คอลัมนิสต์

“คูปองครู” เพื่อครูหรือเพื่อใคร ?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“คูปองครู” เพื่อครูหรือเพื่อใคร ?... โดย ผศ.ดร.รัฐกรณ์ คิดการ ประธานที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.)

          "คูปองครู" เป็นอีกหนึ่งนโยบายของ "หมอธี - นพ.ธีระเกียรติ  เจริญเศรษฐศิลป์" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีทั้งปัญหาและเสียงวิจารณ์อย่างมากมาย โดยมีที่มาจากความต้องการในการ"แก้ปัญหาคุณภาพการศึกษา" ไม่ว่าจะเป็นผลการทดสอบการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน(O-Net) หรือการทดสอบระดับนานาชาติ PISA ซึ่งมีคะแนนตกต่ำ

          รวมถึงการประเมินเข้าสู่"วิทยฐานะ" แบบเดิมที่ครูต้องทำ"ผลงานวิชาการ" ซึ่งเชื่อว่าเป็นเหตุให้ "ครูละทิ้งห้องเรียน" เป็นสาเหตุให้ผลการสอบดังกล่าวของผู้เรียนตกต่ำ จึงเป็นที่มาของโครงการ "คูปองครู" โดยการจัดสรรเงินให้ครูคนละ 10,000 บาท/คน/ปี เพื่อใช้ในการอบรมเพิ่มพูนความรู้ ซึ่งการอบรมดังกล่าวนำไปผูกกับการประเมินเข้าสู่วิทยฐานะ

         โดยครูต้องผ่านการอบรม 50 ชั่วโมง/ปี 250 ชั่วโมง/ 5ปี และมีชั่วโมงสอน 800 ชั่วโมง/ปี ต่อการเลื่อนวิทยฐานะหนึ่งระดับ

         แนวคิดนโยบายคูปองครู หากมองผิวเผินเหมือนเป็นการ"กระจายอำนาจ" ไปสู่ครูโดยตรง แต่ในทางปฏิบัติที่นำเอาไปผูกกับ"วิทยฐานะ" ก็เหมือนบังคับครูทุกคน ให้ต้องอบรมภายใต้เงื่อนไขและเวลาที่กำหนด เพื่อการได้เลื่อนวิทยฐานะหาใช่เพื่อนำความรู้ไปแก้ปัญหาผู้เรียนโดยตรง

          ความรู้ที่ครูได้จากการอบรม อาจไม่สอดคล้องกับความจำเป็นในการนำไป "พัฒนาผู้เรียน" ครูอาจต้องรีบอบรมไว้ก่อน ทั้งที่ควรเริ่มจาก "มีปัญหาอะไรในการเรียนการสอน" จะแก้ได้ต้องใช้ความรู้อะไร ตัวเองหรือบุคลากรในโรงเรียนมีองค์ความรู้เหล่านั้นเพียงพอ หรือไม่ ถ้ามีก็ใช้ในโรงเรียน ถ้าไม่มีจึงค่อยอบรมจากหน่วยงานภายนอก

          ด้านการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ "โครงการคูปองครู" มีหลักสูตรมากมายจนไม่สามารถระบุได้ว่าหลักสูตรไหนเหมาะกับการนำไปใช้เพื่ออะไร ที่สำคัญจะรู้ได้อย่างไรว่าหลักสูตรใด "ได้มาตรฐาน" หรือ"ไม่ได้มาตรฐาน" เพราะการเปิดให้"ทุกหน่วยงาน" ทั้ง"สถาบันการศึกษา" "บริษัทเอกชน" จนถึง"บุคคล" สามารถ"เสนอหลักสูตร"ให้"สถาบันคุรุพัฒนา"เป็น "ผู้อนุมัติหลักสูตร" ภายใต้เวลาที่จำกัด ทั้งคนจัดทำหลักสูตร และคนอนุมัติหลักสูตร ต่างก็เร่งรีบ!! 

          เหนืออื่นใด ยังมีปัญหาการกำหนดค่าลงทะเบียนแต่ละหลักสูตร ว่า"เหมาะสม"หรือไม่ เช่น อบรม MS-Word ค่าลงทะเบียน 10,000 บาท บางหลักสูตรจำเป็นสำหรับการเรียนการสอนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือไม่ เช่น กอล์ฟ รวมไปถึงระยะเวลาที่ใช้ในการอบรม และวิทยากรเหมาะสมหรือไม่ และการให้ไปอบรมที่ไหนก็ได้ อาจสิ้นเปลืองทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางและที่พักไปโดยเปล่าประโยชน์

          การที่มีครูจำนวนมากถึง 400,000 คน แต่ระบบโปรแกรมการลงทะเบียนกลับไม่ได้มีการทดสอบให้มีความเสถียรก่อนที่จะนำมาใช้จริง ก่อให้เกิดปัญหามากมายในการลงทะเบียน "ทั้งเข้าระบบไม่ได้" "แก้ไขข้อมูลไม่ได้" ฯลฯ

          ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีข่าวลือ"เรื่องเงินทอน" จ่าย 10,000 บาท คืน 2,000 บาท หลักสูตร 4 วัน อบรมเพียง 2 วัน หลายหลักสูตรไม่ได้ทำตามข้อกำหนดที่ให้จัดอบรมเฉพาะวันหยุด บางหลักสูตรรับผู้เข้าอบรมจำนวนมากเป็นร้อยคน จะควบคุมคุณภาพได้อย่างไร

          การจัดสรรเงินให้ครูทุกคน คนละ 10,000 บาท/ปี เพื่อการอบรมนั้น หากมองผิวเผินก็น่าจะดีเป็นการกระจายงบประมาณอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม แต่ครูบางคนที่กำลังจะเกษียณอายุอีกไม่กี่เดือนอาจไม่จำเป็นต้องอบรม

          รวมทั้งหากขาดการบริหารจัดการที่ดี ผลที่อาจไม่คุ้มกับงบประมาณปีละ 4,000 ล้านบาท/ปีที่ใช้ไป โดยเฉพาะการเอาไปผูกติดกับ"วิทยฐานะ" ครูบางคนอาจอบรมเพื่อวิทยฐานะเท่านั้น สุดท้ายหากคะแนน O-Net, PISA ของนักเรียนไม่ดีขึ้นใครจะรับผิดชอบ

          ทำไมไม่ลองใช้วิธีการ"กระจายเงิน" "กระจายอำนาจ" และ “ความรับผิดชอบ” ไปยังสถานศึกษา แทนการกำหนดนโยบายไปจากส่วนกลาง ซึ่งที่ผ่านมาก็เห็นได้ชัดเจนว่า ไม่สามารถแก้ปัญหา"คุณภาพการศึกษา"ได้อยู่แล้ว!! 

       

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ