คอลัมนิสต์

'3 อย่า'..คาถาป้องกันโจรไซเบอร์!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  สายตรวจระวังภัย   โดย...  กรกมล อักษรเดช


 

          สังคมมนุษย์ยุค 4.0 และกำลังจะเข้า 5.0 ในอนาคตอันใกล้นี้ ทำให้การดำเนินชีวิตพึ่งพาอาศัยเทคโนโลยีมากขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยีการสื่อสารผ่านช่องทาง “โซเชียลมีเดีย” ประหนึ่งเป็นปัจจัยที่ 5 ไปแล้ว เพราะสะดวกรวดเร็ว ทุกอย่างง่ายเพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัสผ่านทางสมาร์ทโฟน ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อสื่อสาร เจรจาธุรกิจ ทำการแลกเปลี่ยนซื้อขาย ฯลฯ แต่ความสะดวกที่ว่ากลับแฝงมากับ “ภัยไซเบอร์” เพราะเหล่ามิจฉาชีพก็มีวิวัฒนาการตามยุคสมัย 

 

 

          เมื่อคนในสังคมนิยมใช้โซเชียลมีเดียสำหรับทำกิจกรรมของชีวิต หรือธุรกิจต่างๆ นานา ผ่านช่องทางนี้ จึงเกิดมีการ “ฉ้อโกง” กำเนิด “โจรไซเบอร์” ตามมาเป็นเงาตามตัว ซึ่งนับวันยิ่งทวีจำนวนมากขึ้น แม้ที่ผ่านมาจะมีการนำเสนอข่าวของผู้ที่ตกเป็น “เหยื่อ” ได้หลงเหลี่ยม เสียรู้ ไม่ทันกลโกงบนโลกออนไลน์ เข้าร้องทุกข์แจ้งความกับตำรวจเป็นคดีอาญาหลายคดีต่อเนื่องหลายปี ตั้งแต่คนธรรมดาไปจนถึงไฮโซ ดารา นักร้องชื่อดัง ก็ยังเสียท่ามาแล้วหลายต่อหลายคน หลายคดีจับผู้ต้องหาได้ และมีอีกไม่น้อยที่ผู้ร้ายยังลอยนวล  

 


          เกี่ยวกับปัญหานี้ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) หรือ “ตำรวจไซเบอร์” โดย พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ ผกก.3 บก.ปอท. ในฐานะโฆษก บก.ปอท. เปิดเผยว่า ปัจุบันประชาชนผู้บริโภคนิยมซื้อสินค้าผ่านโลกออนไลน์จำนวนมาก ซึ่งมีความสะดวกสบายประกอบกับการโอนเงินชำระค่าสินค้าผ่านระบบ “อีแบงก์กิ้ง” ก็ง่าย ทำให้การซื้อขายผ่านระบบออนไลน์เป็นเรื่องง่ายดายและสะดวก แต่ทำให้มิจฉาชีพอาศัยเป็นช่องทางหลอกลวงประชาชน โดยตลอดปี 2561 ทาง กก.2 บก.ปอท. ได้รับแจ้งความคดีเกี่ยวกับการกระทำความผิดโดยมีระบบเป็นเครื่องมือจำนวน 973 ราย 

 

 

          ในจำนวนที่ว่านี้แบ่งเป็นคดีหลอกขายสินค้าจำนวน 573 ราย มูลค่าความเสียหาย 373,366,858 บาท คดีหลอกโอนเงินผ่านอีเมล จำนวน 71 ราย มูลค่าความเสียหาย 360,875,846 บาท หลอกโอนเงินผ่านโทรศัพท์ จำนวน 85 ราย มูลค่าความเสียหาย 5,732,560 บาท ข่มขู่-แบล็กเมล์ จำนวน 94 ราย มูลค่าความเสียหาย 641,029 บาท หลอกเกี่ยวกับความรัก หรือ โรแมนซ์สแกม จำนวน 90 ราย มูลค่าความเสียหาย 66,449,046 บาท ปลอมเป็นบุคคลอื่นเพื่อหลอกโอนเงิน จำนวน 60 ราย มูลค่าความเสียหาย 6,411,306 บาท และหลอกลงทุน โดยอย่างหลังสุดนี้มีคดีเพิ่มสูงขึ้น แต่ยังไม่มีสถิติตัวเลข


 


          ทั้งนี้ทั้งนั้น พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ มีความห่วงใย ไม่อยากให้พี่น้องประชาชนตกเป็นเหยื่อเหล่าโจรไซเบอร์ จึงเตือนประชาชนให้ระมัดระวังเป็นคาถาป้องกันการโกงออนไลน์ “3 อย่า”! คือ 1.อย่าไว้ใจร้านค้า ซึ่งบุคคลที่ชักชวนให้ลงทุน ขอให้ทำการตรวจสอบข้อมูล ชื่อบุคคล ชื่อร้านค้านั้นๆ หรือหมายเลขโทรศัพท์ร้านค้า ฯลฯ จากเว็บไซต์ เสิร์ชเอ็นจิน เช่น กูเกิล ว่ามีประวัติในเรื่องโกงการซื้อขาย การส่งสินค้าบ้างหรือไม่ ดูฟีดแบ็กของคนที่เข้าไปคอมเมนต์ว่ามีการรับผิดชอบสินค้ามากน้อยแค่ไหน มีประวัติการหลอกลวงหรือไม่


          2.อย่าวู่วามเห็นแก่ของถูกหรือผลประโยชน์ที่ร้านค้าเสนอ โดยไม่ควรรีบโอนเงิน ไม่ว่าจะเป็นชำระค่าสินค้า ค่ามัดจำสินค้า ควรตรวจสอบบัญชีธนาคารทั้งชื่อบัญชี หรือเลขบัญชีที่จะให้โอนเงินว่ามีข้อมูลเคยหลอกลวงใครบ้างหรือไม่ และ 3.อย่าละเลยข่าวสาร ต้องติดตามข้อมูลข่าวสารที่มีการจับกุมคนร้ายในคดีต่างๆ ว่าใช้วิธีการหลอกลวงเหยื่ออย่างไร จะได้ไม่หลงกลตกเป็นเหยื่อถูกฉ้อโกงทางโซเชียลโดยง่าย


          การหวังพึ่งให้ตำรวจกวาดล้างจับกุมโจรไซเบอร์ให้หมดไปคงยาก เพราะมีโจรหน้าใหม่พร้อมจะโผล่มาสร้างความเดือดร้อนได้ทุกเมื่อ สิ่งหนึ่งที่เราป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อได้คือการระวังตัว ไม่โลภ ไม่ไว้ใจอะไรง่ายๆ อย่างน้อยท่องคาถา “3 อย่า” ให้ขึ้นใจก็น่าจะช่วยได้เยอะ..!!

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ