คอลัมนิสต์

"เล่นไลน์" ...แชร์ภาพ"ก่อการร้าย"ติดคุกหรือไม่?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รายงานพิเศษ...

 


 
          กลายเป็นคำถามสำคัญในกลุ่มสาวกโซเชียลมีเดียว่า


          “การโพสต์การแชร์เนื้อหาหรือคลิปเกี่ยวกับเหตุก่อการร้ายผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์หรือไม่”


          โดยเฉพาะในสื่อแอพพลิเคชั่นพูดคุยยอดฮิต “ไลน์” ซึ่งคนไทยใช้งานเป็นประจำกว่า 42 ล้านคน

 

 

          สาเหตุที่ต้องมุ่งเป้าคำถามไปที่ “ไลน์” ทั้งที่ “เฟซบุ๊ก” เป็นสื่อโซเชียลที่คนไทยใช้มากเป็นอันดับ 1 จำนวนกว่า 45 ล้านคน เนื่องจากไลน์สามารถเข้าถึงคนทุกกลุ่มได้มากกว่าทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แถมไม่ค่อยจะมีกฎกติกามากมายเหมือนเฟซบุ๊กทำให้ง่ายต่อการโพสต์และส่งต่อเนื้อหาต่างๆ อย่างรวดเร็ว และยังปิดบังตัวตนได้ง่ายกว่าด้วย


          สืบเนื่องจากเหตุการณ์คนร้าย “ถ่ายทอดสด” นาทีกราดยิงมัสยิดที่นิวซีแลนด์ สร้างความสะเทือนขวัญคนทั้งโลกนั้น แทบไม่น่าเชื่อว่าภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงมีผู้เข้าไปแชร์คลิปวิดีโอความยาว 17 นาทีนี้มากกว่าล้านคน ทำให้เจ้าหน้าที่เฟซบุ๊กต้องรีบลบออกกว่า 1.5 ล้านคลิปภายใน 24 ชั่วโมงแรก แต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก โดนโหลดโดนแชร์ไปทั่วโลก เฉพาะในหมู่คนไทยคลิปสังหารหมู่นี้ถูกย่อเป็น 2 เวอร์ชั่น ความยาว 2:20 นาที และ 5 นาที ก่อนส่งต่อไปในห้องไลน์และสื่อโซเชียลต่างๆ แม้แต่ผู้สื่อข่าวหลายคนก็ได้รับรู้เหตุการณ์จากคลิปเหล่านี้ที่ถูกเพื่อนๆ นำมาแชร์ในห้องไลน์

 

 

"เล่นไลน์" ...แชร์ภาพ"ก่อการร้าย"ติดคุกหรือไม่?

 

 


          รายละเอียดการก่อการร้ายเกิดขึ้นเมื่อช่วงบ่ายโมงกว่าของวันที่ 15 มีนาคม โดยนายเบรนตัน ทาร์แรนต์ ชาวออสเตรเลีย อายุ 28 ปี นำอาวุธปืนหลายกระบอกบุกเข้าไปกราดยิงคนในมัสยิด 2 แห่งคือ มัสยิดอัลนูร์ ในเมืองไครสต์เชิร์ช และมัสยิดลินวู้ด อยู่ห่างกันประมาณ 5 กิโลเมตร ทำให้มีผู้เสียชีวิต 50 คน และบาดเจ็บอีกไม่ต่ำกว่า 50 คน




          เหตุการณ์วันนั้นเกิดขึ้นในเวลาเพียง 36 นาทีเท่านั้น แต่เชื่อกันว่าจะเป็นคดีแรกที่ส่งผลให้ “นิวซีแลนด์” เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ บางคนถึงกับเรียกว่าเป็น “วันที่มืดมิดที่สุดของนิวซีแลนด์”


          คนทั่วโลกรู้สึก “ช็อก!” เพราะผู้ร้ายจิตใจอำมหิตรายนี้ใช้เครื่องมือสื่อสังคมออนไลน์ถ่ายทอดสดการกระทำของเขา โดยเชื่อได้ว่ามีการไตร่ตรองและซักซ้อมวางแผนการถ่ายทำเป็นอย่างดี แสดงให้เห็นถึงความเลือดเย็นและจิตใจที่ผิดปกติจากมนุษย์ทั่วไป


          แม้เจ้าหน้าที่รัฐนิวซีแลนด์พยายามป่าวประกาศขอร้อง ห้ามปราม และขู่เอาผิดผู้เผยแพร่คลิปเหล่านี้ แต่ก็ได้ผลในระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะถึงวันนี้ยังมีคนแชร์ต่อด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ว่าตัวเองกลายเป็นเหยื่อหรือเครื่องมือของผู้ก่อการร้ายที่มีเป้าประสงค์เผยแพร่ความอำมหิตออกไปสู่สายตาคนทั่วโลก


          เจ้าหน้าที่เฟซบุ๊กออกมายอมรับว่า ตอนที่นายเบรนตันถ่ายทอดสดนั้น มีคนดูไม่ถึง 200 คน และไม่มีใครแจ้งเตือนเลย อาจเป็นไปได้ว่าหลายคนกำลัง สับสน งง งวย! ว่าเป็นฉากแสดงหนัง การโชว์ หรือโฆษณาอะไรบางอย่างหรือเปล่า กว่าจะมีพลเมืองดี เอะใจ ! ส่งเสียงเตือนไปยังเฟซบุ๊ก เวลาก็ผ่านไปนานกว่าครึ่งชั่วโมงแล้ว และภายในวันนั้นการไล่ล่าคลิปมหันตภัยนี้กลายเป็นภารกิจหลักของผู้ประกอบการสื่อออนไลน์ค่ายต่างๆ ทั่วโลก เพื่อหยุดยั้งการนำไปแชร์ต่อ หลายประเทศกำลังเตรียมย้อนรอยเอาผิดผู้เผยแพร่คลิปก่อการร้ายด้วย ตัวอย่างเช่น ตำรวจนิวซีแลนด์ประกาศว่า จะขอเบาะแสรายชื่อผู้แชร์คลิปนี้กับเฟซบุ๊ก เพื่อนำตัวมาลงโทษตามกฎหมาย พวกชอบแชร์อาจโดนโทษปรับถึง 3 แสนบาท เพราะสร้างความกระทบกระเทือนจิตใจของครอบครัวเหยื่อ

 

 

"เล่นไลน์" ...แชร์ภาพ"ก่อการร้าย"ติดคุกหรือไม่?

 


          สำหรับเมืองไทยนั้น มีคนเข้าไปดูและแชร์คลิปนี้ในเฟซบุ๊กนานหลายชั่วโมงหลังเกิดเหตุการณ์ส่วนใหญ่คิดว่าเป็นข่าวสำคัญเลยอยากส่งต่อให้เพื่อนๆ หรือคนรู้จักได้รับทราบ หลายคนดาวน์โหลดใส่โทรศัพท์หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ และนำมาส่งต่อให้กลุ่มเพื่อนทางไลน์ โดยไม่รู้ตัวว่าการแชร์โชว์ความโหดเหี้ยมเหล่านี้ออกสู่สาธารณะ คือการทำผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2560


          รศ.คณาธิป ทองรวีวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันกฎหมายสื่อดิจิทัล มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคลและสังคมออนไลน์ อธิบายให้ฟังถึงการโพสต์หรือการแชร์เผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ “การก่อการร้าย” ว่า คนทั่วไปที่มีโอกาสทำผิดเกี่ยวกับ “พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2560” หรือที่เรียกว่า “พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์” แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่เป็นเนื้อหาข้อมูลผิดกฎหมายคนทำผิดต้องโทษจำคุก กับ ส่วนที่เป็นเนื้อหาที่ไม่ต้องโดนโทษจำคุก แต่จะถูกเซ็นเซอร์หรือโดนลบข้อมูลทิ้ง

 

 

"เล่นไลน์" ...แชร์ภาพ"ก่อการร้าย"ติดคุกหรือไม่?

 


          ส่วนที่ 1 ข้อมูลผิดกฎหมายโทษติดคุก เป็นไปตามมาตรา 14 จำคุกสูงสุดถึง 5 ปี โทษปรับ 1 แสนบาท มีข้อความรายละเอียดดังนี้

 

          “ผู้ใดทำการโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์บิดเบือน หรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชนความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง หรือนำเข้าสู่ข้อมูลลามก และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้”


          สำหรับคนที่ไม่ได้เขียนหรือสร้างข้อมูลเอง แต่ไปกดแชร์หรือเผยแพร่ส่งต่อข้อมูลเหล่านี้ก็มีโทษโทษปรับ 6 หมื่นบาท จำคุกไม่เกิน 3 ปี โดยข้อมูลเหล่านี้หากเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย เป็นภาพตัดต่อหรือภาพวิดีโอถือว่าทำผิดแน่นอน

          "ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า ถ้าเป็นภาพหรือคลิปวิดีโอศพคนทั่วไปของจริง ไม่ได้ตัดต่อบิดเบือน ถือว่าไม่ผิดตามกฎหมายนี้ แต่ถ้าเป็นภาพศพปลอมมีการเปลี่ยนหน้าตา ถือว่าผิด เพราะเป็นข้อมูลเท็จหลอกลวง อย่างไรก็ตามภาพศพเกิดจากการการก่อการร้าย มีลักษณะเผยแพร่เพื่อดึงดูดใจให้คนทำตาม หรือน่าจะทำให้เกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ภาพศพเหล่านี้ถึงเป็นภาพจริงไม่ได้ตัดต่อก็ถือว่าผิดตามกฎหมาย มีโทษจำคุกแน่นอน โดยเฉพาะภาพหรือเนื้อหาที่จูงใจให้ทำก่อการร้าย ก่อความรุนแรงหรือกระทบความมั่นคงของประเทศ"

 

 

"เล่นไลน์" ...แชร์ภาพ"ก่อการร้าย"ติดคุกหรือไม่?

 

 


          ส่วนผู้ที่สงสัยว่าตัวเองไม่ได้เป็นผู้ผลิตหรือนำเข้าเนื้อหาข้อมูลเหล่านี้ เพียงแต่กดแชร์หรือส่งต่อให้เพื่อนดูถือว่าผิดหรือไม่ ?

 

          ผู้เชี่ยวชาญข้างต้นอธิบายว่า ก่อนอื่นต้องพิจารณาว่าสื่อที่เอาไปเผยแพร่ต่อนั้นมีลักษณะเป็น “สาธารณะ” หรือไม่ เช่นถ้าเป็นสื่อสังคมออนไลน์ เฟซบุ๊ก ที่เปิดเป็นห้องสาธารณะทุกคนสามารถเข้ามาดูได้ ถือว่าผิดตามกฎหมายนี้ แต่ส่งกันส่วนตัวอาจไม่ผิด ถ้าเป็นห้องแชทใน “ไลน์” ถ้าส่งเพียงส่วนตัว 2 คนก็ไม่ผิด แต่ถ้ามีคนอื่นมาร่วมด้วยเป็นกลุ่มปิดหลายร้อยหรือหลายสิบคนก็ยังไม่ถือว่าผิด เพราะเป็น “กลุ่มปิด” เนื่องจากต้องได้รับอนุญาตถึงเข้ามาร่วมในห้องได้ ในทางกลับกัน หากเป็น “กรุ๊ปไลน์” ที่เปิดกว้างทุกคนสามารถเข้าถึงได้โดยไม่จำกัด ด้วยคิวอาร์โค้ดหรือเข้าร่วมด้วยวิธีอื่นๆ ถือว่ามีความผิดทันทีเพราะเปิดเป็นสาธารณะ


          โดยเนื้อหาที่ผิดตาม ม.14 นั้น นอกจากเรื่องหรือภาพที่เกี่ยวกับ “ก่อการร้าย” แล้วยังมี อีก 4 กลุ่มเนื้อหาที่คนเล่นไลน์หรือเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ไอจี ฯลฯ ควรระมัดระวังได้ ได้แก่ 1.กลุ่มเนื้อหาที่ไม่เป็นจริงหรือปลอมแปลงขึ้นมา 2.กลุ่มเนื้อหาที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล 3.กลุ่มเนื้อหาที่ผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือเรียกกันว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และกลุ่ม 4.เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับ สื่อลามกอนาจารโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งกลุ่มที่ 4 นั้น มีความผิดร้ายแรงแตกต่างจากกลุ่มอื่น เนื่องจากคนที่ครอบครองก็ถือว่าทำผิดกฎหมายแล้ว หรือส่งต่อให้เพื่อน 1 คนในห้องไลน์ส่วนตัวก็ผิดทันที


          รศ.คณาธิป ให้ข้อมูลต่อว่า นอกจากเนื้อหาที่โดนโทษจำคุกแล้ว ยังมี ส่วนที่เป็นเนื้อหาที่ไม่ต้องโดนโทษจำคุก แต่จะถูกเซ็นเซอร์หรือโดนลบข้อมูลทิ้ง หรือความผิดตาม มาตรา 20 เนื่องจากมีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เช่น ข้อความยุยุงส่งเสริมให้เกิดความรุนแรง หรือข้อความดูหมิ่นศาสนาอื่น หมายความว่า เนื้อหาเหล่านี้แม้ไม่ผิดถึงขนาดต้องฟ้องดำเนินคดีจับคนทำผิด แต่ก็ไม่ใช่เนื้อหาที่เหมาะสม ดังนั้นเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายอาจสั่งระงับเผยแพร่หรือลบทิ้งให้ออกไปจากระบบคอมพิวเตอร์ได้เลย

 

 

 

"เล่นไลน์" ...แชร์ภาพ"ก่อการร้าย"ติดคุกหรือไม่?

 


          คำถามที่สำคัญคือ ใครเป็นผู้แจ้งความเอาผิดได้บ้าง ? หากพบเห็นเนื้อหาเหล่านี้ เช่น เพื่อนในกลุ่มไลน์ถ้าพบเห็นคนมาโพสต์คลิปวิดีโอก่อการร้าย สามารถแจ้งความได้หรือไม่ ทั้งที่ไม่ได้เป็นผู้เสียหายโดยตรง


          ผู้เชี่ยวชาญข้างต้นอธิบายว่า หากใครพบแห็นคนโพสต์หรือการแชร์ เผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ “การก่อการร้าย” สามารถแจ้งความได้ทันที เพราะถือเป็น คดีอาญาแผ่นดิน แจ้งได้ที่ “ปอท.” หรือ กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี แม้ไม่ได้เป็นผู้ได้รับความเสียหายโดยตรง แตกต่างจากบางคดีที่เป็นความผิดยอมความกันได้ หรือความผิดส่วนตัว ที่ต้องให้เจ้าทุกข์หรือผู้เสียหายไปแจ้งความเท่านั้น เช่น คดีมีคนนำภาพเราไปตัดต่อให้เกิดความอับอาย เจ้าทุกข์ต้องไปแจ้งความด้วยตัวเองว่ารู้สึกอับอายเสียหายอย่างไรบ้าง แต่ถ้าเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เสียหายโดยตรง ใครก็สามารถไปแจ้งความได้ทันที


          จากนี้ไป “คนไทย” ที่เล่นไลน์อย่างสนุกสนานนั้น หากเปิดไปเจอคลิปวิดีโอแปลกๆ ลักษณะเป็นการก่อการร้าย หรือศพที่เกิดจากการโดนฆาตกรรมหมู่แบบโหดเหี้ยม หรือข้อความชวนไปฆ่าหรือทำร้ายใครก็ตาม ต้องระมัดระวัง ท่องเป็นคาถาประจำใจไว้เลย


          “ไม่อ่าน ไม่เปิด ไม่โหลด ไม่ส่งต่อ”


          สถิติ 2562 คนไทยกับอินเทอร์เน็ต!
          - ประเทศไทยมีประชากร 69.24 ล้านคน เปิดเบอร์โทรศัพท์มือถือ 92.33 ล้านเลขหมาย
          - คนไทย 55 ล้านคนใช้มือถือต่ออินเทอร์เน็ต
          - คนไทยใช้อินเทอร์เน็ต 9 ชั่วโมง/วัน เปิดโซเชียลมีเดีย 3 ชั่วโมง/วัน
          - ใช้เวลาดู Online Streaming หรือ Video On Demand 3.40 นาที/วัน
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ