คอลัมนิสต์

ดนตรีคลาสสิก ไม่ยากอย่างที่คิด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์... รู้ลึกกับจุฬาฯ


 

          เปิดศักราชใหม่ปี พ.ศ.2562 นี้ “งานดนตรีในสวน” ย้ายจากสวนลุมพินีมาจัดการแสดงที่อุทยาน 100 ปี ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใกล้ตลาดสามย่าน โดยวง Royal Bangkok Symphony Orchestra (RBSO) หรือวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ ซึ่งจัดการแสดงคอนเสิร์ตในสวนสาธารณะอย่างสม่ำเสมอ โดยไม่เก็บค่าเข้าชม

 


          งานดนตรีในสวน เป็นความพยายามเติมเต็มความขาดแคลนพื้นที่ทางศิลปะในใจกลางเมือง ซึ่งเป็นผลพวงจากสภาพสังคมกรุงเทพที่มุ่งเน้นความเจริญเติบโตทางวัตถุ สะท้อนวิถีชีวิตคนเมืองที่แข่งขันวุ่นวาย จนก่อให้เกิดความโหยหาที่พักพิงใจ และเกิดความต้องการกิจกรรมที่สร้างความจรรโลงใจให้คนในเมืองใหญ่สามารถผ่อนคลายในยามว่าง งานดนตรีในสวน จึงเป็นกิจกรรมบันเทิงที่หลายคนเฝ้ารอที่จะได้มีส่วนร่วม มีโอกาสฟังเพลงที่คุ้นเคยและเพลงใหม่ๆ ที่ไม่เคยฟัง เป็นการนำพลังของงานศิลปะเพื่อช่วยสร้างความหรรษา ตลอดจนฟื้นฟูจิตใจที่อ่อนล้าให้กลับมาแข็งแกร่ง นอกจากนี้ยังช่วยพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้สร้างสรรค์เพื่อสร้างวัฒนธรรมการเสพศิลปะสำหรับชีวิตคนเมือง


          แต่ความพยายามข้างต้นไม่ใช่เรื่องง่ายสักทีเดียว เนื่องจากมีอุปสรรคเรื่องวัฒนธรรมการชมดนตรีนอกสถานที่ การบริหารจัดการพื้นที่และงบประมาณ และสภาพอากาศที่บางครั้งไม่เอื้ออำนวย แต่ปัญหาหลักคือรสนิยมการฟังเพลงคลาสิกที่จำกัดเฉพาะกลุ่ม เนื่องจากเป็นวัฒนธรรมที่แตกต่างจากคนไทย คนไทยไม่คุ้นชิน และไม่ได้รับการปลูกฝังให้สนใจดนตรีสากลตั้งแต่ปฐมวัย


          ผศ.ดร.นรอรรถ จันทร์กล่ำ ผู้อำนวยเพลงของ RBSO อาจารย์ประจำภาควิชาดุริยางคศิลป์ตะวันตก คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งขอสังเกตว่ามีปัจจัยหลายประการที่ทำให้การฟังดนตรีในพื้นที่สาธารณะยังไม่ได้รับความนิยมในประเทศไทย โดยเฉพาะดนตรีคลาสสิก


          “ในวัฒนธรรมฝรั่ง ดนตรีในสวนต้องออกมาฟังตอนหน้าร้อน เป็นกิจกรรมที่ใหญ่โตและเป็นที่นิยม พ่อแม่พาลูกมานั่งฟัง สร้างความผูกพันด้วยกัน ของไทยเราเพิ่งทำจริงจังมา 20 ปีนี้ ผู้ฟังยังน้อยมาก เป็นแต่คนในเมือง”


          สำหรับคนทั่วไปการเข้าถึงดนตรีคลาสสิกดูเหมือนต้องปีนบันไดฟัง แต่ในทัศนะของ อ.นรอรรถ การเสพเพลงคลาสสิกไม่ใช่เรื่องยากหรือต้องเสียค่าใช้จ่ายมากเหมือนในอดีตอีกต่อไป เนื่องจากผู้ฟังสามารถเข้าถึงงานดนตรีจากประพันธกรระดับโลก จาก Youtube หรือเว็บไซต์ฟังเพลงฟรี


          “ไม่จริงเลยในการเสพเพลงคลาสสิกแล้วบอกว่าแพง ทุกวันนี้เราเข้าถึงง่ายมาก งานดนตรีที่จัดก็ฟรีเพราะต้องการให้คนเข้าถึงเยอะขึ้น คอนเสิร์ตต่างๆ ที่มีจัด ถ้าเป็นนักเรียนนักศึกษาเข้ามาฟังก็มีส่วนลด ประเด็นที่คนไม่ฟังเพราะเขาไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องฟัง แต่ถ้าไม่ฟังชีวิตก็จะขาดสุนทรียะอะไรบางอย่าง เปรียบเทียบกับว่าเราไม่กินอาหารให้ครบทุก ชนิดเราก็ยังอยู่ได้ แต่ชีวิตจะขาดรสชาติอะไรไป”

 

          ความท้าทายข้อหนึ่งคือความพยายามในการสร้างฐานผู้ฟังและนักดนตรีเพื่อสร้างสมดุลระหว่างอุปสงค์กับอุปทานสำหรับการเสพดนตรีคลาสสิก การทำให้ผู้ฟังสนใจจึงต้องอาศัยการให้ความรู้แก่ผู้ฟัง ควบคู่ไปกับการสร้างนักดนตรีมืออาชีพด้วย


          “ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่าการเป็นนักดนตรีคลาสสิกต้องเรียน ต้องลงทุนสูง ใช้เวลายาวนาน แต่ก็ไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้คนไม่เสพดนตรี หรือสนใจดนตรีคลาสสิกได้ เพราะปัจจัยจริงๆ อยู่ที่ครอบครัวหรือสภาพแวดล้อมว่าพ่อแม่มีความสนใจแบบไหน และจะสร้างเสริมทักษะนิสัยให้ลูกแบบใด ลูกจะแค่ชอบฟังหรือจะอยากเป็นนักดนตรีในอนาคตก็มีทางเลือกได้ทั้งนั้น”


          การสร้างกลุ่มคนฟังโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ก็เป็นความท้าทายอีกประการหนึ่ง ปัญหาตั้งต้นที่ทำให้คนไม่เสพดนตรีคลาสสิกคือการไม่ให้ความสำคัญกับการศึกษาด้านดนตรีตั้งแต่ปฐมวัยคือ เป็นที่มาของการไม่ให้ความสำคัญ หรือคุณค่าของศิลปะทุกแขนง การขาดแคลนพื้นที่สาธารณะในการแสดงออกทางศิลปะรูปแบบต่างๆ ก็เป็นผลจากความเชื่อว่าคนไทยไม่เสพงานศิลปะ เลยไม่จำเป็นต้องมีศิลปะในพื้นที่สาธารณะ


          “ถ้ามีคนฟังแล้วต่อให้มีคอนเสิร์ตที่ไหนเขาก็จะไปฟัง แต่การสร้างคนฟังไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะลำพังการมีพื้นที่อย่างเดียวคงไม่พอ ถ้าไม่มีคนฟังเลย ดนตรีคลาสสิกก็จะอยู่ไม่ได้”


          งานดนตรีในพื้นที่สาธารณะจึงถือเป็นช่องทางการแสดงดนตรีเพื่อดึงดูดความสนใจรูปแบบหนึ่งและเป็นจุดนัดพบของนักดนตรีเพลงคลาสสิก นักดนตรีรุ่นใหม่ของไทยจึงได้มีโอกาสพัฒนาความสามารถจนมีคุณภาพ การงานเปิดพื้นที่ให้คนคนที่ชื่นชอบดนตรีหรือชาวกรุงเทพฯ ที่สนใจเข้ามาร่วมฟังการแสดงของนักดนตรีและนักร้องมืออาชีพทั้งในและต่างประเทศ


          ดร.นรอรรถ จันทร์กล่ำ ผู้ทำหน้าที่เป็นวาทยากรประจำวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ สลับกับ วานิช โปตะวนิช และผู้อำนวยเพลงที่มีชื่อเสียงระดับโลก รับเชิญเป็นผู้อำนวยเพลงเป็นครั้งคราว ในขณะที่ยังเน้นการแสดงประเภทซิมโฟนีออร์เคสตรา บรรเลงเพลงคลาสสิก แต่สร้างความหลากหลายด้วยการนำเสนอเพลงบรอดเวย์ เพลงไทยสากล และเพลงร่วมสมัย โดยศิลปินไทยและนานาชาติ


          “ในฐานะนักดนตรี ผมเห็นว่างานดนตรีในสวนเป็นงานที่มีความต่อเนื่อง สม่ำเสมอตลอด แสดงถึงความตั้งใจที่จะจัดทำพื้นที่ให้คนมาฟังดนตรี ผมรู้สึกผูกพันกับงานนี้ ได้เห็นความเติบโตของนักดนตรีของเราและของผู้อื่น ทั้งอายุ วุฒิภาวะ งานนี้จึงเป็นงานที่ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ทำด้วยความรักจริงๆ”


          งานดนตรีในสวน โดยวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ ครั้งที่ 26 ที่จัดขึ้นนี้ ทุกวันอาทิตย์ ระหว่างเดือนมกราคมกับกุมภาพันธ์ 2562 เวลา 17.30 น. ณ อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ จึงเป็นอีกความตั้งใจหนึ่งที่ต้องการสร้างพื้นที่ศิลปะในสถานที่สาธารณะ จะพิสูจน์ว่าดนตรีเป็นสิ่งสวยงามและเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่ไม่มีขอบเขตการแบ่งแยก ไม่มีลำดับชั้น ใครสามารถมาฟังก็ได้ไม่มีข้อบังคับใดๆ


          ผู้สนใจงานดนตรีในสวน สามารถเข้าชมฟรี สอบถามเพิ่มเติมโทร.0-2255-6617-8, 0-2254-4954 หรือ www.bangkoksymphony.org

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ