คอลัมนิสต์

'กรมสุขภาพจิต'แนะเทคนิคปรับตัวรับเปิดเทอม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์... สายตรวจระวังภัย โดย...   ทีมข่าวอาชญากรรม

 

 

          เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาโรงเรียน สถานศึกษา เกือบทั้งหมดทั่วประเทศต่างเปิดเทอมทำการเรียนการสอนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เด็กนักเรียนกับผู้ปกครองหลายคนต้องปรับตัว เพราะมีการเริ่มเรียนระดับชั้นต่างๆ ใหม่ ตั้งแต่อนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา หรือแม้แต่ระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งการดำเนินชีวิต วิธีคิดหลายอย่างเปลี่ยนไปในห้วงของการเปิดเทอมใหม่

 


          เกี่ยวกับการปรับตัวของผู้ปกครองและเด็กนักเรียน กรมสุขภาพจิต ก็มีความเป็นห่วงเป็นใย เพราะการปรับตัวในช่วงเปิดเทอมใหม่อาจทำให้เกิดความเครียดได้ จึงออกมาแนะนำเทคนิคการปรับตัว โดย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต อธิบายว่า ช่วงเปิดเทอมใหม่ เป็นช่วงเวลาที่พ่อแม่ผู้ปกครองและเด็กๆ ต้องปรับตัวกันอีกครั้ง หลังจากการหยุดยาวติดต่อกันมาหลายเดือน ซึ่งมักพบว่า ปัญหาของเด็กเล็กในช่วงอนุบาล คือ ไม่อยากไปโรงเรียน หรืออาจยังไม่เคยไปโรงเรียน พ่อแม่ผู้ปกครองควรมีความเข้าใจ โดยเฉพาะพัฒนาการตามวัย ซึ่งธรรมชาติของเด็กแต่ละช่วงวัยมีอารมณ์และความต้องการที่แตกต่างกัน 

 

 

 

'กรมสุขภาพจิต'แนะเทคนิคปรับตัวรับเปิดเทอม

 


          นพ.เกียรติภูมิ บอกว่า สำหรับเด็กเล็กๆ จะซึมซับบทบาทของพ่อแม่ การเรียนรู้อยู่ร่วมกับผู้อื่น แต่พ่อแม่ผู้ปกครองมักมีความกังวลถึงการร้องไห้งอแง ไม่อยากไปโรงเรียนของลูก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากเด็กวัยนี้จะมีความกลัวและกังวลที่ต้องห่างจากพ่อแม่ อาจจะต้องให้เวลาในการปรับตัวกับเด็กในระยะแรก หลังจากนั้นเด็กก็จะเรียนรู้ในการปรับตัวปรับใจ โดยพ่อแม่ต้องพูดให้ลูกเข้าใจถึงเหตุผลและประโยชน์ในการไปโรงเรียน ลูกต้องเรียนหนังสือกับเพื่อนๆ การแยกกันเป็นเรื่องของธรรมชาติ และพ่อแม่จะกลับมารับลูกในตอนเย็น เพื่อให้เด็กเกิดความสบายใจและมั่นใจ ตลอดจนชวนลูกให้เล่าถึงสิ่งต่างๆ ที่ได้พบเจอมาจากการไปโรงเรียนในแต่ละวันให้พ่อแม่ฟัง

 

 

'กรมสุขภาพจิต'แนะเทคนิคปรับตัวรับเปิดเทอม

 

 


          “ส่วนในกลุ่มเด็กโต ที่อยู่ชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษา ซึ่งปัญหาการไม่อยากไปโรงเรียน จะมีความแตกต่างจากกลุ่มของเด็กเล็กที่เกิดจากการต้องห่างไกลจากพ่อแม่ผู้ปกครอง แต่ปัญหาของกลุ่มเด็กโตจะมีหลายสาเหตุ อาจเป็นเรื่องของการเรียนรู้ เรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง มีปัญหาการอ่าน การเขียน การคำนวณ หรืออาจมีปัญหาในเรื่องการปรับตัวกับกลุ่มเพื่อนใหม่ หรือแม้กระทั่งในวัยอุดมศึกษา ก็อาจจะเครียดและกังวลเกี่ยวกับเรื่องการปรับตัวในการเปลี่ยนแปลงสถานที่ใหม่เช่นเดียวกัน ซึ่งจะทำให้ไม่อยากไปเรียนหนังสือ ท้อแท้ หมดกำลังใจจะเรียนหนังสือต่อ หากค้นพบว่า ปัญหาการเรียนของลูกคือสิ่งใด พ่อแม่ผู้ปกครองควรให้กำลังใจ ช่วยเหลือ และแก้ไขตั้งแต่เนิ่นๆ พูดคุยกับลูกให้บ่อย ซึ่งจะทำให้สิ่งเหล่านั้นดีขึ้น ทำให้เด็กสามารถปรับตัวได้ดี รวมทั้งจะมีความสุขกับการไปโรงเรียนมากขึ้นอีกด้วย” อธิบดีกรมสุขภาพจิต ระบุ

 

 

'กรมสุขภาพจิต'แนะเทคนิคปรับตัวรับเปิดเทอม

 

 


          ​ทั้งนี้หากพ่อแม่ผู้ปกครองและลูกยังมีความเครียดมาก แนะนำให้ปรึกษาจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น หรือสามารถโทรศัพท์ขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ