คอลัมนิสต์

อนาคตของรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  รู้ลึกกับจุฬาฯ


 

          กระแสข่าวเรื่องฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ที่ปกคลุมทั่วกรุงเทพมหานครและเมืองอื่นๆ ในประเทศไทยในขณะนี้ สร้างกระแสตื่นตัวด้านอันตรายจากมลพิษทางอากาศอย่างมหาศาล นำมาซึ่งประเด็นการป้องกันและแก้ไขต้นตอของปัญหา โดยเฉพาะสาเหตุจากการคมนาคมขนส่งบนท้องถนน

 

 

          เทคโนโลยีรถยนต์อีวี หรือรถยนต์ไฟฟ้า จึงกลายเป็นทางเลือกที่ถูกพูดถึงมากขึ้น เพราะเป็นเทคโนโลยียานยนต์รูปแบบใหม่ที่ไม่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่ารถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน หรือรถยนต์ที่ใช้น้ำมันในปัจจุบัน


          ดร.จักรพงศ์ พงศ์ธไนศวรรย์ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่าปัจจัยที่สำคัญในการนำรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามาใช้บนท้องถนนคือการขับเคลื่อนโดยนโยบายของภาครัฐ สำหรับประเทศแถบสแกนดิเนเวีย เนื่องจากภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนมาตรการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการนโยบายลดภาษี คืนภาษี เพื่อสนับสนุนให้คนหันไปใช้เครื่องยนต์ไฟฟ้า จึงมีประชาชนที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคลเป็นจำนวนมาก


          ในขณะเดียวกัน ประเทศใหญ่ที่เป็นผู้ผลิตรถยนต์ เช่น เยอรมนี อเมริกา ญี่ปุ่น มีต้นทุนความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิต ทำให้มีงานวิจัยด้านเทคโนโลยีพลังงานขับเคลื่อนพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง และแม้ว่านอร์เวย์จะเป็นประเทศที่ไม่ได้เป็นผู้ผลิตรถยนต์เองก็ยังมีนโยบายส่งเสริมการลงทุน หรือการนำเข้ารถยนต์พลังงานไฟฟ้า เพราะต้องการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม


          “หัวใจสำคัญคือนโยบาย สำหรับกรณีของประเทศไทย ภาครัฐเริ่มสนับสนุนบ้างแล้วในเชิงการเก็บภาษีสรรพสามิต โดยเก็บภาษีรถยนต์ไฟฟ้าแค่ 2 เปอร์เซ็นต์ ส่วนรถยนต์ทั่วไปเก็บมากกว่า 2 เปอร์เซ็นต์ ใช้เกณฑ์หลักในการคิดภาษีจากปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่รถจะปล่อยออกมา”




          รัฐบาลไทยเสนอการลดหย่อนภาษีในการนำเข้าวัตถุดิบสำหรับการประกอบรถไฟฟ้าอีวี และรถยนต์ประเภทไฮบริด เพื่อให้ราคาชิ้นส่วนเครื่องยนต์ที่ผลิตในประเทศไทย เช่น มอเตอร์ แบตเตอรี่ ราคาถูกลง รวมถึงการสนับสนุนให้นำเทคโนโลยีด้านพลังงานไฟฟ้ามาเป็นกลไกขับเคลื่อนยานพาหนะ นอกจากนี้ รัฐบาลไทยมีนโยบายลดภาษีบางส่วนและช่วยเหลือผู้ผลิต รถยนต์ไฟฟ้าจึงได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และมีความพร้อมสามารถนำไปใช้ได้จริง แต่ก็ยังไม่มีนโยบายรองรับอื่นๆ ที่จูงใจให้คนหันไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าจริงจัง รถยนต์ไฟฟ้าจึงยังไม่เป็นที่นิยม กอปรกับมีราคาค่อนข้างสูงพอสมควรเมื่อเทียบกับรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน
“พฤติกรรมคนไทยก็เหมือนคนชาติอื่นๆ คือมองที่ต้นทุนเป็นหลักว่าเงินที่จ่ายไปนั้นคุ้มกับต้นทุนไหม ปัญหาหลักใหญ่ของรถยนต์ไฟฟ้าในบ้านเราคือความกังวลว่ารถยนต์อีวีจะวิ่งได้ไกลไหม เดิมปกติเราใช้รถน้ำมันวิ่งได้ 400 กิโลเมตรต่อหนึ่งถัง แต่รถยนต์ไฟฟ้าจะทำได้แบบนั้นไหม ถ้าไฟฟ้าหมด จะชาร์จแบตเตอรี่ที่ไหน อย่างไร”

 

          ดร.จักรพงศ์ ย้ำว่าเทคโนโลยีเดี๋ยวนี้พัฒนาไปมาก รถไฟฟ้าสามารถวิ่งได้มากกว่า 200 กิโลเมตรต่อวัน และมีแบตเตอรี่รุ่นใหม่ๆ ราคาถูก น้ำหนักเบา กระนั้นก็ตาม การใช้รถยนต์ไฟฟ้าก็ยังถูกมองว่าไม่คุ้มค่าต่อการใช้งาน คนไทยก็ยังไม่มั่นใจที่จะเลือกใช้รถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคล เป็นยานพาหนะหลักของครัวเรือน ในขณะที่การปฏิรูปให้รถขนส่งมวลชนให้พลังงานไฟฟ้าทั้งระบบนั้นก็เป็นเรื่องยาก ต้องใช้ทุนสูงและเวลามาก


          “ประเด็นอยู่ที่ว่ารถไฟฟ้าขนส่งมวลชนราคาก็ยังค่อนข้างสูง แถม ขสมก.หนี้เยอะ บริหารจัดการทุกวันนี้ก็ยากอยู่แล้ว ถ้าเอารถใหม่มาก็ต้องหาวิธีบริหารจัดการใหม่ให้มีประสิทธิภาพ”


          ดร.จักรพงศ์ชี้ว่าระบบสาธารณูปโภคด้านโครงสร้างพื้นฐานยังไม่เอื้ออำนวยให้ประชาชนคนไทยเลือกใช้รถยนต์ไฟฟ้าเป็นรถยนต์หลัก หรือใช้เป็นรถยนต์คันแรกของตนเอง นอกจากนี้ สถานีชาร์จแบตเตอรี่ก็ยังมีไม่เพียงพอต่อการตัดสินใจที่จะใช้รถไฟฟ้าเต็มระบบ


          “เรื่องสถานีชาร์จแบตเตอรี่เป็นปัญหาส่วนหนึ่ง เหมือนไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน คนที่มีรถก็ต้องมั่นใจว่าต้องมีจุดชาร์จเพียงพอ แต่คนทำจุดชาร์จรถก็บอกว่าจะทำจุดชาร์จรถได้ ก็ต้องมีคนใช้รถจำนวนหนึ่งก่อนถึงจะทำจุดชาร์จได้ สุดท้ายแล้วเลยไม่เกิดทั้งคู่ ดังนั้นในตอนนี้รถยนต์ไฮบริดที่ใช้พลังงานไฟฟ้าสลับกับน้ำมันจึงยังตอบโจทย์มากกว่า”

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ