คอลัมนิสต์

จุฬาฯชง3แผนขอรัฐหนุนตั้งศูนย์วิจัยสร้างคนรับอีอีซี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จุฬาฯชง3แผนขอรัฐหนุนตั้งศูนย์วิจัยสร้างคนรับอีอีซี : คอลัมน์... เจาะประเด็นร้อน โดย... เกศกาญจน์ บุญเพ็ญ 

 

          จุฬาฯ เสนอ 3 แผนงาน หวังรัฐบาลพิจารณาผลักดันเกิดเป็นรูปธรรม สร้างคนและเทคโนโลยีรองรับอีอีซี ทั้งจัดตั้งศูนย์ยูทีซี ด้านปัญญาประดิษฐ์และด้านวิศวกรรมชีวเวช วิจัยและพัฒนาร่วมภาคเอกชน ผลิตบัณฑิตป.ตรี-เอกไม่น้อยกว่า 200 คน ใช้งบรวม 400 ล้านบาท รวมถึงขอขยายความร่วมมือกับนักลงทุนอิสระ หวังสร้างมูลค่านวัตกรรมไทยไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท ตลอดจนขอร่วมสนับสนุนรพ.สวนเบญจกิติ ขยายฐานการรักษาดูแลผู้สูงอายุ-ผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อ 

 

          เมื่อวันที่ 9 เมษายน ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี อาทิ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย (มท.) นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) เยี่ยมชมผลงานและนวัตกรรมของจุฬาฯ

 

 

จุฬาฯชง3แผนขอรัฐหนุนตั้งศูนย์วิจัยสร้างคนรับอีอีซี

 

 

 

 

          โดยมี นายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล นายกสภาจุฬาฯ คณาจารย์ และนิสิตจุฬาฯ เข้าร่วม โอกาสนี้ นายบัณฑิต ได้เสนอ 3 แผนงานเพื่อการพัฒนาเพื่อรองรับการสร้างคนรองรับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี และสร้างเทคโนโลยีให้ประเทศ

 

          นายบัณฑิต กล่าวว่า ในการขับเคลื่อนสู่ประเทศไทย 4.0 ตามนโยบายรัฐบาล จุฬาฯ พร้อมที่จะเป็นต้นแบบของการปรับเปลี่ยนสู่มหาวิทยาลัย 4.0 ที่เน้นการเรียนรู้เชิงลึกและกว้างเพื่อตอบโจทย์สังคมที่พรั่งพร้อมด้วยผู้นำที่มีความคิดอย่างมีวิสัยทัศน์ มีใจรักในสิ่งที่ทำ และลงมือปฏิบัติจริง โดยปัจจุบันจุฬาฯ ได้รับการยอมรับให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของประเทศ จากสถาบันจัดอันดับการศึกษาระดับโลก 3 แห่ง และมีสาขาวิชาที่ติดอันดับโลก 22 สาขาวิชา

 

 

 

จุฬาฯชง3แผนขอรัฐหนุนตั้งศูนย์วิจัยสร้างคนรับอีอีซี

 

 

          ขณะเดียวกัน จุฬาฯ มุ่งมั่นมีบทบาทเชิงรุกในฐานะเรือธงทางวิชาการ ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มกระบวนการปรับเปลี่ยนในมิติต่างๆ เพื่อขยายโอกาสในการเข้าถึงองค์ความรู้จากนิสิตไปสู่คนทั่วไป ปรับเปลี่ยนการบริหารองค์กรให้มีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสร้างองค์ความรู้ผ่านการพัฒนาและวิจัยและพัฒนาและนวัตกรรม ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้จริงทั้งในภาคอุตสาหกรรมและสังคม โดยเฉพาะการพัฒนากำลังคนรองรับในพื้นที่อีอีซีและการสร้างเทคโนโลยีให้แก่ประเทศ

 

          อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ จุฬาฯ ได้เตรียมแผนงาน 3 โครงการเพื่อเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อพิจารณาและผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ดังนี้ 1.จัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม (University Technology Center : UTC หรือ ยูทีซี) แบ่งเป็น 2 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ด้านปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ (Artificial Intelligence & Robotics) และศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ด้านวิศวกรรมชีวเวช (Biomedical Engineering) ศูนย์แห่งนี้จะเป็นกลไกในการร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมและมหาวิทยาลัยนานาชาติ ในการสร้างเทคโนโลยี ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการไทย ตลอดจนเสริมความแข็งแกร่งให้กลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) สนับสนุนภาครัฐในการวิจัยพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อประโยชน์สาธารณะ

 

 

จุฬาฯชง3แผนขอรัฐหนุนตั้งศูนย์วิจัยสร้างคนรับอีอีซี

 

 

 

          ทั้งนี้ มีเป้าหมายที่จะผลิตบัณฑิตที่มีความเชี่ยวชาญระดับสูงตั้งแต่ระดับปริญญาตรี, โท และเอก อย่างน้อยปีละ 200 คน เบื้องต้นตั้งเป้าใช้งบประมาณจัดตั้งศูนย์แห่งละ 200 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 400 ล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตาม แม้ขณะนี้ศูนย์ยูทีซียังไม่เกิดขึ้น แต่ที่ผ่านมาจุฬาฯ ได้ประชุมร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่มาร่วมลงทุนในพื้นที่อีอีซี ต่างให้การสนับสนุนเพราะต้องการให้เกิดการสร้างกำลังคนที่มีศักยภาพ โดยจุฬาฯ เป็นฝ่ายเฟ้นหาในการพัฒนาทางวิชาการ และวางแผนว่าจะเริ่มในปีการศึกษา 2562

 

          2.จุฬาฯ จะขยายความร่วมมือกับภาคเอกชน นักลงทุนอิสระ (Venture Capital) และองค์กรทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเชื่อมโยงและขยายผลการดำเนินการของเมืองนวัตกรรมแห่งสยาม (Siam Innovation Distric) ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่สยามสแควร์วัน โดยมีเป้าหมายในการสร้างมูลค่าจากนวัตกรรมไทยไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 5 ปี ใช้งบปีละ 200 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ พื้นที่ดังกล่าวจะเปิดกว้างให้แก่ภาครัฐ นิสิต นักศึกษา คนรุ่นใหม่ที่มุ่งมั่นตั้งใจสร้างสิ่งดีๆ ใช้เทคโนโลยีจนเกิดเป็นธุรกิจ ได้เข้ามาศึกษาและเรียนรู้ ซึ่งจะทำให้เกิดการเชื่อมโยงการจ้างงานและสังคม และ 3.จุฬาฯ จะร่วมมือกับโรงพยาบาลสวนเบญจกิติ เฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา หรือโรงพยาบาลโรงงานยาสูบ ขยายฐานการดูแลผู้ป่วยจากเดิมที่เน้นกลุ่มพนักงานโรงงานยาสูบ ไปสู่ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ตลอดจนต่อยอดไปสู่การพัฒนาเพื่อเป็นพื้นที่การศึกษาสำหรับบุคลากรแพทย์ พยาบาล และสาธารณสุขในอนาคต

 

 

 

จุฬาฯชง3แผนขอรัฐหนุนตั้งศูนย์วิจัยสร้างคนรับอีอีซี

 

          “ปัจจุบัน รพ.สวนเบญจกิติฯ เป็นโรงพยาบาลขนาด 190 เตียง เน้นการดูแลพนักงานโรงงานยาสูบ จากการหารืออย่างไม่เป็นทางการโรงพยาบาลน่าจะขยายฐานการดูแลผู้ป่วยเพิ่มขึ้นได้ แต่โรงพยาบาลไม่มีกำลังมากพอ เบื้องต้นจึงได้หารือกันว่าจะสร้างความร่วมมือโดยมีภาคเอกชนและจุฬาฯ ร่วมในการบริหารงานผ่านมูลนิธิที่จะมีการจัดตั้งขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ดำเนินการลักษณะนี้มาแล้วกับ รพ.ไตภูมิราชนครินทร์” นายบัณฑิต กล่าวและว่า จุฬาฯ มุ่งมั่นที่จะมีบทบาทเชิงรุกในฐานะเรือธงทางวิชาการของประเทศ ทำหน้าที่เพื่อชี้นำและเตือนสติสังคมให้เกิดความถูกต้องและเป็นธรรม ธำรงภาพลักษณ์และเกียรติภูมิของจุฬาฯ ในการรับใช้สังคมให้สมกับเป็นมหาวิทยาลัยของแผ่นดิน ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

          ต้องผลิตคนตรงความต้องการของประเทศ
          พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งในการปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับการขับเคลื่อนประเทศในระยะเปลี่ยนผ่าน” ว่า จุฬาฯ เป็นสถาบันการศึกษาที่ทรงเกียรติ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศ เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ปีนี้ถือเป็นปีที่ 101 ของจุฬาฯ การปฏิรูปสำคัญของประเทศเกิดขึ้นตั้งแต่การเลิกทาส ซึ่งระบบราชการต่างๆ การมีวิสัยทัศน์ก็เป็นสิ่งสำคัญ จะต้องมองไปข้างหน้า อย่ามองวันนี้ หรือมองอดีตเท่านั้น อดีตทำให้เราได้เรียนรู้บางสิ่งทำให้เราเกิดความภาคภูมิใจ บางสิ่งที่ไม่ดีก็อย่าทำอีก การทำงานของรัฐบาลนี้จะนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน ความมั่นคง คือการสร้างสภาวะแวดล้อมทุกอย่างให้เกิดความปลอดภัย

 

 

จุฬาฯชง3แผนขอรัฐหนุนตั้งศูนย์วิจัยสร้างคนรับอีอีซี

 

          “การศึกษาบ้านเราไม่ได้เลวร้ายอะไร ระบบไม่ได้เสียหาย แต่ต้องหาวิธีการที่เหมาะสม นำวิธีการที่มีอยู่แล้วมาปรับเปลี่ยน ให้ตรงกับเป้าหมายของนิสิต นักศึกษา ครู และประเทศ ให้ทั้ง 3 อย่างตรงกัน เพื่อให้สามารถเดินหน้าไปได้ การปฏิรูปการศึกษาจึงต้องผลิตคนตรงความต้องการของประเทศ ซึ่งทุกคนต้องตั้งเป้าหมายของตนเอง ผมไม่ได้มีความสมบูรณ์พร้อมมาตั้งแต่เด็ก แต่ตั้งความหวังไว้ว่าอยากเป็นอะไรตั้งแต่ตอนนั้น และไม่เคยเปลี่ยนใจที่จะรับราชการทหาร แต่ไม่มีความตั้งใจเป็นนายกฯ แต่ด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ทำให้ต้องมายืนตรงนี้ ดังนั้นขอนักศึกษาตั้งมั่นเพื่อเป็นคนดี และความเพียรพยายามตั้งแต่เด็กจนเรียนจบอายุ 19-20 ปี ซึ่งรัฐบาลนี้ก็มีความมุ่งมั่นและเตรียมความพร้อมให้ตั้งแต่วันเรียน” นายกฯ กล่าวและว่า ทั้งนี้ คาดหวังจุฬาฯ จะเป็นเรือธงและพาเรือขบวนไปด้วย ต้องผ่านคลื่นลมอีกมากมาย แต่ต้องทำให้ดีสมเป็นบุคคลที่มีคุณค่า ขณะเดียวกัน ขอให้คิดแบบตะวันตก แต่ทำแบบตะวันออกโดยไม่ขัดแย้ง ไม่ตีกัน โดยคิดเร็วทำเร็วแต่ยั่งยืน
 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ