คอลัมนิสต์

"บิ๊กเมา"แจงไม่ล้มพูดคุย"มารา ปาตานี" แต่ย้ำต้องทำตามขั้นตอน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์... ล่าความจริง..พิกัดข่าว โดย... ปกรณ์ พึ่งเนตร

 

 

          “พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์” หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า ยังพร้อมที่จะพูดคุยกับกลุ่ม “มารา ปาตานี” ต่อไป เพียงแต่ต้องทำตามขั้นตอน คือหารือกำหนดประเด็นร่วมกับคณะทำงานเทคนิคเสียก่อน

 

 

          กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังพบกับความท้าทายอีกครั้ง เมื่อกลุ่ม “มารา ปาตานี” ออกแถลงการณ์ และคำแถลงผ่านคลิปวิดีโอของ นายสุกรี ฮา หัวหน้าคณะพูดคุยฯ ฝั่งมารา ปาตานี ยืนยันไม่ร่วมโต๊ะพูดคุยเพื่่อสันติสุขฯ กับรัฐบาลไทยในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ และระงับการพูดคุยเอาไว้จนกว่าการเลือกตั้งทั่วไปในประเทศไทยผ่านไปก่อน พร้อมเรียกร้องให้เปลี่ยนตัวหัวหน้าคณะพูดคุยฯ จาก พล.อ.อุดมชัย เป็นบุคคลอื่น


          สาเหตุความไม่พอใจของ “มารา ปาตานี” อ้างว่าเป็นเพราะ พล.อ.อุดมชัย ไม่ยอมเข้าร่วมการพูดคุยแบบเต็มคณะกับ “มารา ปาตานี” แต่ยื่นข้อเสนอจะนัดพบและพูดคุยกับนายสุกรี ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยฯ เพียงคนเดียวเท่านั้น ทำให้ “มารา ปาตานี” รู้สึกผิดหวังกับท่าทีของ พล.อ.อุดมชัย และดูจะขัดแย้งกับคำประกาศก่อนหน้านี้ว่าพร้อมพูดคุยกับทุกกลุ่ม


          หากพิจารณาแถลงการณ์และคำแถลงจาก “มารา ปาตานี” ก็จะเห็นว่ากระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ กำลังเผชิญกับความท้าทายรอบใหม่ และสุ่มเสี่ยงจะล่มไปอีกครั้งช่วงก่อนการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งเหลือเวลาอีกไม่ถึง 50 วัน แต่ พล.อ.อุดมชัยให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ทีมข่าวอิศรา” ยืนยันว่ากระบวนการพูดคุยไม่ได้สะดุดหรือล้มไป เพียงแต่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอน คือคณะทำงานเทคนิคประชุมนอกรอบกันก่อนเพื่อกำหนดประเด็น ก่อนที่จะมีการพูดคุยแบบเต็มคณะ เพื่อไม่ให้ต้องมาเสียเวลาทะเลาะกันในบางเรื่องที่สามารถตกลงกันได้ก่อนล่วงหน้า




          “ผมยังยึดหลักให้เกียรติทุกกลุ่มเหมือนเดิม และจะไม่ออกคลิปตอบโต้ใครทั้งนั้น ยืนยันว่าเราพร้อมคุยกับทุกกลุ่มโดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพียงแต่การเดินทางไปกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียในครั้งนี้ เป็นการเดินทางไปพบผู้อำนวยความสะดวก คือ ตันสรี อับดุลราฮิม นูร์ ไม่ได้ไปพูดคุยกับกลุ่มไหนเป็นพิเศษ ส่วนกลุ่มมารา ปาตานี จะมีการพบปะกันของคณะทำงานเทคนิคของทั้งสองฝ่าย ซึ่งฝ่ายเรานำโดย พล.ต.เกรียงไกร ศรีรักษ์ เลขานุการคณะพูดคุยฯ”


          “แต่ปรากฏว่าทางทีมผู้อำนวยความสะดวกแจ้งมาว่า มารา ปาตานี ต้องการพูดคุยเป็นเต็มคณะ และขณะนี้ได้มารอกันครบหมดแล้ว ซึ่งทางเราไม่ได้มีกำหนดการไปร่วมโต๊ะพูดคุย แต่เพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกันไว้ จึงขอให้หัวหน้าคณะพูดคุยฯ ฝ่ายมารา ปาตานี คือ นายสุกรี ฮารี มาพบกันสองต่อสองก่อน แต่ฝ่ายมารา ปาตานี ไม่ยอมและไปออกแถลงการณ์”


          “ผมยืนยันว่าผมพร้อมคุยกับทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน แต่ต้องเป็นการพูดคุยกันอย่างไม่เป็นทางการ ส่วนการพูดคุยอย่างเป็นทางการต้องผ่านขั้นตอนของคณะทำงานเทคนิคเสียก่อน เพื่อกำหนดประเด็นพูดคุย จะได้ไม่ต้องมาเสียเวลาทะเลาะกันในบางเรื่องที่สามารถตกลงกันก่อนได้ ข้อเท็จจริงก็มีอยู่เท่านี้” พล.อ.อุดมชัย กล่าว


          อนึ่ง กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ระหว่างรัฐบาลไทยกับ “มารา ปาตานี” หยุดชะงักไปตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งใหญ่ในมาเลเซีย เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ทำให้ข้อตกลงเรื่องการสร้างพื้นที่ปลอดภัยนำร่องอำเภอแรกรวมกัน ต้องสะดุดไปด้วย จากนั้นการพูดคุยก็ไม่คืบหน้าอีกเลย เพราะรัฐบาลมาเลเซียเปลี่ยนตัวผู้อำนวยความสะดวกคนใหม่ ขณะที่รัฐบาลไทยก็เปลี่ยนตัวหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขเช่นกัน จาก พล.อ.อักษรา เกิดผล อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็น พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 และผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้


          กระบวนการพูดคุยมีแนวโน้มกลับมาเริ่มใหม่อีกครั้ง ช่วงหลังปีใหม่ที่ผ่านมา เมื่อ พล.อ.อุดมชัย นัดหารือและแถลงข่าวร่วมกันกับผู้อำนวยความสะดวกคนใหม่ พร้อมเดินสายพบปะกลุ่มต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ของไทยในการเดินหน้ากระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขต่อไป และจะขยายขอบเขตการพูดคุยให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม เพื่อปิดจุดอ่อนกระบวนการพูดคุยที่ผ่านๆ มา ซึ่งไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นได้ เพราะกลุ่มมารา ปาตานี ถูกตั้งคำถามว่าเป็นตัวจริงที่ควบคุมกองกำลังติดอาวุธในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้จริงหรือไม่


          “มารา ปาตานี” เป็น “องค์กรร่;ม” ของกลุ่มขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน 6 กลุ่มที่ตัดสินใจเข้าร่วมกระบวนการพูดคุยกับรัฐบาลไทยตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา โดย 1 ใน 6 กลุ่ม อ้างว่าเป็นบีอาร์เอ็น แต่ก็ถูกตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ที่เข้าร่วมโต๊ะพูดคุย เป็นผู้แทนจากองค์กรบีอาร์เอ็นจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงปีกที่สนับสนุนการพูดคุุย


          ข้อสังเกตนี้ถือว่ามีน้ำหนักไม่น้อยเพราะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นตลอดมาตั้งแต่ริเริ่มกระบวนการพูดคุยกระทั่งมีการรื้อฟื้นกระบวนการพูดคุยขึ้นมาใหม่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ก็มีการโหมก่อเหตุรุนแรงครั้งใหญ่ ทั้งคาร์บอมบ์ โจมตีเจ้าหน้าที่ในโรงเรียน และยิงพระมรณภาพคากุฏิภายในวัด ซึ่งนักสังเกตการณ์ปัญหาชายแดนใต้หลายคนระบุตรงกันว่าน่าจะเป็นการก่อเหตุเชิงสัญลักษณ์เพื่อต่อต้านการพูดคุยและส่งสัญญาณว่ารัฐบาลไทยพูดคุยผิดฝาผิดตัว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ