คอลัมนิสต์

ทำไม..ห้าม'นักการเมือง'ถือหุ้นสื่อ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  กระดานความคิด   โดย...  ร่วมเย็น 

 

 

 

          เรื่อง ส.ส.ถูกร้องว่าถือหุ้นสื่อ ตอนนี้พากันเดือดร้อนไปทั่ว  


          เริ่มจากที่ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าอนาคตใหม่ ถูกคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นตำแหน่ง ส.ส. และศาลรัฐธรมนูญเห็นว่ามีมูล จึงได้ออกคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ไว้ก่อน 

 

 

          ตามมาด้วย “32 ส.ส.พรรครัฐบาล” ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้พิจารณาตามที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งเรื่องมาให้วินิจฉัย  


          ขณะที่ “33 ส.ส.ฝ่ายค้าน”  ก็ถูกพรรคพลังประชารัฐ ยื่นคำร้องต่อประธานสภาเพื่อให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตรวจสอบคุณสมบัติเช่นกัน  
    

          รวมทั้ง 21 ส.ว. ถูกนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ  อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ  ร้องต่อ กกต.ว่าถือหุ้นสื่อ           


          ถามว่าเรื่องห้ามนักการเมืองถือหุ้นสื่อมีที่มาอย่างไรและทำไมต้องห้าม “นักการเมือง” ถือหุ้นสื่อ


          คำตอบก็คือ “นักการเมือง”  นั่นเองทีี่เป็นตัวต้นเหตุ โดยเข้ามายึดครองสื่อและใช้สื่อเป็นเครื่องมือของตนเองในทางการเมือง 


          หากมองย้อนไปในปี 2550  ที่ประชุมอนุกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 สภาร่างรัฐธรรมนูญในตอนนั้นมีการอภิปรายว่า ที่ผ่านมามีนักการเมืองเป็นเจ้าของสื่อโดยเฉพาะสื่อทีวี และใช้สื่อสร้างความได้เปรียบในการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นธรรม และเห็นชอบในหลักการไม่ให้นักการเมืองเป็นเจ้าของสื่อ
    

          นำมาซึ่ง “รัฐธรรมนูญปี 50” เขียนถึงเรื่องนี้ไว้ในมาตรา 48 ที่ระบุว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือโทรคมนาคม มิได้ 


          โดยเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2550   ที่กำหนดให้นักการเมืองแยกออกจากสื่อก็เพื่อให้สื่อมี ‘เสรีภาพ’ ในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร และประชาชนมีเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารโดยไม่ถูกครอบงำ หรือปิดกั้นจากผู้ที่ถือครองอำนาจรัฐ  เป็นการห้ามไม่ให้มีการแทรกแซงสื่อมวลชนไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อให้สื่อเป็นอิสระ กล้าที่จะวิพากษ์การทำงานของรัฐบาลอย่างตรงไปตรงมา เพราะสื่อมีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐแล้วนำเสนอให้ประชาชนได้รับทราบ




          ในทางกลับกันหากสื่อกับรัฐมีความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกันสื่อก็จะเป็นเพียงกระบอกเสียงของรัฐที่ทำหน้าที่ในการรายงานข้อมูลข่าวสารอันจะก่อให้เกิดการส่งเสริมภาพลักษณ์ของรัฐบาลให้ดีขึ้นเพียงด้านเดียว กลไกการตรวจสอบความจริงก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะรัฐได้เข้ามามีบทบาทและอิทธิพลในการทำงานของสื่อ


          แต่ตอนนั้นเรื่องนักการเมืองถือหุ้นสื่อ รัฐธรรมนูญปี 2550  เขียนห้ามไว้กว้างๆ ลอยๆ  ไม่ได้กำหนดโทษเอาไว้ เช่น ไม่ได้กำหนดไว้ในคุณสมบัติต้องห้ามของส.ส. ว่าถ้าถือหุ้นสื่อต้องพ้นสมาชิกภาพ
   

          ต่อเมื่อมาถึงรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ใช้บังคับในปัจจุบันจึงลงรายละเอียดมากขึ้นและมีโทษชัดเจน โดยบัญญัติไว้ในมาตรา 98 (3) ที่ระบุคุณสมบัติของผู้สมัครส.ส.ว่า “ห้ามเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ”  และมาตรา 101 บัญญัติว่า สมาชิกภาพของส.ส. สิ้นสุดลงเมื่อ (6 )... มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 
   

          อีกทั้งในพ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561  มาตรา 42 บัญญัติว่าบุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส. ..(3) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ
   

          เจตนารมณ์ของการเขียนเรื่องนี้ไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งส.ส.เพื่อป้องกันหรือห้ามไม่ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.ใช้ความเป็นเจ้าของสื่อ ใช้สื่อของตัวเล่นงาน กล่าวหา โจมตี บิดเบือน ใส่ร้ายป้ายสี ข่มเหง รังแก คู่แข่ง หรือเป็นเครื่องมือสร้างความนิยมให้ตัวเองโดยปราศจากความจริงหรือเกินเลยความเป็นจริง


          อย่างไรก็ดีเรื่องห้ามนักการเมืองเกี่ยวข้องกับสื่อก็ยังถูกท้าทายอยู่มากจาก “นักการเมือง” ที่มีแนวคิดว่านักการเมือง พรรคการเมืองต้องสื่อสารกับประชาชนได้
   

          ดังนั้นถ้านักการเมืองรู้สึกว่า “สื่อกระแสหลัก” ทำหน้าที่ได้ไม่ดี สื่อสารไม่ได้อย่างที่เขาต้องการ  “นักการเมือง” ควรมีสิทธิถือหุ้นและเป็นเจ้าของสื่อเพื่อสื่อสารกับประชาชนได้
   

          และยังเห็นว่าขณะนี้ก็มี “นักการเมือง” ใช้สื่อสังคมออนไลน์ เช่น ยูทูบ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์  ในการสื่อสารอยู่แล้ว  ซึ่ง “นักการเมือง” บางคนมีคนติดตามมากกว่าวิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ และโทรทัศน์บางช่องเสียอีกก็ยังทำได้ ไม่ต้องห้ามตามกฎหมาย ที่สำคัญไม่ต้องจดทะเบียนประกอบการ ไม่ต้องถูกตรวจสอบจากทางการ ว่าหนังสือบริคณห์สนธิระบุทำสื่อด้วยหรือไม่


          อย่างไรก็ตามเมื่อรัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดห้ามไม่ให้ ส.ส. เป็น “เจ้าของ” หรือ “ผู้ถือหุ้นสื่อ"  ก็ควรมีการพิจารณาหาทางวางบรรทัดฐานการปฏิบัติในการกล่าวโทษ การตัดสินลงโทษให้ชัดเจน มีเหตุผลรองรับ เกิดความเป็นธรรมและสังคมส่วนใหญ่รับได้
  

          ตั้งแต่การกำหนดกรอบ “ความเป็นเจ้าของสื่อหรือผู้ถือหุ้นสื่อ" ที่เข้าข่ายผิดกฎหมายว่ามีขอบเขตมากน้อยแค่ไหน ควรตีความข้อความหรือถ้อยคำตามตัวอักษรที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างแคบ เคร่งครัด หรืออย่างกว้าง  ความเป็นเจ้าของพิจารณาจากจำนวนหุ้นที่ถืออยู่ควรมีสัดส่วนมากหรือน้อยแค่ไหน พิจารณาในความเป็นจริงว่าสามารถใช้อิทธิพลครอบงำ ชี้นำการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนให้เป็นไปตามเป้าหมายของตัวได้ หรือว่า ถือหุ้นเพียงเล็กน้อยหรือเพียงหุ้นเดียวในสื่อก็ผิดข้อต้องห้ามแล้ว 
 

          หรือกรณีเป็นเจ้าของหรือหุ้นส่วนบริษัทที่หนังสือบริคณห์สนธิของบริษัท เขียนวัตถุประสงค์ไว้หลายสิบข้อ ข้อหนึ่งในนั้นมีกิจการสื่อรวมอยู่ด้วย แต่ความเป็นจริงบริษัทดังกล่าวทำธุรกิจอื่น ไม่ได้ทำธุรกิจสื่อ ผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.ที่มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทดังกล่าวเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่ หรือให้ทางการมีการปรับปรุง “แบบฟอร์มสำเร็จรูป” ไม่ให้มีการจดแจ้งการประกอบการของบริษัทประเภท “ครอบจักรวาล” อีก 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ