คอลัมนิสต์

'ศาล รธน.' กับ '3 เรื่องสำคัญ' 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กระดานความคิด ร่มเย็น

 

 

 

          คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประกาศรับรองผลทั้ง ส.ส. เขตและส.ส.บัญชีรายชื่อไปเรียบร้อยแล้ว  เป็นการทำไปตามกรอบของกฎหมายที่ต้องรับรองภายในวันที่ 9 พฤษภาคม ส่วนเรื่องร้องคัดค้านการเลือกตั้งว่าไม่ชอบ หรือผู้สมัครส.ส. ขาดคุณสมบัติ  สามารถดำเนินการได้ต่อไปภายใน 1 ปี “สอยเอาทีหลัง”

 

 

          สำหรับในเรื่องที่ร้องว่าผู้สมัคร ส.ส.ขาดคุณสมบัติ  ที่เป็นที่สนใจของสาธารณชน ก็คือ เรื่องผู้สมัคร ส.ส. ถือหุ้นสื่อ ซึ่งถูกร้องกันระนาวกว่า 40 ราย กระจายอยู่ในหลายพรรคการเมือง คือ เพื่อไทย อนาคตใหม่ เสรีรวมไทย เพื่อชาติ พลังปวงชนไทย ประชาชาติ พลังประชารัฐ

 


          และเส้นทางของคดีถือหุ้นสื่อนับแต่นี้ไปจะไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ไปจบที่ศาลฎีกาเหมือนตอนที่ยังเป็นผู้สมัคร ส.ส.  เนื่องจากผู้ถูกร้องเรียนมีสถานะเป็น ส.ส. แล้ว 

 


          อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้เคยมีคำสั่งศาลฎีกาวางบรรทัดฐานเกี่ยวกับการถือหุ้นสื่อของผู้สมัครส.ส. ว่าหากบริษัทหรือนิติบุคคลนั้นมีวัตถุประสงค์เกี่ยวการทำสื่อ และผู้สมัครส.ส. เข้าไปเป็นเจ้าของหรือผู้ประกอบกิจการหรือถือหุ้น  ผู้สมัคร ส.ส.ขาดคุณสมบัติ ซึ่งวัตถุุประสงค์ของบริษัทหรือนิติบุคคล ศาลดูจากแบบฟอร์มตอนจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทหรือนิติบุคคลนั้นๆ ซึ่งก็คือหนังสือบริคณฑ์สนธิว่ามีการระบุว่าทำสื่อหรือไม่  หากมีการระบุว่าทำสื่อผู้สมัคร ส.ส.ก็ขาดคุณสมบัติ แม้ว่าในความจริงบริษัทหรือนิติบุคคลนั้นไม่ได้ทำสื่อ เพียงแต่จดเผื่อไว้ เพราะว่าผู้ที่ก่อตั้งบริษัทหรือนิติบุคคลมักได้รับคำแนะนำจากนักกฎหมายว่าให้แจ้งการประกอบกิจการให้ครอบจักรวาลเอาไว้ก่อน เพื่อที่ว่าในอนาคตหากทำกิจการใดเพิ่มจะได้ไม่ต้องขออนุญาตเพิ่มเติมอีก เป็นการลดความยุ่งยากและลดค่าใช้จ่ายในการตั้งบริษัท ซึ่งนิยมทำกัน 

 


   



          แต่นับจากนี้ไป “ศาลรัฐธรรมนูญ” จะเข้ามาทำหน้าที่วินิจฉัยเกี่ยวกับกรณี ส.ส. ถือหุ้นสื่อแทนซึ่ง “ศาลรัฐธรรมนูญ” อาจสร้างบรรทัดฐานใหม่ขึ้นมาเกี่ยวกับส.ส.ถือหุ้นสื่อก็ได้  เพราะวิธีการคิดของศาลรัฐธรรมนูญจะแตกต่างจากศาลฎีกาเพราะศาลรัฐธรรมนูญเวลาวินิจฉัยคดีจะมีทั้งหลักนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์  ซึ่งต่างจากศาลฎีกาที่ตีความเคร่งครัดตามตัวบทกฎหมายบัญญัติ ดังนั้นกรณีส.ส.ถือหุ้นสื่อขาดคุณสมบัติ อาจจะจบที่ศาลรัฐธรรมนูญแบบมีคำวินิจฉัยที่แตกต่างออกไปจากศาลฎีกาก็เป็นได้  เช่นดูว่าบริษัทหรือนิติบุคคลนั้น ในความจริงได้ทำสื่อหรือไม่ด้วย แม้ว่าในหนังสือบริคณห์สนธิของบริษัทหรือนิติบุคคลนั้นๆจะระบุว่าทำสื่อก็ตาม  ซึ่งคงทำให้ส.ส.หลายคน หายใจได้โล่งอกมากขึ้น เพราะตอนนี้หากถือเอาตามบรรทัดฐานของศาลฎีกาคงโดนกันระนาว 


    

          อีกทั้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและศาลฎีกาแตกต่างกันได้ ซึ่งในกรณีที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาแตกต่างกันข้างต้น ผู้สมัครส.ส.ที่เคยถูกคำสั่งศาลฎีกาให้ขาดคุณสมบัติและถูกตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งจะเรียกร้องอะไรไม่ได้ เพราะถูกตัดสิทธิตั้งแต่เป็นผู้สมัครส.ส. ยังไม่ได้เป็น ส.ส. และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่มีผลย้อนหลัง


    

          เรื่องที่สอง เกี่ยวกับการนับคะแนนคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อหรือปาร์ตี้ลิสต์  แม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะเคยวินิจฉัยไปแล้วว่า พ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส. มาตรา 128 ซึ่งเกี่ยวกับวิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ  แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ลงลึกไปถึงวิธีคำนวณจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อว่าต้องเป็นอย่างไร ซึ่งทำให้กกต.วินิจฉัยเองว่า ให้ใช้สูตรพรรคการเมืองที่ีได้คะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยต่อส.ส. บัญชีรายชื่อ 1 ที่นั่ง มีสิทธินำมาคำนวณเพื่อจัดสรรส.ส.บัญชีรายชื่อได้ด้วย หรือที่เรียกกันว่า “แจกพรรคเล็ก” 

 


          หลังจากกกต.ได้ตัดสินใจใช้สูตรดังกล่าวทำให้พรรคการเมืองใหญ่ อาทิ พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่  ไม่พอใจ ประกาศยื่นฟ้อง กกต. ว่าวินิจฉัยไม่ถูกต้อง ซึ่งเรื่องนี้จะไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ  ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้ชี้ว่าสิ่งที่ กกต.ทำถูกหรือผิด ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า กกต.ทำถูกต้องแล้วก็ไม่มีปัญหาอะไรตามมา เดินหน้าต่อได้ แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากกต.ทำผิด  โดยพรรคการเมืองที่ได้คะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยต่อส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 ที่นั่ง ไม่มีสิทธิได้รับการจัดสรรส.ส.บัญชีรายชื่อ  กกต.จะต้องกลับมาคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่และประกาศผลเลือกตั้งใหม่ให้ตรงกับที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งนั่นหมายความว่าหลายคนที่ได้รับการรับรองจากกกต.ไปแล้ว ต้องพ้นจากเป็นส.ส.  แต่สิ่งที่คนเหล่านี้ทำไปแล้วในฐานะส.ส. ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ถือว่าชอบด้วยกฎหมาย ไม่โมฆะเสียไป

 


          ดังนั้นหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า กกต.ใช้วิธีคำนวณ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ไม่ถูกต้อง เกิดขึ้นหลังจากที่มีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีไปแล้ว การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีที่ผ่านไปแล้ว ถือว่าชอบด้วยกฎหมายเพราะเกิดขึ้นก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย  แต่หากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นก่อนโหวตนายกฯ ก็จะมีผลต่อเสียงส.ส.ของขั้วการเมืองและส่งผลต่อการตัดสินใจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ดังนั้นต้องลุ้นว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยออกมาอย่างไรในเรื่องนี้  เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีผลเฉพาะการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่จะมีผลต่อเนื่องไปอีกไกล เป็นการสร้างบรรทัดฐานเกี่ยวกับวิธีคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของประเทศนี้ด้วย

 


          เรื่องที่สาม  เกี่ยวกับส.ว. สรรหา จำนวน 194 คน  สืบเนื่องจากผู้ตรวจการแผ่นดินได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย จากการที่คณะราษฎรไทยแห่งชาติ ได้ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบการตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว. โดยอ้างว่าการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคสช. ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาส.ว. ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รวมทั้งกรรมการ มีความเกี่ยวข้องกับพรรคพลังประชารัฐ​ และแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 269 (1) ที่กำหนดให้หัวหน้าคสช.ต้องตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว ที่ต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้และประสบการณ์ในด้านต่างๆ และมีความเป็นกลางทางการเมือง ซึ่งแม้ว่าในเรื่องส.ว.จะมีการประกาศแต่งตั้งเป็นทางการไปแล้ว แต่เรื่องนี้ยังอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญและยังไม่ได้วินิจฉัยออกมาว่ารับหรือไม่รับ หรือวินิจฉัยออกมาในทางใด ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องนี้ในภายหลังว่ากรรมการสรรหาที่ได้รับการแต่งตั้งขัดกับรัฐธรรมนูญ ก็อาจส่งผลกระทบว่าต้องมีการตั้งคณะกรรมการสรรหารวมทั้งต้องเลือกส.ว.จำนวน 194 คน กันใหม่ 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ