คอลัมนิสต์

ไม่ได้ขู่แต่เอาจริง!.. 1 ต.ค. จัดการคนชิ่งใบสั่งจราจร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  ทีมข่าวอาชญากรรม

 

 


          เป็นที่ชัดเจนว่าปัจจุบันมีผู้ขับขี่รถหรือเจ้าของรถที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบกจํานวนมาก โดยมีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงและเพิกเฉยต่อการบังคับใช้ทางกฎหมาย ซ้ำยังปรากฏว่ามีการกระทําความผิดดังกล่าวซ้ำอีกในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งความสงบเรียบร้อยของประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน

 

 

          ขณะเดียวกันเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาและบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างจริงจังกับคนจำนวนมากที่เมินเฉยต่อการชำระค่าปรับจราจร ตลอดหลายปีที่ผ่านมาทาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) มีการวางมาตรการบังคับใช้กฎหมายหลายเรื่อง และได้หารือเพื่อแก้ไขร่วมกันกับ กรมขนส่งทางบก โดยเฉพาะคนที่เมินจ่ายค่าปรับใบสั่งจราจรจะไม่สามารถต่อทะเบียนได้ แต่ดูเหมือนทั้งสองหน่วยงานจะถือกฎหมายคนละฉบับ และนักกฎหมายก็ออกมาท้วงติงว่า ตำรวจจะผลักภาระให้เจ้าหน้าที่กรมขนส่งทางบก ถูกประชาชนฟ้องร้องดำเนินคดีฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่แทนหากไม่ต่อทะเบียนให้ ทำให้การออกมาประกาศเช่นนี้ก่อนหน้าในห้วงหลายปีที่ผ่านเป็นเพียงแค่ “คำขู่” เพราะคนที่ไม่จ่ายค่าปรับยังดำเนินการต่อทะเบียนได้ตามปกติ ส่งผลให้คนที่ถูกออกใบสั่งการทำผิดจราจรเมินการชำระค่าปรับจำนวนมาก และทำผิดอยู่ซ้ำๆ ดังเดิม

 

 

ไม่ได้ขู่แต่เอาจริง!.. 1 ต.ค. จัดการคนชิ่งใบสั่งจราจร

 


          ทว่าปัญหานี้ล่าสุดมีการประชุมร่วมกันระหว่างกรมขนส่งทางบกกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งสรุปว่าจะเริ่มเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ โดย นางจันทิรา บุรุษพัฒน์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวถึงความคืบหน้าถึงการเชื่อมโยง ระบบใบสั่งจราจร (PTM) หลังทดลองทดสอบการเชื่อมระบบอายัดทะเบียนรถเมื่อมาชำระภาษีรถประจำปี กรณีที่ประชาชนค้างชำระค่าปรับการกระทำความผิดเกี่ยวกับกฎหมายจราจร โดยจะเริ่มมีการเชื่อมโยงส่งข้อมูลร่วมกันระหว่างตำรวจกับขนส่งทางบกตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป 




          ทั้งนี้ทั้งนั้นในส่วนของคนที่เคยได้รับใบสั่งจากตำรวจย้อนหลังกลับไป 1 ปี จากวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ย้อนไปถึงวันที่ 30 กันยายน 2561 และแม้ข้อมูลจะยังไม่เชื่อมในระบบ แต่ก็ยังต้องเสียค่าปรับตามใบสั่ง เมื่อการเชื่อมโยงส่งข้อมูลมีผลบังคับใช้แล้ว คนที่ได้รับใบสั่งหากไม่ได้ไปเสียค่าปรับที่สถานีตำรวจ ยังสามารถมาเสียค่าปรับพร้อมกับการเสียภาษีรถประจำปีที่สำนักงานขนส่งทางบกได้ เนื่องจากระบบทางตำรวจจะส่งข้อมูลมายังขนส่งทางบกด้วย โดยขนส่งจะบันทึกข้อมูลการชำระค่าปรับในระบบ ซึ่งระบบจะเชื่อมโยงกับระบบใบสั่งจราจร จากนั้นผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถก็จะได้เครื่องหมายการเสียภาษีประจำปี หรือที่หลายคนเข้าใจคือ “ป้ายวงกลม”

 

 

 

ไม่ได้ขู่แต่เอาจริง!.. 1 ต.ค. จัดการคนชิ่งใบสั่งจราจร

พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ

 


          “คนที่ต้องเสียค่าปรับตามใบสั่ง แต่ยังไม่สะดวกที่จะเสียค่าปรับพร้อมกับการเสียภาษีรถยนต์ในคราวเดียวกัน ขนส่งทางบกจะให้เจ้าของรถเสียภาษีประจำปีรถยนต์ได้ก่อน แต่เจ้าของรถที่เสียภาษีจะไม่ได้ป้ายวงกลม แต่จะได้หลักฐานการเสียภาษีประจำปีชั่วคราว ซึ่งใบที่ออกแทนเพื่อให้เจ้าของรถสามารถแสดงกับตำรวจเมื่อถูกเรียกตรวจได้ภายใน 30 วัน ถ้าหากเจ้าของรถกลับมาชำระค่าปรับแล้วก็สามารถนำหลักฐานใบเสร็จการชำระมาแสดง เพื่อรับเครื่องหมายป้ายวงกลมฉบับจริงได้ภายหลัง นอกจากนั้นถ้าเจ้าของรถที่โดนใบสั่ง หากจะปฏิเสธข้อหาโดนใบสั่งและไม่ยอมเสียค่าปรับ สามารถอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน ซึ่งการอุทธรณ์จะต้องดำเนินการฟ้องร้องกับศาล หากศาลมีคำสั่งออกมาว่าไม่ผิดถึงจะหลุดพ้นไม่ต้องเสียค่าปรับได้ อย่างไรก็ตามแม้ว่าเจ้าของรถจะไม่ยอมชำระใบสั่ง แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจและกรมขนส่งก็ไม่มีบทลงโทษด้วยการอายัดป้ายทะเบียนรถตามที่มีกระแสข่าวก่อนหน้านี้” นางจันทิรา อธิบายเสริม


          เช่นเดียวกับ พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองผู้บัญชาการศึกษา (รองผบช.ศ.) ในฐานะคณะทำงานแก้ปัญหาจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ยืนยันว่าคราวนี้ทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติและกรมการขนส่งทางบก จะดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ทำได้จริงไม่ใช่การขู่ เพราะระบบเชื่อมระหว่างสองหน่วยงานเสร็จเกือบสมบูรณ์แล้ว เหลือเพียงแก้ไขข้อบกพร่องเล็กน้อยเท่านั้นและจะสามารถดำเนินการได้ในวันที่ 1 ตุลาคม อย่างแน่นอน ส่วนกรณีที่ก่อนหน้านี้มีนักกฎหมายท้วงติงว่าผลักภาระไปให้เจ้าหน้าที่กรมขนส่งทางบกถูกประชาชนร้องดำเนินคดีฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบกรณีเจ้าหน้าที่ไม่ต่อทะเบียนให้นั้นไม่เป็นความจริง ซึ่งอาจเป็นการเข้าใจผิด เพราะการดำเนินการของทั้งสองหน่วยงานยึดตามกฎหมาย พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 141/1​ ซึ่งเป็นกฎหมายใหม่ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว

 

 

ไม่ได้ขู่แต่เอาจริง!.. 1 ต.ค. จัดการคนชิ่งใบสั่งจราจร

 

 


          พล.ต.ต.เอกรักษ์ อธิบายว่า คนที่ยังไม่ชำระค่าปรับตามใบสั่งจราจร ยังสามารถต่อทะเบียนและชำระภาษีประจำปีได้ แต่จะยังไม่ได้ป้ายวงกลมตัวจริง ซึ่งเจ้าหน้าที่จะออกเป็นสำเนาเอกสารชั่วคราวให้ โดยมีอายุการใช้งานได้ 30 วัน หากยังไม่ชำระค่าปรับ เมื่อพ้น 30 วันที่เอกสารชั่วคราวหมดอายุแล้ว หากถูกเรียกตรวจก็จะมีความผิดอีกกระทงฐานใช้รถยนต์โดยไม่มีเครื่องหมายการเสียภาษีประจำปี หรือป้ายวงกลม มีโทษปรับ 2,000 บาท ขณะเดียวกันตำรวจก็สามารถแจ้งกรมการขนส่ง ให้งดออกป้ายวงกลมสำหรับรถคันดังกล่าวและดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนอีกด้วย แม้จะเริ่มวันที่ 1 ตุลาคม 2562 แต่ระหว่างนี้ก่อนไปถึงวันเริ่ม และย้อนไปถึงวันที่ 30 กันยายน 2561 ก็จะถูกนำข้อมูลมาเชื่อมโยงกับระบบที่ว่านี้ด้วย เนื่องจากปกติแล้วใบสั่งมีอายุความ 1 ปี ซึ่งการดำเนินการที่เข้มงวดแบบนี้จะช่วยให้ประชาชนเคารพกฎจราจรมากขึ้นก็เพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน


          สำหรับการปฏิเสธใบสั่งในกรณีที่ประชาชนเห็นว่าตนเองไม่ได้กระทำความผิดนั้น เช่น มีชื่อเป็นผู้ครอบครองรถ แต่คนขับไปกระทำความผิดเป็นอีกคน ซึ่งอาจจะเป็นลูกจ้างขับรถบริษัท หรือญาติพี่น้องเอารถไปขับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะทำแบบฟอร์มและนำไปวางที่กรมขนส่งทั่วประเทศเพื่อให้ประชาชนได้ดำเนินการเขียนคำร้องและส่งไปรษณีย์แบบตอบกลับไปยังสถานีตำรวจที่ออกใบสั่งตามกฎหมายพร้อมทั้งแนบหลักฐาน อาทิ สำเนาใบสั่ง รูปถ่ายรถ และเล่มทะเบียน เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ และให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ทะเบียน เพราะในส่วนนี้อาจจะมีการสวมป้ายทะเบียนก็สามารถนำหลักฐานมาชี้แจงได้ โดยกรณีต้องการตรวจสอบว่าตนเองไม่ได้ขับขี่ผิดกฎหมายตามใบสั่งนี้ ประชาชนสามารถชำระภาษีประจำปีไปก่อน โดยเจ้าหน้าที่ของกรมขนส่งจะออกสำเนาเอกสารสำหรับการใช้แทนป้ายวงกลมเป็นการชั่วคราว 30 วันหลัง จากนั้นเมื่อไปตรวจสอบและทำการชำระค่าปรับที่โรงพักที่ออกใบสั่งแล้วก็ให้นำหลักฐานการชำระค่าปรับกลับมาขอรับป้ายภาษีตัวจริงอีกครั้ง

 

 

ไม่ได้ขู่แต่เอาจริง!.. 1 ต.ค. จัดการคนชิ่งใบสั่งจราจร

 

 


          จากสถิติในปี 2561 ตำรวจออกใบสั่งให้ผู้กระทำผิดกว่า 11.8 ล้านใบ แต่มีผู้ที่ได้รับใบสั่งกลับมาเสียภาษีเพียง 2 ล้านใบ ค้างไม่มาเสียค่าปรับกว่า 9.7 ล้านใบ ได้รับค่าปรับโดยเฉลี่ยกว่า 500 ล้านบาท ส่วนปี 2562 จากต้นปีมาถึงปัจจุบัน ได้ออกใบสั่งไปกว่า 7 ล้านใบ มาจ่ายค่าปรับตามใบสั่งเพียง 1 ล้านใบ ค้างจ่ายค่าปรับกว่า 5.9 ล้านใบ นอกจากนี้พบว่าในปี 2561 มีผู้กระทำผิดซ้ำมากกว่า 1 ครั้ง สูงถึงร้อยละ 20 หรือประมาณกว่า 1 ล้านใบ ส่วนการกระทำผิดครั้งเดียว มี 4 ล้านใบ


          น่าจะได้ยินกันมานานแล้วกับสโลแกนที่ว่า “วินัยจราจร สะท้อนวินัยชาติ” แต่จนแล้วจนรอดก็ยังมีผู้ฝ่าฝืนทำผิดกฎจราจร แม้แก้กฎหมาย เพิ่มโทษขนาดไหน หลายๆ คนยังทำตัวเป็น “ทองไม่รู้ร้อน” ยิ่งไปกว่านั้นบางรายยังทำผิดซ้ำๆ ได้รับใบสั่งซ้ำซาก ทั้งที่ของเดิมยังไม่ได้ไปจ่ายค่าปรับ คราวนี้จึงไม่ใช่แค่ขู่ แต่เป็นการเอาจริง..!!

 

 

 

ไม่ได้ขู่แต่เอาจริง!.. 1 ต.ค. จัดการคนชิ่งใบสั่งจราจร

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ