คอลัมนิสต์

ผลิกเกมหาเสียง"กองทุนประกันสังคม"1.8ล้านล้าน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย... ทีมข่าวรายงานพิเศษ




          “ระบบประกันสังคม” คือหนึ่งในนโยบายหลักที่พรรคการเมืองในประเทศเจริญแล้วให้ความสำคัญเอามาหาเสียงเลือกตั้ง เพราะเป็นเงินก้อนใหญ่เกี่ยวข้องกับ

 

          อนาคตประชาชน....แต่ดูเหมือน นักการเมืองไทยยังไม่พูดถึงเงินกองนี้มากนัก มีแต่พูดถึงนโยบายประชานิยมหวังดึงคะแนนเสียงระยะสั้น...

 

 


          ทุกวันนี้ “มนุษย์เงินเดือน” ทั่วประเทศไทยต้องควักกระเป๋าส่งเงินสมทบตามฐานเงินเดือนที่เกิน 15,000 จ่าย 750 บาท


          ตอนนี้กองทุนประกันสังคมประเทศไทยมีเงินหน้าตักประมาณ 1.8 ล้านล้านบาท


          ผู้เชี่ยวชาญจาก “ไอแอลโอ” หรือองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ประเมินไว้ว่าถ้ารัฐบาลยังไทยยังกำหนดให้เก็บเงินสูงสุดแค่เดือนละ 750 บาท ไม่เกิน 30 ปีข้างหน้า หรือปี 2587 กองทุนนี้อาจถังแตก เพราะคนไทยอายุยืนมากขึ้น รายจ่ายเงินชราภาพมากขึ้นตามไปด้วย แต่เงินจากวัยทำงานน้อยลง อีกไม่นานจะมีผู้เกษียณอายุนั่งรอรับเงินส่วนนี้ทุกเดือนไม่ต่ำกว่า 6 ล้านคน


          หลายฝ่ายเริ่มร้องเตือน “รัฐบาล” ออกนโยบายดูแล “กองทุนประกันสังคม” ไม่ให้กองทุนเจ๊ง จนสั่นคลอนกลายเป็นภาระหนี้ของภาครัฐอนาคต

 

          ข้อมูลสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ระบุเมื่อ 30 กันยายน 2561 ว่ากองทุนมีเงินประมาณ 1.86 ล้านล้านบาท ประกอบด้วยเงินสมทบเก็บจากผู้ประกันตน นายจ้าง และรัฐบาลจำนวน 1.29 ล้านล้านบาท ดอกผลจากการลงทุนสะสม 5.7 แสนล้านบาท


          ส่วนรายจ่ายของกองทุนประกันสังคมประกอบด้วย 3 ส่วนหลักๆ คือ รายจ่ายเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทน ค่าบริหารสำนักงาน และรายจ่ายอื่นๆ ประมาณปีละ 2 หมื่นล้านบาท โดยรายจ่ายเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทน 1.5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นกรณีเจ็บป่วย 7 พันล้านบาท ชราภาพ 2.9 พันล้านบาท ช่วยค่าคลอดบุตร 1.6 พันล้านบาท กรณีสงเคราะห์บุตร 1.1 พันล้านบาท กรณีว่างงาน 1.5 พันล้านบาท กรณีทุพพลภาพ 176 ล้านบาท และกรณีเสียชีวิต 520 ล้านบาท

 


          เห็นได้ว่า “กองทุนประกันสังคม” มีความเกี่ยวข้องกับชีวิตคนไทยไม่น้อย ทั้งตอนเกิด ตอนทำงาน ตอนเจ็บป่วย ตอนเกษียณ ...ดูแลชีวิตปัจจุบันและในอนาคต แต่ดูเหมือน “พรรคการเมือง” ที่กำลังแข่งกันหาเสียงเลือกตั้งนั้น ยังไม่ค่อยมีพรรคไหนไปแตะ หรือไปเก็บเอามาเป็นนโยบายหาเสียงอย่างจริงจัง มีเพียงพูดถึงแบบลอยๆ ตามกระแสคำถามมากกว่า!?!


          เริ่มจากพรรคเก่าแก่อย่าง พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 11 มกราคม ที่ผ่านมา “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวแค่ว่าปัจจุบันคนไทยที่อยู่ในระบบประกันสังคมต้องจ่ายเงิน 2 ต่อ คือ เสียภาษีดูแลระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าของคนไทยทุกคน และยังต้องเสียเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมด้วย เพราะฉะนั้นพรรคประชาธิปัตย์อยากเสนอให้เปิดโอกาสให้คนในระบบกองทุนประกันสังคมตัดสินใจว่าอยากอยู่ในระบบนี้ต่อหรือไม่ หากไม่อยากจะเสียเงินสมทบก็ออกไปอยู่กับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า นอกจากนี้ยังเสนอให้ทุกกองทุนมีมาตรฐานและพื้นฐานของการรักษาพยาบาลหรือคุณภาพยาต้องเท่าเทียมกัน

 

          ขณะที่ “สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ตัวแทนพรรคเพื่อไทย ไม่ได้มีนโยบายเกี่ยวกับกองทุนประกันสังคมโดยตรงนัก เพียงกล่าวกว้างๆ ว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของคนไทยต้องเท่าเทียมกัน ลดความเหลื่อมล้ำแต่ผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคมที่จ่ายเงินสมทบทุกเดือน ควรมีสิทธิที่จะพักรักษาตัวอยู่ในห้องเดี่ยวหรือห้องพิเศษในโรงพยาบาลที่มีบริการพิเศษ เช่น อาหาร


          ส่วน “พรรคอนาคตใหม่” ออกเป็นนโยบายกว้างๆ ว่า ‘ไทยเท่าเทียม สวัสดิการถ้วนหน้าครบวงจร’ เสนอให้ผู้ใช้แรงงานได้เพิ่มสิทธิลาคลอดเป็น 180 วัน เพิ่มเงินเลี้ยงดูบุตร 0-6 ปี เป็น 1,200 บาท และเมื่อคนไทยเข้าสู่วัยทำงาน แรงงานทั้งในระบบและนอกระบบจะต้องมีหลักประกันในอนาคตภายใน 5 ปี โดยขยายและปรับปรุงระบบประกันสังคมเพื่อให้คนที่เกษียณอายุมีเงินบำนาญที่สามารถดำรงชีพให้สอดคล้องกับหลักความเป็นจริงและขยายสิทธิประโยชน์ประกันสังคมให้ครอบคลุมแรงงานนอกระบบ


          ส่วน พรรคพลังประชารัฐ กล่าวเน้นย้ำเพียงแค่ “นโยบายสร้างชาติ เพิ่มพลังเศรษฐกิจ” “สุวิทย์ เมษินทรีย์” รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เสนอให้ลงทุนในทรัพยากรมนุษย์เพราะเป็นสิ่งสำคัญสำหรับศตวรรษที่ 21 ใช้การลงทุนผ่าน 3 หลักประกัน คือ หลักประกันสังคมถ้วนหน้า หลักประกันการศึกษาถ้วนหน้า และหลักประกันรายได้ถ้วนหน้า โดยทุกคนต้องได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานเท่ากัน


          จากตัวอย่างข้างต้น แสดงให้เห็นชัดเจนว่าพรรคการเมืองของไทย โดยเฉพาะหัวหน้าพรรคใหญ่ ยังจับประเด็น "นโยบายประกันสังคม" ไม่ค่อยจะแม่น อาจเป็นเพราะนักการเมืองไทยไม่ค่อยคุ้นเคยและไม่ค่อยมีประสบการณ์ทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือนมาก่อน


          มนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) กล่าวถึงนโยบายพรรคการเมืองว่า ยังเป็นลักษณะประชานิยมทั่วไป ไม่ได้กล่าวถึงกองทุนประกันสังคมโดยตรง ทั้งที่เป็นเงินกองทุนจำนวนมากที่สุดของประเทศไทยที่กำกับดูแลนโยบายโดยกระทรวงแรงงาน


          "มีหลายพรรคที่เสนอว่าหากได้รับเลือกตั้งเป็นรัฐบาลจะสนับสนุนให้เงินเลี้ยงดูเด็กตั้งแต่แรกเกิดหลักหมื่นหลักแสนบาทต่อคน ฟังแล้วไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเป็นเงินจากกองทุนไหน หรือว่าส่วนหนึ่งเป็นเงินจากกองทุนประกันสังคมหรือเปล่า หากเป็นไปได้อยากเห็นนโยบายขยายสมาชิกของผู้ประกันตน ระบุไปเลยว่าคนไทยอายุครบ 15 ปีขึ้นไปสามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคมได้ โดยจ่ายเงินเข้ากองทุนทุกเดือนและจะได้เงินสมทบจากรัฐบาลมาช่วยด้วย ช่วยให้ตอนทำงานหรือตอนเกษียณมีเงินสะสมมากพอที่ดำรงชีวิตอยู่ได้แบบไม่เดือดร้อน หากเริ่มออมเงินตั้งแต่อายุยังน้อย ตอนอายุมากขึ้นจำนวนเงินก็จะได้มากขึ้นไปด้วย จากที่เคยกำหนดไว้ว่าต้องเป็นลูกจ้างมีนายจ้าง หรือเป็นแรงงานนอกระบบ"


          มนัส เสนอความคิดเห็นต่อว่านโยบายดูแลสุขภาพหรือความเจ็บป่วยของคนไทยควรเป็นมาตรฐานเดียวกัน คือให้เข้ามาในระบบประกันสังคม คนไทยช่วยกันออม แล้วสามารถเข้ารักษาในโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชนได้ ไม่ต้องพึ่งพาแค่บัตรทองหรือระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ปีนี้รัฐต้องช่วยเหมาจ่ายหัวละ 3,600 บาทต่อปี เงินก้อนนี้สามารถนำไปพัฒนาประเทศด้านอื่นๆ แทนได้  ปัจจุบันตัวเลขคนไทยเข้าสู่ระบบประกันสังคมเพียงแค่ประมาณ 13 ล้านคนเท่านั้น

 


          “นอกจากนี้พรรคการเมืองควรมีนโยบายป้องกันโรค หรือส่งเสริมสุขภาพประชาชนคนไทยมากกว่ารอให้เจ็บป่วย ตอนนี้ต่างประเทศพยายามลงทุนด้านการป้องกันโรคไม่น้อยไปกว่าการรักษาโรค เพื่อลดต้นทุนคนป่วยในอนาคต พวกเราต้องสนับสนุนให้สถานประกอบการมาร่วมรับผิดชอบสุขภาพของคนงานด้วย เช่นกัน หรือกำหนดเป็นนโยบายรัฐบาลไปเลยว่าโรงงานไหนมีลูกจ้างเกิน 200 คนขึ้นไป ต้องมีห้องพยาบาล เพื่อลดต้นทุนของคนงานไม่ต้องไปคลินิกหรือโรงพยาบาลถ้าไม่ได้เจ็บไข้รุนแรง” ตัวแทนเครือข่ายประกันสังคมเสนอความเห็นไปยังพรรคการเมือง
  

          ประเทศไทยนอกจากมนุษย์เงินเดือนที่เรียกกันว่า “แรงงานในระบบ” หรือลูกจ้างที่มีนายจ้างแล้ว ยังมีแรงงานอิสระหรือ “แรงงานนอกระบบ” ที่มีจำนวนมากกว่า แต่พวกเขาเข้าสู่ระบบประกันสังคมเพียง 3 ล้านคนเท่านั้น เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลไทยไม่ได้มีนโยบายจริงจังในการดูแลสนับสนุนพวกเขาให้เข้ามาสู่ระบบประกันสังคมมากนัก
  

          “อรุณี ศรีโต” ตัวแทนเครือข่ายแรงงานนอกระบบ เปิดใจให้สัมภาษณ์ว่า ช่วงหาเสียงเลือกตั้งพยายามติดตามฟังว่ามีพรรคการเมืองไหนพูดถึงนโยบายช่วยเหลือกลุ่มแรงงานนอกระบบที่มีอยู่ 20 กว่าล้านทั่วประเทศไทยบ้าง แต่ปรากฏว่าไม่มีพรรคไหนให้ความสำคัญหรือพูดถึงเลย โดยเฉพาะปัญหาที่กลุ่มแรงงานเหล่านี้ไม่เคยได้รับสวัสดิการเหมือนแรงงานกลุ่มอื่นในประเทศไทย


          “พวกเราคือคนงานรับจ้างทั่วไป ไม่มีนายจ้าง เป็นคนขับแท็กซี่ คนขายหมูปิ้ง แม่ค้าตลาด หาบเร่แผงลอย หมอนวดไทย เชื่อว่ามีไม่ต่ำกว่า 22 ล้านคน เทียบกับแรงงานในระบบมีนายจ้างประมาณ 13 ล้านคน ในเมื่อแรงงานนอกระบบมีจำนวนมากและส่วนใหญ่เป็นคนจนเลยถูกหลงลืม น่าน้อยใจที่ไม่มีพรรคการเมืองไหนสนใจทำนโยบายช่วยเหลือพวกเรา นโยบายที่พวกเราเรียกร้องและอยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือคือสิทธิประโยชน์ในระบบประกันสังคม เพราะนั่นคือความมั่นคงในอนาคตของพวกเรา ตอนนี้รัฐบาลเปิดให้สมัครเป็นสมาชิกประกันสังคมได้ แต่ก็มีความแตกต่างมีความเหลื่อมล้ำ ไม่เท่าเทียม ขอให้ใครที่จะมาเป็นรัฐบาลชุดใหม่ช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ได้ไหม”


           ป้าอรุณี ตัวแทนชาวบ้านที่ประกอบอาชีพอิสระหาเช้ากินค่ำ อธิบายต่อว่า สิ่งที่พวกเขาอยากได้คือการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกองทุนประกันสังคม แม้ไม่มีเงินเดือนหรือนายจ้างแต่หลายคนพร้อมจ่ายเท่าที่พอจะควักกระเป๋าได้ แต่เนื่องจากที่ผ่านมาวิธีจ่ายเงินสมทบถูกกำหนดไว้หลายรูปและหลายทางเลือกจนทำให้สับสน เช่น แรงงานจ่ายเดือนละ 70 บาท รัฐสมทบแค่ 30 บาท หรือจ่าย 100 รัฐสมทบ 50 บาท หรือจ่าย 300 รัฐสมทบ 150 บาท และแต่ละแบบก็ให้สิทธิไม่เท่ากัน

 

          “พรรคการเมืองไหนได้เป็นรัฐบาลใหม่ขอให้เข้าไปผลักดันเปลี่ยนรูปแบบให้แรงงานนอกระบบทุกคนส่งเงินสมทบเท่ากันหมดเช่น จ่ายเดือนละ 200 บาท รัฐสมทบเข้าไปอีก 200 บาท หรือ 150 บาทก็ได้ สอนให้ชาวบ้านรู้จักการออม เป็นเงินสะสมบำนาญในอนาคต ถ้าแรงงานช่วยกันสมทบหลายสิบล้านคน เงินก้อนนี้ในแต่ละเดือนจะมีจำนวนมาก สามารถเอาไปจ่ายค่ารักษาพยาบาล ค่าเจ็บป่วย ว่างงาน ค่าทำศพ ฯลฯ ได้เท่าเทียมกับแรงงานในระบบ ไม่ต้องมีความเหลื่อมล้ำอีกต่อไป เป็นการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข และควรจัดให้มีระบบตรวจร่างกายประจำปีฟรีด้วย เพราะถ้าใครรู้ว่าตัวเองเสี่ยงเป็นโรค หรือสุขภาพไม่ค่อยดี จะได้รีบดูแลตัวเองไม่ให้ป่วยจนถึงขั้นร้ายแรง ตอนนี้โรคหลายชนิดป้องกันรักษาได้หากรู้เร็วตั้งแต่ต้น เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดฯลฯ นโยบายแบบนี้นักการเมืองที่เข้ามาบริหารกระทรวงแรงงานคือผู้มีอำนาจแท้จริงในการกำหนด”


          ตัวแทนแรงงานนอกระบบกล่าวย้ำทิ้งท้ายว่า หากพรรคการเมืองใดกลับมาทบทวนและพลิกเกมยกนโยบายพัฒนา “กองทุนประกันสังคม” 1.8 ล้านล้านบาท ขึ้นเวทีหาเสียง เชื่อว่าจะได้คะแนนสียงจากเครือข่ายพวกตนจำนวนไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นเขตเลือกตั้งพื้นที่ จังหวัด อำเภอ หรือเขตเลือกตั้งไหนๆ ก็ตาม
 

 
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ