คอลัมนิสต์

วิกฤติฝุ่น'พีเอ็ม2.5'..ปอท.เตือนแชร์ข่าวปลอมติดคุก5ปี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  สายตรวจระวังภัย  โดย...  ทีมข่าวอาชญากรรม


 

          คล้อยหลังต้อนรับปีใหม่ 2562 ไม่กี่วัน สภาพอากาศเมืองไทยในหลายจังหวัดต้องบอกว่าย่ำแย่ โดยเฉพาะเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานครถือว่าวิกฤติหนัก ที่มองด้วยตาเปล่าเหมือนหมอกปกคลุม แต่ที่จริงแล้วเป็นฝุ่นละอองขนาดเล็ก “พีเอ็ม 2.5” ที่ส่งผลต่อสุขภาพหากมีการสูดดมและสะสมเป็นระยะยาว ซึ่งรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งดำเนินการแก้ไขทุกวิถีทาง อย่างน้อยก็ช่วยให้ฝุ่นละอองที่สาหัสได้บรรเทาเบาบางลง

 


          เช่นเดียวกัน ทันทีที่มีเรื่องราวเกิดขึ้นกระทบกับการดำเนินชีวิต มีความหวาดระแวงจากผลที่จะตามมา สังคมให้ความสนใจ กระแสข่าวลือ ข่าวเท็จ ข่าวปลอม ก็จะถูกปล่อย และแชร์กันทางโซเชียลมีเดีย ทำให้ผู้คนในสังคมที่ได้รับข้อมูลจาก “เว็บข่าวปลอม” เกิดการตื่นตระหนก เหมือนซ้ำเติม เพิ่มความสับสนวุ่นวายขึ้นไปอีก กระทั่ง กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) โดย พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอพิษ ผกก.3 บก.ปอท. ในฐานะ โฆษกบก.ปอท. ต้องรีบออกโรงเตือนประชาชนเกี่ยวกับข่าวปลอมของ “มหันตภัยฝุ่นพิษพีเอ็ม 2.5” ที่มีการแชร์กันบนโลกออนไลน์อย่างแพร่หลายว่า ได้คร่าชีวิตคนไปแล้ว 

 

          พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ บอกว่า บก.ปอท.มีความเป็นห่วงกังวลในเรื่องการสร้างและปล่อยข่าวปลอมที่เรียกว่า “เฟคนิวส์(Fake news)” โดยศูนย์เฝ้าระวังโซเชียลมีเดีย ตรวจสอบพบว่ามีเว็บไซต์ชื่อ “gmmwork.com” เป็นเว็บไซต์ในต่างประเทศ เป็นผู้ผลิตข่าวปลอมเกี่ยวกับคนที่สูดฝุ่นละอองพีเอ็ม 2.5 เข้าไปแล้วเป็นผื่น เป็นแผลพุพอง เมื่อพี่น้องประชาชนที่ได้รับทราบข้อมูลจากเว็บไซต์ดังกล่าวเกิดความตื่นตระหนก จากนั้นก็เอาไปแชร์หรือส่งต่อให้คนอื่น จนสร้างความตื่นตระหนกในวงกว้าง ขณะเดียวกันที่ผ่านมาเว็บไซต์นี้ยังเคยมีการปล่อยข่าวปลอมในเรื่องภัยธรรมชาติ เป็นข่าวที่ระบุว่าเขื่อนจะแตก ข่าวแผ่นดินไหว ข่าวเรื่องมีรังสีคลื่นความร้อนแพร่กระจาย เป็นต้น รวมทั้งข่าวดาราสาวรายหนึ่งโดนตำรวจสายตรวจข่มขืนก็เคยมี จนผู้เสียหายต้องมาแจ้งความต่อ ปอท. ให้ดำเนินคดีเว็บไซต์ดังกล่าว 


          “ขอแนะนำว่าควรตรวจสอบข้อมูลข่าวสารด้วยความระมัดระวัง มีการตรวจสอบกับสำนักข่าวที่มีมาตรฐาน หรือเว็บไซต์ของทางรัฐบาล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูก่อนว่าเรื่องหรือข่าวเหล่านั้นเป็นความจริงหรือน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด ก่อนจะส่งต่อให้คนอื่น ข่าวที่เราอ่านแล้วเกิดความไม่สบายใจก็ต้องตรวจสอบให้ดีก่อน ส่วนการกระทำในลักษณะสร้างหรือผลิตข่าวปลอม fake news ในลักษณะทำให้ประชาชนตื่นตระหนกจะเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ม.14(2) ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท ส่วนผู้ใดทราบว่าข่าวที่เราส่งหรือแชร์ต่อเป็นข่าวปลอม ข้อมูลที่เป็นเท็จ เช่น ข่าวที่กระทรวงสาธารณสุขออกมายืนยันแล้วว่า “อย่าเชื่อคนตายจากฝุ่นพิษพีเอ็ม 2.5 แล้ว 1 ราย” แต่ก็ยังเอาไปแชร์หรือส่งต่อให้คนอื่น แบบนี้จะเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ม. 14(5) ผู้ใดเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ ตาม (1) (2) (3) หรือ (4) ซึ่งมีความผิดอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท” โฆษก บก.ปอท.อธิบาย


          พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ อธิบายเพิ่มว่า ทั้งนี้เว็บไซต์ที่ผลิตข่าวปลอมเหล่านี้นิยมใช้รูปภาพที่ดึงดูดความสนใจ รวมทั้งข้อความ แคปชั่นที่คนทั่วไปเห็นแล้วกระตุ้นความอยากรู้ ดึงดูดให้เข้าไปคลิก ไปกดดู จะทำให้เจ้าของเว็บไซต์ได้ประโยชน์ ในรูปตัวเงินค่าตอบแทนจากยอดคลิกเว็บไซต์ดังกล่าว เขาจึงต้องหาทางสร้างข่าวปลอมที่มีเนื้อหารุนแรง ข่าวที่คนเห็นแล้วอยากรู้ต่อจะได้เข้าไปกดดูตามดูข่าวนั้น เราจึงต้องระมัดระวัง มีการนำภาพคนเจ็บคนตาย ดารานักร้องคนมีชื่อเสียงประสบเหตุ เป็นต้น มาเขียนมาสร้างข่าวปลอม รวมทั้งภาพภัยทางธรรมชาติ มากระตุ้นให้คนคลิกไปดู 


          การเสพข้อมูลข่าวสารบนโลกออนไลน์ไม่ใช่เรื่องผิด แต่เมื่ออ่านแล้วต้องมีสติและเทียบเคียงข้อมูลกับสำนักข่าวอื่นๆ อย่าแชร์ต่อแบบไม่ยั้งคิด เพราะนั่นคือความผิดอาจติดคุก 5 ปี..!!
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ