คอลัมนิสต์

"ปชป."ภายใต้ "อภิสิทธิ์" กุมบังเหียน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  กระดานความคิด  โดย...   ร่มเย็น

 

 

  
          มีโอกาสเห็นรายชื่อ ว่าที่ผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคประชาธิปัตย์ จำนวน  150 รายชื่อ ก่อนที่จะส่งให้กรรมการบริหารพรรคตัดสินใจในขั้นตอนสุดท้าย ปรากฏว่าหลายคนเป็นคนเก่าคนแก่  คนสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ เช่น ชวน หลีกภัย, บัญญัติ บรรทัดฐาน, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, จุติ ไกรฤกษ์ , กรณ์ จาติกวณิช, นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์, ศิริวรรณ ปราศจากศัตรู, ชำนิ ศักดิเศรษฐ์, คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช, พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค, สุทัศน์ เงินหมื่น, วิฑูรย์ นามบุตร, เทอดพงษ์ ไชยนันทน์, นิพนธ์ วิสิษฐยุทธศาสตร์  ซึ่งชื่อคนเหล่านี้คาดการณ์ได้ล่วงหน้าอยู่แล้วว่าอยู่ในรายชื่อผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคประชาธิปัตย์  จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าตื่นเต้นอะไร 

 

 

          แต่ที่น่าสนใจก็คือ อร่ามอาชว์วัต หรือ อร่าม โล่ห์วีระ  อดีต รมช.คมนาคม สมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และเป็นอดีตแกนนำพรรคความหวังใหม่ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เป็นข่าวไปแล้วว่านายอร่ามอาชว์วัต ได้ยกทีมมาเข้าพรรคประชาธิปัตย์ ปรากฏว่ามีชื่อเป็นว่าที่ผู้สมัครส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคประชาธิปัตย์ในครั้งนี้ด้วย ซึ่งจะทำให้พรรคประชาธิปัตย์ในภาคอีสานซึ่งเป็นจุดอ่อนของพรรคประชาธิปัตย์มาโดยตลอดมีฐานเสียงแน่นขึ้น เนื่องจาก อร่ามอาชว์วัต เคยเป็นอดีตส.ส.ชัยภูมิ ถึง 6 สมัย  นอกเหนือจากกลุ่ม สุทัศน์ เงินหมื่น และวิทูรย์ นามบุตร ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่คุมอีสานอยู่เดิม
   

          อีกคนที่โผล่ในบัญชีว่าที่ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์พรรคประชาธิปัตย์ก็คือ  เจือ ราชสีห์ อดีตส.ส.สงขลา เขต 1 พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเพิ่งพ่ายแพ้การลงคะแนนเลือกตัวแทนผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส. เขต 1 ของพรรคประชาธิปัตย์ ให้แก่ สรรเพชญ บุุญญามณี  บุตรชายนิพนธ์ บุญญามณี  รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์  จึงต้องกระเด็นมาอยู่ในปาร์ตี้ลิสต์แทน  
   

          ในบัญชีว่าที่ผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคประชาธิปัตย์  ยังปราฏชื่อคนรุ่นใหม่อย่าง สุรบถ หลีกภัย บุตรชายเพียงคนเดียวของชวน หลีกภัย อีกด้วย โดย สุรบถ อยู่ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์ที่ีรวมตัวกันในนาม “นิวเดม” (New Dem) ซึ่งมีแนวคิดที่ก้าวนอกกรอบ 
    



          อย่างไรก็ตามโอกาสที่ สุรบถ จะสอบตกมีสูง เพราะคงได้อยู่ลำดับเกินกว่าลำดับที่ 20  ในบัญชีรายชื่อปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ คาดการณ์กันว่าส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคประชาธิปัตย์  คงได้ประมาณ 20 ที่นั่ง บวกลบจากนี้ไม่มาก แต่ สุรบถ คงได้ตำแหน่งอื่นทางการเมืองเป็นการตอบแทนซึ่งก็ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งในถนนการเมืองสำหรับคนที่ลงสมัคร ส.ส.สมัยแรก  
  

           แต่ที่น่าแปลกอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อไล่เรียงชื่ออย่างละเอียดจากบัญชีรายชื่อว่าที่ผู้สมัครส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ กลับปรากฏว่าไม่มีชื่อของ อภิรักษ์ โกษะโยธิน ซึ่งครั้งนี้เป็นถึงประธานคัดเลือกผู้สมัครส.ส.ระบบเขต  และเคยเป็น ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อของพรรคประชาธิปัตย์มาแล้ว... งานนี้สงสัย อภิรักษ์ ต้องการทำงานเบื้องหลังช่วยพรรคประชาธิปัตย์ 
     

          ส่วนกลุ่มทุนใหม่ที่น่าสนใจในบัญชีรายชื่อว่าที่ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์  ก็คือ   ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง ซึ่งเป็นลูกชายของชาญชัย ชัยรุ่งเรือง อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดินและอดีตรมว.อุตสาหกรรมสมัย “รัฐบาลอภิสิทธิ์” กับ ผศ.ดร.บังอร เบ็ญจาธิกุล ผู้ก่อตั้งและอธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี  อย่างไรก็ตามไม่ค่อยเห็นกลุ่มทุนในปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคประชาธิปัตย์สักเท่าไหร่ ทั้งนี้อาจจะเป็นในลักษณะช่วยกันคนละไม้คนละมือ  และก็มี ธนัตถ์ ธนากิจอำนวย ทายาทนักธุรกิจเครือโนเบิล แต่รายนี้พรรคประชาธิปัตย์ส่งลงสมัครส.ส.เขตมีนบุรี ไม่ได้ลงปาร์ตี้ลิสต์ 


          และเมื่อมองลึกลงไปในรายชื่อว่าที่ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคประชาธิปัตย์  ก็จะพบว่าการจัดปาร์ตี้ลิสต์ในครั้งนี้ฝ่าย อภิสิทธิ์ เป็นคนจัดทั้งหมด โดยฝ่ายของ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม และถาวร เสนเนียม    ไม่มีส่วนในการจัดเลย  แสดงให้เห็นว่าฝ่ายอภิสิทธิ์ ได้คุมพรรคอย่างเต็มที่หลังจากอภิสิทธิ์ ชนะ นพ.วรงค์  ได้เป็นหัวหน้าพรรคต่อ โดยฝ่าย “หมอวรงค์” ก็ลงส.ส.เขตไป  แต่ฝ่ายอภิสิทธิ์ มีทั้งที่ลงส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์และส.ส. เขต ดังนั้นหลังเลือกตั้งส.ส.ฝ่ายอภิสิทธิ์ ในพรรคประชาธิปัตย์มีมากกว่าฝ่าย “หมอวรงค์” แน่   ฝ่าย “อภิสิทธิ์” ก็จะคอนโทรลพรรคประชาธิปัตย์ได้อย่างราบรื่นต่อไป  
   

          ส่วนภาพรวมของพรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งครั้งนี้ คงได้จำนวนที่นั่งส.ส.ทั้งเขตและปาร์ตี้ลิสต์น้อยกว่าการเลือกตั้งครั้งก่อนในปี 2554 ซึ่งได้ทั้งหมดถึง 159 ที่นั่ง เนื่องจากอดีตส.ส.เขตของพรรคประชาธิปัตย์หลายคนย้ายไปอยู่พรรคการเมืองอื่นในการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นอดีต ส.ส. จังหวัดชายแดนใต้ ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ย้ายยกทีมถึง 6 คน ดังนั้นในการเลือกตั้งครั้งมีแนวโน้มสูงอย่างยิ่งว่าพรรคประชาธิปัตย์จะไม่มีส.ส. จังหวัดชายแดนใต้เหลืออยู่เลย ส่วนพื้นที่จังหวัดภาคใต้ที่เหลือก็มีพรรครวมพลังประชาชาติไทยของสุเทพ เทือกสุบรรณ คอยแซะที่นั่ง อีกทั้งในภาคตะวันออกพรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องเสียอดีตส.ส.ของพรรค ชนิดยกภาค ไปให้พรรคพลังประชารัฐถึง 8 คน ในขณะที่ปาร์ตี้ลิสต์ก็ยังคงชูอภิสิิทธิ์  เป็นหัวหน้าพรรคและนายกรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งคงไม่สามารถเรียกคะแนนเสียงให้พรรคได้มากกว่าเดิม เพราะชื่อของอภิสิทธิ์ หากเปรียบเหมือนยี่ห้อสินค้า นาทีนี้ก็ขายไม่ค่อยออกเสียแล้ว 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ