คอลัมนิสต์

"ประชาชน" คือ คำตอบ เลือกตั้ง62 "ไม่ขัดแย้ง"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รายงาน...   โดย...ขนิษฐา เทพจร สำนักข่าวเนชั่น

 

 

          ตอนนี้ หลักเกณฑ์และวิธีการหาเสียงเลือกตั้ง ตามที่ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)” กำหนดตามกรอบที่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ฉบับล่าสุด ให้อำนาจ ยังไม่คลอด ! แม้จะผ่านวงรับฟังความเห็นของ “ฝ่ายการเมือง” ไปแล้ว

 

 

          ทำให้ ยังเดาหน้าตาว่า “กรอบของการหาเสียง” ในยุค 4.0 จะมีประเด็นใดน่าสนใจบ้าง


          หากยึดตามบทกำหนดตามกฎหมาย สิ่งที่ชัดเจนคือ การห้ามหาเสียง ผ่านวิธีการ “สาดโคลน” - ใส่ร้าย คู่แข่งและพรรคการเมืองอื่น รวมถึงใช้วิธีล่อลวง หรือ จูงใจ ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ด้วยการทำให้เข้าใจผิด


          นั่นหมายถึง.... กรอบปฏิบัติใหญ่ ยังคงเหมือนเดิม แต่ในยุคที่หลายฝ่ายจับจ้อง อิทธิพลจากกระแสโซเชียลมีเดีย และการแข่งขันชิงคะแนนเสียง ห้วงเดือนเศษก่อนถึงวันหย่อนบัตร ถือเป็น ห้วง “สงครามข่าวสาร” ที่หลายคนประเมินว่าสุ่มเสี่ยง นำไปสู่ หุบเหวของความขัดแย้ง!! และไม่ตอบโจทย์การปฏิรูปการเมือง


          ซึ่งมุมของ "นักปฏิรูปการเมือง - เสรี สุวรรณภานนท์" อดีตประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ มองว่าการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองมีความคืบหน้าต่อเนื่อง แต่เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่บรรยากาศทางการเมือง ห้วงชิงคะแนนนั้น เป็นเพียงปรากฏการณ์ของสงครามน้ำลาย!


          “เป็นธรรมชาติการเลือกตั้ง อะไรที่ตัวเองได้ประโยชน์ก็พ่นออกมา อะไรที่ทำให้คนอื่นเสียประโยชน์ก็พูด ซึ่งเป็นพฤติกรรมหาเสียงที่เกิดขึ้นในทุกประเทศ กรณีที่บอกว่าบางพรรคออกตัวไปก่อน พรรคอื่นตามทีหลัง คือ ยังไม่ได้มองสภาพการเมืองที่แท้จริง ที่ว่าคนที่จะเป็นนักการเมืองต้องเตรียมตัว เดินลงพื้นที่ต่อเนื่อง ไม่ใช่ทำตอนใกล้เลือกตั้ง”




          แต่ในประเด็นที่สังคมวิจารณ์ถึง จังหวะออกนำของ “พรรคพลังประชารัฐ” ฐานะ “พรรครัฐบาล” ก่อนใครเพื่อน ทำให้เป็นภาพของการได้เปรียบทางการเมือง ที่อาจนำมาสู่จุดแตกหัก ของการไม่ยอมรับผลเลือกตั้ง แต่ “เสรี” ให้ความเห็นส่วนตัวว่า อย่าโทษกันว่าใครหาเสียงก่อนแล้วได้เปรียบ เพราะจากประสบการณ์ที่เคยตั้งพรรคการเมืองทำให้รู้ซึ้งว่า การได้คะแนนเพียง 1 แต้ม ไม่ใช่เรื่องง่าย


          “กว่าจะได้สักแต้มไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นคนที่ลงสมัครรับเลือกตั้งอย่างน้อยต้องอาศัยคุณงามความดี เสียสละ ช่วยเหลือสังคม ดูแลพื้นที่ แต่ยอมรับบางคนที่เกิดในตระกูลการเมือง ได้อานิสงส์จากครอบครัวที่สะสมความเชื่อถือจากพื้นที่ จึงได้เปรียบคนอื่น แล้วแบบนี้จะเรียกว่าสิ่งที่เขาสร้างมาก่อน จะทำให้เกิดความได้เปรียบกับคนที่เพิ่งลงสมัคร ส.ส.เป็นครั้งแรกหรือไม่ ? และยิ่งบอกว่าจะใช้เงินซื้อเสียง ยุคนี้ทำได้ยากมาก เพราะกติกาเข้มงวด และการตรวจสอบเข้าถึง”


          ดังนั้นเมื่อมีกรอบจำกัด และการหาเสียงสามารถทำได้ หลัง “คสช.” ปลดล็อกคำสั่ง สิ่งที่ “นักปฏิรูปการเมือง” มองในตอนนี้ คือ ปล่อยให้การหาเสียงเป็นไปตามธรรมชาติ แม้จะใช้วาทกรรมเพื่อโจมตีกัน แต่อย่าผิดกฎหมาย อย่าพูดเรื่องเท็จ ขณะที่การนำเสนอนโยบายต้องเป็นรูปธรรม ไม่ใช่นำเสนอแต่สิ่งเพ้อฝันหลอกลวงชาวบ้าน


          แต่ในอีกมุมมองต่อประเด็นเดียวกัน จากนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ "ไพลิน ภู่จีนาพันธุ์” หัวหน้าสำนักวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มองบรรยากาศหาเสียงระดับท้องถิ่น โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ถิ่นที่มั่นของ “พรรคเพื่อไทย” และคนที่ยังศรัทธา “ทักษิณ ชินวัตร”


          “พื้นที่เชียงใหม่ ผู้สมัคร ส.ส. ยังเป็นคนเดิม เป็นอดีต ส.ส. และเป็นผู้มีประสบการณ์เกี่ยวกับเลือกตั้ง ดังนั้นด้วยระบบเลือกตั้งแบบใหม่ ทำให้การหาเสียงจะยังยึดที่ตัวบุคคลเป็นหลัก ส่วนสถานการณ์หาเสียงตอนนี้ยอมรับว่ามีทั้งเกมบนดิน และใต้ดิน แต่การตัดสินใจของประชาชนในพื้นที่จากลงพื้นที่พูดคุย เขายังไม่แสดงท่าทีชัดเจน สิ่งสำคัญคือ รอดูนโยบายใหม่จากรัฐบาล คสช. ว่าจะประกาศหรือมีอะไรออกมาอีก”


          นั่นหมายความว่า การต่อสู้และการตัดสินใจเลือกผู้แทนฯ ยังขึ้นอยู่กับ นโยบายรัฐบาล แล้วแบบนี้ คำวิจารณ์ที่ว่า ความได้เปรียบของ “พรรคเครือข่ายรัฐบาล” มีอยู่จริงและทรงอิทธิพลต่อการตัดสินใจของประชาชนหรือ ???


          แต่ “อ.ไพลิน” กลับมองคนละมุม เพราะทัศนะของผู้มีสิทธิเลือกตั้งยังคงยึดกรอบวัฒนธรรมและความคิดแบบเก่า ที่ใช้ความรู้สึก “สงสาร” และ แรงผลักดันทางอารมณ์นำ


          “หาเสียงไปก่อน ไม่ใช่ผลดี เพราะจะถูกใช้เป็นประเด็นตีกลับ อย่างพื้นที่ภาคเหนือตอนบน เป็นสังคมขี้สงสาร เห็นอกเห็นใจ คนที่ถูกรังแก หรือคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ดูได้จาก กรณีเลือกตั้งที่คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลงสมัคร เขาใช้กลยุทธ์หาเสียงตอนหนึ่งว่า ถูกรังแก ซึ่งคนให้ความสงสาร และเห็นอกเห็นใจ ดังนั้นแม้ยุคสมัยเปลี่ยนไป แต่ระบบคิดยังเป็นแบบดั้งเดิม”


          และสถานการณ์ในพื้นที่เชียงใหม่และภาคเหนือตอนบน ตามที่ “อ.ไพลิน” บอก คือ มีกลยุทธ์ของนักการเมือง ที่เข้าหาประชาชน แต่ทำงานแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะถูกควบคุม !!


          หากสถานการณ์ที่เป็นอุปสรรค ถูกปลดล็อก !! ใช่ว่า “นักเลือกตั้ง” จะสามารถใช้กลยุทธ์ทุกอย่างเพื่อเร่งโกยคะแนนนิยมได้ เพราะมีปัจจัยและภาวะอึมครึม ซึ่ง “นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ม.เชียงใหม่” ประเมินว่าการหาเสียงจะระวังตัวกันมาก เพราะระแวงว่าจะเข้าข่ายผิดกฎหมาย และในภาวะที่สื่อโซเชียลมีเดียเข้าถึงทุกที่ ขณะที่นำเสนอนโยบายของฝ่ายการเมืองจะทำได้ไม่เต็มที่เช่นกัน เพราะความกลัวถูกจับผิด


          และด้วยอิทธิพลของสื่อโซเชียลมีเดียที่มีบทบาทสำคัญต่อการหาเสียงรอบนี้ "อรรถสิทธิ์ พานทอง" นักวิชาการรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหัวหน้านักวิจัย ศูนย์ข้อมูลการเมืองไทย เชื่อว่าจะมีคนนำไปใช้ในรูปแบบที่เป็นกลุ่มผู้สนับสนุนมากกว่า “ตัวพรรค” จัดเอง


          “การหาเสียง คือ การโฆษณา และโซเชียลมีเดียคือสิ่งที่เข้าถึงคนมากขึ้น แต่ที่สำรวจข้อมูลพบว่าข่าวสารจะเผยแพร่และกระจายไปทางแฟนเพจ ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนของพรรคการเมือง มากกว่าพรรคการเมืองทำเอง และเป็นความกังวลว่า กรณีที่ใช้ช่องทางออนไลน์โจมตีกัน ขณะที่พรรคอ้างว่าไม่มีส่วนรู้เห็น ไม่รับผิดชอบ แม้สิ่งที่ทำจะไม่ถึงขั้นนำไปสู่ภาวะความขัดแย้ง แตกแยก แต่ควรหาแนวทางที่เป็นทางออกร่วมกันว่าจะมีมาตรการอย่างไร และให้การหาเสียงผ่านช่องทางออนไลน์ของพรรคการเมืองเป็นสิ่งที่เชื่อถือได้ และเกิดประโยชน์ต่อการเลือกตั้ง”


          อย่างไรก็ดี ในภาวะที่ได้ยินการรณรงค์ให้เลือกข้าง “ประชาธิปไตย – สืบทอดอำนาจ” ทำให้กลายเป็นคำถามใหญ่ ว่า นี่จะนำไปสู่การแบ่งขั้ว เลือกข้างทางการเมือง และสร้างความขัดแย้งหรือไม่ โดย “อรรถสิทธิ์” เชื่อว่าเพียงแค่การใช้วาทกรรมรณรงค์อาจไม่ใช่เหตุใหญ่ของความขัดแย้งทางการเมือง เพราะปัจจัยที่แท้จริงของความกังวลคือ การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมหรือไม่


          "ที่กลัวว่าผลเลือกตั้งออกมาแล้วจะไม่ยอมรับ กลายเป็นขัดแย้งลุกลาม ผมมองว่าทุกคนต้องเรียนรู้ ความแพ้ หรือ ได้ชัยชนะจากการแข่งขัน ขณะเดียวกันผู้ทำหน้าที่กรรมการ อย่าง กกต. ต้องทำให้การเลือกตั้งมีความเท่าเทียม เสรีและเป็นธรรม ไม่ทำให้ประชาชน หรือพรรคการเมืองมองว่านี่เป็นการเลือกตั้งที่สกปรก หรือไร้ความเท่าเทียม รวมถึงต้องใช้ปัจจัยภายนอกเกื้อหนุน คือ การให้องค์กรภายในประเทศและต่างประเทศสังเกตการณ์การเลือกตั้งได้


          และในบทส่งท้ายของความกังวลต่อการเลือกตั้ง ที่ใกล้ระเบิดศึกหาเสียงเลือกตั้ง นักวิชาการทั้ง 3 คนเห็นตรงกันอย่างหนึ่งว่า การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น แม้จะเป็นสิ่งที่เดิมพันการเปลี่ยนผ่านประเทศ แต่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างราบรื่นคือ ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง ที่ต้องใช้วิจารณญาณ ตรึกตรองข้อมูลให้รอบด้าน และอย่าใช้อารมณ์กับการเลือกตั้งครั้งปี 2562 นี้

 

          “กว่าจะได้สักแต้มไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นคนที่ลงสมัครรับเลือกตั้งอย่างน้อยต้องอาศัยคุณงามความดี เสียสละ ช่วยเหลือสังคม ดูแลพื้นที่"  "ไพลิน ภู่จีนาพันธุ์”

 

 

          "ที่คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้รับเลือก ใช้กลยุทธ์หาเสียงตอนหนึ่งว่า ถูกรังแก คนสงสาร เห็นอกเห็นใจ แม้ยุคสมัยเปลี่ยนไป แต่ระบบคิดยังเป็นแบบดั้งเดิม”  "อรรถสิทธิ์ พานแก้ว"

 

 

          "ควรหาทางออกร่วมกันว่าจะมีมาตรการอย่างไร ให้การหาเสียงผ่านช่องทางออนไลน์ของพรรคเป็นสิ่งที่เชื่อถือได้ และเกิดประโยชน์ต่อการเลือกตั้ง”  "เสรี สุวรรณนานนท์"

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ