คอลัมนิสต์

'ร้านทอง-โรงรับจำนำ'ต้องทำตาม(กฎ)ห้ามเอาเปรียบ!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์... สายตรวจระวังภัย โดย... ทีมข่าวอาชญากรรม

 

 

          เกิดเป็นกรณีดราม่าและสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เกี่ยวกับเรื่องที่ร้านทองบ่ายเบี่ยงไม่ยอมคืนทองให้แก่ลูกค้าที่มาจำนำไว้ จนมีการร้องเรียนกับกรมการปกครองและแจ้งความเอาผิดที่ สน.ราษฎร์บูรณะ ก่อนที่เจ้าของร้านจะส่งตัวแทนนำสร้อยทองมาคืนให้แก่ผู้ร้องเรียน ส่วนผู้ร้องรายอื่นๆ อีก 5 คน ยังไม่ได้ทองคืน โดยเรื่องที่เกิดขึ้นทำให้มีการลงพื้นที่ตรวจเข้มบรรดา ร้านทอง โรงรับจำนำ และ ร้านค้าของเก่า เพื่อย้ำให้ผู้ประกอบการต้องทำตามกฎหมาย ไม่เอาเปรียบลูกค้า เป็นการ “ล้อมคอก” ไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ ป้องกันการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพย์

 

 

          เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายชัยวัฒน์ วงศางาม เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ ส่วนกำกับสืบสวนและปราบปราม สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง อธิบายว่า กรมการปกครองเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลการปฏิบัติตามกฎหมายโรงรับจำนำ และกฎหมายควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า โดยเจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าว ให้เจ้าพนักงานสามารถเข้าไปควบคุมดูแลการกระทำต่างๆ ของผู้ประกอบอาชีพโรงรับจำนำและค้าของเก่า เพื่อเป็นการป้องกันมิให้สถานประกอบการเป็นแหล่งกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์ เช่น การฉ้อโกง การฟอกเงิน หรือการรับซื้อของโจร


          "ผู้ประกอบการโรงรับจำนำและร้านค้าของเก่า ต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะหากผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว จะส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยรวม


          เพื่อเป็นการคุ้มครองประชาชนในพื้นที่ไม่ให้ได้รับความเดือดร้อน กรมการปกครองจึงได้ลงพื้นที่ตรวจสอบใบอนุญาต ตรวจการปฏิบัติตามหน้าที่ของผู้ประกอบการ ว่าเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่" นายชัยวัฒน์ กล่าวย้ำ


          ทว่าประชาชนจำนวนไม่น้อยอาจยังไม่รู้ว่ามีกฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบการโรงรับจำนำ ร้านทอง หรือร้านค้าของเก่าทุกประเภท มีหน้าที่ต้องปฏิบัติต่อประชาชนหรือลูกค้า สำหรับโรงรับจำนำ กฎหมายกำหนดดังนี้ 1.ต้องจัดให้มีคำว่า “โรงรับจํานํา/สถานธนานุเคราะห์/สถานธนานุบาล” ในที่เปิดเผย เพื่อแจ้งให้ประชาชนทราบ 2.ต้องมีที่เก็บทรัพย์จำนำอันมีค่าไว้โดยปลอดภัยในโรงรับจำนำ หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษ ปรับไม่เกิน 2,000 บาท 3.ผู้รับจํานําต้องจัดให้มีป้ายอัตราดอกเบี้ย แสดงไว้ในที่เปิดเผยภายในโรงรับจํานํา และห้ามมิให้ผู้รับจํานําเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด  (1) เงินต้นไม่เกิน 2,000 บาท ร้อยละ 2 ต่อเดือน (2) เงินต้นส่วนที่เกิน 2,000 บาท ร้อยละ 1.25 ต่อเดือน หากฝ่าฝืน ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 1,000-20,000 บาท หรือจําคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือทั้งปรับทั้งจํา 




          4.ผู้รับจํานําต้องทําบัญชีทรัพย์จํานํา ที่ขาดส่งดอกเบี้ยเป็นเวลากว่า 4 เดือน ยื่นต่อเจ้าพนักงาน และปิดประกาศบัญชีนั้นไว้ ณ ที่เปิดเผย ที่โรงรับจํานํานั้น เพื่อเป็นการแจ้งเตือนให้ลูกค้าทราบว่าขาดส่งดอกเบี้ยแล้ว หากลูกค้าไม่มาขอไถ่ภายใน 30 วัน นับแต่วันประกาศ ทรัพย์จึงจะหลุดเป็นสิทธิแก่ผู้รับจํานํา 5.ผู้รับจำนำต้องไม่รับจำนำทรัพย์สิ่งของที่ได้มาโดยผิดกฎหมาย และ 6.หากผู้ใดฝ่าฝืนตั้งโรงรับจำนำโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 2,000-20,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือทั้งปรับทั้งจำ


          ส่วนผู้ประกอบการร้านทอง หรือร้านค้าของเก่าทุกประเภท กฎหมายกำหนดให้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติ คือ 1.ให้มีสมุดบัญชีสําหรับการค้าของร้าน และจดรายการที่สําคัญของทรัพย์ไว้ทุกรายการ หากไม่ปฏิบัติตาม ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท 2.แจ้งแก่เจ้าหน้าที่ทันที เมื่อมีเหตุสงสัยว่า ทรัพย์ที่มีผู้นํามาเสนอหรือโอนให้นั้น เป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยทุจริต หากไม่ปฏิบัติต้องระวางโทษ ถึงจําคุก 1- 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 10,000-30,000 บาท 3.ต้องทำเลขเป็นเครื่องหมายไว้ที่ของให้ตรงกับเลขในสมุดบัญชี เพื่อสะดวกในการสํารวจตรวจสอบ หากไม่ปฏิบัติตาม ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท 4.อย่าเอาเปรียบลูกค้าในเรื่องราคา และปกปิดความจริงประวัติของทรัพย์ที่ขาย และ 5.หากผู้ใดฝ่าฝืนประกอบอาชีพค้าของเก่าโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


          ถ้าโรงรับจำนำ หรือร้านทอง ยึดปฏิบัติตามกฎหมาย นอกจากจะไม่เอาเปรียบประชาชนหรือลูกค้า ยังช่วยประเทศชาติในการป้องกันอาชญากรรม โดยเฉพาะทรัพย์สิ่งของที่ได้มาจากการกระทำผิด..!!

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ