ข่าว

 "มูลนิธิหอสมุดดนตรี"ในหลวงร.9 ผนึกเครือข่ายขยายสู่ประชาชน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 "มูลนิธิหอสมุดดนตรี"ในหลวงร.9 ผนึกเครือข่ายขยายสู่ประชาชนด้วยระบบ"ดิจิตอล"

      5 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันสำคัญของชาติไทยที่รัฐบาลกำหนดให้เป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรหรือในหลวงรัชกาลที่9 เป็นวันชาติและเป็นวันพ่อแห่งชาติ

 "มูลนิธิหอสมุดดนตรี"ในหลวงร.9 ผนึกเครือข่ายขยายสู่ประชาชน

 

    แม้จะเสด็จสู่สวรรคาลัย แต่พระอัฉริยภาพด้านต่างๆ ของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ยังตราตรึงใจพสกนิกรชาวไทยทุกห้วงคำนึง อย่างพระอัจฉริยภาพด้านดนตรี ที่เราต่างทราบกันดีว่าพระองค์ทรงเป็นองค์อัครศิลปิน นอกจากทรงเล่นเครื่องดนตรีได้หลากหลายประเภทแล้ว ยังทรงประพันธ์บทเพลงไว้มากมาย

 "มูลนิธิหอสมุดดนตรี"ในหลวงร.9 ผนึกเครือข่ายขยายสู่ประชาชน

     เมื่อครั้งวโรกาสเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติ ครบ 50 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 “หอสมุดดนตรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9” จึงได้รับพระบรมราชานุญาตให้จัดสร้างขึ้น โดยตั้งอยู่ภายในหอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี สังกัดสำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร เพื่อให้บริการศึกษา ค้นคว้าเพลงพระราชนิพนธ์และพระราชกรณียกิจด้านดนตรี ตลอดจนรวบรวมแผ่นเสียง แถบบันทึกเสียง แผ่นซีดี วีดีทัศน์ รวมทั้งสื่อโสตฯ อื่นๆ

      อ.จรรมนง แสงวิเชียร รักษาการประธานมูลนิธิหอสมุดดนตรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และ อ.อรรคศิษฏ์ วิริยะกุล ผอ.ศูนย์ข้อมูลดนตรี นาฏศิลป์ และศิลปะการแสดง ได้ร่วมให้ข้อมูลว่า หลังจากมี “หอสมุดดนตรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9” แล้ว ต่อมาจึงมีการจัดตั้ง “มูลนิธิหอสมุดดนตรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9” ขึ้น เนื่องจากครั้งหนึ่ง ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงรับสั่งเรื่องเด็กปัตตานีที่อยากได้เพลงในสกอร์เพลงพระราชนิพนธ์ ซึ่งทั้งครูทั้งนักเรียนต้องเดินทางมาขอที่หอสมุดดนตรีแห่งนี้ ทั้งยังได้ไปแบบที่ไม่ใช่ต้นฉบับด้วย พระองค์จึงทรงรับสั่งว่า ทำอย่างไรที่จะให้เด็กไม่ต้องเดินทางมาไกลถึงที่นี่ 

        คณะนักดนตรีวง อ.ส.วันศุกร์ หรือ วงดนตรีอัมพรสถานวันศุกร์ ซึ่งเป็นวงดนตรีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่เล่นดนตรีออกอากาศทางสถานีวิทยุ อ.ส. อัมพรสถาน ทุกเย็นวันศุกร์ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ซึ่งเป็นคณะกรรมการหอสมุดดนตรีฯ จึงช่วยกันสืบสานโดยจัดตั้งมูลนิธิหอสมุดดนตรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ขึ้น มีพันธกิจหลักในการอนุรักษ์ บันทึก จัดเก็บ และเผยแพร่องค์ความรู้ด้านดนตรี นาฏศิลป์ และศิลปะการแสดงของชาติ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้นด้วยระบบดิจิตอล ซึ่งปัจจุบันกำลังจะขยายการเก็บข้อมูลไปถึงองค์ความรู้ด้านงานช่างต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้”

 "มูลนิธิหอสมุดดนตรี"ในหลวงร.9 ผนึกเครือข่ายขยายสู่ประชาชน

        “กลุ่ม อ.ส.วันศุกร์เป็นกลุ่มนักดนตรีในสังกัดวงของพระองค์ท่าน มีอยู่ประมาณ 10 กว่าคน ตอนหลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ประชวร อีกทั้งกลุ่ม อ.ส.วันศุกร์ ก็กังวลว่ากิจกรรมต่างๆ จะเงียบ และกลัวคนจะลืมเพลงพระราชนิพนธ์ของพระองค์ท่าน จึงคิดกันว่าอยากรวบรวมดูแลสมบัติชิ้นนี้ของพระองค์ท่าน ซึ่งพระองค์ท่านทรงรับสั่งเสมอว่า “ดนตรีคือหัวใจของฉัน” กลุ่ม อ.ส.วันศุกร์ จึงแบ่งหน้าที่กันทำงาน โดยมีวัตถุประสงค์ในการก่อตั้งอย่างแรกคือ รวบรวมและอนุรักษ์ และสองคือเพื่อเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องสู่เด็กและเยาวชน 

        นอกจากนี้ พระองค์ท่านยังทรงมีพระราชประสงค์อยากให้คนทุกระดับได้เข้าถึงการให้บริการ แม้ใส่รองเท้าแตะเข้ามาก็ต้องต้อนรับ ซึ่งพระองค์ตรัสไว้ตั้งแต่เปิดหอสมุดดนตรีฯ แห่งนี้แล้ว และเพื่อให้ตรงกับวัตถุประสงค์ ทางมูลนิธิฯ จึงได้ร่วมมือกับอาชีวศึกษา ซึ่งมีความพร้อมทั้งองค์ความรู้และเครื่องมือ เทคโนโลยีต่างๆ ที่จะนำความรู้เหล่านี้ไปเผยแพร่สู่เยาวชนจริงๆ”

        ทั้งนี้ มูลนิธิหอสมุดดนตรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 นอกจากเก็บรวบรวมเพลงพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 9 ซึ่งมีทั้งหมด 48 บทเพลง ที่เป็นต้นฉบับสกอร์ที่ถูกต้องแล้ว ยังรวบรวมประวัติ เรื่องราวของบทเพลงพระราชนิพนธ์ด้วย ภายในมูลนิธิฯ ยังมี “ห้องสมุดดนตรีทูลกระหม่อมสิรินธร” รวมทั้งดนตรีและนาฏศิลป์ในยุครัตนโกสินทร์ทั้งหมด โดยมีการรวบรวมจัดระบบ สแกน และเผยแพร่ในรูปแบบของดิจิทัลด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีรถโมบายมิวสิก หรือรถศูนย์ข้อมูลดนตรี ในการนำความรู้ให้เข้าถึงเยาวชนถึงที่ด้วย

          “สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสนพระหฤทัยทัยดนตรีประเทศอื่นๆ ด้วย เช่น ดนตรีในเอเชีย ดนตรีพื้นบ้าน ฯลฯ ที่นี่ก็มีเก็บรวบรวมมาไว้ นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งรวบรวมความรู้ทางด้านนาฏศิลป์ นาฎดุริยางค์ อาทิ โขน ละเมง ละครต่างๆ รวมทั้งดนตรีและนาฏศิลป์ในยุครัตนโกสินทร์ทั้งหมด มูลนิธิหอสมุดดนตรีฯ จึงมิใช่มีเพียงบทเพลงพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 

          "หากมีของเชื้อพระวงศ์ทั้งหมด รวม 4 หมื่นกว่าเรคคอร์ด ทุกเวอร์ชั่น มีการแบ่งเพลงในสมัยรัตนโกสินทร์ออกเป็น 12 ประเภท ซึ่งใน 12 ประเภทนี้มีตัวอย่างเพลงที่สามารถเข้าไปศึกษาได้ ไม่ว่าจะเป็นเพลงพื้นบ้าน อย่างเพลงรองเง็ง เพลงประกอบทางศาสนา บทสวด เป็นต้น อีกทั้งยังมีเครื่องดนตรีแต่ละชนิดให้เห็นว่าหน้าตาเป็นอย่างไร เล่นอย่างไร มีบทละคร การแสดง มีการบันทึกท่ารำและการแต่งกายที่ถูกต้อง ซึ่งผ่านการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย โดยมีกรมศิลปากรเป็นกรรมการ เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ที่ถูกต้อง ซึ่งทั้งหมดสามารถเปิดด้วยระบบดิจิทัล”

         สำหรับการผสานความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ทางมูลนิธิหอสมุดดนตรีฯ ได้มีดำริที่จะจัดตั้ง “ศูนย์ข้อมูลเพื่อการเรียนรู้ มูลนิธิหอสมุดดนตรีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9” ขึ้น โดยผสานความร่วมมือกับ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและกำลังคนอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา นำโดย นายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ซึ่งอาชีวศึกษามีความพร้อมในด้านระบบคอมพิวเตอร์ การใช้สื่อโสตทัศนูปกรณ์ที่รองรับการเผยแพร่ รวมไปถึงการให้บริการทางไกลผ่านทางสถานีวิทยุเพื่อการศึกษา และพัฒนาอาชีพ(R-Radio Network) ที่ได้สานต่อพระอัจฉริยภาพด้านดนตรีของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งได้ถ่ายทอดไปยัง 142 สถานีทั่วประเทศ 

          โดยมีเป้าหมายที่จะนำคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมของชาติด้านดนตรี นาฏศิลป์ และศิลปะการแสดง รวมทั้งงานช่างฝีมือดั้งเดิม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของชาติ (Intangible Cultural Heritage)” มาหล่อหลอม และสร้างเสริมสติ สมาธิ ให้แก่เยาวชนผู้เป็นรากแก้วของแผ่นดิน ให้เกิดความรัก หวงแหน และความภาคภูมิใจใน “ศิลปวัฒนธรรมประจำชาติอย่างยั่งยืน โดยมีแหล่งสืบทอดความรู้ที่เข้าถึงง่าย” ด้วยการให้เด็กและเยาวชนสนุกในการเรียนรู้ (Edutainment) ด้วยรูปแบบสื่อเรียนรู้ในลักษณะนวัตกรรมสมัยใหม่ ได้ทาง www.r-radionetwork.com, Application: R Radio ทั้งในระบบ IOS และ Android

        นอกจากนี้ หลังจากเริ่มเผยแพร่งานของศูนย์เรียนรู้แล้ว จะจัดกิจกรรมภาคสนาม เพื่อทดสอบและประเมินผลงานที่จัดทำว่ามีความเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายหรือไม่ เพียงใด เพื่อนำข้อมูลที่ได้รับกลับมาปรับปรุงต่อไปอีกด้วย

  

 

          “เราคาดหวังว่าเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่จะสามารถเข้าถึงศิลปวัฒนธรรมของชาติจากสิ่งที่เราสื่อสาร และสามารถสืบค้นได้ง่ายขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของชาติ ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน วางพื้นฐานแนวคิดให้เด็กไปต่อยอดในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในอนาคต เหนือสิ่งอื่นใด เพื่อสืบสานตามแนวพระราชดำริ และพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ในการมีส่วนร่วมอนุรักษ์ ฟื้นฟู ทำนุบำรุง สืบสาน เผยแพร่มรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ ตลอดจนร่วมกันรักษาภูมิปัญญาของบรรพบุรุษให้สืบทอดได้อย่างภาคภูมิใจและอย่างยั่งยืน” อ.จรรมนง แสงวิเชียร รักษาการประธานมูลนิธิหอสมุดดนตรีฯ กล่าวทิ้งท้าย

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ