คอลัมนิสต์

หาเสียงบนสื่อออนไลน์ ได้(ไม่)คุ้มเสีย?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รายงาน...

 

 

          การหาเสียงผ่านสื่อออนไลน์ หรือที่เรียกอย่างเป็นทางการด้วยภาษากฎหมายว่า “หาเสียงผ่านช่องทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์” ซึ่ง กกต.อนุญาตอย่างเป็นทางการ พร้อมวางหลักเกณฑ์รองรับเป็นครั้งแรกในการเลือกตั้งหนนี้ น่าเชื่อว่าจะได้รับความสนใจจากพี่น้องประชาชน และมีอิทธิพลต่อคะแนนเสียงของผู้สมัคร รวมถึงพรรคการเมืองมากพอสมควรทีเดียว

 


          เพราะคนไทยว่างเว้นจากการเลือกตั้งมาหลายปี ประกอบกับคนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตง่ายขึ้น และใช้เวลาอยู่กับอินเทอร์เน็ตสูงมากต่อวัน
          

          ข้อมูลการสำรวจของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) เมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 พบว่าคนไทยใช้เวลากับอินเทอร์เน็ตถึงวันละ 10 ชั่วโมง 5 นาที และสื่อสังคมออนไลน์ที่คนไทยนิยมใช้มากที่สุด ได้แก่ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และทวิตเตอร์ จึงคาดการณ์ได้ว่าสื่อทั้งสามประเภทนี้น่าจะเป็นสื่อที่นักการเมืองจะนำไปใช้ประโยชน์ในการหาเสียงมากที่สุด 


          อย่างไรก็ตาม “พันธ์ศักดิ์ อาภาขจร” ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร เตือนว่า สื่อสังคมออนไลน์รวมทั้งเทคโนโลยีทั้งหลายล้วนมีด้านบวกและด้านลบอยู่คู่กันเสมอ หากนำไปใช้อย่างไม่ถูกที่ถูกทาง อาจทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน รวมทั้งตัวเองก็อาจจะตกเป็นผู้ต้องหาหรืออาจตกเป็นจำเลยของสังคมก็เป็นได้ โดยปรากฏการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นก็เช่น


          - การสาดโคลนคู่ต่อสู้ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ รวมทั้งการโต้ตอบจากฝ่ายตรงข้าม ซึ่งจะทำให้เกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เรียกกันว่า “ดิจิทัลดราม่า” และอาจขยายขอบเขตออกไปจนกลายเป็นข้อขัดแย้งในโลกแห่งความจริงได้


          - มีความเป็นไปได้ในการใช้โปรแกรมอัตโนมัติในการเผยแพร่ข่าวเท็จหรือบิดเบือนข้อมูล (Malicious bots)


          - การสร้างกระแสความนิยมในพรรคหรือสนับสนุนตัวบุคคลอย่างสุดโต่ง อาจทำให้เกิดปรากฏการณ์ “ห้องเสียงสะท้อน” หรือ Echo chamber ในโลกออนไลน์ ซึ่งหมายความว่าคนกลุ่มหนึ่งเชื่อในสิ่งที่ตัวเองชอบ แต่ปฏิเสธความเห็นที่แตกต่าง แม้ว่าความเชื่อนั้นอาจไม่ใช่ความจริงก็ตาม ทำให้ความเชื่อเหล่านั้นวนไปมาเฉพาะในกลุ่มของตัวเอง


          - เหตุการณ์ทางลบที่เกิดจากการหาเสียงบนโลกออนไลน์ต้องใช้เวลาในการแก้ข่าว รวมทั้งต้องใช้ทีมงานจำนวนหนึ่งในการตรวจสอบข่าวเท็จ


          - อาจมีการเกิดคดีความจากการฟ้องร้องหมิ่นประมาท หรือความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เกิดตามมาจำนวมาก ซึ่ง กกต.ต้องมีบทบาทในการตรวจสอบที่เข้มข้นและทันต่อเหตุการณ์


          พันธ์ศักดิ์ บอกอีกว่า แม้ว่าสื่อสังคมออนไลน์ได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในประเทศไทยช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งก็นับว่านานพอสมควร และยังได้รับความนิยมอย่างมากในสังคมไทย แต่การใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการหาเสียงยังเป็นเรื่องใหม่ที่คนไทยและนักการเมืองต้องเรียนรู้เพื่อสร้างบรรทัดฐานที่คนไทยอยากเห็น อย่างน้อยสุดในเรื่องต่อไปนี้


          - เกิดการเรียนรู้และยกระดับมาตรฐานของการใช้สื่อสังคมออนไลน์และเทคโนโลยีในการหาเสียง ซึ่งอาจส่งผลไปถึงการยกระดับกฎ กติกา มารยาท ในการใช้สื่อสังคมออนไลน์โดยทั่วไปด้วย


          - พรรคการเมืองได้เรียนรู้และปรับตัวต่อท่าทีของประชาชนที่สะท้อนผ่านสื่อสังคมออนไลน์


          - เป็นกรณีศึกษาจากการนำข้อมูลขนาดใหญ่จากสื่อสังคมออนไลน์ไปใช้วิเคราะห์ ที่เรียกว่า Big data analytics เพื่อช่วยในการตัดสินใจในการเข้าหากลุ่มเป้าหมายได้แม่นยำขึ้น โดยเฉพาะของพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง หรือแม้แต่รัฐบาล


          - เป็นกรณีศึกษาถึงจุดเด่นและข้อด้อยของการใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการหาเสียงเลือกตั้ง


          พันธ์ศักดิ์ บอกด้วยว่า นอกจากการหาเสียงรูปแบบใหม่แล้ว การใช้สื่อสังคมออนไลน์อาจทำให้เกิดการแข่งขัน ซึ่งแต่เดิมเคยเน้นแต่นโยบาย และคุณสมบัติของบุคคล ยกระดับไปสู่การแข่งขันในเชิงการวิเคราะห์ข้อมูล (Analytics) เพื่อให้เกิดความได้เปรียบทางการแข่งขัน ซึ่งหลายประเทศทำสำเร็จมาแล้ว


          แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ การเลือกตั้งครั้งนี้แม้ว่าจะมีนักการเมืองรุ่นใหม่เสนอตัวเข้ามาเพื่อทำงานให้แก่ประเทศชาติจำนวนหนึ่ง แต่ก็ยังมีนักการเมืองรุ่นเก่าจำนวนไม่น้อยที่ยังสลัดพฤติกรรมในอดีตออกไม่หมด และอาศัยความมีชื่อเสียงของตัวเองขับเคี่ยวกับฝ่ายตรงข้ามด้วยวิธีเรียกคะแนนนิยมแบบเดิมๆ โดยเฉพาะการใส่ร้ายป้ายสีและสาดโคลน


          เชื่อได้ว่าคนไทยส่วนใหญ่อยากเห็นการหาเสียงเลือกตั้งที่สร้างสรรค์ และใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นเครื่องมือให้ได้ประโยชน์สูงสุด มากกว่าใช้เป็นช่องทางในการเล่นงานฝ่ายตรงข้าม เหมือนที่เคยกระทำกันมาในอดีต !

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ