คอลัมนิสต์

งูเห่ายั้วเยี้ย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บทบรรณาธิการ นสพ.คมชัดลึก ฉบับวันอังคารที่ 28 พฤษภาคม 2562

 

 

 

          มีเสียงบ่นกันมากพอสมควรถึงบรรยากาศทางการเมืองที่ดำเนินไปเหมือนย่ำรอยเดิม จากการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อลงมติเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ใช้เวลายาวนานเกือบทั้งวัน เพราะนอกจากแสดงออกชั้นเชิงลีลาที่สั่งสมมาแต่อดีตแล้ว ยังแฝงไว้ด้วยการต่อรองกันจนถึงวินาทีสุดท้ายของการลงคะแนน อย่างที่ปรากฏเหตุการณ์พรรคพลังประชารัฐ ที่หมายมั่นว่าจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลซึ่งก็ต้องการตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรไว้ในฝ่ายของรัฐบาลด้วย ได้ขอให้เลื่อนญัตตินี้ออกไป แต่สุดท้ายก็แพ้มติของเสียงข้างมากที่สนับสนุนให้เดินหน้าลงคะแนนเสียงด้วยมติ 248 ต่อ 246 เสียง โดยฝ่ายพลังประชารัฐลงมติผิด 5 เสียง เกมการเมืองครั้งนี้ถูกมองว่า มีการต่อรองกันอย่างหนัก สุดท้ายพรรคพลังประชารัฐที่เสนอชื่อนายชวน หลีกภัย พลิกกลับมาชนะได้ด้วยคะแนนเสียง 258 ต่อ 235 เสียง ซึ่งฝ่ายพ่ายแพ้มติ 235 เสียงนั้น คะแนนหายไปประมาณ 7 เสียง จนลือกันว่า เกิดงูเห่าออกจากฝ่าย 7 พรรคตรงข้ามพลังประชารัฐ

 

 

 


          การบวกลบทางคณิตศาสตร์ คงจะเป็นเกมที่ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านในอนาคต นั่งกดเครื่องคิดเลขกันเป็นกิจวัตรทุกครั้งที่มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ดังที่มีข้อสังเกตว่า เสียงจากฟากหนึ่งไปเพิ่มให้อีกฝ่ายหนึ่ง หรือที่เรียกว่างูเห่า ขณะเดียวกัน ในอนาคตก็ใช่ว่าจะไม่มีงูเห่าในฝ่ายของรัฐบาล เพราะในสภาพที่เป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำนั้น การต่อรองย่อมมีสูงยิ่ง เช่นเดียวกับฝ่ายค้าน ที่อาจแพ้มติในเรื่องสำคัญๆ เพราะงูเห่าก็ได้ อย่างเช่น การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี การลงมติในญัตติอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล ฯลฯ ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลเองก็ต้องควบคุม ส.ส.ในสังกัดไม่ให้เป็นงูเห่าแตกแถว และยังอาจต้องพึ่งพิงเสียงสนับสนุนจากอีกฟากหนึ่งเหมือนเช่นที่เกิดขึ้นแล้วก็เป็นได้ นั่นก็เท่ากับว่า รัฐบาลนับจากนี้ไป จะต้องบริหารบ้านเมืองแบบห่วงหน้าพะวงหลังอยู่ตลอดเวลา เสถียรภาพแขวนไว้บนเส้นด้ายภายใต้การเจรจาต่อรองตลอดสมัยการประชุม 

 


          ถึงแม้ว่า การประชุมรัฐสภา อันประกอบด้วย ส.ว.250 คน ร่วมกับ ส.ส. 497 เสียง เพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี จะดำเนินไปตามโผของพรรคพลังประชารัฐ เพราะเสียงเกินกึ่งหนึ่งคือ 376 เสียงนั้้น ต้องการเสียงสนับสนุนจากส.ส.อย่างน้อยที่สุด 126 เสียงเท่านั้น แต่หลังจากได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี และเข้าสู่ช่วงการแต่งตั้งรัฐมนตรี คะแนนเสียงสนับสนุนรัฐบาลจะต้องไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งคือ 250 เสียง เพราะนับจากนี้การลงมติต่างๆ จะไม่มี ส.ว.ร่วมลงคะแนนด้วยแต่อย่างใด นั่นหมายความว่า แกนนำพรรครัฐบาลต้องเจรจากับพรรคร่วมที่เหลือให้ลงตัว การต่อรองกระทรวงสำคัญย่อมเกิดขึ้นเหมือนเช่นที่เป็นข่าวมาตลอด ถ้าหากยังไม่สมประโยชน์ก็จะทำให้การจัดตั้้งรัฐบาลสะดุด ซึ่งก็ขึ้นกับว่า นายกรัฐมนตรีที่คาดกันว่าจะเป็น พล.อ.ประยุทธฺ์ จันทร์โอชา ต้องตัดสินใจทางใดทางหนึ่ง

 


          ทุกพรรคการเมือง ยืนยันตรงกันว่า จะทำงานเพื่อชาติบ้านเมือง โดยเฉพาะพรรคที่เข้าร่วมรัฐบาล หน้าฉากมักบอกว่า ไม่มีเงื่อนไขอะไร แต่ก็มีข่าวออกมาแทบไม่เว้นวันว่า การเจรจาที่ปิดลับอยู่หลังฉากนั้น ได้ต่อรองขอกระทรวงสำคัญแทบจะไม่ลดราวาศอก จากเหตุการณ์ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เพิ่งผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลชุดใหม่จะต้องเผชิญวิบากกรรม จากทั้งฝ่ายค้านที่มีคะแนนเสียงใกล้เคียงกับรัฐบาล และ ส.ส.บางคนบางพรรคในปีกของรัฐบาลเองที่พร้อมจะแตกแถวเพียงเพราะผลประโยชน์ไม่ลงตัว  นี่ก็เป็นเหตุผลสำคัญหนึ่งที่สังคมเรียกร้องเสมอมาให้ปฏิรูปการเมือง  เพื่อนำชาติหลุดพ้นจากวังวนของผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ