คอลัมนิสต์

จับจังหวะการเมืองไทยใคร...จะได้ไปต่อในบทใด?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  ทีมข่าวการเมือง เครือเนชั่น

 

 

          และแล้วศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์วินิจฉัยว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มาตรา 128 ไม่ขัดหรือแย้งต่อ “รัฐธรรมนูญ มาตรา 91”

 

 

          แล้วการเมืองไทยจะไปอย่างไรต่อ..เมื่อกกต.เคาะว่า “ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์” นั้น จะมี 27 พรรค และ “มีผลทางการเมืองทันที” เพราะเมื่อเคาะสูตรนี้โดยที่กกต.อ้างว่ายึดแนวทางการคำนวณส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ตามสูตรของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)


          “โดยพรรคการเมืองที่มีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยคะแนนส.ส. 1 คน ได้รับการจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อจำนวนไม่น้อยกว่า 11 พรรคการเมือง และเมื่อรวมกับพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเกินกว่าค่าเฉลี่ยส.ส. 1 คน จะมีพรรคการเมืองที่ได้รับการจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อจำนวน 27 พรรค”


          งานนี้ไม่ว่ากกต.จะเคาะสูตรออกมาแบบใด ย่อมมีพรรคที่ได้กำไรและขาดทุนในจำนวนส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ หากสถานการณ์ออกมาแบบนี้ ชี้เป้าล่วงหน้าเลยว่า กกต.จะโดนฟ้องร้องแน่นอนตามที่ระบุในข้างต้นเพราะสองสูตรคำนวณจากอดีตสองเสือ กกต. คือ โคทม อารียา และสมชัย ศรีสุทธิยากรชี้ว่า จะมีสิบหกพรรคเท่านั้นที่จะมีส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ โดยสมการการเมืองแปรเปลี่ยนทันทีเพราะขั้วหนุนลุงตู่จะพลิกแซงขั้วต้านลุงตู่ที่ยึดสูตร 16 พรรคไปแบบเส้นยาแดงผ่าแปด


          เพียงแค่นี้ก็มองแล้วว่า “ความวุ่นก๊อกสอง” จะตามมาอีกเพียบ...เพราะความขัดแย้งทางการเมืองจ่อที่จะเกิดขึ้นใหม่แบบลูกโซ่ในไม่กี่อึดใจข้างหน้านั้น เนื่องจากพรรคที่มีคะแนนเกินค่าเฉลี่ยต่อส.ส.1 คน หรือพรรคที่ได้มากกว่าหรือเท่ากับ 71,057.4980 คะแนนนั้น ไม่ยินยอมแน่นอนที่จะเกลี่ยคะแนนของพรรคตัวเองท่ี่ประชาชนมอบให้มา เพื่อไปให้พรรคที่คะแนนไม่ถึงเกณฑ์ข้างต้นได้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เพราะคนการเมืองจะอ้างว่ามาจากการเลือกตั้งโดยผ่านการพิสูจน์สิทธิเเละศรัทธาจากประชาชนเมื่อวันที่ 24 มีนาคม ที่ผ่านมา แล้วต้องแสดงความยินยอมกับสิ่งที่กกต.วินิจฉัยและขัดต่อมติที่ประชาชนมอบให้ผู้สมัครส.ส. และพรรคนั้นๆ เพื่อมาทำหน้าที่ "ผู้แทนราษฎร” แต่ต้องโดนเกลี่ยจำนวนส.ส.ในโควตาตัวเองไปให้พรรคอื่นๆ นั้น “มันไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง”




          ต้องยอมรับว่าหนึ่งเดือนเศษหลังการหย่อนบัตรเลือกตั้งจบลง จะพบว่าความไม่แน่ชัดของกกต.นั้น ออกมาในหลากมิติรวมทั้งคำชี้แจงแบบที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตและโต้แย้งไปมากจนสังคมแคลงใจกับการทำหน้าที่ของกกต.ชุดนี้ ตั้งแต่วิธีนับคะแนนที่มีการนับใหม่บางเขต การเลือกตั้งในบางหน่วยที่มีคะแนนไม่ตรง การผลิใบสารพัดสีที่วินิจฉัยไม่ทันในช่วงหนึ่งเดือนเศษและมีแนวโน้มจะสอยทีหลังเพราะรับรองไปแล้ว..... เขตจาก 350 เขตที่จะแปรเป็นส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของแต่ละพรรคได้กี่คน การตัดทิ้งคะแนนเลือกตั้งจากนิวซีเเลนด์ การตัดสิทธิ์ผู้สมัคร ส.ส. ที่คุณสมบัติไม่ครบที่มีผลกับคะแนนของแต่ละพรรค การสอบสวนการถือหุ้นสื่อของแกนนำพรรคอนาคตใหม่ รวมทั้งข้อร้องเรียนจากหลายภาคส่วนว่าแกนนำอีกหลายพรรคก็มีการถือหุ้นสื่อเช่นกัน


          และเมื่อสภาวะการเคาะส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์มาแบบนี้ ท่าทีของขั้วไม่เอาลุงตู่ชัดแล้วว่า “กกต.เตรียมโดนสอยแน่และมันจะลามไปยังการเปิดประชุมรัฐสภาและการฟอร์มรัฐบาลใหม่หรือไม่ น่าคิด...” เพราะขั้วไม่เอาลุงตู่ชักธงรบแล้ว เริ่มที่แถลงการณ์พรรคเพื่อไทย เรื่องคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ วันที่ 8 พฤษภาคม 2562 ที่ระบุว่า "ตามที่ข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 ระบุว่าศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่า บทบัญญัติมาตรา 128 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 91 นั้น พรรคเพื่อไทยขอแถลงว่า


          1.พรรคเพื่อไทยเห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวข้างต้น


          2.ตามที่มีพรรคการเมืองหรือบุคคลแสดงความเห็นว่า คำวินิจฉัยดังกล่าวเท่ากับเป็นการรับรองว่าสูตรในการคำนวณส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อนั้นคือ “สูตรที่แจกพรรคเล็ก” พรรคเห็นว่าเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเนื่องจากไม่ปรากฏในเอกสารดังกล่าวว่าเป็นเช่นนั้น


          3.พรรคยังคงยืนยันว่าการคำนวณ ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อนั้น ต้องกระทำตามรัฐธรรมนูญมาตรา 91 โดยเคร่งครัด กล่าวคือการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ ต้องไม่มีผลให้พรรคการเมืองใดได้ที่นั่งส.ส.เกินจำนวนที่จะพึงมีได้ กล่าวอีกนัยหนึ่ง พรรคจะได้จำนวนส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อก็ต่อเมื่อได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าส.ส.พึงมี (ส.ส.พึงมีหนึ่งคนเท่ากับคะแนนเสียงประมาณ 71,000 คะแนน) ดังนั้นการคำนวณที่ต่างไปจากนี้ถือว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เช่น การจัดสรรที่นั่งส.ส. ให้พรรคการเมืองขนาดเล็กที่ได้คะแนนประมาน 30,000 คะแนน จึงมิชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ"


          "ปิยบุตร แสงกนกกุล" เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ยืนยันว่า "คำวินิฉัจฉัยนี้ ไม่ได้หมายความว่าเป็นการเปิดไฟเขียวให้กับ กกต.นำสูตรการคำนวณส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แบบที่กระจายให้แก่พรรคเล็ก หรือที่เรียกกันว่าสูตร “27 พรรค” มาใช้ได้ทันที ยืนยันว่าเรื่องพ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส. มาตรา 128 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 นั้น “เป็นคนละเรื่องกัน” กับการคำนวณส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เพราะเมื่อมาตรา 128 ของพ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส.ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 หมายความว่า กฎหมายมาตรานี้จะยังคงอยู่ในระบบกฎหมายต่อไป ซึ่งเป็นอำนาจของ กกต. นำมาใช้ตีความ


          แต่ถ้าตีความจนเกิดสูตร “27 พรรค” และไปขัดกับ มาตรา 91 ก็เป็นกรณีที่ กกต. ใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เรื่องพ.ร.ป.ขัดรัฐธรมนูญ  การใช้อำนาจของกกต. หากทำให้พรรคอนาคตใหม่เสียหาย 600,000 คะแนน และส.ส. 7 คน หายไป พวกเขาเหล่านี้มีส่วนได้เสียในการที่จะดำเนินการต่อไปกับการใช้อำนาจหน้าที่ที่ขัดรัฐธรรมนูญของกกต. ซึ่งมีโทษตามประมวลกฎหมายอาญา 157 มีโทษตามพ.ร.ป. คณะกรรมการการเลือกตั้งมาตรา 69 ซึ่งเป็นบทหนัก รวมถึงขัดกับมาตรฐานจริยธรรมขององค์กรอิสระด้วย”


          และ “แนวร่วมเพื่อการเลือกตั้งเป็นธรรม” ที่เป็นเครือข่ายของพรรคสีส้มก็ไปยื่น” ป.ป.ช. “ให้สอย “กกต.” เเล้วด้วย


          “สมชัย ศรีสุทธิยากร” อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุว่า ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ไม่ได้แปลว่าสูตร กรธ.ถูกต้อง


          การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตามคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นการระบุเพียงแค่ว่ามาตรา 128 ของพ.ร.ป.ส.ส. มิได้มีเนื้อความขัดหรือแย้งต่อมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นเพียงการขยายความขั้นตอนวิธีการคำนวณ แต่ไม่ใช่คำตอบว่าสูตร กรธ.ที่ กกต.ตั้งใจใช้จะถูกรัฐธรรมนูญด้วย


          คำวินิจฉัยของศาลจึงมีประโยชน์เป็นศูนย์สำหรับ กกต. มิได้มีส่วนสนับสนุนหรือเป็นตัวช่วยใดๆ ให้กกต.เลือกใช้สูตรที่อาจมีคนแย้งว่า เป็นสูตรที่ขัดรัฐธรรมนูญแล้วจะพ้นผิด ทุกอย่างจึงขึ้นอยู่กับกกต. 7 ท่าน จะตัดสินใจใช้สูตรที่ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญมาเป็นเครื่องมือในการคำนวณเพื่อจัดสรรจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่เหมาะสม  หากเปรียบ กกต.เป็นวัด คาดว่าหาก กกต.ใช้สูตรผิดคงมีหลายพรรคที่ประกาศจองกฐิน งานนี้คงรับกันไม่หวั่นไม่ไหว  คณะที่ร่วมจองกฐินจะมีกี่คณะ บ่ายนี้ได้รู้กัน"


          ไหนจะมีการขอให้นับคะเเนนใหม่ทั่วประเทศจากพรรคเสรีรวมไทยชี้ช่องความผิดพลาดของกกต.ที่เป็นกรณีคลาสสิกอย่างนครปฐม เขตหนึ่งมาเป็นตัวอย่าง


          พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พรรคเสรีรวมไทย มีข้อสงสัยว่า แค่เขต 1 ของ จ.นครปฐม เพียงเขตเดียว ยังมีข้อผิดพลาดมากมายขนาดนี้ นับ 2 ครั้ง คะแนนของผู้สมัครไม่ตรงกันเลย ชวนให้คิดว่าอีก 349 เขตทั่วประเทศ จะเกิดเหตุการณ์เหมือน จ.นครปฐม ได้อีกหรือไม่ ถ้าไม่มีการตรวจสอบจะเป็นการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมหรือ


          พรรคเสรีรวมไทยจึงขอเรียกร้องให้กกต.จัดให้มีการนับคะแนนใหม่ทุกเขตทั่วประเทศ เพื่อความโปร่งใส และความน่าเชื่อถือของกกต. และที่สำคัญจะได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ว่า คะแนนทุกคะแนนของประชาชนมีค่า ไม่ควรให้ตกน้ำไปในสถานการณ์ที่ประชาชนผู้ออกเสียงมีความสงสัยและไม่มั่นใจในการทำงานของกกต.สุจริต เที่ยงธรรม แบบนี้”


          ขั้วตรงข้ามเล่นแรงเต็มสูบแบบนี้ ความร้อนของการเมืองไทยทวีคูณไปอีกหลายองศาเซลเซียส เเละมีท่าทีจะทวีเพิ่มไปอีกเรื่อยๆ     ใคร...จะได้ไปต่อในบทใดบนเวทีการเมืองไทย จากนี้มิอาจละสายตาได้เลยเพราะมีปรากฏการณ์​ใหม่ๆ บังเกิดได้ทุกนาที

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ