คอลัมนิสต์

"สามมิตรอุปสรรคจัดตั้งรัฐบาล?"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รายงาน...

 

 

 

          การฟอร์ม ครม.ลุงตู่ 2 มิได้โปรยไปด้วยกลีบกุหลาบอย่างที่หลายฝ่ายคิด แม้อำนาจการจัดตั้งรัฐบาลจะอยู่ในมือของผู้ใหญ่ในพรรคพลังประชารัฐและมากบารมีในแวดวงสีเขียว

 

 

          แต่ด้วยการเดินเกมของบรรดานักการเมือง ที่เล่นทั้งบนดินและใต้ดิน เพื่อให้บรรลุตำแหน่งรัฐมนตรีที่ต้องการ โดยหยิบยกปัจจัยเมื่อครั้งหาเสียงมาหว่านล้อม


          แม้ต้นสัปดาห์ก่อน สถานการณ์จัดตั้งรัฐบาล ดูเหมือนจะได้ข้อยุติในระดับหนึ่ง เมื่อทั้งพรรคประชาธิปัตย์และภูมิใจไทย ดูจะรับเงื่อนไขที่พรรคพลังประชารัฐเสนอมา


          แต่ด้วยความอ่อนไหวของพรรคพลังประชารัฐ ทั้งรัฐบาลที่เสียงปริ่มน้ำ สารพัดก๊ก ที่ขยับต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรีกันอย่างคึกคัก พร้อมไล่ทวงคืนกระทรวงเศรษฐกิจสำคัญ จาก 2 พรรคใหญ่ร่วมรัฐบาล

 

 

 

"สามมิตรอุปสรรคจัดตั้งรัฐบาล?"

 


          ดูเหมือนว่าแรงขับเคลื่อนของกลุ่มสามมิตร ในพรรคพลังประชารัฐ ที่พลาดหวังจากเก้าอี้ที่หมายปอง เริ่มตีรวนอย่างหนัก กลายเป็นขวากหนามชิ้นใหญ่ ที่ทำให้ ครม.ลุงตู่ 2 ต้องยืดเยื้อออกไปอย่างไม่มีกำหนด


          สถานการณ์ต่อรองเก้าอี้ ครม.ลุงตู่ 2 จะลงเอยในรูปแบบไหน รายการห้องข่าวกรุงเทพธุรกิจ เนชั่นทีวี เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา วิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจ


          สมชาย มีเสน ซีอีโอเครือเนชั่น และวีระศักดิ์ พงษ์อักษร บรรณาธิการบริหาร นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ร่วมเป็นพิธีกรรับเชิญ เจาะลึกไปที่หัวข้อ “สามมิตรอุปสรรคจัดตั้งรัฐบาล ?”


          สมชาย ระบุว่า การที่นักการเมืองหลายพรรคมองว่ากระทรวงใดเกรดเอนั้น แต่เดิมดูกันที่งบประมาณประจำปีของแต่ละกระทรวง แต่ตอนนี้มองกันที่งบการลงทุนภาครัฐของกระทรวงนั้นประกอบด้วย และรัฐบาลจะอยู่ได้ยาวหรือไม่อยู่ที่ความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาล ความขัดแย้งในพรรคแกนนำคือพลังประชารัฐ และปัจจัยจากข้างนอกที่พยายามเป็นรัฐบาล

 

 

"สามมิตรอุปสรรคจัดตั้งรัฐบาล?"

 



          ส่วนกระแสข่าวการยื้อแย่งกระทรวงต่างๆ ในช่วงตั้งรัฐบาลนั้นมีมาตั้งแต่อดีต เว้นช่วงไปบ้างในรัฐบาลพรรคไทยรักไทยและช่วงการยึดอำนาจ แต่กระแสข่าวล่าสุดนั้นความขัดแย้งข้างต้นมีขึ้นในช่วงลงมติเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรและเลือกนายกรัฐมนตรี โดยกลุ่มสามมิตรต้องการเปลี่ยนกระทรวงที่สองพรรคร่วมรัฐบาลรับไปดูแลตามที่ผู้มีบารมีสีเขียวไปเจรจาไว้


          ในช่วงหนึ่งวีระศักดิ์สอบถามว่าการเมืองใน พปชร.ที่ล่าช้าเพราะอะไร ซีอีโอเครือเนชั่น วิเคราะห์ว่า กลุ่มสามมิตรในพรรคพลังประชารัฐคือนายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ รวมทั้งนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่สนิทกันกับทั้งสองคนตั้งแต่พรรคไทยรักไทยนั้น ต้องการที่จะแลกเปลี่ยนกระทรวงคือ ขอกระทรวงพาณิชย์คืนจากพรรคประชาธิปัตย์ แล้วแลกกระทรวงยุติธรรมกับกระทรวงศึกษาธิการ ล่าสุดยินยอมไม่ทวงคืนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วนกระทรวงคมนาคมที่พรรคภูมิใจไทยได้รับไปนั้น พรรคพลังประชารัฐขอแลกกับกระทรวงพลังงาน โดยพรรคพลังประชารัฐอ้างว่าพรรคหลักควรดูแลการลงทุนและโครงสร้างพื้นฐาน

 

 

 

"สามมิตรอุปสรรคจัดตั้งรัฐบาล?"

 


          สมชาย ยังมองว่า ที่ผ่านมาจะพบการแสดงพลังของกลุ่มสามมิตรที่แสดงออกคือ ตอนเลือกประธานสภาผู้แทนฯคือ ส.ส.ในกลุ่มสามมิตรเสนอเลื่อนวาระการประชุมและลงมติผิด จากนั้นช่วงการทาบทามสองพรรคร่วมรัฐบาล โดยนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค เป็นผู้ไปทาบทาม แต่ตอนนั้นแกนนำกลุ่มสามมิตรคือนายสุริยะกับนายสมศักดิ์ติดตามนายอุตตมกับนายสนธิรัตน์ไปด้วยเพื่อไปคุยกับสองแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล โดยทราบว่ากลุ่มสามมิตรไปด้วยเพื่อขอเจรจาแลกกระทรวง ในวันนั้นจะพบว่า นายณัฎฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ประกบไปด้วย


          สมชาย บอกด้วยว่า จากนั้นช่วงก่อนการลงมติเลือกนายกฯ กลุ่มสามมิตรไปแสดงพลังที่โรงแรมแห่งหนึ่งแล้วอ้างว่าไปซ้อมการลงมติ รวมทั้งในช่วงหลังเสร็จสิ้นการลงมติเลือกนายกฯ ก็มีการแถลงข่าวของ ส.ส.กลุ่มสามมิตรเรื่องการทวงกระทรวงต่างๆ ทันที


          ขณะที่ วีระศักดิ์ มองว่ามีการตอบโต้ระหว่างพรรคต่างๆ ทางสื่อและโลกออนไลน์แบบนี้จนเป็นข่าวพาดหัว เหล่านี้สะท้อนอะไร

 

 

 

"สามมิตรอุปสรรคจัดตั้งรัฐบาล?"

 


          สมชายในฐานะพิธีกรรับเชิญรายการห้องข่าวกรุงเทพธุรกิจ ชี้ว่า กลุ่มสามมิตรที่มี ส.ส. 29 คน และนายสมคิดร่วมด้วยนั้น กำลังงัดข้อกับผู้มีบารมีสีเขียวรวมทั้งพรรคภูมิใจไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ผ่านการให้ข่าวและโพสต์ข้อความโต้ตอบทางโลกออนไลน์ในช่วงที่ผ่านมา ความขัดแย้งที่ระอุขึ้นนี้เพราะกลุ่มสามมิตรขอทวงคืนกระทรวงเหล่านี้มาดูแล แต่มีการมองกันว่าตอนนี้แกนนำการตั้งรัฐบาลควรเสียสละในการทำงานร่วมกับพรรคอื่นๆ


          วีระศักดิ์ สอบถามว่ากลุ่มสามมิตรต้องการอะไร สมชาย อธิบายว่า กระทรวงเศรษฐกิจของ ครม.ประยุทธ์ 2 นั้นมีการมองว่า นายสมคิดน่าจะทำหน้าที่รองนายกฯ ต่อไป แม้ล่าสุดมีกระแสข่าวว่านายสมคิดอาจไม่ร่วมงาน โดยอ้างเหตุผลสุขภาพ แต่ความจริงนั้นเป็นเพราะไม่มีกระทรวงสำคัญไว้ดูแล แต่หลายฝ่ายดูกันแล้วพบว่าอาจเป็นเกมที่นายสมคิดเล่นไว้ในตอนนี้เพื่อทวงคืนเก้าอี้กระทรวงเหล่านี้ไว้ดูแลเพื่อสร้างผลงาน


          วีระศักดิ์ ตั้งข้อสังเกตว่า ตอนนี้ ครม.เศรษฐกิจบางส่วนลงตัว แต่บางส่วนยังไม่ลงตัวนัก ขณะที่ สมชายประเมินว่า "ครม.เศรษฐกิจนั้น ตอนนี้น่าจะเป็นไปได้ว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะไปเป็นรองนายกฯ ควบ รมว.พาณิชย์ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ จะไปเป็น รมว.เกษตรและสหกรณ์

 

 

"สามมิตรอุปสรรคจัดตั้งรัฐบาล?"

 

 


          นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย น่าจะไปเป็น รมว.คมนาคม ตระกูลรัชกิจประการ ดูแล รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา พรรครวมพลังประชาชาติไทยนั้น นายทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง เลขาธิการพรรค น่าจะไปเป็นรมว.แรงงาน


          ส่วนแกนนำพรรคพลังประชารัฐนั้น ทราบว่านายอุตตมจะไปเป็น รมว.คลัง นายสนธิรัตน์น่าจะไปเป็นรมว.อุตสาหกรรม นายณัฏฐพลน่าจะไปเป็น รมว.พลังงาน นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล โฆษกพรรคน่าจะไปเป็น รมว.กระทรวงดีอี แทนนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ที่น่าจะไปทำหน้าที่ รมต.สำนักนายกฯ และโฆษกรัฐบาล"


          สมชาย ทิ้งท้ายว่า เรื่องเหล่านี้ผู้มีบารมีสีเขียวต้องเคลียร์ความขัดแย้งในกลุ่มสามมิตรให้ยุติให้ได้ก่อน หรือสุดท้ายจะต้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นคนสุดท้ายที่จะเคาะรายชื่อ ครม. ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ