คอลัมนิสต์

อุดช่องโหว่กฎหมาย... ดัดหลัง “คนรวยไม่รักสัตว์”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อุดช่องโหว่กฎหมาย... ดัดหลัง “คนรวยไม่รักสัตว์” : โดย... นลิน สิงหพุทธางกูร, ชลธิชา รอดกันภัย ทีมล่าความจริง ช่องเนชั่น 22

 

          ข่าวใหญ่จากป่าลึกที่เล่นเอาสะเทือนกันไปทั้งประเทศ จนกระแส “ไล่มิสเตอร์นาฬิกา” เงียบหายไปถนัดใจ ย่อมหนีไม่พ้นข่าวเจ้าหน้าที่บุกจับ “บิ๊กวงการก่อสร้าง” คาซากสัตว์ป่า ทั้งเสือดำ ไก่ฟ้า แถมด้วยอาวุธปืนไรเฟิล กลางทุ่งใหญ่นเรศวร

          เมื่อคนถูกจับเป็น “บิ๊กระดับประเทศ” ที่กุมบังเหียนบริษัทก่อสร้างเจ้าของโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลักแสนล้าน แต่กลับมีพฤติกรรม “ไม่รักสัตว์” ทำให้เกิดกระแส “คนรวยทำอะไรก็ได้เหรอ” เป็นหัวข้อ “ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์” สนั่นตั้งแต่กลางป่าถึงกลางกรุงเทพฯ

          ข้อมูลจากแหล่งข่าว “วงใน” กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ทำให้สามารถแยกแยะประเภทของนักท่องเที่ยวที่มุ่งหน้า “เข้าป่า” ได้ 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ หนึ่ง พวกที่รักธรรมชาติ พวกนี้เข้ามาเพื่อศึกษา ดื่มด่ำบรรยากาศของป่า ชมนก ชมไม้ ชมสัตว์ ลำห้วย ลำธาร น้ำตก สอง พวกที่แสวงหาความสงบ ส่วนมากเข้าไปเพื่อปลีกวิเวก หรือนั่งสมาธิ กับสาม พวกที่เข้าป่าเพื่อกระทำผิดกฎหมาย เช่น ล่าสัตว์ เหมือนที่ปรากฏตามข่าวล่าสุด

 

อุดช่องโหว่กฎหมาย... ดัดหลัง “คนรวยไม่รักสัตว์”


          โดยการกระทำผิดกฎหมายยังหมายรวมถึงพวกที่ต้องการอวัยวะของสัตว์ป่าไปทำเครื่องรางของขลัง ปลุกเสกมนต์ดำ ถ้าใครเคยได้ยินว่ามีภูเขาอาถรรพณ์ ถ้ำเหล็กไหล นั่นแหละคือสถานที่ที่คนเหล่านี้เชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ และต้องบุกป่าฝ่าดงเข้าไป บางครั้งก็พ่วงไปด้วยการล่าตามความเชื่อ เช่น เขี้ยวหมูป่า เขี้ยวเสือ ว่ากันว่า “คนรวย” หรือ “พวกมีอำนาจวาสนา” หลงใหลได้ปลื้มของพวกนี้มากเสียยิ่งกว่าคนจนๆ หาเช้ากินค่ำเสียอีก

          ข้อมูลจาก “คนวงใน” สอดคล้องกับ เอ็ดวิน วีค เลขาธิการมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า ที่บอกว่า กลุ่มคนที่นิยมล่าสัตว์ป่ามีอยู่ 3 ประเภท คือ 1.ล่าเพื่อใช้เป็นอาหาร 2.ล่าเพื่อการกีฬา และ 3.ล่าเพื่อการค้า กรณีของ “บิ๊กวงการก่อสร้าง” และผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง รวมถึงนักธุรกิจคนร่ำรวย มักเข้าป่าล่าสัตว์เพื่อการกีฬา ล่าเพื่อความสนุกสนาน ทำกิจกรรมผจญภัยในป่า และนำสัตว์ป่าไปสกัดเป็นยาชูกำลัง โดยเฉพาะเสือดำกับเสือโคร่ง เชื่อกันว่าสามารถนำอวัยวะบางส่วนไปสกัดเป็นยาชูกำลัง หรือ “ยาโป๊” ได้

          ขณะที่ตำรวจปทส. หรือกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บอกว่า พฤติกรรมของคนรวยที่ชอบล่าสัตว์ป่า ไม่ใช่เรื่องใหม่ของประเทศไทย คนกลุ่มนี้มีความต้องการบางอย่างเพื่อเติมเต็มชีวิต จึงอยากใช้ชีวิตบางช่วงเวลาในลักษณะ “ผจญภัย” หรือ “แอดเวนเจอร์” ซึ่งมี 3 ระดับ ระดับแรก คือ การไปดูสัตว์ ส่องสัตว์ทั่วไป ระดับที่ 2 คือไปกับกลุ่มขบวนรถโฟร์วีลส์ไปดำรงชีวิตในป่าลึก และระดับสุดท้าย คือ การไปกับนายพราน ไปตั้งแคมป์ออกล่าสัตว์ป่า

 

อุดช่องโหว่กฎหมาย... ดัดหลัง “คนรวยไม่รักสัตว์”

 

          ข้อมูลนี้สอดรับกับพฤติกรรม “บิ๊กวงการก่อสร้าง” เพราะ “คนวงใน” ยืนยันว่าเคยขออนุญาตเข้าป่าสงวนและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ามาแล้วหลายครั้ง ใช้คำว่า “บ่อย” ก็คงไม่ผิด ฉะนั้นจึงยากที่เจ้าหน้าที่จะไม่ระแคะระคายถึงพฤติกรรม

          เมื่อเข้าไปบ่อย เข้าไปกันเยอะ ล่าสัตว์กันครื้นเครง แต่แทบไม่เห็นเคยมีใครติดคุก ทำให้เสียงวิจารณ์ดังกระหึ่มในประเด็น “ช่องโหว่ของกฎหมาย” ที่กลายเป็นทางรอดของบรรดา “เพอร์เฟกท์แมน” ทั้งหลาย คือมีทั้งเงินและคอนเนกชั่น คำถามที่ตามมาคือ นับจากนี้จะป้องกันพฤติกรรมไร้จิตสำนึกนี้ได้อย่างไร คำตอบง่ายๆ เมื่อเงื้อมมือกฎหมายเอื้อมไปไม่ถึง ก็แก้ไข ติดดาบ เพิ่มอำนาจ ให้มันครอบคลุมเสีย

          โดยปกติแล้วมาตรการควบคุมพฤติกรรมเสื่อมของนักท่องเที่ยวในการเดินทางเข้าค้างแรมในป่าก็มีอยู่แล้ว ยกตัวอย่างเรื่องขยะ อุทยานแห่งชาติหลายแห่งมีมาตรการที่เรียกว่า “ค้ำประกันขยะ” เช่นเวลาใครก็ตามซื้อหรือนำขวดน้ำ หรือสิ่งของที่ไม่ใช่มาจากธรรมชาติเข้าไปในเขตอุทยาน ขากลับต้องนำกลับมาคืนด้วย มิฉะนั้นต้องถูกยึดเงินค่าค้ำประกันที่วางไว้ตั้งแต่ขาเข้า ถือเป็นการควบคุมพฤติกรรมของนักท่องป่าที่ใช้ได้ผล

 

อุดช่องโหว่กฎหมาย... ดัดหลัง “คนรวยไม่รักสัตว์”

 

          หากนำตรงนี้ไปปรับใช้โดยออกกฎว่า ใครก็ตามที่นำซากสัตว์ออกมา แม้ว่าตัวเองไม่ได้เป็นคนล่า ถือว่าผิดกฎ ต้องถูกดำเนินคดีเสมือน “ผู้ล่า” นอกจากนั้นเมื่อเข้าป่าแล้วไปพบใครล่าสัตว์ หรือเจอซากสัตว์ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทันทีเพื่อแสดงเจตนารมณ์ว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด

          นี่คือข้อเสนอจาก “คนใน” ที่มองเห็นปัญหา และต้องทนกับช่องโหว่ที่เอาผิดกับ “คนล่าสัตว์” อย่างจริงจังไม่ได้เสียที

          คำถามคือผู้มีอำนาจระดับรัฐบาลจะมีเวลาสนใจแก้ไขหรือเปล่า ไหนๆ ก็มีนโยบาย “ทวงคืนผืนป่า” หาเสียงมาตั้งแต่ยึดอำนาจแล้ว หากพ่วงมาตรการดัดหลัง “นักล่าสัตว์ป่า” ไปด้วยก็น่าจะดี


......................................................
ข่าวที่เกี่ยวข้อง 
ชำแหละ 9 ข้อหา “คนรวยล่าสัตว์ป่า” ส่อลอยนวล!
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ