คอลัมนิสต์

ประมูลซื้อที่ดินจนท.รังวัดเนื้อที่ผิด:ใครต้องชดใช้ค่าเสียหาย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ประมูลซื้อที่ดินซึ่งเจ้าหน้าที่รังวัดเนื้อที่ผิด : ใครต้องชดใช้ค่าเสียหาย! คอลัมน์...  เรื่องน่ารู้วันนี้..กับคดีปกครอง  โดย... นายปกครอง

 

 

 

          อุทาหรณ์คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นเรื่องของ ผู้ประมูลซื้อที่ดิน ซึ่งมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) จากการขายทอดตลาด ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย เนื่องจากอธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งแก้ไขเนื้อที่ดินทำให้ที่ดินที่ซื้อมามีจำนวนลดน้อยลงอย่างมาก จากที่ขณะซื้อมีเนื้อที่จำนวน 100 ไร่ 35 ตารางวา แต่หลังจากการรังวัดใหม่ เหลือเนื้อที่จำนวนเพียง 5 ไร่เท่านั้น เพราะเดิมได้มีการรังวัดรวมเอาที่ดินของบุคคลอื่นและที่ดินซึ่งไม่สามารถออกเอกสารสิทธิได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อที่ดินตามหนังสือ น.ส. 3 ก. ที่พิพาทด้วย

 

 

          เมื่อเกิดเรื่องเช่นนี้ขึ้น เป็นใครก็ต้องตกใจ !! ใช่ไหมครับ


          ผู้ประมูลซื้อที่ดินได้อุทธรณ์คำสั่งแก้ไขเนื้อที่ดินดังกล่าวแต่ถูกยกอุทธรณ์ จึงยื่นฟ้องกรมที่ดินต่อศาลปกครอง ขอให้มีคำพิพากษาให้กรมที่ดินชดใช้ค่าสินไหมทดแทน


          เรื่องนี้ กรมที่ดินอ้างว่า หลังจากผู้ฟ้องคดีประมูลซื้อที่ดิน น.ส. 3 ก. แปลงพิพาท จากการขายทอดตลาด ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมระงับจำนองและขายตามคำสั่งศาล ซึ่งเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีได้แจ้งว่าหนังสือ น.ส. 3 ก.ฉบับนี้ อยู่ในข่ายจะถูกเพิกถอนตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ผู้ฟ้องคดีรับทราบและได้ลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน โดยผู้ฟ้องคดีไม่ได้ตรวจสอบประวัติที่ดินก่อนการประมูลซื้อที่ดิน จึงถือว่าผู้ฟ้องคดียอมรับความเสี่ยงภัยเอง และเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงมิได้ใช้ความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์ในการประมูลซื้อที่ดินแปลงพิพาท ผู้ฟ้องคดีจึงมีส่วนกระทำละเมิดด้วย


          คดีนี้ กรมที่ดินจะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ผู้ฟ้องคดีหรือไม่ เพียงใด ? และความเสียหายที่เกิดขึ้น ถือว่าผู้ฟ้องคดียอมรับความเสี่ยงภัยเองหรือไม่ ! มาดูคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดกันครับ

 

          ศาลปกครองสูงสุด วินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์ฉบับพิพาท ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีได้รังวัดรวมเอาที่ดินของบุคคลอื่น รวมถึงที่ดินซึ่งไม่สามารถออกเอกสารสิทธิได้ โดยมีเนื้อที่จำนวน 95 ไร่ 35 ตารางวา รวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ฉบับดังกล่าว พฤติการณ์ถือเป็นการกระทำด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ดำเนินการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่เจ้าของที่ดินเดิมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ซึ่งได้รับความเสียหายจากการประมูลซื้อที่ดินดังกล่าว


 


          ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีอ้างว่า เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีได้แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินแปลงพิพาท อยู่ในข่ายจะถูกเพิกถอนตามกฎหมายที่ดินนั้น เป็นการแจ้งข้อเท็จจริงภายหลังที่ผู้ฟ้องคดีได้ซื้อที่ดินแปลงพิพาทจากการขายทอดตลาด ประกอบกับการแจ้งดังกล่าวเป็นเพียงแนวปฏิบัติงานภายในของหน่วยงาน และเป็นการแจ้งล่วงหน้าโดยไม่ได้ระบุว่าที่ดินอาจถูกเพิกถอนด้วยเหตุใด และยังไม่มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน จึงไม่อาจถือว่าผู้ฟ้องคดียอมรับความเสี่ยงภัยดังกล่าว


          อีกทั้ง ผู้ฟ้องคดีได้ซื้อที่ดินซึ่งมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ อันเป็นเอกสารราชการที่ประชาชนทั่วไปย่อมต้องมีความเชื่อถือว่าเป็นไปโดยถูกต้อง ประกอบกับผู้ฟ้องคดีไม่มีส่วนรู้เห็นในการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว และสิทธิของบุคคลผู้ซื้อทรัพย์โดยสุจริตจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล ย่อมได้รับความคุ้มครองถึงแม้ภายหลังจะพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์นั้นมิใช่ของลูกหนี้ โดยคำพิพากษา (เจ้าของทรัพย์เดิม) ตามมาตรา 1330 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 


          นอกจากนี้ผู้ฟ้องคดียังไม่มีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ของกระบวนการออกเอกสารสิทธิที่ดินแปลงพิพาทก่อนเข้าประมูลสู้ราคา เมื่อความเสียหายเกิดจากการกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐต้นสังกัด จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดี 


          คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยวางแนวทางในการปฏิบัติราชการที่ดีสำหรับหน่วยงานทางปกครองรวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการออกเอกสารสิทธิที่ดิน จะต้องพิจารณาตรวจสอบเอกสารหลักฐานอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อป้องกันมิให้เกิดความผิดพลาด อันจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานราชการ ซึ่งหากความผิดพลาดเกิดจากความจงใจหรือประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่ในสังกัด หน่วยงานของรัฐก็ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดต่อบุคคลภายนอกซึ่งซื้อที่ดินมาโดยสุจริตได้ 


          และผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดโดยสุจริตย่อมได้รับความคุ้มครอง โดยความสุจริตของผู้ซื้อทรัพย์นั้น พิจารณาจากวันที่ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดเป็นสำคัญ แม้จะยังไม่มีการชำระราคาทรัพย์ครบถ้วนหรือยังมิได้มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ก็ตาม


          (ผู้สนใจสามารถอ่านได้จากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.849/2561 และปรึกษาคดีปกครอง ได้ที่สายด่วนศาลปกครอง 1355 รวมทั้งสืบค้นเรื่องอื่นๆ ได้จาก www.admincourt.go.th เมนูวิชาการ เมนูย่อยอุทาหรณ์จากคดีปกครอง)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ