คอลัมนิสต์

'ท่าดี ทีเหลว' สะท้อนเลือกตั้ง ภายใต้ 'รธน.60'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  ขนิษฐา เทพจร

 

 


          หลังการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 24 มีนาคม แม้ผลการเลือกตั้ง ส.ส.อย่างเป็นทางการ จะปรากฏผลทั้งหมดแล้ว และการเมืองขณะนี้ ก้าวสู่การตั้ง “คณะรัฐบาล” ชุดใหม่ ที่มีผู้นำคนเดิม คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็น "นายกรัฐมนตรี" และโฉมหน้า “รัฐมนตรี” ที่คาดการณ์ว่า จะเป็นคนหน้าเดิม

 

 

          กับควันหลงของการเลือกตั้ง ภายใต้กติกาฉบับใหม่ ทั้ง “รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560” และ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง จำนวน 4 ฉบับ ยังถูกหยิบยกมาวิจารณ์ว่า เป็นกติกาที่สมบูรณ์และเหมาะสมต่อการใช้ “การเลือกตั้ง” เป็นโจทย์ที่ถูกตอบได้ตรงจุดต่อประเด็นเป็นกลไกพาประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยในระยะเปลี่ยนผ่าน หรือไม่ ?


          ในงานรำลึกเชิดชูครูกฎหมาย ศาสตราจารย์ไพโรจน์ ชัยนาม ครั้งที่ 9 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเวทีอภิปราย สะท้อน “บทเรียนการเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญฉบับ 60” เพื่อร่วมถอดบทเรียน ผ่านการศึกษาในมิติที่สำคัญ คือ “การออกแบบระบบเลือกตั้ง” และ “การดำเนินการเลือกตั้ง” ที่มีบทสรุปร่วมกันว่า ไม่ว่ากลไกสูงสุด รวมถึงกติกาที่มาเคียงคู่กัน จะออกแบบมาด้วยความตั้งใจดี เพื่อแก้โจทย์การเมืองที่เป็นปัญหาได้ดีเพียงใด สุดท้ายภายใต้กระบวนการเลือกตั้ง ที่เป็นปัญหาคาใจของคนในสังคม ย่อมส่งผลต่อการสร้างความเชื่อมั่นในระบบการเมืองไทยหลังจากนี้ รวมถึง ความเชื่อถือใน “รัฐบาล” ที่เตรียมเข้ามาบริหารประเทศหลังการเลือกตั้ง


          รศ.ดร.ณรงค์เดช สรุโฆษิต นักวิชาการคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ทัศนะตอนหนึ่งว่า การเลือกตั้งเมื่อ 24 มีนาคม 2562 ยังพบสิ่งที่เป็นปัญหา โดยเฉพาะการกำหนดสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตามระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ทั้งนี้เข้าใจว่าการยึดหลักของระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมคือ ให้ทุกคะแนนเสียงมีค่า ทุกคะแนนเสียงถูกนับ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการเลือกตั้งสากล




          “แต่ปัจจัยสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามคือ ต้องคำนึงต่อการเคารพสิทธิของประชาชนที่ออกเสียงลงคะแนนด้วย เพราะการเคารพดังกล่าวเป็นปัจจัยขั้นต้นที่ส่งผลต่อระบบการเมืองที่มีประสิทธิภาพและเสถียรภาพ เพราะหากก้าวข้ามหลักการสำคัญ คือ การเลือกตั้งทางตรง ออกแบบโจทย์ที่บิดเบือนการออกเสียงของประชาชน ลดคุณค่าของคนให้ไม่เท่ากัน จะทำให้กลายเป็นปัญหาต่อการยอมรับในกระบวนการเลือกตั้ง และจะทำให้การเลือกตั้งถูกใช้เป็นฐานสร้างความชอบธรรมให้บุคคลเท่านั้น”


          ดร.ณรงค์เดช เสนอมุมมองด้วยว่า ในกระบวนการจัดการเลือกตั้งตั้งแต่ต้น คือ การแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่ในทางปฏิบัติสามารถกำหนด “ผู้ชนะเลือกตั้ง” ได้ ตามหลักสากลพึงคำนึงถึงความเป็นผู้แทน, จำนวนประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งและการออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ผ่านมา ที่พบปัญหาเรื่องการใช้อำนาจของ กกต. ทำให้ คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 แก้ปัญหาด้วยการให้ กกต.เดินหน้าแบ่งเขตได้ พร้อมรับรองการกระทำของ กกต.นั้นถูกต้องชอบธรรม และห้ามบุคคลใดนำไปฟ้องร้องในทางคดี


          “การเลือกตั้งในประเทศไทยมีปัญหา เพราะมีใบเสร็จชัดเจน ซึ่งดูได้จากการแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่มีลักษณะบิดเบี้ยว ทำให้สะท้อนไปถึงผลการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ซึ่งขัดต่อหลักการสากล ส่วนการประกาศผลเลือกตั้ง และการประกาศผลนับคะแนนยังพบปัญหา ตรวจสอบไม่ได้ ทั้งที่ประชาชนอยากมีส่วนร่วม” ดร.ณรงค์เดช กล่าว


          กับมุมมองต่อระบบและกระบวนการเลือกตั้งที่เป็นปัญหา “นักวิชาการคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” สรุปไว้ในสาระสำคัญว่า ตัวปัญหาอยู่ที่กฎหมาย พร้อมยกตัวอย่างที่อนาคตควรแก้ไขคือ การกำหนดเพดานค่าใช้จ่ายหาเสียงเลือกตั้ง และลักษณะการหาเสียงเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งที่ผ่านมากำหนดเพดานค่าใช้จ่าย ที่ ส.ส. 1 คน มีค่าใช้จ่ายไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ขณะที่พรรคไม่เกิน 35 ล้านบาท เพื่อให้เกิความเสมอภาค และพบการเขียนเกณฑ์ปฏิบัติอื่นๆ เช่น กำหนดขนาดป้ายหาเสียง, จำนวนป้ายหาเสียง, จำนวนรถหาเสียง, สถานที่ติดป้ายหาเสียง ซึ่งมองว่าเป็นการตัดเสื้อโหลให้คนใส่ เพื่อให้เกิดความเสมอภาค แต่คนที่คิดหลักเกณฑ์ดังกล่าวลืมไปว่า ต้องคำนึงถึงเสรีภาพด้วย ที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งสามารถออกแบบการหาเสียงเลือกตั้งให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ และเหมาะสมกับยุคเทคโนโลยีสมัยใหม่ ขณะเดียวกันการไม่เขียนกติกาที่ครอบคลุมถึงการใช้จ่ายของกลุ่มกองเชียร์ และกองแช่ง ทำให้เห็นว่า การเขียนกติกาเลือกตั้งแม้จะวางหลักการไว้ดี แต่เมื่อบังคับใช้ยังเกิดปัญหาจำนวนมาก


          “แม้ประชาธิปไตย ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่การเลือกตั้งคือองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เกิดความเป็นประชาธิปไตยในประเทศ โดยสิ่งที่สะท้อนการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตยคือ พลเมืองไทยต้องมีสิทธิเลือกตั้งอย่างกว้างขวาง ภายใต้ข้อจำกัดบางประการ เช่น อายุ, ไม่เป็นคนฟั่นเฟือน ขณะเดียวกัน พลเมืองที่ได้สิทธิเลือกตั้ง ต้องได้ใช้สิทธิเลือกตั้งทางตรง ไม่ใช่เลือกคนกลาง เพื่อให้คนกลางตัดสินใจเลือกบุคคลอื่นแทน ขณะที่การแสดงเจตจำนงในการเลือกตั้ง ตามพื้นฐานระบอบประชาธิปไตยคือ คนต้องมีคุณค่าเท่ากัน หมายถึง คะแนนเสียงที่ประชาชนโหวตต้องเท่าเทียมกัน 1 คน 1 เสียง นอกจากนั้นการใช้สิทธิต้องมีอิสระ ผ่านการตัดสินใจบนข้อมูลที่รอบด้าน ภายใต้กติกาที่เป็นธรรม และการกำกับการเลือกตั้งภายใต้กติกาที่เป็นธรรม” ดร.ณรงค์เดช กล่าว


          ขณะที่ ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองบทเรียนเลือกตั้ง ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และกฎหมายประกอบที่ใช้เลือกตั้งว่า ท่าดี ทีเหลว เพราะสิ่งที่เขียนไว้ เพื่อวางกรอบกติกาซึ่งเป็นแนวทางการปฏิรูปการเลือกตั้ง เป็นแนวทางที่จะขับเคลื่อนการเมืองไปในทิศทางที่ดีขั้นได้ แต่กติกาหรือแนวทางดังกล่าวไม่สามารถบังคับใช้ได้ เพราะ “คสช.” ออกประกาศและคำสั่ง เพื่อยุติการใช้แนวทางนั้น เช่น สั่งให้งดการเลือกตั้งขั้นต้นเพื่อหาผู้สมัคร ส.ส.ของพรรรคการเมือง หรือ ไพรมารีโหวต, การใช้เกณฑ์จำนวนสมาชิกพรรคในพื้นที่เพื่อได้สิทธิส่งตัวแทน ส.ส.ลงแข่งขันเลือกตั้ง ทั้งนี้การเขียนรัฐธรรมนูญ เข้าใจว่ามีโจทย์ที่ผู้ยกร่างต้องการแก้ปัญหา ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างความหวังและความเป็นจริง แต่กติกาที่เขียนไว้ ไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้จริงทุกครั้ง ดังนั้นจึงเป็นบทเรียนที่ควรต้องเรียนรู้อย่างสำคัญ


          “หลายประเทศพบความล้มเหลวของการออกแบบระบบเลือกตั้ง เพราะคนไม่เลือกตามที่ออกแบบไว้ เนื่องจากมีลักษณะความคิด ความเชื่อ ค่านิยมที่ทำให้กติกาใช้ไม่ได้ผล บทเรียนของสิ่งที่ว่าเมื่อเทียบกับของประเทศไทย คือความไม่ชัดเจนในกระบวนการจัดการเลือกตั้ง ทำให้ประชาชนขาดความมั่นใจ อาทิ มีบัตรเขย่ง, นับคะแนนเลือกตั้งหลายรอบและได้ผลลัพธ์ไม่เท่ากัน, การจัดการเลือกตั้งที่ประชาชนขาดชุดความรู้ที่สำคัญก่อนการใช้สิทธิ รวมถึงประชาชนไม่สามารถตรวจสอบผล หรือการจัดการเลือกตั้งได้ ทำให้กลายเป็นความไม่มั่นใจ หากคนไม่เชื่อใจในการเลือกตั้ง จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อใจต่อรัฐบาล และ ส.ส. ซึ่งความเชื่อใจที่ว่า คือสิ่งสำคัญต่อการดำรงอยู่ของรัฐบาล” ดร.อรรถสิทธิ์ กล่าว


          ขณะที่โจทย์ของการเลือกตั้ง ที่ถูกออกแบบกติกาให้ใช้ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม มีบัตรเลือกตั้งใบเดียว “ดร.อรรถสิทธิ์” เชื่อว่าผลลัพธ์ของโจทย์คือ ได้หลายพรรคการเมืองเข้าสู่ระบบสภา และนำไปสู่รัฐบาลผสม โดยการกำหนดกติกาที่ว่านั้นสะท้อนเป็นบทสรุปของข้อมูลได้ว่า ก่อนการเลือกตั้ง มี 88 พรรคการเมืองที่จดทะเบียนกับ กกต., มี 77 พรรคการเมืองที่ส่งตัวแทนลงเลือกตั้ง และมี 26 พรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งเข้าสภา ซึ่งพรรคที่ได้รับคะแนนสูงสุด คือ พรรคพลังประชารัฐ ได้ 8.4 ล้านคะแนน ขณะที่พรรคการเมืองซึ่งได้คะแนนน้อยที่สุด คือ พรรคกสิกรไทย ได้ 182 คะแนน ขณะที่การทำงานในสภานั้น จะมีเพียง 11 พรรคการเมืองที่มีบทบาทสำคัญ


          “การเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้ง ส่งผลต่อจำนวนพรรคการเมืองที่เข้าสู่สภา ล่าสุดมีถึง 26 พรรคการเมือง ซึ่งสัดส่วน ส.ส.ที่เกิดขึ้นนั้นบิดเบี้ยว แต่ไม่ร้ายแรง หากการเลือกตั้งครั้งหน้า 26 พรรคการเมืองส่งตัวแทนลงเลือกตั้ง เชื่อว่าจะมีเพียง 6 พรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้ง ขณะที่การทำงานในสภา ที่มีบทบาท ทำงานได้ คือ 11 พรรคการเมืองเท่านั้น แต่ ส.ส.ของพรรคการเมืองขนาดเล็กมีบทบาทในระดับมากเช่นกัน เพราะถือเป็นงูเห่า แต่สิ่งที่ต้องกลัวไม่ใช่การกลัวงูเห่า แต่กลัวงูป่วยดีกว่า ภายใต้รัฐบาลและสภาเสียงข้างมากปริ่มน้ำ การใช้สิทธิไม่มาประชุม ถือเป็นขั้นตอนหนึ่งที่เทียบได้กับการโหวตสวนมติพรรค ขณะที่การลาประชุมนั้นไม่ต้องห่วงว่า หากขาดประชุมโดยไม่ได้รับอนุญาต เกิน 1 ใน 4 ของจำนวนวันประชุมของสมัยประชุม ต้องถูกพ้นสมาชิกภาพ เพราะการทำใบลาประชุมสามารถทำย้อนหลังได้ โดยให้เพื่อน ส.ส.รับรอง ขณะที่การตรวจสอบนั้นทำได้ยาก เพราะเขาอ้างว่า ส.ส.ไม่ใช่บุคคลสาธารณะ” ดร.อรรถสิทธิ์ กล่าวปิดท้าย


          ขณะที่นักเคลื่อนไหวด้านกฎหมายเพื่อประชาชน “ยิ่งชีพ อัชฌานนท์" ผู้จัดการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ชี้ว่าปัญหาของการเลือกตั้งที่ผ่านมา เกิดจาก “กกต.” ในฐานะผู้จัดการเลือกตั้ง ที่พบความผิดพลาด แต่ไม่ออกมายอมรับผิดหรือขอโทษต่อประชาชน อาทิ การแจกบัตรเลือกตั้งผิดเขตในวันเลือกตั้งล่วงหน้า ทำให้ประชาชนใช้สิทธิเลือกตั้งผิดพื้นที่เลือกตั้งแม้หลังการเลือกตั้งจะขอตรวจสอบกรณีบัตรเสียที่มีมากถึง 2.5 ล้านใบ เพื่อทราบถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดบัตรเสีย เช่น ลงคะแนนผิดเขต, สัญลักษณ์กาบัตรไม่เป็นไปตามที่กำหนด เพื่อแก้ไขในการเลือกตั้งครั้งต่อไป แต่ กกต.กลับไม่ดำเนินการนำบัตรเสียมาตรวจสอบเพื่อหาทางแก้ไขข้อผิดพลาด ขณะที่การจัดการเลือกตั้งที่มีปัญหา เช่น การนับคะแนนรายหน่วยผิดพลาด แต่ กกต.ไม่ยอมเปิดเผยคะแนนรายหน่วยที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ในขั้นตอนของ กกต. เมื่อนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง ต้องส่งคะแนนดิบไปรวมที่ส่วนกลาง ซึ่งในกระบวนการประกาศผลเลือกตั้ง มีข้อสงสัยว่า อาจเพิ่มคะแนนให้แก่บางพรรคการเมืองได้หรือไม่ ดังนั้นมองว่าไม่มีเหตุผลใดที่ กกต.จะเลี่ยงการเปิดเผยคะแนนรายหน่วย ยกเว้น การประกาศคะแนนเลือกตั้งรวมเกินกว่าคะแนนที่ได้รับจริง


          นอกจากนั้น “ยิ่งชีพ” ยังตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการเขียนกติกาอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการเมืองหลังจากนี้คือ การกำหนดประมวลจริยธรรม ที่ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ยกร่าง และมีผลบังคับใช้กับนักการเมือง ดังนั้นหากฝ่ายใดต้องการให้ ส.ส.ฝ่ายตรงข้ามออกจากสภาผู้แทนราษฎร สามารถใช้กลไกการร้องเรียนปัญหาจริยธรรม หรือทำความผิดด้านจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่งผู้ที่จะวินิจฉัยคือ คนกลุ่มเดียวกัน นอกจากนั้นการทำร่างกฎหมายของฝ่ายค้านที่เสนอต่อสภา หากฝ่ายผู้มีผลประโยชน์ไม่ต้องการให้ผ่านพิจารณา สามารถอ้างได้ว่า ร่างกฎหมายฉบับนั้น ขัดกับบทบัญญัติว่าด้วยยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปได้ ซึ่งการตีความกรณีดังกล่าว ยังเป็นคนกลุ่มเดิม


          สุดท้ายในเวทีอภิปรายนั้น แม้จะไม่ฟันธงว่า “ทิศทางการเมือง” และ “รัฐบาลใหม่ หน้าเดิม” จะอยู่ต่อ หรือเดินหน้าทำงานให้ราบรื่นได้อย่างไร ท่ามกลางกระแสสังคมที่ยังเคลือบแคลงและสงสัย ต่อกระบวนการได้มาซึ่งอำนาจทางการเมือง ผ่านการเลือกตั้งที่หลายคนตั้งข้อสงสัย แต่เชื่อว่า ปัญหาของรัฐธรรมนูญ และกติกาทางการเมืองหลังจากนี้ จะถูกหยิบยกมาพิจารณา อย่างน้อยเพื่อเป็นการหาทางออกและสร้างกติกาใหม่ที่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเท่าเทียม เสมอภาค มีเสรีภาพ และอิสรภาพ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ