คอลัมนิสต์

สูตรขั้วที่ 3 - ปิดสวิตช์ ส.ว.ชิงแต้มต่อ หรือแค่สร้างฝัน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รายงาน...

 

 


          ผ่านไปแล้วสำหรับการประกาศรับรอง ส.ส.ทั้ง 2 ระบบ 498 คนของ กกต. 


          ช่วงนี้จึงเข้าสู่โหมด “ชิงตั้งรัฐบาล” โดยจะมีเกมชิงเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นตัวชิมลางก่อน เพราะจะต้องเปิดประชุมสภานัดแรกภายใน 15 วันหลังจากประกาศรับรอง ส.ส.ครบ 95% ซึ่งนับนิ้วดูจะไปตกวันที่ 23 พฤษภาคม ซึ่งตามประเพณีการปกครองของไทยแล้ว จะมีรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา โดยพระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานในพิธี

 

 

          จากนั้นทั้งสองสภา คือ สภาผู้แทนราษฎร กับ วุฒิสภา ก็จะนัดประชุมเพื่อเลือกประธานและรองประธานของแต่ละสภา หลังจากนั้นจะมีการเรียกประชุม “รัฐสภา” เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี


          จะเห็นได้ว่านับจากนี้อีกไม่กี่วันก็จะรู้แล้วว่าขั้วการเมืองไหนรวบรวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร เพราะต้องมีการโหวตชิงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะต้องทำหน้าที่ “ประธานรัฐสภา” คุมเกมการโหวตเลือกนายกฯต่อไป


          โดยปกติแล้ว พรรคการเมืองที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล จะส่งคนของตัวเองขึ้นไปดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรด้วย เพื่อความสะดวกในการทำงานนิติบัญญัติ มีเพียงบางยุคเท่านั้นที่พรรคแกนนำรัฐบาลไม่ได้ครองเก้าอี้ประธานสภา เช่น ในรัฐบาล ชวน หลีกภัย สมัยที่ 2 ระหว่างปี 2540-2544 


          แต่ครั้งนั้นต้องถือว่าเป็นสถานการณ์ไม่ปกติ เนื่องจาก พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หัวหน้าพรรคความหวังใหม่ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้การเมืองพลิกขั้ว พรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลแทน และต้องอาศัยเสียง “งูเห่า” จากพรรคประชากรไทยมาโหวตให้นายชวนเป็นนายกฯ


          ช่วงนั้นมีประธานสภาอยู่แล้วจากพรรคความหวังใหม่ ในฐานะแกนนำรัฐบาลเดิม คือ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ฉะนั้นแม้นายกฯ จะเปลี่ยนคน เปลี่ยนพรรคแกนนำรัฐบาล แต่ประธานสภายังคงมาจากพรรคความหวังใหม่ต่อไป




          แต่สำหรับการเปิดสภาหนนี้ พรรคที่จะชิงธงตั้งรัฐบาลต้องส่งคนของตัวเองไปแย่งเก้าอี้ประธานสภามาให้ได้ เพราะจังหวะก้าวการเมืองตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน กำหนดให้การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีมาจากที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งประธานสภาผู้แทนราษฎรทำหน้าที่ประธาน


          นี่คือความสำคัญของตำแหน่งประธานสภาในเกมชิงตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 


          ฉะนั้นหากพรรคไหนหรือขั้วไหนคว้าเก้าอี้ประธานสภา ก็การันตีได้เกือบ 100% เลยว่า จะได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปด้วย เพราะถือว่ารวบรวมเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรได้แล้ว


          แต่ปัญหาก็คือ การรวมเสียง ส.ส.เพื่อจับขั้วชิงตั้งรัฐบาลจนถึงขณะนี้ยังคงฝุ่นตลบ 


          เรามาเช็กดูกันอีกสักรอบว่าแต่ละขั้วได้เสียงสนับสนุนเท่าไรกันแน่


          เริ่มจากขั้ว เพื่อไทย ถือว่าเป็นขั้วที่นิ่งแล้ว มีพรรคการเมืองที่ร่วมลงสัตยาบันกันไว้ 7 พรรค ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย 136 เสียง พรรคอนาคตใหม่ 80 เสียง พรรคเสรีรวมไทย 10 เสียง พรรคประชาชาติ 7 เสียง พรรคเศรษฐกิจใหม่ 6 เสียง พรรคเพื่อชาติ 5 เสียง และพรรคพลังปวงชนไทย 1 เสียง รวมเสียง ส.ส.ขั้วเพื่อไทย 245 เสียง


          ส่วนขั้ว พลังประชารัฐ คัดเฉพาะพรรคการเมืองที่ประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างชัดเจนก่อน มี 3 พรรคด้วยกัน คือ พรรคพลังประชารัฐ 115 เสียง พรรครวมพลังประชาชาติไทย ของ “ลุงกำนัน” สุเทพ เทือกสุบรรณ 5 เสียง และพรรคประชาชนปฏิรูป ของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน 1 เสียง รวมเฉพาะ 3 พรรคนี้ได้ 121 เสียง


          ขณะเดียวกันก็มีการคาดการณ์กันว่า บรรดาพรรคการเมืองขนาดเล็กที่ได้ ส.ส. 1-3 คน จะมาสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐด้วย รวมเสียงพรรคกลุ่มนี้ 16 เสียง (เช่น พรรคพลังท้องถิ่นไท 3 เสียง พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 เสียง พรรคพลังชาติไทย 1 เสียง พรรคไทยศิวิไลย์ 1 เสียง ฯลฯ) กลายเป็น 137 เสียง (ล่าสุดพรรคเล็กเหล่านี้ เฉพาะพรรคที่ได้ 1 เสียง รวมตัวกันเป็น “กลุ่ม 11 พรรคเล็ก” เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองการเข้าร่วมรัฐบาล)


          นอกจากนั้นยังมีพรรคการเมืองที่ยังไม่ได้ประกาศตัวชัดเจนว่าจะสนับสนุนขั้วไหน ประกอบด้วย พรรคประชาธิปัตย์ 52 เสียง พรรคภูมิใจไทย 51 เสียง พรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง และพรรคชาติพัฒนา 3 เสียง รวมเป็น 116 เสียง


          การที่พรรคพลังประชารัฐจะจัดตั้งรัฐบาลด้วยเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งก็จะได้ตำแหน่งประธานสภาไปด้วย ก็จะต้องจับมือกับพรรคการเมืองนอกเหนือจาก 7 พรรคขั้วเพื่อไทยทั้งหมด รวมแล้ว 20 พรรค ก็จะได้เสียงสนับสนุนทั้งหมด 253 เสียง เกินครึ่งของสภาผู้แทนราษฎรมา 3 เสียง


          สูตรการเมืองนี้ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ และล่าสุดแกนนำพรรคพลังประชารัฐ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ก็ออกมายอมรับแล้วว่ากำลังรวบรวมเสียง ส.ส.เพื่อจัดตั้งรัฐบาล โดยมีพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลราวๆ 20 พรรค!


          แน่นอนว่า “มากหมอก็ยิ่งมากความ” ช่วงปลายสัปดาห์ก็เลยมีข่าวหลุดออกมาเรื่องการรุมทึ้งเก้าอี้กระทรวงเกรดเอ ซึ่งว่ากันว่าแกนนำพลังประชารัฐ 3 กลุ่ม ทั้งกลุ่ม 4 อดีตรัฐมนตรี กลุ่มอดีตแกนนำ กปปส. และกลุ่มสามมิตร พากันจองตำแหน่งสำคัญๆ ไปหมดแล้ว และยังมีตำแหน่งสายตรงนายกฯ อย่าง “บิ๊กป้อม-บิ๊กป๊อก” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา สองพี่เลิฟของ “บิ๊กตู่” อีกด้วย รวมทั้งรองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ต้องนั่งคัดท้ายเศรษฐกิจเหมือนเดิมเท่านั้น


          แค่พรรคเดียวก็ตีตราจองไปเกือบ 20 เก้าอี้จากทั้งหมด 35 เก้าอี้แล้ว อีก 19 พรรคที่เหลือจะได้กันสักเท่าไร หนำซ้ำยังเหลือแต่กระทรวงเกรดบี


          ในช่วงของภาวะฝุ่นตลบ ก็เกิดคนปิ๊งไอเดียตั้งขั้วการเมืองใหม่ คือ “ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย-ชาติไทยพัฒนา” ทั้งหมด 113 เสียง เปิดหวูดเชิญชวนให้พรรคการเมืองต่างๆ เข้ามาพูดคุยเจรจาเพื่อตั้งรัฐบาล


           เข้าทางพรรคอนาคตใหม่ที่กำลังเปิดแคมเปญ “รวม 377 เสียงปิดสวิตช์ ส.ว.” พอดี ทำให้ “หนุ่มเอก” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ออกมาให้ข่าวกำกวมแบบยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ เหมือน “ขั้วที่ 3” ใกล้เป็นจริง


          แต่หากพิจารณาความเป็นไปได้จาก “ตัวเลข” และ “จุดยืนทางการเมือง” ของพรรคที่มีข่าวว่าจะจัดตั้ง “ขั้วที่่ 3” โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ แคนดิเดตหัวหน้าพรรคคนใหม่ทุกคนพูดตรงกันว่า ไม่มีทางจับมือตั้งรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยได้ 


          ฉะนั้นหาก “ขั้วที่ 3” ต้องการเสียงเกินครึ่ง ก็ต้องดึงทุกพรรคมาร่วม แล้วโดดเดี่ยวพรรคเพื่อไทยกับพรรคพลังประชารัฐเป็นฝ่ายค้าน


          แต่เมื่อบวกตัวเลข ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย 136 เสียง กับพรรคพลังประชารัฐ 115 เสียงแล้ว ปรากฏว่าสองพรรคนี้ได้ 251 เสียง เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว ฉะนั้นรัฐบาลในฝัน “อนาคตใหม่-ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์” จึงน่าจะเป็นได้แค่ “วิมานในอากาศ” 


          ยิ่งไปกว่านั้นท่าทีของแกนนำพรรคอนาคตใหม่ที่มีต่อสถาบันหลักของชาติ ยังน่าจะเป็นอุปสรรคต่อการตัดสินใจของทั้งประชาธิปัตย์และภูมิใจไทย


          ส่วนแคมเปญ “ปิดสวิตช์ ส.ว.” ของพรรคอนาคตใหม่ก็ไม่ง่ายเช่นกัน เพราะการโหวตนายกฯ โดยใช้เสียง ส.ว. 250 เสียงมารวมด้วย ทำให้ต้องการเสียง ส.ส.อีกเพียง 126 เสียง ซึ่งขณะนี้ขั้วพลังประชารัฐมีเสียงในมือแน่นอนแล้ว 121 เสียง ขาดอีก 5 เสียง ซึ่งหาเติมจากพรรคเล็กได้ไม่ยาก โดยเฉพาะพรรคพลังท้องถิ่นไท ที่ “ชัช เตาปูน” ชัชวาลล์ คงอุดม ออกมาประกาศจุดยืนเมื่อวันศุกร์ว่าจะร่วมรัฐบาลกับขั้วการเมืองที่รักษาสถาบันหลักของชาติ นอกจากนั้นยังมีพรรคพลังชาติไทยของ พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์ อดีตคณะทำงานของ คสช. อีก 1 เสียงด้วย


          ไล่ดูหน้าไพ่ ณ เวลานี้ ต้องบอกว่าพรรคพลังประชารัฐยังมีภาษีมากที่สุดที่จะรวบรวมเสียงสนับสนุนเพื่อจัดตั้งรัฐบาลได้ แม้จะต้องเป็นรัฐบาลผสม 20 พรรค ซึ่งอาจจะมีจำนวนพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลมากที่สุดในโลก และเสี่ยงมีปัญหาเรื่องเสถียรภาพจากสถานะรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำก็ตาม

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ