คอลัมนิสต์

รถคันแรกกับความตายกลางถนน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รถคันแรกกับความตายกลางถนน : โลกตำรวจ โดยปนัดดา ชำนาญสุข [email protected]

              “ผมอยากมีนายคนเดียว” นายดาบตำรวจจราจรโอดครวญที่จะต้องทำหน้าที่ประสานงานในการเชิญผู้บริหารต่างหน่วยงาน ซึ่งเป็นภาคีเครือข่ายที่มีบทบาทหลักในการร่วมแก้ไขและป้องกันอุบัติเหตุทางถนน

              “เชิญเขา เขาก็ส่งตัวแทนมา แล้วตัวแทนก็ทำอะไรไม่ได้อยู่ดี ออกจากที่ประชุมไปเขาก็ไม่ทำอะไร ในที่สุดตำรวจก็ต้องทำอยู่ฝ่ายเดียวเหมือนเดิม” นายดาบระบายความอัดอั้นตันใจ

              ลักษณะการส่งผู้แทนที่ไม่มีอำนาจใดๆ อย่างแท้จริงเข้าร่วมประชุมในการทำงานตามรูปแบบบูรณาการการทำงานร่วมกันนั้น มิได้เป็นปัญหาเฉพาะกรณีที่ตำรวจเป็นเจ้าภาพในการเชิญประชุมเท่านั้น หากแต่เมื่อหน่วยงานอื่นเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมก็พบว่า บ่อยครั้งที่นายๆ ของตำรวจก็มีวัฒนธรรมส่งผู้แทนที่ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ รวมถึงไม่สามารถแสดงความเห็นใดๆ เข้าร่วมประชุมเช่นเดียวกัน

              เช่นเดียวกับทุกๆ เรื่องที่ผ่านมา เสียงร้องขอให้แก้ปัญหาของนายดาบตำรวจคนเล็กๆ ในโลกของตำรวจไม่มีผลใดๆ...กระบวนการทำงานที่ถูกออกแบบและกำหนดมาแล้วจากเบื้องบนที่สั่งลงมาให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเบื้องล่างปฏิบัติ เป็นสิ่งที่ตำรวจผู้ปฏิบัติจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งนายอย่างเคร่งครัด หมดสิทธิ์ที่จะโต้แย้งอย่างตรงไปตรงมา

              กรณีการแก้ไขและป้องกันการบาดเจ็บและการเสียชีวิตจากการเกิดอุบัติเหตุทางถนนนั้น จำเป็นต้องทำความเข้าใจธรรมชาติของสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุทางถนนด้วย หรืออาจเรียกว่า ธรรมชาติของพฤติกรรมการขับขี่ที่เสี่ยงโดยควรตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบว่า “ทำไมคนไทยจึงมีพฤติกรรมการขับขี่ที่เสี่ยง”

              คำตอบแบบยึดติดกรอบคิดแบบเดิมๆ เช่นเดียวกับเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมอื่นๆ คือ ไม่มีจิตสำนึก ไม่มีวินัย เมื่อคำตอบมีเพียงเท่านี้ เพราะไม่เปิดใจและไม่ใช้หลักวิชาที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านก็จะได้ทางแก้ไขตามมาด้วยวิธีแบบเดิมๆ คือ การรณรงค์ปลูกจิตสำนึก? ซึ่งไม่เคยปรากฏผลอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนว่าต้นจิตสำนึกที่ปลูกผ่านการรณรงค์สำเร็จได้จริงหรือไม่? คุ้มค่ากับงบประมาณ เวลา และทรัพยากรที่ใช้ไปหรือไม่?

              นอกเหนือจากการรณรงค์ในรูปแบบต่างๆ ที่ใช้งบประมาณมหาศาลแล้วนั้น วิธีการแก้ไขอีกประการหนึ่งที่ถูกเรียกร้องให้นำมาใช้ตามอย่างที่นานาประเทศทำกันก็คือ ตำรวจต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เข้มแข็ง และต่อเนื่อง

              การตั้งคำถามว่า ทำไมผู้ขับขี่ถึงละเมิดกฎหมายจราจร? (ที่ไม่ตอบว่าไม่มีจิตสำนึก) เพื่อให้ได้คำตอบมาใช้ในการแก้ไข ปรับปรุงและพัฒนานั้น จะนำไปสู่การแก้ไขและป้องกันสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุทางถนนที่ต้นเหตุ ซึ่งหากสังเกตอย่างลึกซึ้งจะพบว่า นานาประเทศเขาก็ทำการกำจัดสาเหตุอันเป็นปัจจัยเสี่ยงทั้งหลายเหล่านั้นแล้ว เขาจึงมาใช้มาตรการสุดท้ายคือ การบังคับใช้กฎหมาย อีกทั้งการบังคับใช้กฎหมายของนานาประเทศที่พัฒนาแล้วนั้น เขาก็ไม่ใช้ตำรวจจราจรมายืนเฝ้าจุดต่างๆ เพื่อจับปรับบนถนนด้วย

              การใช้ตำรวจมายืนเฝ้าถนนเพื่อบังคับใช้กฎหมายกับผู้ขับขี่ที่ละเมิดกฎจราจรเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในโลกของความเป็นจริง...ซึ่งผู้บริหารและผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายควรเปิดใจยอมรับความจริงในส่วนนี้

              อีกไม่นานกระบวนการทำงานที่แสดงให้เห็นวิสัยทัศน์และความสามารถของผู้บริหารส่วนราชการในการแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนที่ทำให้คนไทยตายจำนวนมากก็จะเริ่มต้นขึ้น ด้วยการประกาศ...วันอันตรายในเทศกาลปีใหม่...และคนไทยก็จะเห็นธรรมเนียมเดิมๆ พิธีการเดิมๆ การปฏิบัติแบบเดิมๆ เช่นเคย ถึงแม้ทุกๆ คนต่างรู้ว่า วิธีคิดเดิมๆ และวิธีการเดิมๆ ก็จะส่งผลลัพธ์แบบเดิมๆ คือ คนไทยก็ยังตายกลางถนนจำนวนมากเหมือนเดิม หากแต่มีเพียงสิ่งเดียวที่เปลี่ยนไปคือ คนไทยเริ่มไม่ใส่ใจ ไม่สนใจ และคุ้นชินกับพิธีการเช่นนั้นแล้ว

              ฝีมือการทำงานของผู้บริหารที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ น่าจะเป็นสิ่งยืนยันถึง “ความไร้ฝีมือ” ได้เป็นอย่างดี ซึ่งรัฐบาลควรจะตระหนักและหันกลับมาทบทวนกระบวนการบริหารจัดการเรื่องความปลอดภัยทางถนนโดยยกเครื่องใหม่เสียที

              หรือว่า ในยุครถคันแรกนี้...รัฐบาลมุ่งสนใจเฉพาะการเติบโตทางเศรษฐกิจเท่านั้น ส่วนการเติบโตของจำนวนคนไทยที่ตายอย่างน่าสังเวชกลางถนนนั้น ก็ปล่อยไปตามยถากรรม ให้คนไม่มีฝีมือบริหารจัดการต่อไป!
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ