คอลัมนิสต์

ต้นไม้โค่นล้มทับรถเพราะพายุฝนหรือหน่วยงานของรัฐไม่เอาใจใส่!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์... เรื่องน่ารู้วันนี้..กับคดีปกครอง โดย... นายปกครอง

 

 

 

          ช่วงนี้มีพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงในหลายๆ พื้นที่ ทำให้มักได้ยินข่าวต้นไม้ขนาดใหญ่ เช่น ต้นจามจุรี ถูกลมพัดหักโค่นล้มทับบ้านเรือนประชาชน ตลอดจนรถยนต์และทรัพย์สินอื่นๆ เสียหาย

 

 

          หากเกิดกรณีต้นไม้หักโค่นล้มทับรถยนต์ที่จอดอยู่ในบริเวณถนนหรือบาทวิถีริมถนน ที่หน่วยงานของรัฐอนุญาตให้ผู้ใช้รถสามารถนำรถไปจอดได้ กรณีเช่นนี้... หน่วยงานของรัฐดังกล่าว จะต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถยนต์หรือไม่ มาฟังคำตอบจากเรื่องที่เกิดขึ้นจริงกันครับ...


          นาง ก. เจ้าของรถยนต์กระบะที่ดัดแปลงเป็นรถโดยสารเพื่อให้นาย ส. สามีของตนนำออกไปวิ่งรับจ้าง หลังจากวิ่งรถเสร็จ นาย ส. ได้นำรถไปจอดไว้ใต้ต้นไม้บริเวณที่จอดรถที่ทางเทศบาลจัดไว้สำหรับเป็นที่จอดรถและเก็บค่าบริการ ในระหว่างนั้นได้เกิดพายุฝนและลมพัดแรงทำให้ต้นไม้โค่นล้มทับรถยนต์ได้รับความเสียหาย โดยหลังจากที่ได้นำรถยนต์เข้าซ่อมแซมเรียบร้อยแล้ว นาย ส. (ผู้รับมอบอำนาจ) ได้ยื่นคำร้องต่อเทศบาลขอค่าเสียหาย 


          แต่นายกเทศมนตรีปฏิเสธการชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าว โดยอ้างว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ในการดูแลตัดแต่งกิ่งไม้ในบริเวณที่เกิดเหตุ แต่เกิดจากพายุฝนซึ่งถือเป็นเหตุสุดวิสัยที่ทางเทศบาลไม่สามารถป้องกันได้

 

 

 

ต้นไม้โค่นล้มทับรถเพราะพายุฝนหรือหน่วยงานของรัฐไม่เอาใจใส่!

 


          เจ้าของรถจึงยื่นฟ้องเทศบาล (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และนายกเทศมนตรี (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ต่อศาลปกครอง ขอให้มีคำพิพากษาให้เทศบาลชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าซ่อมแซมรถยนต์และค่าขาดประโยชน์ระหว่างรอซ่อมแซมรถยนต์




          คดีมีประเด็นที่พิจารณาว่า เหตุที่ต้นไม้โค่นเกิดจากพายุฝนลมแรงอันถือเป็น “เหตุสุดวิสัย” หรือเกิดจากผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองละเลยต่อหน้าที่ในการดูแลความปลอดภัยบริเวณที่จอดรถตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ


          ศาลปกครองสูงสุด วินิจฉัยว่า เทศบาลมีหน้าที่จัดให้มีและควบคุมที่จอดรถตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 และพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 ประกอบกับในวันเกิดเหตุเป็นช่วงฤดูฝน เทศบาลจึงมีหน้าที่ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษในการดูแลบริเวณสถานที่จอดรถให้มีความปลอดภัยต่อร่างกายและทรัพย์สินของประชาชนที่ใช้บริการ ไม่ว่าเทศบาลจะมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจอดรถบริเวณดังกล่าวหรือไม่ก็ตาม 


          เมื่อในวันเกิดเหตุมีพายุฝนลมแรง แต่มีต้นไม้เพียงต้นเดียว คือต้นที่โค่นล้มทับรถยนต์ของผู้ฟ้องคดี ส่วนต้นไม้ต้นอื่นๆ รวมทั้งอาคารบ้านเรือนบริเวณใกล้เคียงยังคงมีสภาพปกติ ไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด โดยต้นไม้ต้นดังกล่าวเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่และมีกิ่งจำนวนมาก ได้หักโค่นลงมาทั้งลำต้น โดยรากของต้นไม้มีแต่รากฝอยไม่มีรากแก้ว ซึ่งเป็นส่วนที่ยึดลำต้นให้แข็งแรง ประกอบกับสถานที่ปลูกต้นไม้โดยรอบเป็นคอนกรีตทำให้พื้นผิวดินที่รากต้นไม้จะใช้ยึดเกาะมีไม่เพียงพอ จึงมิอาจจะต้านกระแสลมได้ และแม้ว่าสภาพอากาศในวันเวลาเกิดเหตุจะเกิดพายุฝนฟ้าคะนองก็ตาม แต่ก็ไม่รุนแรงถึงขนาดที่จะหักโค่นต้นไม้ใหญ่ได้


          หากเทศบาลได้มีการวางแผนตัดแต่งกิ่งไม้ประจำปีงบประมาณ หรือได้พิจารณาถึงสถานที่ปลูกต้นไม้ และลักษณะของต้นไม้ที่เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ซึ่งไม่มีรากแก้ว แล้วปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวังตามสมควรหรือเอาใจใส่ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของต้นไม้อันพึงสามารถคาดหมายได้ในภาวะเช่นนั้นก็ย่อมไม่เกิดเหตุดังกล่าว เหตุที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องที่เทศบาลอาจป้องกันได้ แต่มิได้ดำเนินการ ซึ่งมิใช่เหตุสุดวิสัยตามมาตรา 8 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์


          จึงถือว่าเทศบาลละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติในการควบคุมที่จอดรถของเทศบาล อันเป็นเหตุให้รถยนต์ของผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ตามมาตรา 420 ประกอบมาตรา 434 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เทศบาลจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดี ได้แก่ ค่าซ่อมแซมรถยนต์และค่าขาดประโยชน์จากการนำรถไปใช้ในการรับจ้างหารายได้ ซึ่งเป็นค่าเสียหายที่เป็นผลโดยตรงมาจากการกระทำละเมิดของเทศบาล (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 307/2562)


          คดีนี้เป็นบรรทัดฐานการปฏิบัติราชการที่ดี สำหรับเทศบาลที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบดูแลบำรุงรักษาถนนหนทาง บาทวิถี รวมทั้งพื้นที่ที่อนุญาตให้ประชาชนสามารถจอดรถได้หรือหน้าที่ด้านอื่นๆ เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน จะต้องใช้ความระมัดระวัง หมั่นคอยตรวจสอบ เอาใจใส่ดูแลบำรุงรักษาอย่างเพียงพอและสม่ำเสมอ พึงระวังในสิ่งที่คาดหมายได้ว่าอาจเกิดความไม่ปลอดภัยขึ้นเพื่อป้องกันปัญหา โดยเฉพาะช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดเหตุ เช่น ฝนตก ลมแรง ดังในคดีที่นำมาเล่าเป็นอุทาหรณ์นี้ ซึ่งหากเป็นกรณีที่อาจใช้ความระมัดระวังไม่ให้เกิดเหตุอันจะนำมาซึ่งอุบัติภัยได้ ย่อมไม่ถือเป็นเหตุสุดวิสัย ซึ่งเมื่อเทศบาลไม่ใช้ความระมัดระวังในการดูแลตามอำนาจหน้าที่ทำให้เกิดความเสียหายขึ้น ย่อมไม่อาจปฏิเสธความรับผิดที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหายนั้นครับ !! 

(ปรึกษาคดีปกครองได้ที่สายด่วนศาลปกครอง 1355)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ