คอลัมนิสต์

เปิดใจ "ไผ่ ดาวดิน" 2 ปี 5 เดือนกับชีวิตหลังกำแพงคุก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย... สุมาลี สุวรรณกร

 

 

          “บางอย่างผู้คุมบางคนก็ใช้อำนาจมากเกินไป อาจจะเป็นเพราะเขาทำมานานและทำจนไม่รู้สึกว่าผิด แต่จริงๆ มันผิด เป็นการละเมิดสิทธิของผู้ต้องขัง และที่ผ่านมาผู้ต้องขังก็ปล่อยให้ถูกกระทำเพราะคิดว่าผู้คุมทำได้ แต่จริงๆ เขาทำไม่ได้ ผมก็ไปอธิบายและบอกเล่าให้ฟัง ทำให้ทั้งสองฝ่ายเข้าใจกันมากขึ้น”

 

 

          ชื่อของ ไผ่ ดาวดิน หรือนายจตุรภัทร์ บุญภัทรรักษา นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนและนักกฎหมายเพื่อประชาชนคนรุ่นใหม่ ที่ได้เคลื่อนไหวเป็นปากเสียงให้แก่ประชาชนที่ด้อยโอกาส ทั้งปัญหาป่าไม้ ที่ดิน ปัญหาการถูกแย่งชิงทรัพยากรระหว่างท้องถิ่นกับนายทุน จนกระทั่งถูกจับกุมดำเนินคดี และควบคุมตัวอยู่ที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษจังหวัดขอนแก่น และได้รับพระราชทานอภัยโทษเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ทำให้หลายคนอยากรู้ว่า ชีวิตภายหลังกำแพงเหล็กนั้นเป็นอย่างไร และจากนี้ไปเมื่อได้รับอิสรภาพแล้วเขามีแผนชีวิตอย่างไร


          ไผ่ ในเช้าวันที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ และมีอิสรภาพพ้นออกจากการคุมขัง สภาพร่างกายสมบูรณ์ขึ้น โดยเจ้าตัวบอกว่า “ไม่ได้สูบบุหรี่” ทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น เนื่องจากเรือนจำมีโครงการ “เรือนจำสีขาว” ทำให้อะไรหลายอย่างในชีวิตเปลี่ยน


          ส่วนกิจวัตรประจำวันหลังกำแพงคุก เขาบอกว่า แต่ละวันไม่มีอะไรมากนัก ทุกอย่างเหมือนเดิมซ้ำๆ กัน ตื่นแต่เช้า 05.30 น. สวดมนต์ไหว้พระ ทำกิจวัตรประจำวัน เข้าแถว กินข้าว และทำงานประจำที่ได้รับมอบหมาย โดยไผ่ได้อยู่ในส่วนของหน่วยพยาบาล ทำให้ได้ช่วยทำเอกสาร เพราะเขาสามารถใช้คอมพิวเตอร์เป็น รู้เรื่องเอกสาร ช่วยดูแลคนเจ็บป่วยและพอมีเวลาว่างก็ได้อ่านหนังสือ เขาบอกว่าชีวิตในนั้น 2 ปีเศษได้อ่านหนังสือเยอะมาก




          “ผมอ่านหนังสือเยอะมาก น่าจะเกือบ 50-60 เล่มได้ อ่านหมด ทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น บทความ ทุกอย่างที่มีอยู่ในห้องสมุด หนังสือดีๆ มีเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็น แด่หนุ่มสาว, ปีศาจ, จนกว่าเราจะพบกันอีก, ลูกอีสาน, ข้างหลังภาพ, หนังสือการเมือง, หนังสือสังคม ฯลฯ หนังสือเยอะนะแต่ยังไม่พอต่อความต้องการ เพราะในคุกเวลามีเยอะมาก หนังสือและสิ่งบันเทิงต่างๆ จึงจำเป็นมาก สำหรับคนที่อ่านหนังสือออก หนังสือเป็นเพื่อนที่ดีที่สุด บางคนไม่ชอบดูทีวี ก็หากิจกรรมทำ ซึ่งการอ่านหนังสือเป็นกิจกรรมที่นักโทษชอบที่สุด” ไผ่เล่า


          ในเรือนจำยังมีโทรทัศน์ให้ดู ทำให้ได้ดูซีรีส์ดีๆ แต่โทรทัศน์ก็จะถูกควบคุมโดยผู้คุม จะเปิดเฉพาะสิ่งที่อยากจะให้ดู อันไหนที่ไม่อยากให้ดูก็จะไม่มีสิทธิ์ดู โดยจะได้ดูทั้งละครไทย และซีรีส์เกาหลี ซีรีส์จีน ไม่ว่าจะเป็นละครอย่าง ทองเอกหมอยาท่าโฉลง ซีรีส์เกาหลี เรื่อง “เลขาฯ คิม” “ชีวิตเพื่อชาติหัวใจเพื่อเธอ” ฯลฯ ซึ่งถือเป็นการฆ่าเวลาได้อย่างดีมาก


          ส่วนการใช้จ่ายนั้น ในคุกสามารถใช้เงินได้วันละ 300 บาท จะซื้ออะไรก็ได้ โดยไผ่บอกว่า กับข้าวของทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่นอร่อยที่สุด อาหารกินอิ่มไม่มีอด และหากใครไม่อยากกินอาหารที่เรือนจำจัดให้อยากจะซื้ออาหารเพิ่มเติมจากที่มีแจกก็สามารถซื้อได้ที่ร้านค้าสวัสดิการในเรือนจำ ราคาอาหารทั่วไปถุงละ 30 บาท ซึ่งชีวิตของเขาเคยติดคุกอยู่ 3 เรือนจำด้วยกันคือ ที่เรือนจำกรุงเทพฯ เรือนจำอำเภอภูเขียว และเรือนจำจังหวัดขอนแก่น โดยหากจะให้คะแนนเขาบอกว่า “เรือนจำขอนแก่นกับข้าวอร่อยที่สุด อยู่ดีกินดีที่สุด”


          และด้วยความที่เขาเรียนกฎหมาย สู้เรื่องสิทธิมนุษยชนตั้งแต่อยู่นอกเรือนจำ พอเข้าไปอยู่ในนั้นก็ได้มีโอกาสช่วยเหลือนักโทษบางคนที่ไม่รู้กฎหมาย ไม่รู้สิทธิของตนเอง ด้วยการบอกให้ฟังว่าเขาควรจะมีสิทธิอย่างไรบ้าง และได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้คุมที่บางทีทำเกินกว่าเหตุว่าสิ่งที่ทำอยู่เป็นการละเมิดสิทธิและผู้ต้องขังสามารถฟ้องร้องได้ ทำให้หลายเรื่องที่เคยรุนแรงในเรือนจำเริ่มคลี่คลายและเข้าใจกันดีขึ้น


          “บางอย่างผู้คุมบางคนก็ใช้อำนาจมากเกินไป อาจจะเป็นเพราะเขาทำมานานและทำจนไม่รู้สึกว่าผิด แต่จริงๆ มันผิด เป็นการละเมิดสิทธิของผู้ต้องขัง และที่ผ่านมาผู้ต้องขังก็ปล่อยให้ถูกกระทำเพราะคิดว่าผู้คุมทำได้ แต่จริงๆ เขาทำไม่ได้ ผมก็ไปอธิบายและบอกเล่าให้ฟัง ทำให้ทั้งสองฝ่ายเข้าใจกันมากขึ้น” ไผ่เล่าในสิ่งที่เขามีโอกาสใช้ความรู้ความสามารถของตนเอง ในการทำประโยชน์เพื่อคนในนั้น


          ส่วนการถูกเลือกให้เป็นผู้นำกล่าวปฏิญาณตนก่อนออกจากเรือนจำ สำหรับผู้ได้รับพระราชทานอภัยโทษเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ไผ่บอกว่า ปกติเวลามีกิจกรรมอะไรในเรือนจำเขามักจะได้รับเลือกให้เป็นผู้นำอยู่แล้ว อาจจะเป็นเพราะว่ากล้าพูด และได้รับการยอมรับจากเพื่อนๆ พี่ๆ ในนั้น ในวันที่ได้รับอิสรภาพเขาจึงเป็นคนที่ถูกเลือกให้พูด โดยเนื้อหาที่พูดทั้งหมดเขาเป็นคนคิดเอง และพูดเอง


          สำหรับชีวิตในเรือนจำ ให้บทเรียนแก่เขามากมาย ในฐานะนักกฎหมายได้เห็นความไม่ยุติธรรม ทำให้มุมมองเรื่องสิทธิกว้างขึ้น ไม่ใช่แค่สิทธิทางการเมือง สิทธิทั่วไป แต่เรื่องสิทธิอื่นๆ ที่ถูกละเมิดก็ได้เห็นกว้างขึ้นเพราะการอยู่ข้างในเห็นชัดว่ามีการละเมิดสิทธิ หน่วยงานหลายแห่งผลักภาระให้เรือนจำ จนมีคำพูดที่พูดติดปากของนักโทษในเรือนจำว่า “สู้ติดแน่ แพ้ติดนาน รับสารภาพติดพอประมาณ” ซึ่งสะท้อนกระบวนการทางยุติธรรมได้ชัดเจนมากว่า “ถ้ารับสารภาพทุกปัญหาก็จบ”


          นอกจากนั้นบทเรียนที่เขาได้รับจากเรือนจำคือ การมองคน หรือตัดสินคน อย่าตัดสินจากแค่รูปลักษณ์ภายนอก เพราะบางคนมีลายสักเต็มตัวแต่พอดูหนังแล้วร้องไห้ก็มี บางคนดูหน้าตาโหดร้ายแต่เป็นคนอ่อนโยน ถูกจับกุมเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็มี


          และเมื่อพ้นโทษมาแล้ว ในฐานะนักกฎหมาย เขาบอกว่า จะเอาบทเรียนในนั้นมาปรับใช้เพื่อช่วยเหลือสังคม โดยมองว่ากระบวนการยุติธรรมต้องแก้ทั้งระบบ เพราะที่ผ่านมากระบวนการยุติธรรมละเมิดสิทธิอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อไปอยู่ในคุก เจ้าหน้าที่ไม่เคยแจ้งสิทธิเลยว่ามีสิทธิอะไรบ้าง และการสอบสวนที่เอาผู้ต้องสงสัยไปฝากขังเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเพราะเขายังไม่ได้มีความผิด การจะคุมขังคนได้จะต้องถูกพิพากษาแล้วเท่านั้น โดยเฉพาะเอาคนไปเข้าคุกเพื่อทดแทนเงินค่าปรับที่ไม่มีจ่ายก็ไม่ควรจะทำเหมือนกัน


          ส่วนเรื่องการเมืองนั้น เขาบอกว่า คงต้องเล่น เพราะหากไม่เล่น การเมืองก็เล่นเขาอยู่แล้ว อาจจะไม่ใช่การเล่นในรูปแบบการเมืองแบบตัวแทน แต่จะเล่นในแบบของตนเอง อาจจะเป็นการเรียกร้องประชาธิปไตยบนท้องถนนแบบที่เคยทำมา และยืนยันในการยืนอยู่ฝั่งความถูกต้อง อะไรไม่ดี ไม่ถูกก็จะไม่ยอม เพื่อรักษาเอาไว้ซึ่งสิทธิที่ประชาชนพึงมี และจะไม่ยอมก้มหัวให้แก่ความอยุติธรรมทั้งปวง และจะยังเคลื่อนไหวเหมือนเดิม


          ส่วนนักศึกษารุ่นใหม่นั้น ไผ่มองว่า ยังสนใจปัญหาของสังคมน้อย อยากจะให้นักศึกษารุ่นใหม่สนใจปัญหาสิ่งแวดล้อม สังคมบ้าง หรือแม้แต่สิทธิของตนเองก็ควรจะใส่ใจ สนใจ อย่าให้ใครมาละเมิด อีกทั้งเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องง่ายๆ ที่ไม่ได้ยุ่งยากซับซ้อนอะไร แค่เป็นตัวเอง อันไหนไม่ถูกต้องก็ไม่ต้องยอม และลุกขึ้นมาทวงความยุติธรรม แค่นี้ก็น่าจะเพียงพอแล้วสำหรับเด็กรุ่นใหม่ในยุคสมัยนี้

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ