คอลัมนิสต์

ยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บทความพิเศษ โดย... ธนรัตน์ ยงวานิชจิต [email protected]



 

          น่าเสียดายที่นักการเมืองไทยบางคนยังไม่ได้แสดงท่าทีว่าได้พัฒนาเป็นนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง โดยเฉพาะประชาธิปไตยในบริบทของราชอาณาจักรไทย ซึ่งประกอบด้วยสามสถาบันหลัก คือ “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ดังที่ปรากฏชัดอยู่ใน “ธงไตรรงค์” ที่เราแสดงความเคารพอยู่ทุกวัน

 

 

          พรรคไทยรักษาชาติได้สร้างข่าวเกรียวกราวไปไกล วิทยุโทรทัศน์ใหญ่ๆ ในสหรัฐออกข่าวสั้นๆ เป็นระยะๆ ใจความว่าพรรคการเมืองไทยได้กราบทูลเชิญเจ้าหญิงเป็นนายกรัฐมนตรี พระองค์ทรงตอบรับ แต่ในหลวงองค์ปัจจุบันมีพระราชโองการว่า เจ้าหญิงอยู่เหนือการเมือง


          คำถามน่าคิดมีอยู่ว่า ทษช.คิดอย่างไรจึงมี “การตัดสินใจ” กราบทูลเชิญ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี มาเป็นนายกรัฐมนตรี? มีการปรึกษาหารือกันภายในอย่างรอบคอบและทั่วถึง โดยเฉพาะใน “ข้อเสี่ยง” ต่อการเข้าข่ายทำผิดกฎหมายบ้านเมืองหรือไม่? เสี่ยงแล้วจะคุ้มค่าไหม? ต้องการใช้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเครื่องมือหาเสียงหรือ? คณะกรรมการเลือกตั้งจะมีปฏิกิริยาอย่างไร?


          ความจริงมีอยู่ว่า ทูลกระหม่อมหญิงประสูติมาในสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นหนึ่งในสามสถาบันหลักของราชอาณาจักรไทย ด้วยเหตุนี้ การที่พระองค์ทรงลาออกจากฐานันดรศักดิ์ตามกฎมณเฑียรบาลนั้น มิได้หมายความว่าได้ทรงลาออกจากสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นสถาบันหลักของชาติและราชประเพณีที่สืบทอดกันมาแต่โบราณกาล โดยนัยนี้ พระองค์จะยังทรงสถานะและดำรงพระองค์ในสถานะสมาชิกแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์อยู่เสมอ

 

          พูดง่ายๆ กฎมณเฑียรบาลเป็นข้อบัญญัติพิเศษเกี่ยวกับพระราชฐาน พระราชวงศ์ และระเบียบการปกครองในราชสํานัก คือ เกี่ยวกับฐานันดรศักดิ์ มิใช่เกี่ยวกับการกำหนดให้ทรงอยู่ในหรือนอกสถาบันพระมหากษัตริย์

 


 


          เห็นได้ว่า พรรคไทยรักษาชาติมองกฎมณเฑียรบาลเป็นข้อบัญญัติที่ผิดเพี้ยนจากความเป็นจริง และได้อาศัยข้อผิดเพี้ยนนี้เป็นฐานกราบทูลเชิญพระองค์เป็นนายกรัฐมนตรี พฤติกรรมที่ปราศจากมูลฐานความถูกต้องเป็นจริงดังกล่าว กลายเป็นยุทธศาสตร์หาเสียงที่ผิดพลาด รังแต่จะก่อให้เกิดความเสื่อมศรัทธาในพรรค
พรรคไทยรักษาชาติประกาศปาวๆ ขอบคุณผู้ให้กำลังใจทั้งหลายอยู่หลายครั้ง แต่คงมิได้เป็นการแย้มพรายว่า ยุทธศาสตร์ขั้นต่อไปได้แก่ “การใช้กฎหมู่เหนือกฎหมาย” เพราะผลที่ตามมาจะทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งที่เป็นวิญญูชน มีความคิดอ่านเป็นอิสระ และเคยยอมรับพรรคไทยรักษาชาติมาก่อน หันมาถามอย่างตรงไปตรงมาว่า จะ “เล่นการเมือง” แบบ “บอลแพ้แต่คนไม่แพ้” หรือ? จะทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยเสียเองหรือ? กำลังเป็นหุ่นเชิดของใครคนหนึ่งอยู่หรือ?


          แม้ว่า กกต.ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาความไม่ชอบมาพากลใน “การตัดสินใจ” ดังกล่าวแล้ว ขณะนี้พรรคไทยรักษาชาติก็ยังพอมีทางออกที่สง่างามอยู่บ้าง คือ กราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และประกาศยุบพรรคให้รู้แล้วรู้รอดไปอย่างกล้าหาญชาญชัย คือ ยอมรับผิดโดยดุษณีแต่ผู้เดียว ไม่ปล่อยให้ความผิดพลาดนี้ทำลายภาพลักษณ์ของคำว่า “พรรคการเมือง” ให้เสื่อมเสียไปด้วย


          หาก “พรรคการเมือง” กลายเป็นคำที่น่ารังเกียจของสังคมแล้ว “ประชาธิปไตย” จะเกิดขึ้นได้อย่างไร? “พรรคเผด็จการเพื่อตัวเอง” และ “นักเผด็จการเพื่อส่วนตัว” มิใช่ส่วนรวม ก็จะเข้ามาก่อให้เกิดการจลาจล/สงครามกลางเมืองได้อีก รวมทั้งชาติบ้านเมืองที่เพิ่งมีโอกาสได้พัฒนาอย่างสงบเงียบมาเพียง 4 ปีเศษ ก็จะต้องสูญเสียผลการพัฒนาไปเปล่าๆ มิใช่หรือ?


          ในโอกาสเลือกตั้งครั้งต่อไป พรรคไทยรักษาชาติก็จะสามารถประกาศได้อย่างเต็มภูมิฐานว่า พรรคตั้งใจที่จะ “แก้ปัญหา” มิใช่ “ก่อปัญหา” ให้แก่ชาติบ้านเมืองจริงๆ


          อย่างน้อยเจ้านายที่อยากกลับเมืองไทยก็จะได้มีโอกาสมากขึ้น.

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ