คอลัมนิสต์

โบนัสตกงาน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โบนัสตกงาน : คอลัมน์...  กระดานความคิด  โดย... บางนาห้าสิบหก 


 

          น่าเห็นใจเป็นอย่างยิ่งและน่าเสียดายเป็นอย่างมาก สำหรับ “มนุษย์เงินเดือน” ทั้งหลายที่ต้องออกจากงานทั้งด้วยความสมัครใจ และความจำเป็นบางประการ

 

          ที่น่าเห็นใจเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะบางคนผู้ไม่พร้อมที่จะตกงาน แต่ถูกเลือกแล้วด้วยเหตุนานาประการของนายจ้าง อย่างที่เรียกกันว่า “จิ้ม” ซึ่งก็มีความน่าเสียดายเป็นอย่างมากตามมา เพราะเงินชดเชยที่ได้รับตามกฎหมายเลิกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฉบับเดิมนั้นกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายชดเชยให้ลูกจ้างไม่น้อยกว่า 300 วัน หรือ 10 เดือน 

 


          ที่เห็นเป็นข่าวเลิกจ้างเมื่อเร็วๆ นี้ ระบุไว้ด้วยว่า มี “ค่าตกใจ” ที่บอกกล่าว(สะกิด)กันกระชั้นชิด ไม่ทันเตรียมตัวและเตรียมใจ  

 

          แต่ถึงอย่างไร ค่าตกใจ ที่เป็นการแสดงความเห็นใจกันนั้น ถือเป็นน้ำใจอันดีของนายจ้างที่หยิบยื่นให้ลูกจ้างซึ่งต้องลาจากกันด้วยดี 

 

          แต่ในความ(น่าจะเป็น)จริงแล้ว มนุษย์เงินเดือนที่กำลังตกที่นั่งลำบากในเวลานี้ควรจะได้รับประโยชน์จากกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ ซึ่งกำหนดการจ่ายชดเชยเลิกจ้างโดยไม่มีความผิดเอาไว้ที่ 400 วัน หรือ 13 เดือน


          แต่ก็หลุดลอยไปอย่างน่าเสียดาย เพราะกฎหมายยังไม่คลอดออกมา ทั้งๆ ที่บรรดาลูกจ้างทั้งหลายตั้งตาคอย วันแล้ววันเล่า ถามก็แล้วทวงก็แล้ว แต่ดูเหมือนจะมีคนทำตัวเหมือนพวกเหนียวหนี้แทนนายจ้าง


          อีกกลุ่มที่น่าเสียดายเป็นอย่างมากก็คือ กลุ่มลูกจ้างที่ตามข่าวบอกว่า เป็นคนเก่า(คนแก่) และพร้อมใจเกษียณ

 

          ลูกจ้างกลุ่มนี้ ได้รับความคุ้มครองในฐานะที่ถูกจำกัดความว่า “เกษียณเท่ากับเลิกจ้าง” ในกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับเดิมมาอยู่แล้ว คือได้รับเงินชดเชย 300 วัน หรือ 10 เดือน 


          ถ้าพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ผ่าน สนช. และประกาศในราชกิจจาฯ ทันในช่วงนี้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อลูกจ้าง พนักงาน มนุษย์เงินเดือนทั้งหลายจำนวนมหาศาล


          ทั้งกลุ่มที่โดนจิ้ม และกลุ่มที่เกษียณ(ตามข้อตกลงกับนายจ้าง) 

 

 



          โดยเฉพาะบรรดาลูกจ้างที่อยู่ในสถานประกอบการประเภท “ขาลง” ที่นับวันกิจการรอเวลาลาโรง


          การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ทางเทคโนโลยีของโลก เปรียบเสมือนโคตรสึนามิกวาดล้างโลกยุคเก่า


          ในทุกๆ วัน อาจมีสถานประกอบการเล็กบ้างใหญ่บ้างปิดตัวลง การเลิกจ้างย่อมเกิดขึ้น


          ในทุกๆ วัน มีคนที่เกษียณอายุงานในภาคเอกชนจำนวนไม่น้อย


          หลายๆ คน หรืออาจจะเป็นส่วนใหญ่เสียด้วยซ้ำ ที่เกษียณ(นายจ้างไม่จ้างต่อ)จัดอยู่ในจำพวก “แก่ก่อนรวย”


          ซึ่งในอนาคต บางคนอาจต้องไปต่อแถวกดเอทีเอ็มรับเงินช่วยเหลือจากรัฐอยู่ด้วยเหมือนกัน


          ถ้าหากพวกเขาจะได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายใหม่เพิ่มอีก 100 วัน หรือ 3 เดือน ก็จะช่วยผ่อนภาระให้หนักเป็นเบา


          ประชานิยมช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยช่วงปลายปีนี้ มีมากมายหลายมาตรการ ทั้งที่ช่วยลดภาระค่าครองชีพในด้านต่างๆ ทั้งที่แจกจ่ายกันตรงๆ ไม่อ้อมค้อม ล้วนแต่เป็นการหยิบยื่นให้ชั่วครั้งคราว โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ แม้จะได้รับการช่วยเหลือหลายด้าน เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าเดินทางไปสถานพยาบาล แต่มันจะดีกว่าหรือเปล่า สำหรับคนที่กำลังจะเกษียณในช่วงเวลานี้ แล้วได้รับเงินชดเชยเพิ่มขึ้นตามกฎหมาย


          มีคำยืนยันมาจากทาง สนช.ว่า ถึงอย่างไรก็จะเปิดไฟเขียวร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.... อย่างไม่ต้องสงสัย

 

          ที่ว่าจะมีข้อสงสัยนั้นก็เพราะว่า ก่อนหน้านี้มีผู้ประกอบการบางรายเสนอความเห็นเข้าไปว่า จำนวนเงินชดเชยที่เพิ่มขึ้นเป็น 13 เดือนนั้น จะกระทบต่อผู้ประกอบการ


          แต่ถึงอย่างไร ในคณะกรรมาธิการของ สนช. ล้วนเห็นพ้องต้องกันกับร่างกฎหมายฉบับนี้ ฝ่ายลูกจ้างนั้นยินดีอยู่แล้ว ส่วนฝ่ายนายจ้างก็ไม่ขัดข้อง


          อย่างที่พูดกันว่า ทำงานร่วมกันมานมนานถึง 20 ปี จ่ายชดเชยให้แค่นี้ ขนหน้าแข้งไม่ร่วง เป็นกติกาใหม่ที่แฮปปี้กันทั้งนายจ้างลูกจ้าง

 

          และคงจะไม่มีสถานประกอบการแห่งใดใจไม้ไส้ระกำ 


          ฉวยจังหวะที่ สนช.กำลังจะทำคลอดกฎหมายใหม่ ปฏิบัติการโหด ชิงจิ้มลูกจ้างออกเสียก่อน


          เพียงเพราะคิดเล็กคิดน้อยกับเงินชดเชยแค่ 3 เดือน


          แต่ที่แน่ๆ คือ กิจการประเภทขาลงทั้งหลายก็จะทยอยเลิกจ้างกันไม่หยุดหย่อน


          มีข่าวล่าสุดแจ้งมาว่า สนช.จะพิจารณาในวันนี้(13 ธ.ค.) 


          ถึงผ่านแล้ว ยังต้องรอประกาศในราชกิจจาฯ บังคับใช้กฎหมาย แต่คำว่า “ผ่านสภา” ก็ทำให้ลูกจ้างได้อุ่นใจ เหมือนได้คำมั่นสัญญาว่า จะมีโบนัสให้ลูกจ้างส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 


          หรือเลยไปสักเดือนสองเดือน เป็นแตะเอีย ตรุษจีน ก็ยังดี...คงไม่เป็นไร


          ถือเสียว่า เป็นโบนัสให้คนตกงาน(แม้ว่าจะช้าไปแล้ว)
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ