ข่าว

"บรมราชาภิเษก" สืบราชสันตติวงศ์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ประมวลข่าวเด่นรอบปี2562...."บรมราชาภิเษก" สืบราชสันตติวงศ์ โดย หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

 

             พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ถือเป็นพระราชพิธีที่สำคัญที่สุดในการที่พระมหากษัตริย์จะทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่สมบูรณ์ตามโบราณราชประเพณี เพราะเป็นการครองราชสมบัติสืบต่อจากรัชกาลก่อน ซึ่งการขึ้นครองราชสมบัติของพระเจ้าแผ่นดินในประเทศไทยนั้นมีสองลักษณะ คือ “ปราบดาภิเษก” หมายความว่า พระเจ้าแผ่นดินขึ้นครองราชสมบัติ โดยไม่ได้สืบเชื้อสายโดยตรงจากแผ่นดินก่อน ถือเป็นราชวงศ์ใหม่ แต่หากเป็นการขึ้นครองราชย์สืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ก่อน จะเรียกว่า “บรมราชาภิเษก”

 

"บรมราชาภิเษก" สืบราชสันตติวงศ์

เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค

 

            ในสมัยกรุงธนบุรีมีการย้ายราชธานีจาก อยุธยา มายัง กรุงธนบุรี ซึ่งเป็นเมืองที่ฝรั่งเศสมาสร้างตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์เป็นเมืองหน้าด่าน ป้องกันข้าศึกศัตรูทางทะเล สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือ “พระเจ้าตาก” ทรงเลือกเมืองธนบุรีที่มีขนาดเล็กและมีป้อมปราการมั่นคงใกล้ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะเสด็จฯ ไปตั้งมั่นที่จันทบุรีได้โดยง่าย ทรงสร้างพระราชวังเดิมเป็นที่ประทับ และทรงทำพิธีปราบดาภิเษก ณ พระราชวังเดิม

 

 

"บรมราชาภิเษก" สืบราชสันตติวงศ์

ทรงรับน้ำมุรธาภิเษกจากสมเด็จพระสังฆราช

 

            ต่อมาสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงปราบดาภิเษก เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2325 ทรงเห็นข้อขัดข้องของเมืองธนบุรีหลายประการ ประการที่ 1 เมืองธนบุรีตั้งอยู่ทางตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา กระแสน้ำจะไหลเซาะตลิ่งไปเรื่อยๆ นานไปจะเว้าแหว่งเป็นอันตรายต่อพระราชวังได้ ประการที่ 2 พระราชวังตั้งอยู่ตรงกลางวัดขนาดใหญ่สองวัดขนาบข้างคือ วัดอรุณราชวราราม ขนาบทางด้านทิศเหนือ วัดโมลีโลกยาราม ขนาบด้านทิศใต้ ไม่สามารถขยายพื้นที่ของพระราชวังให้กว้างกว่านี้ได้ ประการที่ 3 เมืองธนบุรีมีลักษณะเป็นเมืองอกแตก แม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่ากลางยากแก่การป้องกันข้าศึกศัตรู ทรงเห็นว่าเนื้อที่ทางฝั่งตะวันออกของเจ้าพระยาน่าจะเหมาะสมกว่า จึงโปรดให้ย้ายราชธานีมาฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา และโปรดให้ขุดคลองบางลำพู คลองโอ่งอ่าง ขุดคูเมืองทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันออก

 

"บรมราชาภิเษก" สืบราชสันตติวงศ์

ทรงรับน้ำอภิเษกจากบุคคลสำคัญของประเทศ

 

            โดยมีพระราชปณิธานสร้างราชธานีแห่งใหม่ให้มีความคล้ายคลึงกรุงศรีอยุธยามากที่สุด ทั้งภูมิศาสตร์ของเมือง การสร้างพระราชวังริมน้ำเจ้าพระยา เหมือนพระราชวังหลวงอยุธยาติดแม่น้ำลพบุรี เพื่อสะดวกในการเสด็จพยุหยาตราทางชลมารค สร้างพระที่นั่งมหาปราสาทต่างๆ เลียนแบบอยุธยา และโปรดเกล้าฯ ให้ พระยาเพชรพิชัย ขุนนางครั้งกรุงเก่า รวบรวมตำราพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยอยุธยา มาเรียบเรียงขึ้นใหม่โดยใช้เวลา 3 ปี เนื่องจากเอกสารคัมภีร์โบราณสูญหายจากหอหลวงซึ่งถูกเผาไปหมดแล้ว เพื่อให้ใช้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกได้อย่างสมบูรณ์ต่อไป ส่วนพิธีปราบดาภิเษก โปรดให้ทำโดยสังเขปจนถึงปี 2328 ทรงสร้างพระมหาปราสาทหลังแรกขึ้น คือ “พระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท” โปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างเต็มตำราตามที่พระยาเพชรพิชัยได้รวบรวมไว้ ณ ที่แห่งนี้

 

"บรมราชาภิเษก" สืบราชสันตติวงศ์

พิธีจารึกพระสุพรรณบัฏ 

 

          เมื่อปี 2332 ได้เกิดเหตุการณ์อสนีบาต หรือฟ้าผ่า บริเวณมุขเด็จของพระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท องค์พระที่นั่งเสียหายทั้งหมด รัชกาลที่ 1 จึงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อและสร้างมหาปราสาทองค์ที่สอง พระราชทานนามว่า “พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท” ถ่ายแบบมาจากพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่มีขนาดเล็กกว่า ส่วนยอดปราสาท หมายถึงเขาพระสุเมรุ ถ้าเป็น “พระมหาปราสาท” ยอดปราสาทต้องลดหลั่นกัน 7 ชั้น แต่ถ้าลดหลั่นกัน 5 ชั้น จะเรียกว่า “ปราสาท”  

 

"บรมราชาภิเษก" สืบราชสันตติวงศ์

 ทรงรับเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์

 

          พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ใช้ประกอบพระราชพิธีมาโดยตลอด จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ทรงเชิญพระบรมโกศพระบรมศพมาประดิษฐานไว้ ณ พระที่นั่งองค์นี้ รัชกาลที่ 2 จึงทรงเปลี่ยนสถานที่พระราชพิธีบรมราชาภิเษกมาเป็นที่หมู่พระมหามณเฑียรแทน และเป็นเช่นนี้นับแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งหมู่พระมหามณเฑียรเป็นพระที่นั่งมีลักษณะเป็นอาคารติดต่อกัน มีชื่อสอดคล้องกัน ได้แก่ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน, พระที่นั่งไพศาลทักษิณ, พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน, พระที่นั่งเทพสถานพิลาส และพระที่นั่งเทพอาสน์พิไล หอพระสุราไรพิมาน หอพระธาตุมณเฑียร เดิมรัชกาลที่ 1 ทรงเรียก “หมู่จักรพรรดิพิมาน” ต่อมารัชกาลที่ 3 ทรงแยกเป็นชื่อพระที่นั่งต่างๆ

 

"บรมราชาภิเษก" สืบราชสันตติวงศ์

เสด็จเฉลิมพระราชมณเฑียร

 

          สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาแต่โบราณราชประเพณี แบ่งเป็นขั้นตอนต่างๆ ดังนี้

 

            พระราชพิธีเบื้องต้น : ขั้นเตรียมพิธีในงานบรมราชาภิเษก

            พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในอดีตต้องรีบทำ เพราะบ้านเมืองยังมีศึกสงคราม เพื่อให้คนยอมรับทั้งราษฎรไทยและชาวต่างชาติ พระมหากษัตริย์ที่มีอำนาจสูงสุดในการปกครอง ในสมัยโบราณพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นพิธีพราหมณ์อย่างเดียว จนกระทั่งถึงรัชกาลที่ 4 ทรงพระผนวชเป็นเวลานานกว่า 27 พรรษา โปรดให้นำพิธีทางพุทธศาสนามาเกี่ยวข้องกับพระราชพิธีหลวงทั้งหมด จึงกลายเป็นพิธีพุทธและพราหมณ์รวมกัน เพราะพระเจ้าแผ่นดินถึงแม้นับถือพุทธศาสนา แต่ก็ทรงอุปถัมภ์พราหมณ์ พราหมณ์เป็นผู้ประกอบพิธีในราชสำนักทั้งหลาย ซึ่งการเตรียมพระราชพิธีมีรายละเอียดดังนี้

 

 

"บรมราชาภิเษก" สืบราชสันตติวงศ์

เครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียร

 

           การเตรียมน้ำอภิเษก

            ในสมัยอยุธยากล่าวว่าเป็นน้ำที่ตักมาจากแม่น้ำ 5 สายในอินเดียเรียกว่า “ปัญจมหานที” ได้แก่ แม่น้ำคงคง, แม่น้ำยมุนา, แม่น้ำมหิ, แม่น้ำสรภู และแม่น้ำอิระวดี ถือเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ ต่อมาในสมัยอยุธยาตอนปลาย เพิ่มแม่น้ำ 5 สายในประเทศไทย เนื่องจากเกรงว่าการนำน้ำจากแม่น้ำในอินเดียจะล่าไปไม่ทันประกอบพระราชพิธี จึงเปลี่ยนเป็นแม่น้ำ 5 สาย ในประเทศไทย เรียกว่า “เบญจสุทธคงคา” ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำราชบุรี แม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำบางปะกง และแม่น้ำป่าสัก แต่แม่น้ำสำคัญยังคงถือว่าเป็นแม่น้ำคงคาเพราะไหลมาจากเขาไกรลาส ทั้งนี้ สมัยอยุธยาตอนปลายนั้น ราชวงศ์บ้านพลูหลวง สืบเชื้อสายมาจากสุพรรณบุรี จึงได้เพิ่มน้ำจาก 4 สระศักดิ์สิิทธิ์ในสุพรรณบุรี ได้แก่ สระเกศ สระแก้ว สระคงคา และสระยมนาเข้าไปด้วย

 

"บรมราชาภิเษก" สืบราชสันตติวงศ์

น้ำอภิเษกจากทั่วประเทศ

 

             เมื่อถึงสมัยรัตนโกสินทร์ พระยาเพชรพิชัย ซึ่งเป็นผู้รวบรวมตำราพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยอยุธยา พบว่าแต่เดิมต้องใช้น้ำจากสถานที่ต่างๆ 18 แห่ง เมื่อได้น้ำอภิเษกจะต้องตั้งพิธีเสก หรือ “พิธีพลีกรรม” ในพุทธสถานที่สำคัญของเมืองนั้นๆ ก่อน เช่น ตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่พิษณุโลกแล้วต้องมาทำพิธีเสกที่วัดพระศรีมหาธาตุ หน้าพระพุทธชินราช เพราะเป็นวัดสำคัญที่สุดของพิษณุโลก ส่วนเมืองอื่นๆ ก็ต้องตักจากสถานที่ต่างๆ ในจังหวัดของตัวเองแล้วนำไปเสกน้ำในสถานที่สำคัญของเมือง เมื่อเสกน้ำครบทั้ง 18 แห่งแล้วจะนำมาเสกอีกครั้งที่วัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพมหานคร เหตุที่ต้องใช้วัดแห่งนี้ เพราะรัชกาลที่ 1 ทรงสร้างวัดสุทัศนเทพวรารามเป็นวัดกลางเมือง กรุงรัตนโกสินทร์แต่โบราณมีกำแพงเมืองล้อมรอบ จุดที่ตั้งวัดสุทัศน์เป็นศูนย์กลางกรุงเทพฯ เดิมชื่อว่าวัดมหาสุทธาวาส ในสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงเปลี่ยนชื่อเป็นวัดสุทัศนเทพวราราม ตามชื่อเมืองสุทัศนนคร ซึ่งแปลว่า เป็นเมืองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

         

 

        

            พิธีจารึกพระสุพรรณบัฏ ดวงพระบรมราชสมภพ และแกะพระราชลัญจกรประจำรัชกาล

 

            สุพรรณ แปลว่า “ทอง” ส่วนบัฏ แปลว่า “แผ่น” เป็นการจารึกพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ลงบนแผ่นทอง ซึ่งพระปรมาภิไธยที่จารึกจะมีคำที่เป็นสิริมงคลรวมอยู่ เป็นการถวายพระนามเพื่อสิริมงคล โดยส่วนใหญ่เป็นพระนามที่คล้ายคลึงกัน เดิมคนทั่วไปเรียกพระเจ้าแผ่นดินว่า “พระเจ้าอยู่หัว” เมื่อสวรรคตแล้วเรียกพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ในสมัยรัชกาลที่ 3 มีพระพุทธเจ้าหลวงในพระบรมโกศสองพระองค์ คือรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 2 ทำให้เกิดความสับสน เรียกพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ หมายถึงรัชกาลที่ 1 หรือรัชกาลที่ 2 ประชาชนเลยพากันเรียกใหม่ รัชกาลที่ 1 เรียกว่า “แผ่นดินต้น” เรียกรัชกาลที่ 2 ว่า “แผ่นดินกลาง” 

 

 

"บรมราชาภิเษก" สืบราชสันตติวงศ์

หมู่พระมหามณเฑียร 

 

          ครั้งถึงรัชกาลที่ 3 ทรงเกรงว่าในรัชสมัยของพระองค์จะเป็นแผ่นดินปลาย จะเป็นอวมงคลต่อราชวงศ์ จึงโปรดให้สร้างพระพุทธรูปยืน 2 พระองค์ในพระอุโบสถวัดพระแก้ว ทำด้วยทองสำริด สูงองค์ละ 3 เมตรหุ้มด้วยทองคำ ประดับด้วยอัญมณีมีค่า ถวายพระนามทางด้านทิศเหนือว่า “พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก” ส่วนทิศใต้เรียกว่า “พระพุทธเลิศหล้านภาลัย” ต่อไปให้เรียกพระนามตามชื่อของพระพุทธรูปสององค์นี้ ชื่อพระนามของทั้งสองพระองค์จึงมีชื่อว่า “พุทธ” ไม่ใช่พระนามเดิมขณะทรงพระชนม์ชีพ แต่เป็นพระนามถวายเมื่อสวรรคตแล้ว ซึ่งรัชกาลที่ 3 เองในจารึกพระสุพรรณบัฏก็ไม่มีพระนามเรียกเฉพาะ รัชกาลที่ 4 ทรงตั้งพระนามถวายทีหลัง คือ “พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว”

 

            ในรัชกาลปัจจุบัน เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2562 เวลา 09.30 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พลเรือเอก หม่อมเจ้าปุสาณ สวัสดิวัตน์ เสด็จแทนพระองค์ไปในการพระราชพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏ ดวงพระบรมราชสมภพ และแกะพระราชลัญจกรประจำรัชกาล ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เบื้องหน้าพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ในเวลาพระฤกษ์ 08.19–11.35 น.

 

            ทั้งนี้ พระสุพรรณบัฏจารึกพระปรมาภิไธยเป็นแผ่นทองคำ มีขนาดกว้างยาวพอที่จะจารึกพระปรมาภิไธยได้ เช่น ในสมัยรัชกาลที่ 6 พระสุพรรณบัฏกว้าง 7 นิ้ว ยาว 14 นิ้ว พระสุพรรณบัฏนี้จะต้องทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระมหากษัตริย์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โหรหลวงจึงต้องกำหนดพระฤกษ์อันเป็นมงคล สำหรับการจารึกก่อนการพระราชพิธี

 

            เมื่อจารึกพระสุพรรณบัฏ ดวงพระราชสมภพ และแกะพระราชลัญจกรประจำรัชกาลเสร็จแล้ว จะเก็บรักษาไว้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามชั่วคราว จากนั้นจะมีพิธีเชิญทั้งสามสิ่งประดิษฐานบนพระราชยานกง มายังมณฑลพิธีที่หมู่พระราชมณเฑียร

 

            พระราชพิธีเบื้องกลาง : พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

            เริ่มจากขั้นตอนแรก “พิธีสรงน้ำมุรธาภิเษก” พนักงานจะต้องปลูกพระมณฑปพระกระยาสนานขึ้นภายนอกพระมหามณเฑียร เป็นพระที่นั่งไม้สีขาว ด้านบนเป็นฉัตร 9 ชั้น มีผ้าระบายสีขาวทั้งหมด มีพระแท่นที่ประทับ ตามพิธีของพราหมณ์ โดยน้ำอภิเษกจาก 18 แห่งจะมารวมกันใส่บนแท็งก์น้ำขนาดเล็กอยู่เหนือเพดานพระมณฑปพระกระยาสนาน ซึ่งเราจะมองไม่เห็นเนื่องจากจะมีฉัตร 9 ชั้นบังอยู่ ด้านขวาจะมีพระเต้า พระเต้าเงิน พระเต้าทอง พระเต้านาค พระเต้าเทวบิฐ ใช้ในการถวายน้ำสรงพราหมณ์ถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพิธี ซึ่งการสรงมุรธาภิเษกไม่จำเป็นต้องสรงในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเท่านั้น จะสรงในพิธีสำคัญอื่นๆ ก็ได้ เช่น ในพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา สมัยรัชกาลที่ 5 เสด็จเข้าประทับพระที่นั่งวิมานเมฆก็มีพิธีสรงน้ำมุรธาภิเษกเช่นกัน หรือในสมัยรัชกาลที่ 9 จัดพิธีสรงน้ำมุรธาภิเษกตอนเฉลิมพระชนมพรรษา 3 รอบ แต่พระราชพิธีบรมราชาภิเษกถือเป็นพระราชพิธีสำคัญที่สุด

 

            พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 4 พฤษาภาคม 2562 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์เศวตพัสตร์ เป็นลักษณะเป็นผ้ารูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า 2 ผืน ผืนหนึ่งขนาดเล็กสำหรับทรงสะพักเฉียงพระอังสา อีกผืนหนึ่งขนาดใหญ่สำหรับทรงแบบจีบหน้านางผ้าทรงสะพักนำทองคำมารีดเป็นแผ่นบางๆ แล้วตัดเป็นเส้นขนาดความกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร เย็บติดกับริมขอบผ้าทั้ง 4 ด้านส่วนผ้าสำหรับทรงนำแผ่นทองคำขนาดเดียวกันกับที่ติดผ้าทรงสะพักมาเย็บติดขอบชายผ้าเฉพาะด้านล่างขนานกัน 2 เส้น เสด็จฯ ออกจากหอพระสุราลัยพิมานโดยริ้วขบวนพราหมณ์ไปยังมณฑปพระกระยาสนานที่ประทับสรงน้ำเพื่อทรงน้ำมุรธาภิเษก

 

            สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประทับบนที่ประทับสรงซึ่งทำจากไม้มะเดื่อ ไม้มงคลสำหรับพระมหากษัตริย์ ประทับเหนืออุทุมพรราชอาสน์ แปรพระพักตร์สู่ทิศบูรพา ทรงเหยียบใบอ้อ จากนั้นจึงทรงกวักน้ำพระพุทธมนต์อันเจือด้วยน้ำเบญจสุทธคงคา และน้ำศักดิ์สิทธิ์จากพระครอบพระมุรธาภิเษก รัชกาลที่ 1 สรงพระนลาฎ ตามมาด้วยน้ำศักดิ์สิทธิ์จาก 4 สระ จากจังหวัดสุพรรณบุรี สระเกศ สระแก้ว สระคา สระยมนา และน้ำ “เบญจสุทธคงคา” น้ำจากแม่น้ำบริสุทธิ์ 5 สาย ได้แก่ แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำราชบุรี และแม่น้ำเพชรบุรี ก่อนที่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก จะเสด็จขึ้นไปทรงสรงน้ำพระพุทธมนต์ และขบวนพราหมณ์สรงน้ำเทพมนต์ ตามลำดับ

 

            จากนั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์บรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ ฉลองพระองค์ครุย สายสะพายนพรัตน์ราชวราภรณ์ สายสร้อยจุลจอมเกล้า เสด็จฯ ไปประทับภายใต้พระบวรเศวตฉัตร ทรงรับน้ำอภิเษกเวียนขวาจากบุคคลสำคัญของประเทศ อาทิ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ (ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ และอดีตนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นต้น

 

"บรมราชาภิเษก" สืบราชสันตติวงศ์  เสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท

 

          สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับการน้อมเกล้าฯ ถวายพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรจากประธานพระครูพราหมณ์ เสร็จแล้วจึงเสด็จฯ ไปยังพระที่นั่งภัทรบิฐ ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร แปลพระพักตร์สู่ทิศบูรพา ประธานพระครูพราหมณ์ เข้าเฝ้าฯ กล่าวเวทสรรเสริญเปิดศิวาลัยไกรลาส เสร็จแล้วกราบบังคมทูลถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ตามลำดับ ทรงรับการถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์พระมหากษัตริย์ ซึ่งหมายความว่า ทรงเป็น “พระมหากษัตริย์อย่างสมบูรณ์” หลังจากนั้นจึงมีพระปฐมบรมราชโองการ ความว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” สร้างความปลื้มปีติแก่พสกนิกรทุกหมู่เหล่าเป็นอย่างยิ่ง

 

 

"บรมราชาภิเษก" สืบราชสันตติวงศ์

พสกนิกรถวายพระพรเนืองแน่น

 

               ทรงรับเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์

            จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปยัง “พระที่นั่งภัทรบิฐ” ซึ่งเป็นพระที่นั่งแห่งความเจริญ เมื่อประทับพระที่นั่งภัทรบิฐ ทรงรับเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ประกอบด้วยเครื่องทอง 5 อย่างของพระมหากษัตริย์ อันได้แก่

 

           1.พระมหาพิชัยมงกุฎ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นด้วยทองคำทั้งองค์ น้ำหนัก 7.3 กิโลกรัม สองข้างมีจอนหูทำด้วยทองคำลงยาราชาวดีเช่นกัน ต่อมาในรัชสมัยรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้หาเพชรเม็ดใหญ่จากอินเดียประดับบนยอดพระมหาพิชัยมงกุฎ เพชรนี้มีเส้นผ่าศูนย์กลางถึง 1.7 เซนติเมตร พระราชทานนามเพชรเม็ดนี้ว่า “พระมหาวิเชียรมณี”

 

          2.พระแสงขรรค์ชัยศรี เป็นพระขรรค์ของเก่า ตามประวัติเล่าว่าชาวประมงทอดแหได้จากทะเลสาบนครเขมราฐ เชื่อว่าเป็นพระขรรค์ของกษัตริย์เขมรโบราณ เจ้าพระยาอภัยภูเบศรให้พระยาพระเขมรเชิญเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ 1 จากนั้นรัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้ทำด้ามและฝักขึ้นด้วยทองคำลงยาประดับอัญมณีใช้เป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ปรากฏว่าพระขรรค์องค์นี้เมื่อเชิญมาถึงกรุงเทพฯ มีอสนีบาตตกถึง 7 ครั้งเป็นอัศจรรย์ ในจำนวนนั้นมีตกในพระบรมมหาราชวังถึงสองแห่ง คือประตูวิเศษไชยศรี และประตูพิมานไชยศรี และนำพระขรรค์องค์นี้เข้าทางประตูทั้งสอง จึงได้ชื่อตามประตูว่า “พระแสงขรรค์ชัยศรี”

 

          3.ธารพระกร มีชื่อเรียกว่า ธารพระกรชัยพฤกษ์ ทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์ปิดทองสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ รับสั่งว่าลักษณะเหมือนไม้เท้าพระภิกษุที่ใช้ในการชักมหาบังสุกุล

 

          4.วาลวิชนี(พัดกับแส้จามรี) ในสมัยรัชกาลที่ 1-3 ทรงใช้เป็นพัดใบตาล เรียกว่า พัชนีฝักขาม ต่อมารัชกาลที่ 4 มีพระราชดำริว่า “วาล” แปลว่าขนโคชนิดหนึ่งที่เรียกว่าจามรี จึงทรงทำแส้ขนจามรีขึ้น แต่ไม่อาจให้เปลี่ยนพัดของเก่าจึงใช้คู่กันจนถึงปัจจุบัน

 

          5.ฉลองพระบาทเชิงงอน เป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์มีอยู่ชุดเดียว ซึ่งพระราชครูพราหมณ์จะทูลเกล้าฯ ถวาย ทำด้วยทองคำทั้งองค์ ภายในบุกำมะหยี่ ลวดลายทองคำสลักประดับพลอยและทองคำลงยาสีแดง เขียว ขาว ปลายฉลองพระบาททำงอนขึ้นไป

 

          นอกจากนั้นยังมีสิ่งของอื่นๆ ทูลเกล้าฯ ถวายในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เช่น พระแสงคู่พระหัตถ์ รวมถึงพานพระศรี, มณฑปรัตนกรันฑ์, พระสุพรรณราช และพระสุพรรณศรี ซึ่งตั้งอยู่ทั้งสองข้างของพระที่นั่งภัทรบิฐ

           

 

 

             เสด็จออกมหาสมาคม

             เมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติโดยสมบูรณ์ตามโบราณราชประเพณีแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จออกมหาสมาคมเพื่อทรงรับการถวายพระพรชัยมงคล ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ ทรงฉลองพระองค์ครุย สายสะพายนพรัตน์ราชวราภรณ์ สายสร้อยจุลจอมเกล้า เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย แล้วประทับเหนือพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์บนราชบัลลังก์ภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ทรงพระมหาพิชัยมงกุฎ มีมหาดเล็กเชิญราชกกุธภัณฑ์ พระแสงรายตีนตอง พระแสงอัษฎาวุธ และถวายอยู่งานพัดโบก เมื่อพร้อมแล้วเจ้าพนักงานรัวกรับและเปิดพระวิสูตร เจ้าพนักงานชูพุ่มดอกไม้ทองให้สัญญาณ ชาวพนักงานประโคมกระทั่ง แตร มโหระทึก ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ขณะนั้น ทหารบก ทหารเรือทหารอากาศ ยิงปืนใหญ่เฉลิมพระเกียรติ ฝ่ายละ 21 นัด โดยมีสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พระบรมวงศานุวงศ์ คณะองคมนตรี คณบดีทูต และคณะทูตานุทูตต่างประเทศประจำประเทศไทย นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและคณะ ประธานศาลฎีกาและคณะ ประธานองค์กรอิสระและคณะ ข้าราชการทหาร ตำรวจ พลเรือน และสมาชิกจุลจอมเกล้า เฝ้าฯ และถวายพระพรชัยมงคล

 

"บรมราชาภิเษก" สืบราชสันตติวงศ์

เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค                 

 

          ประกาศพระองค์เป็นศาสนูปถัมภกในพระบวรพุทธศาสนา

         หลังจากออกมหาสมาคมที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปประกาศพระองค์เป็นอัครศาสนูปถัมภกที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสประกาศพระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภก ความว่า “ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ แต่เดิมมาข้าพเจ้าได้มีจิตศรัทธา เลื่อมใส และนึกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ด้วยวิธีนั้นๆ อยู่แล้ว ฉะนั้นบัดนี้ ข้าพเจ้าได้เถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกแล้ว จึงขอมอบตัวแด่พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้าและพระสังฆเจ้า จะได้รับการจัดการ ให้ความคุ้มครอง และรักษาพระพุทธศาสนาโดยชอบธรรมตลอดไป ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ขอพระสงฆ์จงจำไว้ด้วยว่า ข้าพเจ้าเป็นพุทธศาสนูปถัมภกเถิด”

 

"บรมราชาภิเษก" สืบราชสันตติวงศ์

มิ่งขวัญปวงประชา

 

         หลังจากประกาศพระองค์เป็นอัครศาสนูปถัมภกแล้วเสด็จมายังเขตพระบรมมหาราชวังอีกครั้งหนึ่ง เพื่อถวายบังคมพระบรมอัฐิและพระอัฐิสมเด็จพระบรมราชบุพการี ซึ่งประดิษฐานบนพระราชบัลลังก์ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร

   

 

"บรมราชาภิเษก" สืบราชสันตติวงศ์

 

          พระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร

         พระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรเปรียบเหมือนพิธีขึ้นบ้านใหม่ ต้องบรรทมค้างคืนในพระบรมมหาราชวัง โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ประทับแรมในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ซึ่งในพระราชพิธีมีเครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียร และเครื่องราชูปโภค หรือเครื่องใช้ของพระมหากษัตริย์ อาทิ วิฬาร์ หรือแมว มีความหมายถึงการอยู่บ้านใหม่เป็นปกติสุขไม่โยกย้าย, ศิลาบด หรือหินบดยา หมายถึง ความหนักแน่น หรือความไม่มีโรค, พันธุ์พืชมงคล หมายถึง การงอกเงย, ฟักเขียว หมายถึง การอยู่เย็นเป็นสุข, กุญแจทอง หมายถึง กรรมสิทธ์ความเป็นเจ้าของบ้าน และจั่นหมากทอง หมายถึง ความมั่งคั่ง

 

"บรมราชาภิเษก" สืบราชสันตติวงศ์

 

         ทั้งนี้ ในการพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะบรรทมเหนือพระแท่นราชบรรจถรณ์ พระแท่นที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ประดิษฐานภายในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานองค์ตะวันออก สำหรับเป็นพระแท่นบรรทมเฉพาะพระมหากษัตริย์

 

"บรมราชาภิเษก" สืบราชสันตติวงศ์

 

       จากนั้นเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท ทรงรับการถวายพระพรชัยมงคลจากประชาชน

 

 

"บรมราชาภิเษก" สืบราชสันตติวงศ์

 

"บรมราชาภิเษก" สืบราชสันตติวงศ์

 

"บรมราชาภิเษก" สืบราชสันตติวงศ์

 

"บรมราชาภิเษก" สืบราชสันตติวงศ์

 

"บรมราชาภิเษก" สืบราชสันตติวงศ์

 

"บรมราชาภิเษก" สืบราชสันตติวงศ์

 

"บรมราชาภิเษก" สืบราชสันตติวงศ์

 

"บรมราชาภิเษก" สืบราชสันตติวงศ์

 

"บรมราชาภิเษก" สืบราชสันตติวงศ์

 

         พระราชพิธีเบื้องปลาย: เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค และขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

         การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค และขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ก็เพื่อให้ราษฎรมีโอกาสได้ชื่นชมพระบารมี และถวายพระพรชัยมงคล ซึ่งการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ได้จัดพระราชพิธีเสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยมีการเคลื่อนขบวนจากพระบรมมหาราชวังไปยังวัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร และเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง ท่ามกลางพสกนิกรเรือนแสนที่มาเฝ้าฯ รับเสด็จตลอดเส้นทางที่ขบวนเคลื่อนผ่าน

 

 

"บรมราชาภิเษก" สืบราชสันตติวงศ์

 

       ขณะที่การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพุทธศักราช 2562 มีขึ้นในวันพฤหัสดีที่ 12 ธันวาคม เวลา 15.30 น. โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์ครุย ทรงพระมาลาเส้าสูง และทรงพระแสงขรรค์ชัยศรี และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ประทับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ประทับเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ ตามเสด็จในขบวนพยุหยาตรา ณ ท่าวาสุกรี

 

"บรมราชาภิเษก" สืบราชสันตติวงศ์

 

"บรมราชาภิเษก" สืบราชสันตติวงศ์

 

         จากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เคลื่อนขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค ออกจากท่าวาสุกรีไปตามชลวิถีท้องน้ำเจ้าพระยา และเข้าเทียบสะพานฉนวน ประจำท่าราชวรดิฐ แล้วเสด็จพระราชดำเนินประทับพระราชยานพุดตานทอง ทรงพระแสงขรรค์ชัยศรี ยาตราโดยริ้วขบวนราบไปยังพระบรมหาราชวัง มีพระราชยานถมอัญเชิญพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ รัชกาลที่ 9 นำริ้วขบวนราบ และจะเสด็จพระราชดำเนินกลับพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เป็นอันเสร็จสิ้นพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 โดยสมบูรณ์

 

"บรมราชาภิเษก" สืบราชสันตติวงศ์

 

         ขั้นตอนพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตลอดจนรายละเอียดต่างๆ ประกอบพระราชพิธี ถือเป็นมรดกชาติที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น เป็นความภาคภูมิใจของพสกนิกรไทยภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารแห่งสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ