คอลัมนิสต์

ขนส่งมวลชนความฝันของคน “ต่างจังหวัด”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นับเป็นห้วงสำคัญอีกครั้งของการปฏิรูประบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานคร ที่มีทั้งการเริ่มทดลองปรับปรุงสายรถเมล์ และการเชื่อมต่อรถไฟฟ้า

ขยายปมร้อน โดย..อรรถยุทธ  บุตรศรีภูมิ 

         ช่วงนี้นับเป็นห้วงสำคัญอีกครั้งของการปฏิรูประบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานคร ที่มีทั้งการเริ่มทดลองปรับปรุงสายรถเมล์ และ การเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสองสาย ระหว่างรถไฟใต้ดินสายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-บางซื่อ) และ รถไฟฟ้าสายสีม่วง (เตาปูน - บางใหญ่)

          จะว่าไปแล้วกรุงเทพมหานครฯ นั้นมีความเป็น “มหานคร” สมชื่อ เพราะมีพื้นที่ที่กว้างใหญ่ มีความเจริญกว่าจังหวัดอื่นในประเทศ เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ และที่สำคัญเป็นเมืองที่มีคนอาศัพอยู่ทั้งตามทะเบียนบ้านและประชากรแฝงประมาณ 10 ล้านคน

          แต่ที่ผ่านมาเรากลับพบว่าระบบการขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครฯนั้นอยู่ในขั้นพิกลพิการ เรามีรถไฟฟ้า แต่กลับมีเพียงสามสาย และมี สองสาย และทั้งสามสายกลับวิ่งอยู่แต่ในตัวเมืองจนหลายค่อนขอดว่าวิ่งเป็นรถไฟสวนสนุก เพราะแทนที่จะทำหน้าที่ขนคนจากรอบนอกเข้ามาสู่กลางเมือง กลับวิ่งรับส่งคนในเมืองเพียงเท่านั้น

          จนเมื่อปีที่ผ่านมา รถไฟฟ้าสายสีม่วงเสร็จ จึงดูเข้าทีกับการเป็นระบบเพราะเป็นระบบที่รับส่งคนจากรอบนอกเข้าสู่ใจกลางเมือง แต่เอาเข้าจริงกลับพบปัญหา “รถไฟฟ้าไม่มานะเธอ” สองสายไม่มาหากันเกิดปัญหา “ฟันหลอ” ประชาชนต้องออกจากสถานีหนึ่ง เดินทางบนถนนอีกร่วมกิโลเมตรเพื่อไปต่อรถไฟฟ้าอีกสายในอีกสถานี ทั้งๆที่รางเชื่อมต่อกันที่สถานีแล้ว

         สุดท้ายต้องใช้อำนาจพิเศษในการเชื่อมต่อรถไฟทั้งสองสายเข้าด้วยกัน

         นอกจากรถไฟฟ้าแล้วคนกรุงยังมีระบบขนส่งมวลชนอีกหลากหลาย แต่ก็ไม่อยู่ในสภาพที่เรียกได้ว่า “ดี” ทั้งในทางระบบ หรือทางปัจเจกแม้แต่อย่างเดียว

         เรามีรถเมล์ ที่ตั้งแต่ผ่านการปฏิรูปกิจการรถเมล์ครั้งใหญ่เมื่อปี 2519 ก็แทบอยู่ในสภาพหยุดนิ่ง แม้จะเป็นกำลังหลักในการขนถ่ายคน แต่กลับมีสภาพที่หลายๆคนส่ายหน้า เพราะไม่ว่าสภาพรถ หรือการบริการล้วงถูกตั้งคำถาม

         โดยเฉพาะรถร่วม ขสมก. สายต่างๆที่ได้รับสัมปทานไปนั้น ถามใครก็คงตอบคล้ายกันว่า “ครบเครื่อง” ไม่ว่าจะเป็นตัวรถ ที่คล้ายไม่ผ่านการปรับปรุงมาร่วมครึ่งศตวรรษ การขับขี่ที่มีสิ่งคำนึงอยู่เพียงอย่างเดียวคือสภาพจิตใจของคนขับ ขณะที่ความปลอดภัยทางของผู้โดยสารและผู้ร่วมทางดูเหมือนจะเป็นสิ่งท้ายๆที่พวกเขาคิดถึง

         เช่นเดียวกับเรือโดยสาร ก็อยู่ในสภาพที่ไม่ต่างกัน ข่าวคนตกเรือตายยังมีอยู่อย่างสม่ำเสมอ ด้วยเหตุผลเดิมๆคือการขับขี่และการเทียบท่าที่ไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้โดยสาร มิพักต้องพูดถึงการรับคนที่เกินกำหนด นอกจากนี้ยังมีสภาพของลำน้ำที่เป็นเส้นทางการสัญจรก็ทั้งเน่าเสียและเหม็น

         ที่สำคัญทั้งรถเมล์ รถไฟฟ้า และ เรือโดยสาร ก็มีจุดที่เชื่อมต่อกันน้อย แม้แต่บัตรโดยสารก็ยังใช้ร่วมกันไม่ได้

         จะหันมาใช้ขนส่งเอกชนเช่น แท็กซี่ หรือ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ก็ยังมีความเสี่ยง อีกหลายประการไม่ว่าจะเป็นมารยาทในการขับขี่ การให้บริการ หรือกระทั่งระบบตรวจสอบของใบขับขี่สาธารณะ ครั้นจะไปหาขนส่งทางเลือกก็ยังติดขัดกฎหมายไปเสียหมด

         จึงแทบจะเป็นสิ่งอัศจรรย์ว่าเส้นเลือดที่มีปัญหาเหล่านี้คอยหล่อเลี้ยงมหานครแห่งนี้อยู่ได้อย่างไร

         แต่จากนี้ทุกอย่างน่าจะดีขึ้น เมื่อขนส่งระบบรางเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง รถไฟฟ้าเริ่มต่อเชื่อม รถเมล์ก็จะปรับปรุงจากการเป็นสายหลัก พัฒนามาสู่การเป็นเส้นเลือดฝอยส่งคนเข้าสู่ขนส่งระบบราง อีกไม่นานสายรถเมล์ที่ได้รับสัมปทานแบบเดิมจะถูกรื้อใหม่ เพื่อให้มีการแข่งขันและหลากหลาย

         ที่สุดหากเป็นไปตามแผนขนส่งมวลชนถูกปรับปรุงให้ดีขึ้นจนคนรู้สึกสบายใจที่จะใช้ เมื่อนั้นขนส่งเอกชนก็ต้องปรับปรุงตามไปด้วย  เช่นเดียวกับการจราจรที่ติดขัด ก็จะบรรเทาเบาบางลง

         แต่คำถามคือจุดหมายที่เรากำลังวาดฝันกันอยู่นั้นจะไปถึงหรือไม่  และอีกประเด็นที่พึงตระหนักคือ ในประเทศแห่งนี้มีเพียงกรุงเทพเท่านั้นที่มีสิ่งทีี่พอจะเรียกได้ว่าขนส่งมวลชน ขณะที่จังหวัดอื่นนั้น ประชานล้วนต้องพึ่งพิงตัวเองทั้งสิ้น

         กรุงเทพมหานครฯอาจจะอยู่ระหว่างทางของการพัฒนา แต่ต่างจังหวัดยังไม่เคยอยู่ในเส้นทางนี้ด้วยซ้ำไป

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ