คอลัมนิสต์

ปัญหา"กองเงิน5พันล้าน"ดูแลสุขภาพคนท้องถิ่น".!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย... ทีมข่าวรายงานพิเศษ



 
           คนไทยหากเจ็บไข้ได้ป่วยจะมีเงินหลายกองทุนจากหลายกระทรวงมาช่วยดูแล แต่ที่คุ้นเคยและรู้จักกันดีคือ “บัตรทอง รักษาทุกโรคฟรี” จากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่รัฐเหมาค่าจ่ายรายหัวให้ปีนี้คนละ 3,427 บาท จำนวน 48.57 ล้านคน บางคนก็พอใจ บางคนก็ไม่พอใจกับการบริการที่ได้รับ...แต่น้อยคนที่รู้ว่านอกจากเงินก้อนนี้ พวกเรายังมี กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า กองทุนสุขภาพท้องถิ่น ตอนนี้เหลือเงินสะสมเกือบ 5 พันล้านบาท

 

 

          ย้อนไปเมื่อปี 2545 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาตรา 47 ระบุให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต้องเข้ามาร่วมกันดูแลสุขภาพชาวบ้านในพื้นที่โดยร่วมทำโครงการต่างๆ เช่น “กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด” มีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือคนพิการ ผู้สูงอายุ หรือผู้อยู่ในระยะจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟู ให้ได้รับการดูแลสุขภาพอย่างทั่วถึง แม้อาศัยอยู่ต่างอำเภอหรือในหมู่บ้านเล็กๆ ที่ใดก็ตาม

 

 

ปัญหา"กองเงิน5พันล้าน"ดูแลสุขภาพคนท้องถิ่น".!

 


           โดยแบ่งกิจกรรมกองทุนเป็น 5 ประเภท คือ 1.การจัดหน่วยบริการหรือสถานบริการสาธารณสุข 2.สนับสนุนการจัดกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของกลุ่มประชาชนหรือหน่วยงานต่างๆ 3.จัดตั้งศูนย์บริการสาธารณสุขให้แก่เด็กเล็ก ผู้สูงอายุหรือหรือคนพิการในชุมชน 4.กรณีเกิดโรคระบาดหรือภัยพิบัติในพื้นที่ต้องช่วยสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณสุขตามความจำเป็น เหมาะสม และข้อสุดท้ายคือการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการทำงานให้อปท.ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินรายรับกองทุน
 

           ดูจากวัตถุประสงค์ของกิจกรรมข้างต้นแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจอยากให้ชาวบ้านกลุ่มเสี่ยงได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เช่น เด็กเล็ก คนพิการ ผู้สูงอายุ ได้มีเงินหรือกองทุนเฉพาะที่จะนำมาทำกิจกรรมส่งเสริมดูแลรักษาสุขภาพไม่ต้องไปขอเศษส่วนแบ่งมาจากงบประมาณอื่นๆ ของจังหวัด อำเภอ หรือตำบล
ตัวอย่างโครงการที่นำเงินไปใช้ได้ เช่น โครงการฝึกอบรมความรู้สู้ยาเสพติด โครงการว่ายน้ำปลอดภัย โครงการลดใช้ภาชนะโฟมบรรจุอาหาร โครงการควบคุมไข้เลือดออกเชิงรุกในชุมชน โครงการคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก โครงการอบรมให้ความรู้และตรวจสุขภาพประชาชน โครงการส่งเสริมการออกกำลังกายเต้นแอโรบิก หรือแม้กระทั่งการแจกหน้ากากอนามัยหรือการให้ความรู้ป้องกันฝุ่นควันและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพได้จากฝุ่นละอองพีเอ็ม 2.5 ก็สามามารถนำเงินกองทุนส่วนนี้ไปใช้ได้เช่นกัน

 

 

 

 

ปัญหา"กองเงิน5พันล้าน"ดูแลสุขภาพคนท้องถิ่น".!

 



           โดยเม็ดเงินกองทุนท้องถิ่นข้างต้นมาจาก 2 ส่วนหลักคือ “งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ที่เรียกสั้นๆ กันว่า “งบสปสช.” ตอนนี้จ่ายให้ 45 บาทต่อคนรวมกับเงินสมทบจาก “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ที่แบ่งเงินช่วยสะสม 3 ระดับด้วยกัน ได้แก่
           1.มีรายได้ต่ำกว่า 6 ล้านบาท สมทบเงินไม่น้อยกว่าร้อยละ 30
           2.มีรายได้ 6–20 ล้านบาท สมทบเงินไม่น้อยกว่าร้อยละ 40
           3.มีรายได้สูงกว่า 20 ล้านบาท สมทบเงินไม่น้อยกว่าร้อยละ 50
 

           ทั้งนี้โครงสร้างการปกครองท้องถิ่นของไทยไทยปัจจุบันแบ่งเป็น อปท.เป็นระดับจังหวัด หรือ อบจ. 76 แห่ง ระดับเทศบาลเมืองและตำบล 2,442 และระดับตำบล หรือ อบต. 5,332 รวมกับส่วนย่อยพิเศษอื่นๆ รวมทั้งสิ้น 7,852 แห่ง โดย “อปท.” เกือบทั้งหมด ทั่วทุกภูมิภาคจำนวน 7,767 แห่ง ขอสมัครเข้าร่วม

 

 

 

ปัญหา"กองเงิน5พันล้าน"ดูแลสุขภาพคนท้องถิ่น".!

 


           ส่วนตัวอย่างโครงการระดับท้องถิ่นที่ใช้เงินกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัดไปทำโครงการสำเร็จไปแล้ว เช่น อบจ.จังหวัดนครราชสีมา เปิด “ธนาคารกายอุปกรณ์” เป็นศูนย์สาธิตและยืมอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการฟื้นฟูสมรรถภาพที่บ้าน ตั้งอยู่ในโรงพยาบาลชุมชน 35 แห่ง ใช้งบประมาณกว่า 11 ล้านบาท รองรับคนพิการ 8 หมื่นกว่าคน ผู้สูงอายุ 4.3 แสนคน นอกจากนี้ยังรองรับผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง หรือผู้ป่วยโรคอื่นๆ ที่มีความจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ต่างๆ ทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย
 

           เช่นเดียวกับอบจ.ชัยภูมิ ที่จัดตั้ง “กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพจังหวัดชัยภูมิ” ตั้งแต่ปี 2556 เพื่อกระจายงบประมาณให้โรงพยาบาลผ่านโครงการต่างๆ เช่น โครงการดูแลผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต ด้วยแพทย์แผนไทย โครงการป้องกันผู้สูงอายุพลัดตกหกล้ม โครงการป้องกันความพิการในเด็กธาลัสซีเมีย โครงการเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุและผู้ป่วยเรื้อรัง ฯลฯ จากตัวอย่างข้างต้นแสดงให้เห็นว่าองค์กรท้องถิ่นหลายแห่งนำเงินกองทุนไปบริหารจัดทำกิจกรรมอย่างเป็นประโยชน์
 

 

 

 

ปัญหา"กองเงิน5พันล้าน"ดูแลสุขภาพคนท้องถิ่น".!

 

 

          แต่ปัญหาใหญ่ที่พบขณะนี้คือ อปท.เกือบทั่วประเทศทั้งระดับจังหวัดและตำบลสมัครเข้ามาร่วมแต่ไม่มีโครงการหรือทำกิจกรรมจริงจัง
  

           ตัวเลขปี 2562 มี อปท.สมัครเข้าร่วมกองทุนทั้งหมด 7.7 พันแห่ง ประมาณว่าเกือบทุกอปท.ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยสมัครเข้ามาแล้วแต่จัดทำโครงการจริงจังหรือกิจกรรมจริงมีเพียงส่วนน้อยเพียง 1,912 โครงการเท่านั้น
  

           จนทำให้เงินสะสมเพิ่มขึ้นปีละหลายร้อยล้านบาท เพราะไม่มีใครเบิกจ่ายไปทำโครงการ ข้อมูลปีงบประมาณ 2560 พบว่าเงินในกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นสะสมอยู่กว่า 7 พันล้านบาท และล่าสุดปี 2562 ก็ยังเหลืออีก 4.8 พันล้านบาท
 

           ล่าสุดข้อมูลจากเว็บไซต์ สปสช.www.nhso.go.th ตัวเลขเดือน เมษายนปี 2562 มีเงินคงเหลือในกองทุน 4,839 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 78 มีการเบิกไปใช้ทำกิจกรรมต่างๆ เพียง 1,460 ล้านบาท หรืแค่ร้อยละ 22 เท่านั้น

 

 

 

ปัญหา"กองเงิน5พันล้าน"ดูแลสุขภาพคนท้องถิ่น".!

 

 


           ปัญหาที่เกิดขึ้นคืออะไร? มีเงินแต่ทำไมไม่มีใครอยากใช้?
           หนึ่งในปัญหาที่ทำให้อปท.ส่วนใหญ่ไม่กล้าเสนอโครงการ เนื่องจากที่ผ่านมาการจัดทำระเบียบเบิกจ่ายเงินกองทุนยังไม่ชัดเจน เคยมีปัญหาสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเข้ามาตรวจสอบบางโครงการแล้วทักท้วงว่าไม่ตรงกับหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินกองทุนท้องถิ่น ซึ่งต้องยึดตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย!


           หมายความว่าระเบียบกองทุนที่ดูแลโดยสปสช. กับระเบียบของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สังกัดกระทรวงมหาดไทย ที่ดูแลเงิน อปท.ยังไม่สอดคล้องกันว่าเงินทำกิจกรรมเหล่านี้สามารถเบิกจ่ายอะไรได้บ้าง แม้เคยมีประกาศให้ดำเนินการตามระเบียบของ สปสช.แล้วก็ตาม


           นอกจากนี้ยังเคยมีการถกเถียงกันเกี่ยวกับ “นิยามกลุ่มเป้าหมาย” เช่น คำว่าคนพิการหมายถึงพิการด้านใดบ้าง หรือความหมายของผู้ป่วยในระยะพึ่งพิงหมายถึงระยะใด ยิ่งไปกว่านั้นยังมีปัญหาการจัดทำบัญชีที่ไม่ได้มีมาตรฐานกำหนดไว้ชัดเจน
 

           ปัญหาต่างๆ ข้างต้น ทำให้ อปท.ที่ไม่ได้เชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์ในการใช้เงินกองทุนของสปสช. เลือกใส่เกียร์ว่าง รอดูว่าโครงการของจังหวัดอื่นหรืออปท.อื่นๆ ทำอย่างไร มีปัญหาการถูกตรวจสอบการเบิกจ่ายใช้เงินของโครงการย้อนหลังหรือไม่


           ปัญหาการบริหารจัดการและการประสานงานกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ แม้เป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ทำให้โครงการดีๆ ที่มีเงินกองทุนรอให้เบิกจ่ายหยุดชะงัก นับเป็นเรื่องน่าเสียดายและเสียโอกาสของเด็ก คนชรา คนพิการ ที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่นห่างไกล แล้วไม่อาจนำเงินกองทุนนี้มาช่วยพัฒนาฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายได้เต็มที่
   

           “นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา” เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รับทราบและรับรู้ดีว่าปัญหาข้างต้นต้องรีบแก้ไข ล่าสุดมีการประกาศให้ปรับปรุงรายละเอียดของกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน 5 ประการ ได้แก่


           1.กำหนด “นิยาม” ความหมายของกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน โดยเฉพาะคำว่าคนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้อยู่ในภาวะพึ่งพิง ผู้ป่วย หมายถึงใครบ้าง 2.จัดทำระเบียบปฏิบัติที่กำหนดให้ อบจ.เป็นผู้ดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุนชัดเจนมากยิ่งขึ้น 3. กำหนดการจัดทำบัญชีและรายงานกองทุนตามรูปแบบที่ สปสช.กำหนด 

           4.เพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเพิ่มคณะกรรมการกองทุนจาก 18 คนเป็น 21 คน จากตัวแทนแพทย์ประจำจังหวัด ผู้แทนเครือข่ายภาคประชาชนและผู้แทนเครือข่ายคนพิการ และ 5.จัดทำระเบียบการใช้จ่ายเงินกองทุนภายใต้ความเห็นชอบของคณะกรรมการกองทุน
  

           เชื่อกันว่าหากร่างแก้ไข หรือชื่อเต็มว่า “ร่างประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเรื่อง หลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด พ.ศ. ....” จัดทำสำเร็จเมื่อไร จะช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นและช่วยเปิดทางให้อปท.เข้ามาเสนอโครงการต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายให้คนในท้องถิ่นมากขึ้น


           หากใครติดตามนโยบายหาเสียงของ “การเลือกตั้ง” ที่ผ่านมา จะเห็นว่าหลายพรรคเน้นการหาเสียด้วย “นโยบายสาธารณสุข” หรือนโยบายด้านสุขภาพและการดูแลรักษาอาการเจ็บป่วย
  

           เช่น พรรคเพื่อไทย ประกาศสร้างหลักประกันสุขภาพเพื่อคนไทยทุกคน เน้นปรับระบบลดการรวมศูนย์กลางอำนาจ เปลี่ยนเป็นการกระจายอำนาจให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม เช่น การกระจายบุคลากรสาธารณสุขมูลฐานในพื้นที่ชนบท การกระจายงบประมาณไปท้องถิ่น หรือ “พรรคพลังประชารัฐ” เสนอแนวคิดพัฒนาระบบสาธารณสุขด้วยโมเดล “ปรับเปลี่ยน เชื่อมโยง ยกระดับ ขับเคลื่อน” โดยเฉพาะการเชื่อมโยง ให้ครอบคลุมทุกภาคส่วน และ พรรคอนาคตใหม่ เสนอให้พัฒนาความรู้ของอาสาสมัครสาธารณสุขในชุมชน และปรับโครงสร้างการกระจายอำนาจให้โรงพยาบาลสามารถกำหนดกฎเกณฑ์ในการบริหารทรัพยากร หรือผลิตยาได้เอง
 

 

          มีการวิเคราะห์กันว่าเมื่อจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่สำเร็จลงเมื่อไร แล้วรู้แน่ชัดว่าพรรคไหนเข้ามาเป็นแกนนำรัฐบาล ในวันนั้น กองทุนหรือกองเงินที่เกี่ยวกับสุขภาพของคนไทยทั้งหมดจะถูกเปลี่ยนแปลงไปอย่างแน่นอน


           โดยเฉพาะ กองทุนดูแลสุขภาพระดับท้องถิ่น เพราะมีเงินสะสมหลายพันล้านรอให้เอาไปใช้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า คณะกรรมการกองทุนที่มีภาคประชาชนเข้ามาเพิ่ม จะช่วยกันผลักดันและตรวจสอบการใช้เงินก้อนนี้อย่างมีประสิทธิภาพ และตรงตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้อย่างแท้จริง


           ไม่หลงกลลวง หัวคะแนนเสียงผู้มีอิทธิพลในชุมชนที่ชอบเอาเงินไปทำกิจกรรมแบบหวังเก็บตุนแต้มคะแนนเสียง รอการเลือกตั้งครั้งต่อไป!
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ