้มาจากการ “วุฒิสภา” ดังนั้นปัญหาที่จะถูกตั้งคำถามมากคือ กระบวนการตรวจสอบจะปฏิบัติใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่


          ปิดท้ายของเวทีปาฐกถาและเสวนา “ดร.สมคิด” นำเสนอมุมมองฐานะนักวิชาการ และอดีตผู้ร่วมยกร่างรัฐธรรมนูญ 2540-2550 ในประเด็น “รัฐธรรมนูญไทย ร่างอย่างไรให้ได้ดี” โดยย้ำความสำคัญตอนหนึ่งว่า ร่างรัฐธรรมนูญไม่ยาก แต่ปัญหาที่ยาก คือทำเนื้อหาให้สอดคล้องสังคมไทย หากทำให้สมบูรณ์แบบ คือ นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง ต้องเป็นส.ส. แต่สิ่งที่ตั้งคำถาม คือรัฐธรรมนูญจะไปได้ไกล หรือใช้ยาวหรือไม่ โดยปัจจัยที่สัมพันธ์กับการใช้รัฐธรรมนูญ สิ่งสำคัญคือผู้ที่บังคับใช้และเนื้อหา


          “รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521 บังคับใช้ยาวนานที่สุด 13 ปี แต่ถูกเรียกว่าเป็นรัฐธรรมนูญหมาเมิน เพราะให้ส.ว.มีอำนาจมาก ผมไม่แน่ใจว่าเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ 2521 เหมือนหรือต่างกับ 2560 ซึ่งปัจจัยของการใช้รัฐธรรมนูญสั้นหรือยาวนั้น ผมมองว่าเงื่อนไขสำคัญคือการนำรัฐธรรมนูญบังคับใช้รัฐธรรมนูญ โดยยุคนั้นคือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ทำให้รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิไตยกลายเป็นประชาธิปไตยได้ ขณะที่เนื้อหาของรัฐธรรมนูญนั้นพบการเขียนเนื้อหาที่แก้ไขข้อบกพร่อง อาทิ รัฐธรรมนูญ 2540 ที่ยกย่องว่าดีและมาจากการมีส่วนร่วมให้ส.ว.มาจากการเลือกตั้งและสร้างรัฐบาลที่เข้มแข็ง ที่หลังการบังคับใช้พบว่ามีปัญหารัฐบาลตรวจสอบไม่ได้ ส.ว.ปกป้องรัฐบาลมากเกินไป รัฐธรรมนูญทุกฉบับไม่เป็นที่พอใจของทุกคน”


          ดร.สมคิด ยังพยากรณ์ทิ้งท้ายภายใต้กลไกของรัฐธรรมนูญ ซึ่งสัมพันธ์กับการวางโครงสร้างอำนาจของ “ฝ่ายบริหาร” ว่า ภายใต้ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมมีพรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรค จะทำให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพมากที่สุด เพราะมีเสียงปริ่มน้ำ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าภายใต้ภาวะปริ่มน้ำจะพบความพยายามเอาตัวรอด ดังนั้นการยุบสภาจะไม่เกิดขึ้นเร็วเหมือนที่หลายฝ่ายมองว่าจะยุบสภาภายในสิ้นปีนี้ ดังนั้นรัฐบาลจะอยู่ยาวพอสมควร โดยใช้กลไกสำคัญไม่เสนอร่างกฎหมายเข้าสู่สภา


          “จากประสบการณ์ของผมก่อนปี 2557 ประเทศไทยมีกฎหมาย 1,000 ฉบับ ช่วงปี 2557-2562 สภานิติบัญญัติแห่งชาติออกกฎหมายมากถึง 500 ฉบับ และโดยภาวะปกติ สภาจะออกกฎหมายไม่เกิน 30 ฉบับเท่านั้น ดังนั้นวันนี้หากรัฐบาลไม่ออกกฎหมายเลยจะสามารถบริหารราชการแผ่นดินได้แม้จะลอยคอเพราะเสียงปริ่มน้ำ แต่หากเขาลอยคออยู่เพื่อให้ประเทศเป็นไปในทิศทางที่ต้องการ เขาจะทำแบบนั้น ส่วนรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ผมเชื่อว่าจะไม่ใช่ฉบับสุดท้ายแม้จะแก้ไขได้ยาก” ดร.สมคิด กล่าวทิ้งท้าย
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ