คอลัมนิสต์

เสียงสะท้อนจากคน"ลำน้ำยัง"ถึงการบริหารจัดการที่ต้องทบทวน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เสียงสะท้อนจากคน"ลำน้ำยัง"ถึงการบริหารจัดการที่ต้องทบทวน : รายงาน  โดย...  สิริศักดิ์ สะดวก  ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน

 


          ปรากฏการณ์ “น้ำท่วม” ในจังหวัดภาคอีสาน ทำให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำหลายครัวเรือนต้องคอยเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง 

          หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องต่างๆ ต้องคอยประกาศเตือนให้ราษฎรเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมที่มาได้หลากหลายรูปแบบ เช่น น้ำไหลหลาก ท่วมฉับพลัน ค่อยๆ เอ่อท่วม และท่วมขัง เป็นต้น 

          แต่ไม่ว่าจะมาในรูปแบบไหนก็ย่อมสร้างความเดือดร้อนแก่ชาวบ้านได้เสมอ บางพื้นที่ถนนหนทางถูกตัดขาด ชาวบ้านติดต่อโลกภายนอกไม่ได้ ในขณะที่เรือกสวนไร่นา รวมทั้งบ้านที่อยู่อาศัยครึ่งหนึ่งจมอยู่ใต้น้ำ 

          ทว่าทั้งหมดนี้จะไปโทษฟ้าโทษฝนอย่างเดียวคงไม่ได้ แต่ต้องย้อนกลับมาดูการบริหารจัดการน้ำที่หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นผู้กำหนด

          เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา ลำน้ำในภาคอีสานที่มีสื่อหลายสำนักให้ความสนใจมากก็คือ “ลำน้ำยัง” ซึ่งเกิดปรากฏการณ์น้ำไหลหลากกัดเซาะพนังขาดบริเวณบ้านท่าเยี่ยม ต.วังหลวง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด 

          ผลจากเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้พื้นที่การเกษตรหลายพันไร่ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ซ้ำรอยเมื่อปี 2560 ช่วงเดือนเดียวกัน ที่เกิดอุทกภัยน้ำไหลหลากกัดเซาะพนังกั้นน้ำขาดที่บริเวณนี้ถือเป็นปัญหาซ้ำซ้อนที่เกิดขึ้นภายใน 2 ปี ในบริเวณห่างกันเพียง 100 เมตร

 

เสียงสะท้อนจากคน"ลำน้ำยัง"ถึงการบริหารจัดการที่ต้องทบทวน

 

          “ลำน้ำยัง” เป็นสาขาของแม่น้ำชี ครอบคลุมพื้นที่ อ.เขาวง อ.ห้วยผึ้ง อ.นามน อ.กุฉินารายณ์ อ.สมเด็จ กิ่ง อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ อ.โพนทอง อ.เมยวดี อ.หนองพอก อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด อ.ทรายมูล อ.เมืองยโสธร จ.ยโสธร มีพื้นที่ลุ่มน้ำ 4,145 ตร.กม. หรือ 2,590,625 ไร่ คิดเป็น 8.38 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ลุ่มน้ำชี พื้นที่ลุ่มน้ำประกอบด้วย พื้นที่ป่าไม้ 640,819 ไร่ พื้นที่แหล่งน้ำ 33,409 ไร่ พื้นที่การเกษตร 1,818,146 ไร่ พื้นที่ชุมชนและอื่นๆ 98,252 ไร่

 

        จารุวัฒน์ แสงทะมาตร์ ชาวบ้านท่าเยี่ยม ต.วังหลวง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด เล่าว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา เสร็จสิ้นจากการทำนาบางคนออกหาปลา บางคนก็ไปหางานทำต่างจังหวัด พอมีรายได้จากการว่างเว้นก่อนเข้าฤดูเกี่ยวข้าวอยู่บ้าง


          ชาวบ้านวัย 47 ปี ผู้นี้บอกว่า ลำน้ำยังช่วงบริเวณบ้านท่าเยี่ยมเป็นลักษณะคุ้งน้ำ ช่วงฤดูน้ำหลากน้ำจะเอ่อล้นตลิ่งไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร บางปีก็ได้เก็บเกี่ยว บางปีก็ไม่ได้เก็บเกี่ยวเพราะถูกน้ำท่วม เมื่อก่อนชาวบ้านรุ่นปู่รุ่นย่าก็พากันออกแบบทำคูกั้นตลิ่งช่วงประมาณปี 2518 เพื่อไม่ให้น้ำจากลำน้ำยังเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร แต่คูกั้นน้ำก็ไม่ถาวรเพราะบางปีน้ำจากลำน้ำยังได้กัดเซาะคูกั้นตลิ่งขาดทำให้น้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร 

          กระทั่งเมื่อประมาณปี 2539 ชาวบ้านได้เสนอให้กรมชลประทานสร้างพนังกั้นลำน้ำยังบริเวณบ้านท่าเยี่ยมเพื่อป้องกันน้ำเอ่อล้นตลิ่งโดยมีความยาวตามลำน้ำประมาณ 21 กิโลเมตร และแล้วเสร็จประมาณปี 2544-2545 

 

เสียงสะท้อนจากคน"ลำน้ำยัง"ถึงการบริหารจัดการที่ต้องทบทวน

 

          หลังจากมีพนังกั้นน้ำแล้วคิดว่าคงจะไม่มีปัญหาน้ำท่วมอีกแล้วเพราะพนังมีขนาดสูงและใหญ่ แต่พอมาปี 2560 อิทธิพลของพายุ “เซินกา” ทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ในลุ่มน้ำยัง พนังกั้นลำน้ำของกรมชลประทานถูกน้ำกัดเซาะจนขาด 5 จุดใหญ่ๆ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2560 จุดสำคัญคือบริเวณบ้านท่าเยี่ยมสร้างความเสียหายให้บ้านเรือน ทรัพย์สินจำนวนมาก ราษฎรเดือดร้อนทั้งหมู่บ้าน

          “เวลาผ่านไปเกือบปี วันที่ 16 กรกฎาคม 2561 เรื่องที่ชาวบ้านกลัวและกังวลใจเป็นอย่างมากก็เกิดขึ้นอีก พนังกั้นน้ำยังที่เพิ่งจะก่อสร้างแล้วเสร็จยังไม่ทันได้ส่งมอบงานทั้งหมดก็เกิดรูรั่วที่บริเวณห่างจากตาดปากแหว่งมาประมาณ 100 เมตร รูรั่วดังกล่าวสูงจากระดับพื้นล่างพนังขึ้นมาประมาณ 2 เมตร และจากการกัดเซาะของน้ำทำให้พนังขาด น้ำไหลทะลักเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านสร้างความเสียหายให้นาข้าวและพืชผลทางการเกษตรซ้ำเติมอีกครั้งเป็นปีที่สองติดต่อกัน ผมมองว่ากระบวนการแก้ไขปัญหาหน่วยงานรัฐควรที่จะจริงใจในการบริหารจัดการน้ำร่วมกับชาวบ้าน และควรจะฟังเสียงชาวบ้านให้มากกว่านี้เพื่อหาทางออกร่วมกัน ไม่เช่นนั้นปีหน้าเราก็จะเจอเหตุการณ์แบบนี้อีก”

          ด้าน “สุรเชษฐ์ โคตรบรรเทา” นักป้องกันบรรเทาสาธารณภัย เทศบาลตำบลโคกกม่วง อ.โพนทอง จ.ร้อยเอ็ด บอกว่า  สถานการณ์น้ำท่วมลำน้ำยัง 2 ปีซ้อน ถือเป็นภัยพิบัติที่เริ่มทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากกระแสน้ำมาเร็วมาก จากการเฝ้าระวังในพื้นที่บ้านโนนเชียงหวาง และบ้านหนองบุ่ง พบว่าทั้ง 2 หมู่บ้านนี้ถูกน้ำท่วม ถนนถูกตัดขาด และอีก 5 หมู่บ้านได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมพื้นที่การเกษตร 

          “เดิมเมื่อยังไม่มีการสร้างพนังกั้นลำน้ำยังอีกฝั่งหนึ่ง จะทำให้กระแสการไหลของลำน้ำยังไหลบ่าล้นตลิ่งทั้งสองฝั่ง ทำให้ปริมาณน้ำลดลงเร็ว ต้นข้าวไม่เสียหายแต่พอมีการสร้างพนังกั้นน้ำอีกฝั่งหนึ่งทำให้กระแสน้ำเปลี่ยนทิศทางเข้ามาท่วมพื้นที่ฝั่งที่ไม่มีพนังเพิ่มมากขึ้น เป็นการบริหารจัดการน้ำที่ไม่ยุติธรรมและไม่มีประสิทธิภาพทำให้ชาวบ้านต้องแบกรับความเดือดร้อน” 

          สุรเชษฐ์มองว่าปัญหาที่กล่าวข้างต้นคงเป็นบทเรียนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ศึกษาสภาพปัญหาความเป็นจริงก่อนเพื่อให้เกิดการเข้าใจถึงทิศทางการไหลของน้ำที่แท้จริง เมื่อสร้างพนังกั้นน้ำอีกฝั่งหนึ่งก็ต้องศึกษาหาทางออกให้อีกฝั่งหนึ่งด้วย

 

เสียงสะท้อนจากคน"ลำน้ำยัง"ถึงการบริหารจัดการที่ต้องทบทวน

 

          นี่คือเสียงสะท้อนการบริหารจัดการน้ำของลำน้ำยังที่ควรถอดบทเรียนพนังกั้นน้ำขาด 2 ปีซ้อน หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องจะหาทางออกอย่างไร เมื่อมีพนังกั้นน้ำอีกฝั่งหนึ่งแล้ว อีกฝั่งหนึ่งจะแก้ไขอย่างไร 

          คงไม่เฉพาะแต่ลำน้ำยังที่เผชิญสถานการณ์น้ำท่วม แต่ยังมีอีกหลายลุ่มน้ำในภาคอีสานที่ควรทบทวนบทเรียนเรื่องการบริหารจัดการน้ำ!
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ