คอลัมนิสต์

เขาวงกต "การเมือง" หลังเลือกตั้ง ยังก้าวไม่พ้น

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รายงาน...  โดย...  ขนิษฐา เทพจร สำนักข่าวเนชั่น

 

 

          ในที่สุดการเมืองของประเทศไทยข้ามพ้นปี “หมาหงอย” หลังจากที่ “โรดแม็พเลือกตั้ง” ชัดเจนตามปฏิทินที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 วางเอาไว้

 

          คือ หลังจากที่ “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พ.ศ.2561” มีผลบังคับใช้เมื่อ 11 ธันวาคม 2561 จากนั้นภายใน 150 วัน ต้องถึงคราวจัดการเลือกตั้ง

 

 

          และ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)” เห็นชอบ กับข้อเสนอของ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)” ที่ให้จัดเลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 โดยกระบวนการขณะนี้ได้เข้าสู่การวางระเบียบและขั้นตอนที่นำไปสู่ “วันเลือกตั้ง” ที่ว่าไว้


          อย่างไรก็ดี หลายคนมองว่า “การเลือกตั้ง” หลังการรัฐประหาร เมื่อปี 2557 เป็นเพียงการเผาหลอก เพราะเป็นเพียงการเปลี่ยนผ่าน หาใช่การปรับโฉม!! การเมือง


          แต่ไม่ว่าสถานการณ์นั้นจะมีจุดลงเอยอย่างไรกับมุมมองของนักวิชาการ ที่คร่ำหวอด “วงใน” การเมืองยุครัฐประหาร อย่าง “เจษฎ์ โทณะวณิก" นักวิชาการด้านกฎหมาย อดีตที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)” วิเคราะห์ในปัจจัยที่ส่งผลต่อ “ทิศทางการเมือง” ในยุคปัจจุบัน

 

 

เขาวงกต "การเมือง" หลังเลือกตั้ง ยังก้าวไม่พ้น

เจษฎ์ โทณะวณิก"


          “อ.เจษฎ์” ชี้ในประเด็นความระแวงของสังคมต่อความแคลงใจที่ว่า "การเลือกตั้งปี 2562 จะถูกยอมรับน้อยที่สุด" เพราะ "คณะรัฐประหาร" ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" เป็นผู้ที่มีอำนาจเหนือทุกอย่าง "เขียนกติกาเพื่อตัวเองและพวกพ้อง" แถมยังทำหน้าที่เป็น "ผู้กำกับ" และ วนสถานะ มาเป็น "ผู้เล่นในสนาม"


          “การเลือกตั้งตามที่สังคมมองไว้แบบนั้นต้องแบ่งเป็น 2 ช็อต คือ ก่อนที่จะมีพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ประกาศวันเลือกตั้ง และหลังมี พ.ร.ฎ. ซึ่งกรณีช็อตแรกที่ถูกมองโยงกับพรรคพลังประชารัฐว่าเป็นพรรคการเมืองของคสช. ที่ได้เปรียบในเชิงพื้นที่ หาเสียงได้ล่วงหน้า และได้รับประโยชน์แซงหน้าพรรคการเมืองอื่น นี่เป็นเพียงมุมมองที่คอการเมืองไม่สามารถยอมรับได้ เพราะออกสตาร์ทกันแบบทิ้งหลายช่วงตัว แต่อย่าลืมว่านี่เป็นเพียงมุมมอง ที่เมื่อมี พ.ร.ฎ.แล้วพวกนี้อาจจะถูกละไว้”




          ขณะที่หลังมี พ.ร.ฎ.แล้ว นี่แหละคือจุดชี้วัดสำคัญว่าการเลือกตั้งจะเป็นที่ยอมรับหรือไม่!!


          อดีตผู้มีส่วนร่วมเขียนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มองว่ามีอย่างน้อย 3 ปัจจัย คือ 1.การใช้อำนาจของ “คสช.” ที่ต้องลดบทบาทและถอยห่างจากการเลือกตั้งไม่วางอำนาจเหนือองค์กรที่มีหน้าที่ใดๆ 2.กลไกของรัฐ ภายใต้กำกับของรัฐบาลที่ยังมีอำนาจเต็ม ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ นั่งแท่นบัญชาการ ต้องไม่ถูกใช้เพื่อเป็นเครื่องมือแสวงหาประโยชน์ทางการเมืองให้กับฝ่ายใด รวมถึงต้องไม่ถูกใช้เพื่อเป็นเครื่องกีดขวางของการใช้สิทธิ์ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งของประชาชน ตามที่รัฐธรรมนูญให้สิทธิไว้ และ 3.การทำหน้าที่ของ “กกต.” ที่ต้องปล่อยให้กลไกขององค์กรอิสระมีอิสระในการทำงาน


          ส่วนประเด็นที่ “พล.อ.ประยุทธ์” จะยอมถูกพรรคการเมืองเสนอในบัญชีบุคคลที่พรรคสนับสนุนเป็นนายกฯ ยิ่งเป็นจุดสร้างคำครหาที่สำคัญ ซึ่ง “อ.เจษฎ์” มองว่าจะสร้างความประจักษ์ชัดเจนยิ่งกว่าสถานการณ์ก่อนหน้านั้นที่ยังไม่ประกาศตัว และอาจเป็นอีกแง่มุมที่ทำให้การเลือกตั้งยิ่งยอมรับได้ยาก


          แต่ทางออกจากเรื่องนั้นยังมี เพียงแค่ “พล.อ.ประยุทธ์” ไม่ดื้อตาใส ปฏิบัติหน้าที่ที่ตามรัฐธรรมนูญบทหลัก รวมถึงไม่ใช้อำนาจที่ถูกตั้งข้อกังขา และหลายคนครหา!!

 

 

เขาวงกต "การเมือง" หลังเลือกตั้ง ยังก้าวไม่พ้น

ไพลิน ภู่จีนาพันธุ์

 


          ในอีกมุมมองของนักวิชาการด้านการเมืองการปกครองและนักวิจัยการเมืองพื้นที่ภาคเหนือ “ไพลิน ภู่จีนาพันธุ์" หัวหน้าสำนักวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่” มองภาพอนาคตการเมืองไทย ผ่านความเคลื่อนไหวการเมืองในพื้นที่ว่า ต้องมี 3 ปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง คือ 1.รัฐบาล 2.พรรคการเมือง และ 3.ประชาชน


          “หลังการเลือกตั้ง สถานการณ์การเมืองไทยจะเป็นอย่างไร ยังเดายาก เพราะต้องมีรายละเอียดและปัจจัยอีกหลายอย่างที่ต้องใช้เป็นบทวิเคราะห์ของสถานการณ์ แต่สิ่งที่เห็นในเบื้องต้นจากกติกาทางการเมือง ยังคงเป็นกติกาที่วางอยู่บนฐานของการต่อรอง”


          อย่างไรก็ดีแม้การเมืองภาวะปัจจุบันจะมีภาพของการต่อรอง แต่สิ่งที่จะเป็นจุดชี้ว่าการต่อรองจะเกิดขึ้นเพื่ออะไร และนำไปสู่อะไรนั้น คือ “การตัดสินใจของภาคประชาชน หรือผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง”


          “ในพื้นที่เชียงใหม่ และพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ยอมรับว่ามีความตื่นตัวกับการเลือกตั้งที่จะมาถึงอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเป็นครั้งแรก วัยนักศึกษาและวัยที่เติบโตมากับยุคของการกระจายอำนาจ ความตื่นตัวที่ว่าคือ การให้ความสนใจต่อรายละเอียดและข้อมูลของการเมือง พรรคการเมือง นโยบายที่มีความหมายต่อชีวิต เป็นหลักประกันและความมั่นคงในอาชีพ รวมถึงติดตามข้อมูล และรู้จักนักการเมือง รวมถึงพรรคการเมืองมากขึ้น”


          แต่การรับรู้ข้อมูลยังไม่ใช่ทิศทางที่ชี้ได้ว่า “การลงคะแนนเลือกตั้งนั้นจะมีคุณภาพ” เพราะนักวิชาการด้านการเมืองจากหัวเมืองเหนือมองว่ามีรายละเอียดที่ซับซ้อนไปกว่านั้น ทั้งเรื่องการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่สื่อโซเชียลมีเดีย เข้าไปมีอิทธิพลต่อการรับรู้ข้อมูล–ข่าวสาร และเนื้อหาเกี่ยวกับการเมือง รวมถึงบทบาทของ “พรรคการเมือง” ทั้งก่อนและหลังเลือกตั้ง


          ซึ่งจากบทบาทที่เกิดขึ้นกลายเป็นความหวั่นใจที่อาจจะมีตัวแปรทำให้การเลือกตั้งรอบนี้เต็มไปด้วยความวุ่นวาย สับสน และขัดแย้ง


          ตัวแปรแรก ที่ “นักวิชาการ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่” มอง คือ กติกาที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งและการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งพรรคการเมืองปรับยุทธศาสตร์ และแนวทางการหาเสียงไปจากรูปแบบเก่า ซึ่งจากการจับจ้องของทุกฝ่าย อาจทำให้การหาเสียงแทนที่จะนำเสนอนโยบายหรือพูด หรือปราศรัย ได้อย่างไม่ต้องกังวล กลับพลิกมุมว่า ระวังตัวไม่ให้การหาเสียงรูปแบบที่เคยทำได้ เข้าข่ายผิดกฎหมาย

 

 

เขาวงกต "การเมือง" หลังเลือกตั้ง ยังก้าวไม่พ้น


          ตัวแปรสอง คือ สื่อใหม่ที่มีอิทธิพลต่อการรับข้อมูลข่าวสารของ “นิวโหวตเตอร์” ในภาวะที่ใครๆ ล้วนเป็นสื่อได้ ทำให้พฤติกรรมการนำเสนอและกระจายข่าวสารเป็นไปในลักษณะที่ใช้การคิดวิเคราะห์และแยกแยะน้อยลง ทั้งที่การเมืองและการตัดสินใจต้องใช้ข้อมูลเพื่อประมวลและเปรียบเทียบ


          และตัวแปรสุดท้าย คือ การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับระบบเลือกตั้งแบบใหม่ ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ซึ่งต่างจากการออกเสียงรูปแบบเก่า และกรณีกติกากำหนดให้ผู้สมัครของพรรคเดียวกัน แต่ต่างเขตต้องใช้หมายเลขคนละเบอร์ ทำให้กลายเป็นความสับสน


          “หากผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งสับสนเพราะไม่เข้าใจข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้ง อาจส่งผลให้การลงคะแนนเลือกตั้งเป็นการออกเสียงที่ไม่มีคุณภาพได้ และผลการเลือกตั้งนั้นอาจถูกตั้งคำถามว่าเป็นไปตามความต้องการจริงหรือไม่”


          อย่างไรก็ตามสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันอาจจะคาดเดาถึงผลหลังการเลือกตั้งไม่ได้ชัดเจนขณะนี้ แต่ “อ.ไพลิน” มีความคาดหวังว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้น และกติกาทางการเมืองได้รับการยอมรับเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นจุดก้าวข้ามความขัดแย้ง


          กับอีกมุมมองในประเด็นเดียวกันจาก “นักปฏิรูปการเมือง” อย่าง “เสรี สุวรรณภานนท์” อดีตประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง แม้จะเรียกว่าเป็นผู้ใกล้ชิดในเครือข่ายแม่น้ำ 5 สาย แต่เมื่อถามถึงการเมืองหลังเลือกตั้งยังเป็นจุดที่เดายาก เพราะเดาไม่ออกถึงการตัดสินใจและการออกเสียงเลือกตั้งของประชาชน

 

 

เขาวงกต "การเมือง" หลังเลือกตั้ง ยังก้าวไม่พ้น

เสรี สุวรรณภานนท์

 


          “ในแนวคิดของการปฏิรูปการเมืองจริงๆ ต้องการให้การเลือกตั้งนั้นสร้างประโยชน์ให้แก่ประชาชนและประเทศมากที่สุด บนฐานของการแข่งขันเลือกตั้งที่ใช้เหตุและผล ยึดกติกา และข้อกฎหมายเป็นหลัก แต่ในสถานการณ์การเมืองปัจจุบันพบว่ามีมิติทางการเมืองที่ลึกพอสมควร ทั้ง การแข่งขัน ต่อสู้บนพื้นฐานของปัญหาที่แตกแยก และวุ่นวาย”


          ขณะที่การวางกลไกไว้ในกติกาสูงสุดของประเทศที่ถูกกำหนดให้ “สมาชิกวุฒิสภา” มีส่วนร่วมเลือก “นายกฯ” ประเด็นนี้ ถือเป็นจุดชี้เป็น-ชี้ตาย ของการเมืองไทยหลังเลือกตั้งหรือไม่? “เสรี” บอกว่า ไม่ใช่ปัจจัยทั้งหมด เพราะแม้หลังเลือกตั้ง การเลือกนายกฯ ที่ประกอบด้วยเสียงข้างน้อยในสภา บวกกับเสียงส่วนใหญ่ใน ส.ว. 250 คน เลือกนายกฯ ได้ แต่ปัจจัยการบริหารราชการแผ่นดินจำเป็นต้องใช้เสียงสนับสนุน


          “ผมมองว่าการเมืองหลังเลือกตั้งหากไม่นับคะแนนเลือกตั้งแล้ว สิ่งที่ชี้ชัดได้คือ การร่วมมือและสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งผมมั่นใจว่าเพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง ต้องมีการเจรจาร่วมกัน”


          แต่ในท้ายสุดของสถานการณ์การเมืองหลังเลือกตั้งไม่ว่าจะลงเอยยังไง บนโรดแม็พแบบไหน เชื่อว่าคงก้าวพ้นกรอบของการทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวไปสู่ “ประโยชน์ส่วนรวม” ได้ยาก หากยังใช้ทฤษฎีและแนวปฏิบัติเดิม ที่เกมการเมืองยังเป็นเรื่องของการแย่งชิงและการปฏิรูปการเมืองที่ถูกเซตไว้บนอุดมคติของ “คสช.” และเครือข่าย ในเชิงประจักษ์แล้ว ไม่มีทางเกิดขึ้นได้จริง

 

          “การที่ พล.อ.ประยุทธ์ ยอมให้พรรคการเมืองเสนอในบัญชีสนับสนุนเป็นนายกฯ จะสร้างความประจักษ์ชัดเจนยิ่งกว่าสถานการณ์ก่อนหน้านั้นที่ยังไม่ประกาศตัว และอาจเป็นอีกแง่มุมที่ทำให้การเลือกตั้งยิ่งยอมรับได้ยาก”  "เจษฎ์ โทณะวณิก"

 

 

          “อาจจะมีตัวแปรทำให้การเลือกตั้งรอบนี้เต็มไปด้วยความวุ่นวาย สับสน และขัดแย้งคือ 1. กติกาของกกต.ที่พรรคการเมืองต้องปรับการหาเสียง 2.สื่อใหม่ที่มีอิทธิพลต่อนิวโหวตเตอร์ และ 3.ระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ที่แตกต่างออกไป”  “ไพลิน ภู่จีนาพันธุ์"

 

 

          “ในสถานการณ์การเมืองปัจจุบันพบว่ามีมิติทางการเมืองที่ลึกพอสมควร ทั้งการแข่งขัน ต่อสู้บนพื้นฐานของปัญหาที่แตกแยก และวุ่นวาย” “เสรี สุวรรณภานนท์”

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ