คอลัมนิสต์

อาชญากรรมออนไลน์..ภัยไซเบอร์ที่แรงขึ้นทุกปี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  สายตรวจระวังภัย   โดย...  ทีมข่าวอาชญากรรม


 

          ปัจจุบัน “อาชญากรรมไซเบอร์” มีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี ขณะที่สถาบันการเงินได้หารือกับ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ถึงข้อกังวลเกี่ยวกับข้อมูลลูกค้าที่อาจถูกโจรกรรม ดังนั้นกระทรวงยุติธรรมจึงได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยมอบหมายให้ดีเอสไอบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันแก้ปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์ และให้การดำเนินคดีเป็นไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงป้องกันดักหน้าไม่ให้เกิดอาชญกรรมขึ้นอีก

 


          เกี่ยวกับเรื่องนี้ทางดีเอสไอได้ประชุมร่วม 7 หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อรับมืออาชญากรรมไซเบอร์ปี 2562 อาทิ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สมาคมธนาคารไทย และ กรมประชาสัมพันธ์ 
พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ บอกว่า ที่ผ่านมากองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ ดีเอสไอ ได้สืบสวนสอบสวนคดีอาชญากรรมคอมพิวเตอร์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งแนวโน้มคดีอาชญากรรมต่างๆ มักจะนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดมากขึ้น เพราะสามารถเข้าถึงบุคคลที่เป็นเป้าหมายได้สะดวกรวดเร็ว มีการใช้ระบบเก็บข้อมูลใน Cloud เพื่อการปกปิดแหล่งที่ตั้งของเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย และปิดบังอำพรางตัวตนที่แท้จริง ใช้การชำระเงินผ่านระบบ e-wallet หรือเงินสกุลดิจิทัล เช่น บิทคอยน์ และที่เลวร้ายที่สุดคือประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมโดยไม่รู้ตัว และผู้บริสุทธิ์บางคนเป็นเครื่องมือขององค์กรอาชญากรรม เช่น การถูกแอบอ้างชักชวนให้เปิดบัญชี หรือการทำธุรกรรมทางการเงินเพื่อปกปิดและถ่ายโอนผลประโยชน์ 


          “ที่ประชุมกันเรื่องนี้กับ 7 หน่วยงาน ก็เพื่อผนึกกำลังประสานความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด ในด้านการป้องกันและปราบปรามเว็บไซต์ที่มีพฤติการณ์ดังกล่าว และคุ้มครองประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ ซึ่งจากการหารือได้ข้อสรุปมาตรการปิดกั้นเว็บไซต์ การทำงานเชิงรุกเป็นทีม การตัดโครงข่ายของ กสทช. การเปิดเวทีให้เยาวชนมีส่วนร่วม การควบคุมการให้บริการอินเทอร์เน็ต การตรวจสอบ ISP มาตรการในการควบคุมร้านเกมในการจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้งาน (Log File)” อธิบดีดีเอสไอ ระบุ


          พ.ต.อ.ไพสิฐ บอกด้วยว่า ขอแจ้งเตือนประชาชนถึงรูปแบบการกระทำความผิด และวิธีการป้องกันเพื่อให้รู้เท่าทันอาชญากรรมรูปแบบต่างๆ ในปี 2562 เช่น การซื้อขายสินค้า/บริการ การชำระเงิน การโฆษณาโดยผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ประเภทต่างๆ ที่ไม่มีอยู่จริง (Fraudulent) ประชาชนควรใช้ความระมัดระวัง และตรวจสอบการมีอยู่จริงของผู้ขายสินค้าหรือบริการ หากเกิดความสงสัยหรือไม่แน่ใจต้องทำการตรวจสอบกลับไปยังหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่โดยตรงในการกำกับดูแลการจำหน่ายสินค้า หรือให้บริการประเภทนั้นๆ ก่อนตัดสินใจ, การหลอกลวงให้เข้าเว็บไซต์ปลอมที่ทำเลียนแบบเว็บไซต์จริง (Phishing) เพื่อมุ่งหวังเงิน โดยจะหลอกให้ผู้เสียหายกรอกข้อมูลสำคัญส่วนบุคคล โดยเฉพาะข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางธนาคาร จากนั้นคนร้ายจะนำข้อมูลดังกล่าวไปทำธุรกรรมทางการเงินแทนผู้เสียหาย ดังนั้น ไม่ควรรีบเร่งดำเนินการหรือคีย์ข้อมูลสำคัญ โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการธุรกรรมทางด้านการเงินการธนาคารใดๆ ผ่านช่องทางต่างๆ ที่ไม่น่าไว้ใจ และตรวจสอบความถูกต้องของระบบการทำธุรกรรมเกี่ยวกับการเงินการธนาคารทุกครั้ง อย่าหลงเชื่อการขอข้อมูลธุรกรรมง่ายๆ

 

          ทั้งนี้หากประชาชนมีข้อมูลเบาะแสเกี่ยวกับการกระทำความผิดในลักษณะข้างต้น สามารถติดต่อผ่าน 5 ช่องทาง ดังนี้ 1.การติดต่อด้วยตนเองที่ดีเอสไอ 2.ติดต่อผ่านเว็บไซต์ www.dsi.go.th 3.การยื่นหนังสือที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ 4.ติดต่อผ่านสายด่วนหรือ Call Center 1202 (โทรฟรีทั่วประเทศ) และ 5.การติดต่อผ่านศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษทั้ง 10 เขต โดยข้อมูลเบาะแสที่ประชาชนแจ้งเข้ามาจะถูกเก็บข้อมูลเป็นความลับ
แม้จะมีการจับกุมมากมาย แต่ยังมีผู้เสียหายตกเป็นเหยื่ออยู่ตลอด โดยเฉพาะคดี คอลเซ็นเตอร์ แสร้งรักออนไลน์ แชร์ออนไลน์ แชทหลอกยืมเงิน ฯลฯ ฉะนั้นการระมัดระวังตัวเองไม่หลงเชื่อง่ายๆ น่าจะดีกว่ารอให้เจ้าหน้าที่กวาดล้างอาชญากรไซเบอร์ให้หมด..!! 
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ