คอลัมนิสต์

นโยบายพรรคแบบไหน?... ชนะใจ "คนป่วย"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย... ทีมข่าวรายงานพิเศษ  

 


          เรื่องสุขภาพและการดูแลรักษาอาการเจ็บป่วย เป็นหัวข้อที่คนไทยให้ความสนใจเป็นพิเศษ “นโยบายสาธารณสุข” จึงเป็นเป้าหมายกวาดคะแนนของพรรคการเมืองทุกพรรค จากตัวอย่างพรรคไทยรักไทยที่เคยชนะถล่มทลายด้วย "นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค" จนกลายเป็นตำนานที่ทุกพรรคอยากเลียนแบบ
  

 

 

          แต่ดูเหมือนการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงนี้ ยังไม่มีพรรคไหนสามารถเปิด “นโยบายด้านสาธารณสุข” ได้โดนใจผู้ลงคะแนนเสียงมากนัก !?!

 

 

นโยบายพรรคแบบไหน?... ชนะใจ "คนป่วย"

 


          ช่วงต้นปีที่ผ่านมา “รัฐบาล คสช.” พยายามสร้างกระแสออกนโยบายควบคุม “ราคาค่ายาของโรงพยาบาลเอกชน” ด้วยท่าทีขึงขังของกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงสาธารณสุขในช่วงแรก จนมีมติคณะรัฐมนตรีออกมาเมื่อ 22 มกราคม 2562 เสนอให้นำยา เวชภัณฑ์ไปอยู่ในหมวดสินค้าและบริการควบคุม แต่ผ่านไปสักพักดูเหมือนท่าทีจะอ่อนลงไปมาก หลังจากโดนฟากฝั่งตัวแทนโรงพยาบาลเอกชนออกมาต่อต้านอย่างหนัก


          โดยอ้างว่า การควบคุมราคายาจะทำให้โรงพยาบาลเอกชนของไทยสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่น และทำให้คุณภาพการรักษาพยาบาลด้อยลงไปด้วย ไม่สามารถพัฒนาให้เป็นไปตามนโยบายเมดิคัล ฮับ ที่หวังดึงเงินจากชาวต่างชาติที่เข้ามาใช้บริการปีละหลายหมื่นล้านบาท

 

 

นโยบายพรรคแบบไหน?... ชนะใจ "คนป่วย"

 

 

          ฝั่งเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคก็ยังไม่ยอมแพ้ โชว์ข้อมูลราคายาที่แพงมากกว่าโรงพยาบาลรัฐถึง 70-400 เท่า รวมถึงค่าแพทย์และเวชภัณฑ์ต่างๆ มีราคาสูงเช่นกัน หลายครั้งไม่มีคุณภาพสมกับเงินที่ควักกระเป๋าจ่ายออกไป เช่น วิตามินบีคอมเพล็กซ์ โรงพยาบาลศูนย์ของรัฐคิดราคาฉีดหลอดละ 1.50 บาท แต่โรงพยาบาลเอกชนคิดราคา 600 บาท หรือยาฉีดแก้ปวดขนาด 50 มก. ราคา 6.50 บาท แต่เรียกเก็บเงินสูงถึง 450 บาท

 

 


          ระหว่างนี้คงยังไม่มีคำตัดสินว่าฝ่ายใดจะชนะ คงต้องรอผลการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงว่า พรรคที่เข้ามาเป็นรัฐบาลชุดใหม่จะโน้มเอียงเข้าหาฝ่ายใด

 

 

นโยบายพรรคแบบไหน?... ชนะใจ "คนป่วย"

 

 

          ดังนั้น คนไทยที่สนใจอยากยกระดับระบบสาธารณสุขของประเทศไทย ควรเริ่มจับจ้องดูว่า “นโยบายด้านสาธารณสุข” ของแต่ละพรรคการเมืองที่นำมาใช้หาเสียงมีเนื้อหาอะไรบ้าง ไม่ใช่เฉพาะนโยบายควบคุมราคายาและค่ารักษาของโรงพยาบาลเอกชนเท่านั้น แต่ยังมีนโยบายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย
พรรคการเมืองทั้งพรรคเล็กและพรรคใหญ่ เริ่มเปิดนโยบายของตัวเองในเรื่องนี้ออกมาบ้างแล้ว เช่น

 

 

นโยบายพรรคแบบไหน?... ชนะใจ "คนป่วย"

 


          "คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์" ตัวแทนพรรคเพื่อไทย ประกาศสร้างหลักประกันสุขภาพเพื่อคนไทยทุกคน หรือ “โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” (Health For All) อ้างว่าเป็นโมเดลลดความเหลื่อมล้ำแบบสากล ถือเป็นโครงการ 30 บาทยุคใหม่ ปรับระบบลดการรวมศูนย์กลางอำนาจ เปลี่ยนเป็นการกระจายอำนาจให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม เช่น การจัดการงบประมาณ การคุ้มครองบุคลากรด้านสาธารณสุข การใช้เทคโนโลยีเชื่อมโยงข้อมูลผู้ให้และผู้รับบริการ

 

 

นโยบายพรรคแบบไหน?... ชนะใจ "คนป่วย"

 

 

          รวมทั้งจัดให้มีการกระจายบุคลากรสาธารณสุขมูลฐานในพื้นที่ชนบท ผ่านทางสถาบันครอบครัว อาสาสมัครสาธารณสุข ฯลฯ และส่งเสริมการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้อง การป้องกันโรค และการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคบางชนิด เช่น เชื้อเอชไอวี


          ส่วนคู่แข่งสำคัญอย่าง อภิสิทธิ์ เวชาชีวะ จาก พรรคประชาธิปัตย์ ประกาศว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นเรื่องสวัสดิการและสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนพึงได้รับอยู่แล้ว แต่ว่าปัญหาคืองบประมาณที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และยังมีปัญหาความไม่เท่าเทียมกัน 3 กองทุนที่ดูแลสุขภาพคนไทย ได้แก่ กองทุนหลักประกันสุขภาพ กองทุนประกันสังคม กองทุนข้าราชการ


          พรรคประชาธิปัตย์พยายามเสนอไอเดียการแก้ปัญหาด้วยการปรับปรุงการให้บริการสาธารณสุขด้วยการใช้เทคโนโลยี และปรับปรุงการให้บริการรักษาพยาบาลของหน่วยงานให้มีความเป็นอิสระปราศจากการแทรกแซงจากส่วนอื่นๆ

 

 

นโยบายพรรคแบบไหน?... ชนะใจ "คนป่วย"

 


          ด้าน “พรรคพลังประชารัฐ” ส่งตัวแทนชื่อ “สุวิทย์ เมษินทรีย์” รองหัวหน้าพรรค ที่เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ออกมาตั้งคำถามเกี่ยวกับโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ว่าเป็นนโยบายที่ประชาชนทุกคนได้รับสิทธิถ้วนหน้าจริงหรือไม่ และได้รับบริการที่ดีตามมาตรฐานหรือไม่ รวมถึงประสิทธิภาพในการรักษาพยาบาลดีจริงหรือไม่ หลังจากตั้งคำถามเสร็จ พรรคพลังประชารัฐเสนอแนวคิดในการพัฒนาระบบสาธารณสุขด้วยโมเดล “ปรับเปลี่ยน เชื่อมโยง ยกระดับ ขับเคลื่อน”

 


          หมายถึง “ปรับเปลี่ยน” ให้ทุกคนได้รับความเท่าเทียมและยั่งยืน “เชื่อมโยง” ให้ครอบคลุมทุกภาคส่วน “ยกระดับ” ให้การบริการสาธารณสุขมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล การให้บริการมีคุณภาพได้มาตรฐานจริง และสุดท้ายคือ “ขับเคลื่อน” ทำให้คนไทยมีสุขภาพดีทุกคนหรือทุกช่วงวัย

 

 

 

นโยบายพรรคแบบไหน?... ชนะใจ "คนป่วย"

 


          ขณะที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ประกาศจุดยืนอยากเห็นความเท่าเทียมอย่างถ้วนหน้าของจริง ลดช่องว่างระหว่างสิทธิของข้าราชการกับสิทธิของบัตรทอง โดยอ้างว่าปี 2559 สิทธิข้าราชการเพิ่มเป็น 15,326 บาท ส่วนสิทธิบัตรทองมีเพียง 3,200 บาท ดังนั้นพรรคอนาคตใหม่จึงเสนอนโยบายให้สิทธิของ ข้าราชการโตน้อยกว่านี้ แล้วให้สิทธิบัตรทองโตขึ้นมากกว่านี้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทำให้เกิดความสมดุลในสิทธิการรักษาโรคของคนไทยทุกคน


          พรรคอนาคตใหม่ยังเสนอให้พัฒนาความรู้ของอาสาสมัครสาธารณสุขและปรับโครงสร้างการกระจายอำนาจให้โรงพยาบาลสามารถกำหนดกฎเกณฑ์ในการบริหารทรัพยากร หรือผลิตยาที่มีคุณภาพได้เอง และเพิ่มงบประมาณด้วย เพราะตอนนี้งบทหารสูงกว่างบสาธารณสุข หากลดงบประมาณกลาโหมลงประมาณร้อยละ 30 จะมีเงินไปช่วยเบี้ยคนชรา 8 ล้านกว่าคน เพิ่มเป็น 1,200 บาทต่อเดือน

 

 

 

นโยบายพรรคแบบไหน?... ชนะใจ "คนป่วย"

 


          สำหรับพรรคเล็กแต่มาแรงอย่าง พรรคภูมิใจไทย  ได้เสนอให้ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมในระบบสาธารณสุข ด้วยการใช้เทคโนโลยี 4G-5G ช่วยลดภาระบุคลากรทางการแพทย์ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ประกาศนโยบายปฏิรูประบบสาธารณสุขให้โดยใช้ระบบโทรเวชกรรม “เทเลเมด” (Telemedicine) หรือการรักษาทางไกล แทนการมาโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น เช่น ให้มีรถฉุกเฉินสามารถสื่อสารระหว่างหมอกับผู้ป่วยด้วยกล้องที่มองเห็นกันและกัน ทำให้สามารถเห็นสถานการณ์ของผู้ป่วยได้อย่างใกล้ชิด จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้มากขึ้น


          โดยพรรคข้างต้นเสนอให้นำเงินที่ได้จากการประมูลคลื่นความถี่จำนวนกว่าแสนล้านบาทของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) มาใช้ปฏิรูประบบเทคโนโลยีของการสาธารณสุขด้วย


          จากข้อเสนอของพรรคการเมืองข้างต้น ดูเหมือนยังไม่ค่อยโดนใจกลุ่มหมอและเครือข่ายผู้บริโภคที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงมากนัก
  

 

นโยบายพรรคแบบไหน?... ชนะใจ "คนป่วย"

 

 

          “ปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา” ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ที่ก่อตั้งมานานกว่า 17 ปี แสดงความเห็นว่า พยายามติดตามนโยบายด้านสาธารณสุขของพรรคการเมืองต่างๆ แต่ยังไม่เห็นที่เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะข้อเสนอให้มีการคุ้มครอง “ผู้ป่วย” หรือ คนไข้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก


          “อยากให้พรรคการเมืองเสนอนโยบายเยียวยาผู้เสียหายทางการแพทย์ ที่ผ่านมามีคนไข้มาร่วมลงชื่อกว่า 6.5 หมื่นคน เราได้มอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนปัจจุบันไปแล้ว พวกเราต้องการกฎหมายคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากบริการสาธารณสุข ร่างกฎหมายเสนอไปแล้วแต่ยังไม่ถูกนำไปพิจารณาในคณะรัฐมนตรี ทุกวันนี้ต้องรับเรื่องร้องเรียนจากผู้ป่วยและญาติจำนวนมาก มีที่โดนเอาเปรียบจากโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ไม่มีคนไข้คนไหนอยากฟ้องหมอ แต่เมื่อเกิดความเสียหายต่อชีวิตและร่างกายของผู้ป่วยแล้ว ประเทศไทยกลับไม่มีระบบรองรับที่ดีพอ” ตัวแทนผู้ป่วยกล่าว

 

 

นโยบายพรรคแบบไหน?... ชนะใจ "คนป่วย"

 


          สอดคล้องกับ "กรรณิการ์ กิจติเวชกุล" รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ วอทช์) กล่าวถึงนโยบายด้านสาธารณสุขว่า ไม่ควรมองเฉพาะที่เกี่ยวกับในประเทศเท่านั้น ต้องมองถึงสิทธิของผู้ป่วยในการเข้าถึงยาและอุปกรณ์รักษาต่างๆ ด้วย หากพรรคการเมืองมาบริหารประเทศโดยรู้ไม่เท่าทันกลเกมการค้าระหว่างประเทศ คนไทยจะเสียเปรียบและเสียหายหลายด้าน เช่น กรณีการทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) กลายเป็นว่าทำให้ไทยเป็นถังขยะโลกจนถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็น ขยะพิษจากโรงพยาบาล ของเสียจากเตาเผาขยะ ฯลฯ และกำลังจะมีการเจรจาเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าของหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) จะทำให้ต่างชาติเข้ามายึดครองสิทธิบัตรเกี่ยวกับทรัพยากรชีวภาพของไทย เช่น พืชกัญชา พืชกระท่อม ที่เป็นยาสมุนไพรพื้นบ้านสำคัญ


          นอกจากข้อเสนอของเครือข่ายภาคประชาชนแล้ว กลุ่มที่นักการเมืองต้องเปิดใจเปิดสมองรับฟังเป็นพิเศษคือ ข้อเสนอของกลุ่มแพทย์ชนบทที่คลุกคลีกับชาวบ้านและผู้เจ็บไข้ได้ป่วยโดยตรง

 

 

 

นโยบายพรรคแบบไหน?... ชนะใจ "คนป่วย"

 


          “นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์” ตัวแทนคณะกรรมการมูลนิธิแพทย์ชนบท เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายด้านสาธารณสุข ที่อยากเห็นพรรคการเมืองยุคนี้ให้ความสำคัญคือ การนำระบบเทคโนโลยีไอทีเข้ามาปฏิรูปการบริการสุขภาพ หรือที่เรียกว่า digital transformation แบ่งเป็น 4 ด้านด้วยกัน ได้แก่ 1.ระบบบริการผู้ป่วยนอกให้สะดวกสบายขึ้น เช่น การติดตั้งศูนย์ข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคลอิเล็กทรอนิกส์ เชื่อมกันทั้งประเทศ ถ้ามารับบริการสามารถเสียบบัตรประชาชนที่ตู้แล้วทราบว่านัดที่ห้องไหน ประวัติใช้ยา แพ้ยา ทุกโรงพยาบาลทราบข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขทันที รวมถึงระบบนัดหมอออนไลน์ นัดเจาะเลือดในอำเภอใกล้บ้าน จากนั้นไปพบแพทย์ 5 นาที วันต่อมามีพนักงานบริษัทส่งยามาให้ที่บ้าน หรืออาจทำระบบการตรวจรักษาออนไลน์สำหรับผู้ป่วยรับยาเดิม ไม่ต้องมาโรงพยาบาล มีระบบช่วยวินิจฉัย เช่นโปรแกรมเอไอ (Artificial intelligence) ช่วยอ่านฟิล์มเอกซเรย์เบื้องต้นก่อน แล้วค่อยให้แพทย์อ่านซ้ำ จะลดความผิดพลาดได้มากขึ้น อาจพัฒนาเป็น ระบบการรักษาทางไกล (telemedicine) โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน พร้อมด้วยโปรแกรมหรือแอพพลิเคชั่นเก็บข้อมูลการรักษาส่วนบุคคล เพื่อเรียกดูข้อมูลได้ตลอดเวลา และสามารถพยากรณ์โอกาสการเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง อัมพาต โรคหัวใจขาดเลือด ไตวาย ฯลฯ ให้ผู้ป่วยใช้ข้อมูลไปส่งเสริมป้องกันโรคได้ด้วย เช่น ควรออกกำลังกายแค่ไหน ควรรับประทานอาหารกี่แคลอรี่

 

 

 

นโยบายพรรคแบบไหน?... ชนะใจ "คนป่วย"

 


          2.พัฒนาระบบผู้ป่วยใน เป็นระบบข้อมูลออนไลน์ ให้แพทย์ใช้มือถือดูผลเอกซเรย์ ผลเลือด บันทึกการพยาบาล แพทย์จะได้ทราบว่ามีคนไข้กี่คน อยู่ที่ตึกไหนบ้าง อาการคนไหนหนักมากน้อย ใช้ระบบหุ่นยนต์เอไอช่วยจัดลำดับความสำคัญได้ว่าควรไปตรวจคนไข้คนไหนก่อน รวมถึงระบบจองห้องพิเศษออนไลน์ และระบบการผ่าตัดออนไลน์ โดยผ่านหุ่นยนต์ผ่าตัด 3.ระบบสนับสนุนต่างๆ เช่น คลังยา อุปกรณ์การแพทย์ที่ใช้บิ๊กดาต้าและหุ่นยนต์เอไอช่วยคำนวณอัตราการสั่งซื้อยาที่เหมาะสม ลดการสูญหายและลดการทุจริตได้ 4.ระบบส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค สำหรับคนที่ยังไม่ป่วย หรือกลุ่มเสี่ยง สามารถนำข้อมูลสุขภาพมาคำนวณโอกาสเกิดโรคหัวใจขาดเลือด อัมพาต โรคไตวาย ในอีก 10 ปีข้างหน้า เพื่อแนะนำให้เริ่มป้องกันตัวเสียตั้งแต่เนิ่นๆ ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องจัดลำดับความสำคัญ ทำส่วนที่สำคัญก่อน


          “นอกจากเรื่องใช้ไอทีแล้ว เรื่องที่ 2 คือการเตรียมพร้อมให้ประเทศไทยที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ควรเริ่มสร้างระบบดูแลผู้ป่วยติดเตียง มีศูนย์ให้ยืมอุปกรณ์ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน เช่น เตียงปรับระดับ ที่นอนลมไฟฟ้า เครื่องดูดเสมหะ เครื่องผลิตออกซิเจน เครื่องให้ยาแก้ปวดมอร์ฟีนทางผิวหนัง และการสนับสนุนให้มีเนิร์สซิ่งโฮมของภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้ยังต้องมีศูนย์ฟื้นฟูสมรรรถภาพใกล้บ้าน ให้ผู้ป่วยได้ไปออกกำลังกาย เป็นเหมือนสมาคมรวมกลุ่มพูดคุย เล่นกีฬา สั่งอาหารหรือมีกิจกรรมร่วมกัน ส่วนเรื่องที่ 3 คือระบบการกระจายอำนาจ ให้ประชาชนในพื้นที่สามารถกำหนดความต้องการของตนเองในการดูแลสุขภาพได้ ร่วมกันบริจาค ร่วมบริหาร ร่วมคิดร่วมทำนอกกรอบ เพื่อแก้ปัญหาสุขภาพเฉพาะด้านของตนเอง เช่นบางพื้นที่อาจมีโรคติดเชื้อเยอะ บางพื้นที่มีโรคเรื้อรังเยอะ ต้องมีอิสระในการบริหารจัดการโดยชุมชนมีส่วนร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และเรื่องที่ 4 การแก้ปัญหาขาดแคลนแพทย์ในพื้นที่ห่างไกล ควรเปลี่ยนแปลงระบบให้ทุนเรียนแพทย์เป็นของชุมชน โดยรัฐมอบเงินให้แก่ชุมชนต่างๆ เป็นผู้กำหนดคัดเลือกบุคคล ทำสัญญาร่วมกัน โดยมีพ่อแม่ร่วมทำสัญญาด้วย เมื่อแพทย์คนนั้นเรียนจบมาก็จะเป็นแพทย์ของชุมชน ไม่ใช่แพทย์ของรัฐบาล”


          นพ.พงศ์เทพ กล่าวต่อว่านอกจากนโยบายทั้ง 4 ด้านข้างต้นแล้ว ยังอยากเห็นนโยบายที่ 5 คือการแก้ปัญหาการขาดแคลนเงินและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ทำทะเบียนสิ่งที่ขาดแคลนประกาศผ่านออนไลน์ ใครสนใจบริจาคก็มีสิทธิเลือกและสามารถแจ้งลงทะเบียนบริจาคทางออนไลน์ นำใบเสร็จไปหักลดหย่อนภาษีได้ เมื่อสิ้นปีหน่วยงานกลางสามารถจัดงานประกาศผู้ที่บริจาคเงินสูงสุด 100 ท่านแรกเพื่อเชิดชู และจัดงานมอบประกาศนียบัตรประจำปี เพื่อสนับสนุนให้มีผู้บริจาคกันมากขึ้น


          ข้อเสนอของแพทย์ผู้คลุกคลีกับคนเจ็บไข้ได้ป่วยในชนบททั่วทุกพื้นที่ของประเทศไทยข้างต้น สะท้อนให้เห็นปัญหาเชิงลึกของระบบบริการด้านสาธารณสุขของประเทศไทย และนโยบายแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างเป็นรูปธรรม


          นับเป็นข้อเสนอแนะที่มีประโยชน์อย่างมาก พรรคการเมืองใดเอาไปเป็นนโยบายสาธารณสุข เชื่อว่าพรรคการเมืองนั้นต้องได้รับเสียงตอบรับจากคนไทยจำนวนไม่น้อย


          ที่สำคัญคือ เมื่อเสนอนโยบายไปแล้ว หากได้รับเลือกตั้งเป็นรัฐบาลก็ต้องนำไปปฏิบัติอย่างจริงจังด้วย ไม่ใช่หวังแค่ขายฝันตอนฤดูหาเสียงเลือกตั้งเท่านั้น เพราะยุคนี้สื่อสังคมออนไลน์ช่วยให้คนไทยติดตามประเมินผลได้รวดเร็วนัก


          นักการเมืองขยันขายฝัน กับนักการเมืองพูดจริงทำจริง พิสูจน์ได้ไม่ยาก !
 

 
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ