คอลัมนิสต์

 อึมครึม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์... กระดานความคิด โดย... ร่มเย็น

 

 
          สถานการณ์การเมืองภายหลังเทศกาลสงกรานต์ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของการจัดตั้งรัฐบาล


          เป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนหน้านั้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์มีรายงานข่าวอ้างมาจากพรรคพลังประชารัฐ ว่าขณะนี้การรวบเสียงมีความคืบหน้าไปมาก โดยนอกจากพรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคชาติพัฒนา พรรคพลังท้องถิ่นไทย พรรครักษ์ผืนป่า และพรรคเล็กที่ได้ ส.ส. 1 ที่นั่ง 12 พรรค ที่ไม่น่ามีปัญหาอะไรแล้ว

 

 

          ล่าสุดยังได้เพิ่มอีก 5 เสียงจากพรรคเศรษฐกิจใหม่ของนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ที่ตอบตกลงจะมาเข้าร่วม เพราะเห็นว่าหากพรรคเศรษฐกิจใหม่ต้องการแก้ปัญหาให้ประชาชนจำเป็นต้องเป็นรัฐบาลเพื่อมาขับเคลื่อนตามที่ได้หาเสียงไว้ ส่วนตัวนายมิ่งขวัญนั้น ยังเจรจาเงื่อนไขกันอยู่ โดยให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้พูดคุย ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้ 52 เสียงนั้น จะไม่มายกพรรค เนื่องจากสมาชิกทางฝั่งนายชวน หลีกภัย และคนรุ่นใหม่ในพรรคไม่เห็นด้วยกับการมาร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ แต่ว่าที่ ส.ส.ที่นำโดย นายถาวร เสนเนียม ยืนยันว่าจะมาและพร้อมสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เบื้องต้นมีจำนวน 35 คน โดยถึงขณะนี้มั่นใจว่ามีเสียงมากกว่าฝั่งพรรคเพื่อไทยแล้ว

 


          แต่หลังจากข่าวนี้แพร่ออกไป นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรรณ์ ได้โพสต์แถลงการณ์ของพรรคเศรษฐกิจใหม่ โดยระบุว่า ตามที่มีกระแสข่าวอย่างแพร่หลายในสื่อต่างๆ เรื่องตนและว่าที่ ส.ส.ทั้งหมดของพรรคเศรษฐกิจใหม่ ได้ไปเจรจาเพื่อร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ขอยืนยันว่าข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริงและตนไม่เคยเข้าไปร่วมเจรจาทางการเมืองกับพรรคพลังประชารัฐใดๆ ทั้งสิ้น


          ขณะที่นายถาวรก็ออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นคนให้ข่าวดังกล่าว เขียนกันเอง โดยตนพร้อมทำตามมติของพรรคประชาธิปัตย์ทำให้เกิดความสับสนกันว่า ตกลงเป็นอย่างไรกันแน่


          แต่ถ้าหากมองในเรื่อง “เกมการเมือง” ก็พอเข้าใจได้ว่า แต่ละขั้ว แต่ละฝ่าย ก็ต้องพยายามปล่อยข่าวว่าฝ่ายตนเองสามารถรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว เพื่อให้พรรคการเมืองที่ยังลังเลรีบเข้าร่วมสนับสนุนเพราะกลัวตกขบวนรถไฟจัดตั้งรัฐบาล




          อย่างไรก็ตามการแข่งกันจัดตั้งรัฐบาลของทั้ง 2 ขั้ว อันมีฝ่ายพรรคพลังประชารัฐฝ่ายหนึ่ง กับพรรคเพื่อไทยอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งการรวมเสียงของทั้งสองฝ่ายยังได้ก้ำกึ่งกัน ทำให้สถานการณ์ของประเทศหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะอยูู่ในภาวะ “อึมครึม” ไม่ชัดเจน และถ้าจัดตั้งรัฐบาลได้โดยชอบธรรมไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดก็น่าจะเดินหน้าได้ในระยะเวลาหนึ่ง แต่ก็คงอยู่ได้ไม่นานเนื่องจากเป็น “รัฐบาลผสม” เสียงปริ่มน้ำ


          ล่าสุด นายเทพไท เสนพงศ์ ว่าที่ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาชงว่า จะต้องจัดตั้ง “รัฐบาลแห่งชาติ” เพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้องและแก้รัฐธรรมนูญ เนื่องจากสถานการณ์การเมืองในขณะนี้เป็น “เดดล็อก” ถึงทางตัน ไม่มีพรรคการเมืองใดสามารถตั้งรัฐบาลขึ้นมาได้ โดยให้ “รัฐบาลแห่งชาติ ” มีวาระเพียงแค่ 2 ปี จากนั้นให้คืนอำนาจแก่ประชาชนและจัดการเลือกตั้งใหม่ ส่วนบุคคลที่เหมาะสมจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนกลางของรัฐบาลแห่งชาติ มีอยู่ 4 คน คือ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท อดีตผู้บัญชาการทหารบก นายพลากร สุวรรณรัฐ นายศุภชัย พานิชภักดิ์ และนายชวน หลีกภัย


          อย่างไรก็ตาม นายเทพไท ไม่ได้ลงในรายละเอียดว่า “รัฐบาลแห่งชาติ” จะมาได้โดยวิธีใด เพราะตามรัฐธรรมนูญ 2560 “นายกรัฐมนตรี” มี 2 ประเภทเท่านั้น คือ 1.นายกรัฐมนตรีจากบัญชีชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมือง และ 2.นายกรัฐมนตรีคนนอก กรณีที่ประชุมรัฐสภา เสียงไม่พอที่จะเลือกนายกรัฐมนตรีจากบัญชีชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองได้ แต่ “นายกรัฐมนตรีคนนอก” ตามรัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันก็ไม่ใช่ “นายกรัฐมนตรีคนกลาง” ของรัฐบาลแห่งชาติ

 

          อีกทั้งในตอนที่ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ได้มีแนวคิดที่จะจัดตั้ง "รัฐบาลแห่งชาติ" โดยสภาปฏิรูปแห่งชาติได้เสนอเป็น “คำถามพ่วง” ในการลงประชามติเพื่อนำไปปรับแก้หรือเพิ่มเติมในรัฐธรรมนูญ นั่นก็คือคำถามที่ว่า "ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการมีกลไกป้องกันและขจัดความขัดแย้งที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงหลังการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยอย่างน้อยใน 4 ปีแรกหลังใช้รัฐธรรมนูญให้มีรัฐบาลปรองดองเพื่อการปฏิรูป” ซึ่งคำว่า “รัฐบาลปรองดองเพื่อการปฏิรูป” ก็คือ “รัฐบาลแห่งชาติ” นั่นเอง แต่แล้วคำถามนี้ก็ไม่ผ่านประชามติ


          และหากมองจากท่าทีของทั้งสองขั้วการเมืองก็ไม่มีการขานรับ “รัฐบาลแห่งชาติ ” อย่างพรรคพลังประชารัฐ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ประธานคณะกรรมการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งพรรคพลังประชารัฐ ก็แสดงความมั่นใจว่าพรรคพลังประชารัฐจะเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลปกติที่มาจากการเลือกตั้งได้


          ขณะที่นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ก็ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่มีการเสนอทางออกเรื่อง “รัฐบาลแห่งชาติ” โดยมองว่า “รัฐบาลแห่งชาติ” ไม่ใช่ทางออกประชาธิปไตย และทางพรรคเพื่อไทยคงเห็นว่าหากมี “รัฐบาลแห่งชาติ” กลุ่มอำนาจปัจจุบันก็ยังได้เป็นรัฐบาลต่อไป


          ส่วนอดีตคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ ก็บอกว่า เป็นไปได้ยากมากหรืออาจเป็นไปไม่ได้เลย เพราะตามหลักการแล้วในระบอบประชาธิปไตยต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุล ระหว่างฝ่ายค้านกับรัฐบาลคอยทำหน้าที่นี้อยู่ในสภา การที่ “รัฐบาลแห่งชาติ” จะเกิดขึ้นได้นั้น ต้องมีวิกฤติทางการเมืองที่ร้ายแรงและจำเป็นเร่งด่วนจริงๆ เช่น ภาวะสงคราม ซึ่งต้องใช้การระดมสมองจากทุกพรรคในสภาแบบนี้เป็นต้นจึงจะเกิดขึ้นได้ แต่ด้วยเงื่อนไขทางการเมืองตอนนี้ยังไม่มีเหตุและความจำเป็นในการตั้ง “รัฐบาลแห่งชาติ” แต่อย่างใด


          ประเมินแล้ว “รัฐบาลแห่งชาติ” สุดท้ายก็จะเงียบหายไปตามสายลม


          แล้ว..บ้านเมืองจะเดินไปทางไหนกัน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ