คอลัมนิสต์

ร่าง กม. ใหม่ ‘ฟันนักการเมือง’-‘ ทักษิณ’ สะเทือน !! 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฯ ที่ออกมาย้อนหลังใช้กับคดีนักการเมืองที่มีอยู่เดิมได้ด้วยซึ่งจะส่งผลสะเทือนครั้งใหญ่

          กำลังเป็นที่จับตามอง กับ ร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  พ.ศ. .. หลังจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติเอกฉันท์เห็นชอบ ทั้งนี้ตามขั้นตอนจะต้องส่งร่าง พ.ร.ป. ดังกล่าวที่ผ่านความเห็นชอบจาก สนช.แล้วให้กับศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องและคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาต่อไป

          สำหรับเนื้อหาของร่าง พ.ร.ป.ฉบับนี้ ที่น่าสนใจ สรุปได้ดังนี้ 

          -ศาลรับฟ้องคดีได้ แม้ยังไม่ได้ตัวผู้ถูกกล่าวหา  (มาตรา 26 )

          -พิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้ (มาตรา 27 วรรคสอง  กรณีศาลได้รับฟ้องไว้แล้วและมีหมายเรียกแต่จำเลยไม่มาศาล และได้มีการออกหมายจับ แต่ไม่สามารถจับจำเลยได้ภายใน 3 เดือน นับแต่ออกหมายจับ  ให้ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีได้ โดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย) 

         -หนีคดีไม่ขาดอายุความไม่ว่าจะหนีในชั้นพิจารณาคดีหรือหลังศาลมีคำพิพากษา (มาตรา  24/1 วรรคสอง  ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีไปในระหว่างถูกดำเนินคดี หรือระหว่างการพิจารณาคดีของศาล ไม่ให้นับอายุความ  และวรรคสาม ในกรณีที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำเลย ถ้าจำเลยหลบหนีไปในระหว่างต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ  ไม่นับอายุความ ) 

        - ถอนฟ้องคดีไม่ได้ (มาตรา 29 เมื่อศาลประทับรับฟ้องแล้ว ห้ามมิให้ศาลอนุญาตให้ถอนฟ้อง) 

        -อุทธรณ์คดีได้ง่ายกว่าเดิม ไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานใหม่ซึ่งเป็นสาระสำคัญของคดีก็อุทธรณ์ได้ (มาตรา 59 คำพิพากษาของศาลให้อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ภายใน  30 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา)

        -จะยื่นอุทธรณ์คดีได้ จำเลยต้องมาศาล (มาตรา 60)

         ที่สำคัญ ร่าง พ.ร.ป.ฉบับนี้ มี บทเฉพาะกาล ให้นำร่างกฎหมายฉบับนี้มาใช้บังคับกับคดีที่มีอยู่ก่อน ร่าง พ.ร.ป.ฉบับนี้ใช้บังคับได้   

          โดยในมาตรา 67   ในบทเฉพาะกาลบัญญัติว่า  บทบัญญัติในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนี้ ไม่กระทบต่อการดำเนินการใด ในคดีที่ยื่นฟ้องไว้ก่อน พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ  ได้ดำเนินการไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนี้ใช้บังคับ ส่วนการดำเนินการต่อไปนี้ให้ดำเนินการตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญนี้ 

          อธิบายง่ายๆก็คือ  คดีเดิมที่มีการฟ้องไว้หรือพิจารณาคดีตาม  พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  พ.ศ.  2542  ซึ่งถูกยกเลิกเมื่อ พ.ร.ป.ฉบับนี้ใช้บังคับ ก็ยังดำเนินคดีต่อไปได้ และการดำเนินการต่อไปในคดีเก่าให้นำบทบัญญัติตามร่าง พ.ร.ป.ฉบับใหม่ มาใช้บังคับ  

          เมื่อ‘ บทเฉพาะกาล’  เขียนเช่นนี้  จึงอาจส่งผลส่งถึงคดีที่‘นักการเมือง’  หลายคน ที่หลบหนีคดีไปก่อนหน้านี้ ซึ่งหนึ่งในนั้น รวมถึง  พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี รวมอยู่ด้วย 

          ผลเปลี่ยนแปลง ประการแรก คือ ในส่วนคดีที่มีการจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว หรือพักคดีไว้ ในระหว่างการพิจารณาคดี เนื่องจากจำเลยหนีคดีไป ไม่ต้องพักคดีไว้เหมือนเดิมอีกต่อไป โดยสามารถพิจารณาคดีหรือสืบพยานต่อไปลับหลังจำเลยได้  เนื่องจากมาตรา 27 วรรคสอง ของร่าง พ.ร.ป. ว่าด้่วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฯ ฉบับใหม่ ให้ศาลพิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้ 

         ผลเปลี่ยนแปลงประการที่สอง  คือ ในเรื่องอายุความ เดิมคดีที่พักคดีไว้ระหว่างพิจารณาคดี  ต้องตามตัวจำเลยกลับมาดำเนินคดีให้ได้ภายในอายุความ มิเช่นนั้นคดีจะขาดอายุความ  แต่ต่อไปไม่มีเรื่องการขาดอายุความอีกต่อไป ไม่ว่าจำเลยจะหนีคดีไปนานแค่ไหน  หากสามารถตามตัวจำเลยมาได้ ก็สามารถพิจารณาคดีต่อได้  

          สำหรับคดีของ พ.ต.ท. ทักษิณ ที่อยู่ระหว่างพิจารณาคดีในชั้นศาล มีประมาณ  4 คดี ดังนี้ 

          คดีแรก  คดีทุจริตปล่อยกู้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงค์) ให้กับรัฐบาลพม่าวงเงิน 4,000 ล้านบาท เป็นการออกหมายจับ พ.ต.ท. ทักษิณ เมื่อ 16 ก.ย. 2551เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณ หลบหนีคดี ในการพิจารณาคดีนัดแรก 

          คดีที่สอง คดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษเลขท้าย 2 และ 3 ตัว (หวยบนดิน ) เป็นการออกหมายจับเมื่อวันที่ 26 ก.ย. 51  เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณ  หลบหนีคดีในการพิจารณาคดีนัดแรกและศาลสั่งจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว

        คดีที่สาม  คดีทุจริตแปลงสัมปทานมือถือ - ดาวเทียม เป็นภาษีสรรพสามิต เป็นการออกหมายจับเมื่อวันที่ 15 ต.ค. 51  เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณ หลบหนีคดีในการพิจารณาคดีนัดแรกและศาลสั่งจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว

        คดีที่สี่  คดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้บริษัท กฤษดามหานคร  ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ  หลบหนีคดีไปในการพิจารณาคดีนัดแรก  และศาลออกหมายจับเมื่อ 11 ต.ค.  2555 และศาลสั่งจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว 

        ดังนั้นทั้ง 4 คดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ข้างต้นที่พักคดีไว้และอาจขาดอายุความได้(อายุความในคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ทั้ง 4 คดีข้างต้น อายุความ 15 ปี นับแต่มีการพักคดี  ) แต่หาก พ.ร.ป.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฉบับใหม่  มีผลใช้บังคับไม่ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะหนีคดีไปนานแค่ไหน ก็ไม่ขาดอายุความ และ สามารถพิจารณาคดี ไต่สวนพยานต่อไปได้ ไม่ต้องพักไว้เหมือนเดิมอีกต่อไป    

         ส่วนคดีที่ศาลพิพากษาแล้ว เช่น  คดีซื้อขายที่ดินรัชดาภิเษกมูลค่า 772 ล้านบาทเศษ  ซึ่งศาลมีคำพิพากษาให้จำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเวลา 2 ปี โดยศาลออกหมายจับเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2551 เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ได้หลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษานั้น 

       ยังมีความเห็นต่างกันออกไปเป็น 2 แนวทาง

        แนวทางแรก  เห็นว่า ร่าง พ.ร.ป. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. .. ฉบับใหม่นี้ มีผลบังคับใช้กับคดีที่ศาลมีคำพิพากษาไปก่อนหน้าแล้วด้วย คือ เมื่อศาลพิพากษาลงโทษจำคุกแล้วจำเลยหลบหนีคดีไป ไม่ว่าหลบหนีคดีไปนานเท่าใด ก็ไม่ขาดอายุความ  โดยอ้างตามมาตรา 24/1 วรรคสาม ที่ระบุว่า ถ้าจำเลยหลบหนีไปในระหว่างต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ มิให้นำนำบทบัญญัติิเรื่องอายุความมาใช้บังคับ

        ส่วนแนวทางที่สอง เห็นว่า  ร่าง พ.ร.ป. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. .. ฉบับใหม่นี้ ไม่มีผลใช้บังคับกับคดีที่ศาลมีคำพิพากษาเสร็จไปแล้วเพราะคดีได้จบสิ้นไปแล้ว โดยตามบทเฉพาะกาลของร่าง พ.ร.ป. ฉบับนี้  ให้ใช้ได้กับคดีที่มีการฟ้องอยู่เดิม หรือที่ได้ดำเนินการไปแล้ว โดยให้นำเนื้อหาตามบทบัญญัติของ พ.ร.ป. ฉบับใหม่มาใช้บังคับ ในการที่จะดำเนินคดีต่อไปเท่านั้น จึงไม่รวมถึงคดีที่จบสิ้นไปแล้ว

       ด้านนายอุดม รัฐอมฤต กรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่าง พ.ร.ป. ฉบับใหม่  ระบุว่า ร่าง พ.ร.ป.ฉบับนี้เป็นกฎหมายวิธีพิจารณาคดี จึงจะใช้กับคดีที่ยังพิจารณาไม่เสร็จเท่านั้น ดังนั้นคดีที่ดินรัชดาฯที่ศาลพิพากษาจำคุกทักษิณ 2 ปี จึงไม่นำ พ.ร.ป.ฉบับนี้มาบังคับใช้ด้วย เพราะคดีดังกล่าวจบไปแล้ว 

       (สำหรับคดีที่ดินรัชดาฯ ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ  2 ปี นั้น มีอายุความ 10 ปี  ดังนั้นจะครบอายุความวันที่ 21 ต.ค. 2561 เนื่องจากศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษาเมื่อ 21 ต.ค.2551)

        อย่างไรก็ตามร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพิจารณาคดีอาญาจของผผู้ดำรงตำแหน่งทางเมือง ฉบับใหม่  ก่อนที่จะคลอดออกมาบังคับใช้ได้ คงยังข้อถกเถียงกันอีกมากมาย เช่น ขัดต่อหลักกฎหมายอาญาที่ว่าย้อนหลังเป็นโทษต่อจำเลยหรือไม่ บ้างก็ว่าไม่ขัดเพราะ ไม่ได้เป็นการเขียนกฎหมาย เปลี่ยนจากเดิมไม่เป็นความผิด เป็นให้มีความผิดหรือมีโทษ หรือเพิ่มโทษ  แต่บางฝ่ายก็เห็นว่าทำได้ไม่ใช่การย้อนหลังเป็นโทษต่อจำเลย แต่เป็นส่วนหนึ่งของวิธีการพิจารณาคดีเท่านั้น   

        ต้องจับตาดูต่อไป ว่าเมื่อร่างกฎหมายฉบับนี้ออกมาบังคับใช้ จะมีการเปลี่ยนแปลงในเนื้อหาไปมากน้อย แค่ไหน หรือไม่ 

****

        คดีนักการเมืองรายอื่นที่อยู่ระหว่างหลบหนีคดี

        1.นายวัฒนา อัศวเหม คดีที่ดินคลองด่าน อดีต รมช. มหาดไทย  ปัจจุบันอยู่ระหว่างการหลบหนีหมายจับคำพิพากษาจำคุก  จากการที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2551 ในคดีที่นายวัฒนา อัศวเหม อดีต รมช.มหาดไทย เป็นจำเลย ในกรณีสืบเนื่องจากนายวัฒนาใช้อำนาจข่มขู่ หรือชักจูงใจให้ผู้อื่นร่วมออกโฉนดที่ดิน 1,900 ไร่ ทับที่คลองสาธารณประโยชน์ เพื่อนำไปขายให้กรมควบคุมมลพิษเพื่อก่อสร้างโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จังหวัดสมุทรปราการ โดยศาลพิพากษาลงโทษจำคุกนายวัฒนา 10 ปี อายุความคดี 15 ปี (ครบ 18 ส.ค. 2566)

         2.นายประชา มาลีนนท์  อดีต รมช.มหาดไทย คดีทุจริตจัดซื้อเรือ-รถดับเพลิง กทม. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่ง มีคำพิพากษาเมื่อ 10 ก.ย. 2556 จำคุก 12 ปี นายประชาหลบหนีคดีไป อายุความคดี 15 ปี  (ครบ 10 ก.ย. 2571 ) 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ