คอลัมนิสต์

"คุ้มครองผู้บริโภค"...ซื้อใจโหวตพรรคการเมือง 2562

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...   ทีมข่าวรายงานพิเศษ



 

          หลังจากรัฐบาล คสช. ใช้ ม.44 ปลดล็อกเปิดทางให้พรรคการเมือง “หาเสียง” ได้ ห้วงเวลานี้นักการเมืองทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่หน้าใหม่และหน้าเก่า ต้องเร่งมองหานโยบายโดนใจประชาชนคนมาลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง โดยเฉพาะนโยบายที่จะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความอยุติธรรมในสังคมไทย หนึ่งในนั้นได้แก่การแก้ปัญหาการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคเกือบ 70 ล้านคน...

 

 

          เช่น ปัญหาค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ยาราคาแพง รถยนต์ไม่ได้มาตรฐาน สินค้าชำรุดบกพร่อง สินค้าราคาแพง ธุรกิจผูกขาดเอาเปรียบผู้บริโภค รถโดยสารสาธารณะไม่ปลอดภัย หนี้บัตรเครดิต ดอกเบี้ยสินเชื่อแพง เก็บค่าบริการมือถือเกินจริง ค่าธุรกรรมธนาคาร ฯลฯ ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องส่วนบุคคล แต่ถ้าเอามารวมๆ กัน กลายเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย นั่นคือ การขาดระบบคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในประเทศไทย

 

 

"คุ้มครองผู้บริโภค"...ซื้อใจโหวตพรรคการเมือง 2562

 


          ปัจจุบันมีกลุ่มนักวิชาการ เอ็นจีโอและเครือข่ายประชาชนรวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่มคุ้มครองผู้บริโภคไม่ต่ำกว่า 200 องค์กรทั่วประเทศไทย พวกเขากำลังรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้จัดตั้งหน่วยงานอิสระระดับชาติทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคโดยตรงเหมือนดั่งประเทศอื่นๆ ที่มีการพัฒนาระบบและกฎหมายเกี่ยวกับผู้บริโภคนี้อย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นนโยบายหาเสียงของพรรคใหญ่ๆ ทั่วโลก


          แต่ในประเทศไทยนั้น หากย้อนดูนโยบายพรรคการเมืองที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ยังเน้นหาเสียงเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพหรือการบริการสาธารณสุข


          เช่น พรรคเพื่อไทย มักเน้นหาเสียงเรื่องโครงการสนับสนุนสาธารณสุขมูลฐานในชนบท สถาบันครอบครัว อาสาสมัครสาธารณสุข การป้องกันโรค เฝ้าระวังและตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน ฯลฯ

 

 

"คุ้มครองผู้บริโภค"...ซื้อใจโหวตพรรคการเมือง 2562

 



          ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ เน้นด้านขยายสิทธิประกันสังคม เงินชดเชยเมื่อเจ็บป่วยและชราภาพ หรือเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข ปรับปรุงระบบสวัสดิการข้าราชการ ลดค่ารักษาพยาบาล พัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน หรือสร้างเสริมสุขภาพในชุมชน ฯลฯ


          สำหรับพรรคเล็กมักเน้นหาเสียงเรื่องการรักษาพยาบาล สุขภาพอนามัยชาวบ้าน เป็นนโยบายหาเสียงที่คล้ายๆ กัน เช่น พรรคชาติไทยพัฒนา มีโครงการกระจายอำนาจให้บริการสาธารณสุขในชนบทห่างไกล การกวดขันมาตรการคุ้มครองชาวบ้านให้ปลอดภัยจากการบริโภคอาหารและยา ปัญหายาเสพติด สถานรับเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียน ฯลฯ


          ในวันนี้ การหาเสียงเป็นโครงการย่อยๆ เพื่อคนป่วย คนจน คนถูกละเมิดสิทธิต่างๆ อาจต้องปรับเปลี่ยนเป็นนโยบายที่เป็นภาพรวมมากขึ้น โดยเฉพาะนโยบายหาเสียงเกี่ยวกับองค์กรอิสระคุ้มครองผู้บริโภคระดับชาติ เนื่องจากที่ผ่านมาเครือข่ายภาคประชาชนในประเทศไทยพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งจัดตั้งองค์กรลักษณะนี้มานานหลายสิบปีแล้ว แต่นักการเมืองรุ่นเก่าๆ ยังไม่เห็นความสำคัญมากนัก

 

 

"คุ้มครองผู้บริโภค"...ซื้อใจโหวตพรรคการเมือง 2562

 


          ย้อนไปสมัยรัฐธรรมนูญปี 2540 กำหนดให้จัดตั้ง “องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค” ที่ปราศจากผลประโยชน์ของฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายการเมืองหรือหน่วยงานราชการ แต่ก็เป็นแค่เพียงตัวอักษรในรัฐธรรมนูญเท่านั้น พรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งเป็นรัฐบาลไม่ได้สนใจจริงจัง หรือนำมาเร่งทำเป็นกฎหมายลูกเท่าไรนัก จวบจนมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ปี 2550 เนื้อหาในนั้นก็กำหนดไว้เช่นเดิมอีกว่า ต้องจัดให้มีองค์การเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบและจัดการแก้ปัญหาการละเมิดหรือเอาเปรียบผู้บริโภค พร้อมระบุด้วยว่าให้รัฐมีหน้าที่ในการจัดหาและสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการขององค์การอิสระนี้


          ระหว่างนั้น เครือข่ายผู้บริโภคภาคประชาชนไม่ได้นิ่งเฉย มีความพยายามในการช่วยกันลงชื่อกว่าหมื่นคนเพื่อเรียกร้องให้มีร่างกฎหมายภาคประชาชนที่มีชื่อเรียกว่า “พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค” หรือ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคแห่งชาติ มีหลักการทำงานคล้ายกับ คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่เป็นองค์กรอิสระทำงานโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนผู้บริโภคเป็นหลัก โดยเสนอไปที่รัฐสภา แต่ร่างกฎหมายฉบับภาคประชาชนก็ถูกเพิกเฉยอีกเช่นกัน อาจเป็นด้วยพรรคการเมืองในสมัยนั้นส่วนใหญ่อยู่ภายใต้ปีกแห่งอำนาจของเหล่าเจ้าสัว ที่เป็นเจ้าของธุรกิจซึ่งอาจตกเป็นคู่กรณีกับผู้บริโภคนั่นเอง 

 

 

"คุ้มครองผู้บริโภค"...ซื้อใจโหวตพรรคการเมือง 2562

 


          ร่างกฎหมายนี้เงียบหายไปหลายปีเพราะมรสุมการเมืองเสื้อเหลืองเสื้อแดง จนกระทั่งช่วงต้นปี 2558 ในที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีตัวแทนภาคประชาชนและแกนนำเอ็นจีโอนำร่างกฎหมายนี้มาปัดฝุ่นเข้าเสนอที่ประชุมอีกครั้ง และช่วยกันรณรงค์ให้เห็นความสำคัญจนสมาชิก สปช.สมัยนั้น เริ่มเข้าใจและให้ความสำคัญเพราะรู้ดีว่าเป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์หลักในการช่วย “คุ้มครองผู้บริโภค” และจะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ รวมถึงการช่วยลดปัญหาขัดแย้งระหว่างผู้ประกอบการกับผู้บริโภคที่เริ่มปรากฏเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติกระทบกับคนไทยทุกคนหลายเรื่อง เช่น บริษัทมือถือ 3 ค่ายยักษ์ใหญ่ที่ได้รับสัมปทานแอบคิดค่าบริการโทรศัพท์อย่างไม่เป็นธรรม หรือธนาคารที่ร่วมมือกันคิดค่าบริการโอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็มเกินจริง การขายสารเคมีพิษร้ายให้เกษตรกร ฯลฯ


          การต่อสู้ครั้งนั้นเกือบประสบความสำเร็จอย่างดี เนื่องจากสมาชิก สปช.กว่า 200 คนส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าควรผลักดันให้ผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ มีการอภิปรายแสดงความเห็นสนับสนุนอย่างกว้างขวางก่อนลงมติให้ตั้ง “คณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค” ไปยกร่างเพื่อจัดตั้งเป็นองค์การอิสระฯ แต่สุดท้ายก็เงียบหายไปอีก... 


          ล่าสุด รัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดในมาตรา 46 ว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า


          "สิทธิของผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครอง...บุคคลย่อมมีสิทธิรวมกันจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภคเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค...โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐ"

 

 

 

"คุ้มครองผู้บริโภค"...ซื้อใจโหวตพรรคการเมือง 2562

 


          ภายใต้การบริหารของรัฐบาล คสช. แม้ไม่ได้คัดค้านแต่ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคมากนัก เนื่องจากไม่มีความจำเป็นต้องลงพื้นที่หาเสียงกับชาวบ้าน หรือต้องการเสียงสนับสนุนในสภาผู้แทนราษฎร ปัญหาของผู้บริโภคจึงไม่ใช่วาระเร่งด่วน ร่างกฎหมายฉบับนี้ถูกจัดลำดับความสำคัญไว้ท้ายๆ มีการแก้ไขเพิ่มเติมหลายครั้ง ในที่สุดวันที่ 5 มิถุนายน 2561 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้หยิบยกขึ้นมาพิจารณาในชื่อ “ร่างพ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค”


          สาระสำคัญในร่างกฎหมายนี้คือ การจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ เป็นนิติบุคคลมีความเป็นอิสระไม่อยู่ภายใต้อำนาจกำกับดูแลจากส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ และกำหนดให้มีตัวแทนจากทุกองค์กรผู้บริโภคภาคประชาชนเข้ามาเป็นกรรมการ มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยทำหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้บริโภคในการประสานนโยบายและดำเนินงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกับหน่วยงานของรัฐและเอกชน ในด้านสำคัญ 8 ด้าน ได้แก่ ด้านการเงินและการธนาคารด้านการขนส่งและยานพาหนะ ด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย ด้านอาหาร ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ด้านบริการสุขภาพ ด้านสินค้าและบริการทั่วไป ด้านการสื่อสารและโทรคมนาคม ด้านบริการสาธารณะ โดยเฉพาะการดำเนินคดีแทนผู้บริโภคหรือองค์กรของผู้บริโภคในคดีฟ้องร้องต่างๆ 


          “พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติในหลักการร่างกฎหมายจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติแล้ว เพื่อการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค และกำหนดให้รัฐจัดเงินสนับสนุนที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนรายละเอียดคงต้องรอกันต่อไปว่าจะออกเป็นกฎหมายบังคับใช้เมื่อไร


          ร่างกฎหมายของ คสช. กลายเป็นระเบิดลูกใหม่ เพราะมีการหมกเม็ดหรือดัดแปลงจากร่างกฎหมายของภาคประชาชนในหลักการสำคัญหลายประการ...


          "สารี อ๋องสมหวัง" ตัวแทนกลุ่มเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค ยอมรับว่าร่างกฎหมายฉบับของ “ภาครัฐ” นั้น มีความแตกต่างจากของ “ภาคประชาชน” เพราะไปเน้นให้จัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภคในด้านต่างๆ ได้ด้วย ไม่ได้เป็นคณะกรรมการชุดเดียวอาจทำให้การทำงานไม่มีประสิทธิภาพตามที่ตั้งใจไว้ นอกจากนี้ยังไม่มีที่มาของงบประมาณในการทำงานที่ชัดเจน มีเพียงกำหนดให้รัฐบาลจัดสรรเงินอุดหนุนเป็นทุนประเดิมเบื้องต้น อย่างน้อย 350 ล้านบาท


          “ส่วนตัวแล้วพวกเราอยากให้มีกรรมการชุดใหญ่เป็นหนึ่งเดียวกัน อาจต้องรอหลังเลือกตั้งว่ารัฐบาลที่มาจากใหม่จะมีแนวคิดอย่างไร เพราะสภาองค์กรผู้บริโภคมีหน้าที่สำคัญในการช่วยเหลือคุ้มครองสิทธิ ช่วยให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐ และผู้บริโภคมากขึ้น จึงควรเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระช่วยให้เกิดพลังในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของประชาชนอย่างแท้จริง” สารี กล่าวแสดงความเห็น แน่นอนว่า การจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติคงไม่อาจสำเร็จได้ก่อนการเลือกตั้งปี 2562 อย่างแน่นอน ดังนั้น พรรคการเมืองใดที่สนใจ อาจนำไปเป็นนโยบายหาเสียงเพื่อดึงการสนับสนุนจากเครือข่ายภาคประชาชนที่มีอยู่ทั่วประเทศ


          "รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์" นักวิชาการที่ทำงานเกี่ยวข้องด้านคุ้มครองผู้บริโภคในระดับประเทศไทยและระดับกลุ่มประเทศอาเซียน กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่นักการเมืองไทยจะนำเรื่องผู้บริโภคมาเป็นนโยบายหาเสียงระดับชาติ เนื่องจากปัญหาการเอารัดเอาเปรียบจากกลุ่มธุรกิจต่างๆ มีมากขึ้น คนไทยเริ่มมีความรู้เท่าทันมีการส่งต่อข่าวสารกันง่ายขึ้นแต่อุปสรรคคือไม่มีตัวแทนไปช่วยฟ้องร้องหรือสู้คดีในศาล


          “ในต่างประเทศประชาชนของเขาให้ความสำคัญกับองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคอย่างมาก เพราะเป็นตัวแทนประชาชนในการเรียกร้องความยุติธรรม คนธรรมดาทั่วไปคงไม่สามารถไปต่อสู้กับบริษัทใหญ่ๆ ที่ขายสินค้าไม่ได้มาตรฐานสินค้าหลอกลวง สินค้าทำลายสิ่งแวดล้อม หรือการให้บริการเอารัดเอาเปรียบต่างๆ ที่ผ่านมาคนไทยถูกหลอกหรือเสียหายก็ได้แต่จำยอม เพราะไม่อยากเป็นเรื่องเป็นราวมีคดีขึ้นโรงขึ้นศาล พวกผู้ประกอบการนักธุรกิจเลยสบาย ละเมิดสิทธิผู้บริโภคได้เต็มที่ เช่น กฎหมายห้ามนำเข้าสารเคมีเกษตรอันตราย แต่ก็มีคนสั่งเอาเข้ามาขายเต็มร้านค้าไปหมด เพราะไม่มีใครเป็นตัวแทนผู้บริโภคไปจัดการหรือไปเฝ้าระวังปัญหาพวกนี้”


          ตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภคข้างต้นกล่าวแนะนำต่อว่า พรรคการเมืองที่อยากหาเสียงโดยการชูนโยบายสนับสนุนให้มีคณะกรรมการอิสระคุ้มครองผู้บริโภคนั้น ส่วนตัวแล้วอยากให้เน้นชัดเจนไปเลยว่า ต้องมี 3 เงื่อนไขด้วยกัน คือ 1.ต้องเป็นอิสระทางการเงิน หมายความว่าคณะกรรมการฯ ควรมีงบประมาณเป็นของตนเอง เช่น คำนวณจากหัวประชากรคนละ 5 บาท จะได้ประมาณปีละ 350 ล้านบาท การอุดหนุน “แบบรายหัวประชากร” เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะมีงบเพียงพอในการทำงานเพื่อการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคไม่ควรให้ฝ่ายรัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้เพราะจะเกิดความไม่แน่นอนผันแปรไปตามเงื่อนไขต่างๆ


          2.ต้องเป็นอิสระในการบริหารจัดการ หมายความว่า เป็นนิติบุคคลที่มีความเป็นอิสระ ไม่ใช่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ และ 3.ต้องเป็นอิสระจากการแทรกแซงของฝ่ายธุรกิจและฝ่ายการเมือง เนื่องจากที่ผ่านมาฝ่ายนักธุรกิจมักเข้ามาขอมีส่วนร่วมเป็นคณะกรรมการ ทำให้เกิดความขัดแย้งในการทำงานและการแสวงหาหรือต่อรองผลประโยชน์บางอย่าง โดยไม่ได้คำนึงถึงการทำเพื่อผู้บริโภคอย่างแท้จริง


          สรุปได้ว่า พรรคการเมืองไหนอยากชนะใจผู้บริโภค คงต้องเร่งหานโยบายหาเสียงที่มีความชัดเจนเกี่ยวกับ หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภค ทำอย่างไรให้ป็นตัวแทนของประชาชนจริงๆ ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง หรือไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของฝ่ายธุรกิจยักษ์ใหญ่


          สถิติผู้บริโภคร้องเรียน2561
          5 พฤศจิกายน 2561 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เปิดเผยสถิติเรื่องร้องเรียน ตั้งแต่เดือนมกราคม - กันยายน 2561 ได้ให้คำปรึกษาและรับเรื่องร้องเรียน จำนวน 3,245 เรื่อง


          - อันดับ 1 “อาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ” เป็นเรื่องร้องเรียนมากที่สุดจำนวน 1,335 ราย คิดเป็นร้อยละ 41 เช่น เครื่องสำอางไม่ปลอดภัย อาหารไม่บริสุทธิ์ การขายยาโดยไม่มีเภสัชกร ฯลฯ


          - อันดับ 2 “บริการสาธารณะ” ร้องเรียน 529 ราย (ร้อยละ 16.30) เช่น รถทัวร์ รถรับส่งนักเรียน รถตู้ รถเมล์ รถโดยสารระหว่างจังหวัด ฯลฯ


          - อันดับ 3 “บริการสุขภาพและสาธารณสุข” ร้องเรียน 460 ราย (ร้อยละ 14.18)


          เช่น การปรึกษา เรื่องการย้ายสิทธิบัตรทอง สิทธิประโยชน์ต่างๆ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ