คอลัมนิสต์

ขยะบนดินสู่ทะเล

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บทบรรณาธิการ นสพ.คมชัดลึก ฉบับวันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน 2562

 

 


          เป็นเรื่องน่ายินดีที่ที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนได้ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมทางทะเล โดยมีการลงนามรับรองปฏิญญากรุงเทพว่าด้วยการต่อต้านขยะทางทะเล ถือเป็นการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมครั้งสำคัญในภูมิภาคอาเซียน ด้วยสาเหตุที่ว่าปัญหาขยะทางทะเลเป็นปัญหาที่มีลักษณะข้ามชาติเนื่องจากเขตแดนทางทะเลนั้นมีอาณาบริเวณที่กว้าง เมื่อขยะได้เคลื่อนออกจากผืนดินไปสู่น่านน้ำทะเลแล้วก็ยากที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะสามารถจัดการได้อย่างอิสระเพราะอาจรุกล้ำเขตน่านน้ำของประเทศอื่นได้ การแก้ปัญหาขยะทางทะเลจึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือและกลไกในระดับระหว่างประเทศ แลกเปลี่ยนข้อมูลแนวทางการรับมือหามาตรการป้องกันและควบคุมปริมาณขยะระหว่างกันเพื่อให้ปัญหาถูกขจัดและลุล่วงไปอย่างมีประสิทธิผล

 

 


          ปัจจุบันทั่วโลกกำลังเผชิญกับขยะที่เคลื่อนจากแผ่นดินออกสู่ชายฝั่งทะเล เป็นสาเหตุให้ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลได้รับความเสียหาย  ที่ผ่านมาประเทศในภูมิภาคอาเซียนหลายประเทศถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดในโลก ซึ่งปัญหาขยะเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการดำเนินชีวิตของมนุษย์ และได้ก่อให้เกิดผลกระทบทำให้ทรัพยากรเสื่อมโทรมลง โดยเฉพาะระบบนิเวศชายฝั่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อห่วงโซ่อาหาร ความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำและทรัพยากรชายฝั่ง เพราะขยะที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ที่สุดแล้วก็จะไหลลงสู่ทะเล ทำให้ในทะเลมีขยะจำนวนมากที่ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำ บาดเจ็บและล้มตายจำนวนมาก รวมทั้งสิ่งแวดล้อมในทะเล เศรษฐกิจของประเทศ ตลอดจนการท่องเที่ยวในภาพรวมเสียหายตามไปด้วย

 


          ปัญหาเรื่องขยะในทะเลเป็นประเด็นระดับโลกที่องค์การสหประชาชาติให้ความสำคัญ เนื่องจากการจัดการทรัพยากรทางทะเลเป็น 1 ใน 17 เป้าหมายของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ในปัจจุบันทะเลทั่วโลกกำลังเผชิญกับขยะที่เคลื่อนจากแผ่นดินออกสู่ชายฝั่งและท้องทะเล ดังนั้นปฏิญญากรุงเทพว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเล ถือเป็นการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมครั้งสำคัญในภูมิภาคอาเซียน ซึ่ง 3 ปีที่ผ่านมาไทยถูกจัดเป็นประเทศทิ้งขยะลงทะเลเป็นอันดับ 6 ของโลก ทำให้ประเทศไทยและเพื่อนบ้านในภูมิภาค ถูกจับตามองเป็นพิเศษในฐานะประเทศที่ปล่อยขยะพลาสติกลงทะเล อาจส่งผลกระทบ เช่น การท่องเที่ยว อาหารทะเล อุตสาหกรรมปิโตรเคมี จะถูกจับตาและอาจถึงขั้นบีบทางการค้าโดยใช้สิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยเหมือนกับไอยูยูให้ใบเหลืองประมงไทยได้

 


          ถือเป็นอีกวาระที่สำคัญของประเทศสมาชิกอาเซียนที่ต้องร่วมมือร่วมใจกันแสดงบทบาทสำคัญเสริมสร้างสิ่งแวดล้อมโลกด้วยการลดวิกฤติขยะทางทะเล เริ่มจากการรณรงค์อย่างต่อเนื่องในแต่ละประเทศ รวมถึงการสร้างยุทธศาสตร์ นโยบายระดับภูมิภาคร่วมกันในการกำจัดขยะรูปแบบต่างๆ  ซึ่งเราเชื่อมั่นว่าพลังของอาเซียนที่เข้มแข็งและเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันคือคำตอบที่จะช่วยให้ก้าวผ่านทุกความท้าทาย และสามารถวางรากฐานที่มั่นคงให้แก่อนุชนรุ่นหลังได้ สอดรับกับแนวทางประธานอาเซียนคนใหม่ที่ได้ประกาศแนวคิดหลัก “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” ด้วยความฝันที่จะให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยต่อยอดจากสิ่งดีๆ ที่อาเซียนได้สร้างกันมาในอดีต และมองไปสู่อนาคตเพื่อความสุขของชนรุ่นหลังที่จะเห็นภูมิภาคที่มีสันติภาพ เสถียรภาพ และความรุ่งเรืองต่อไปอย่างยั่งยืน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ