ข่าว

"พระมหากษัตริย์"เสด็จออกมหาสมาคม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ประวัติศาสตร์ : พระมหากษัตริย์ เสด็จออกมหาสมาคม

 

6 พฤษภาคม 2562 การเสด็จออกมหาสมาคม เป็นพระราชพิธีที่พระมหากษัตริย์เสด็จออกที่ประชุมใหญ่เพื่อการสำคัญ ตลอดจนชั่วชีวิตของสามัญชนทั่วไป คงมีเพียงไม่กี่ครั้ง ที่จะมีโอกาสได้เข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน หรือพระบรมวงศานุวงศ์ 

 

 

การเสด็จออกมหาสมาคมจึงถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญและหาได้ยาก ที่เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้พสกนิกรได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท นอกเหนือจากการได้ชื่นชมพระบารมีผ่านทางสื่อต่างๆ จากเพจ "จับเข่าเล่าประวัติศาสตร์"ได้เล่าถึงประวัติความเป็มา ของการออกมหาสมาคมของพระมหากษัตริย์... ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สังคมไทยถือพระมหากษัตริย์เป็นสมมติเทวราช คือ เป็นราชาผู้เป็นเทพ อันได้สมมติขึ้น

 

เมื่อศึกษาอย่างละเอียดจะพบว่า การถือพระมหากษัตริย์เป็นเทพเจ้านั้น มีรากฐานมาจากวัฒนธรรมดั้งเดิมของอุษาคเนย์ในคติ "เจ้า-ผี" ก่อนที่จะรับเอาแนวคิดจากศาสนาฮินดูเข้ามาปรับใช้ จากผีก็กลายเป็นเทพเจ้าพราหมณ์-ฮินดู อันมีพระอินทร์ ซึ่งเชื่อถือมาแต่เดิม และเทพเจ้าฮินดูอย่างพระพรหม พระวิษณุ และพระศิวะพระมหากษัตริย์ไทยทรงความเป็นเทวราชทั้งสี่พระองค์ พระราชลัญจกรสำหรับแผ่นดินที่ประทับลงบนเอกสารสำคัญในราชการแผ่นดินล้วนแสดงถึงพระราชอำนาจของเทพเจ้าทั้งสี่พระองค์

 

เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงเป็นเทวราชแล้ว การปฏิบัติต่อพระองค์จึงต้องกระทำเยี่ยงอย่างที่กระทำถวายเทพเจ้าการสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับพระมหากษัตริย์ ก็จะสร้างเป็นอาคารถาวร คงทน ก่ออิฐถือปูน ประดับตกแต่งอย่างงดงาม ดังเช่นเทวสถาน พระแท่นพระที่นั่งที่ประทับ ราชรถ ราชยานนั้นก็ต้องมีองค์ประกอบที่แสดงความเป็น "ภูเขา" อันเป็นที่สถิตของเทพเจ้า อย่างการประดับพระแท่นด้วยครุฑ และเทวดา ก็ย่อมหมายถึงเขาพระสุเมรุ อันเป็นที่สถิตของพระอินทร์นั่นเองบุคคลธรรมดานั้นมิอาจจะมองพระมหากษัตริย์ได้

 

ด้วยถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นเทพเจ้าผู้มีรังสีแรงกล้า ซึ่งรังสีจากเทพเจ้าที่แผ่ออกมานั้นจะทำให้ตาบอดได้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว รังสีที่ว่านี้จะมาในรูปของกระสุนจากพระตำรวจ เพื่อให้สมตามคติความเชื่อ แม้การเข้าเฝ้ากราบบังคมทูลก็จะต้องใช้ระดับภาษาที่ต่างออกไปจากคนปกติในปัจจุบันนี้ คติความเชื่อต่างๆ ที่ได้กล่าวมาได้คลี่คลายลงไปแล้วนับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา พระมหากษัตริย์ทรงความเป็นกษัตริย์ตามแบบตะวันตกมากขึ้น มิได้ทรงมีชีวิตดั่งเทพเจ้าในเทวาลัยดุจครั้งกรุงศรีอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์

 

 

อย่างไรก็ตาม ความเป็นเทวราชก็ยังคงดำรงอยู่คู่พระมหากษัตริย์จวบจนปัจจุบันและโอกาสที่พระมหากษัตริย์จะแสดงความเป็นเทวราชตามคติโบราณ คือการเสด็จออกมหาสมาคมภาพที่ทุกคนคุ้นเคยกันดีในการเสด็จออกมหาสมาคม คือการที่พระวิสูตร (ม่าน) ค่อยๆ เปิดเมื่อสิ้นเสียงกรับ แล้วเราก็จะค่อยๆ แลเห็นในหลวงประทับบนพระแท่นสูงใหญ่ รายล้อมไปด้วยข้าราชบริพาร มีเสียงแตร มโหระทึกประโคมไปด้วย เหล่านี้คือการแสดงทิพยภาวะอย่างเป็นรูปธรรมขององค์พระมหากษัตริย์ในอดีตกาล

 

เมื่อจะมีการเสด็จออกมหาสมาคม พระวิสูตรจะเปิดอยู่ เผยให้เห็นพระที่นั่งที่ประทับ อันรายล้อมด้วยต้นไม้เงิน-ทอง สำหรับของกรุงรัตนโกสินทร์นั้นก็มีหลายองค์ แต่องค์ที่ทุกคนคุ้นเคยดีที่สุดคือพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ จนกระทั่งใกล้ถึงเวลาเสด็จออก พระวิสูตรจะปิดลง ครั้นเมื่อพระมหากษัตริย์ประทับบนพระที่นั่งแล้ว มหาดเล็กรัวกรับ เมื่อสิ้นเสียงกรับ ชาวม่านจะไขพระวิสูตร พร้อมกับเสียงแตร และมโหระทึก พระตำรวจหลวงชูพุ่มทอง ก็จะเห็นพระมหากษัตริย์เจ้าประทับบนพระที่นั่ง รายล้อมด้วยต้นไม้เงิน-ทอง อีกทั้งพระราชวงศ์ แลข้าราชบริพาร พระมหากษัตริย์นั้นทรงแต่งพระองค์ด้วยอาภรณ์อันงดงาม

 

แม้ยุคปัจจุบันนี้ พระมหากษัตริย์จะทรงเครื่องแบบเต็มยศแบบทหาร แต่ก็ยังคงต้องทรงสวมฉลองพระองค์ครุยทับไว้ และมีเครื่องราชูปโภควางทอดไว้ข้างพระองค์ตามอย่างโบราณการใช้ม่านกั้นนั้น ชวนให้นึกถึงเทวสถานบางแห่ง ซึ่งมีการกั้นม่านระหว่างภายนอกกับส่วนที่ประดิษฐานเทวรูป เมื่อจะเปิดเทวสถานให้ผู้คนได้สักการะบูชา ก็จะแต่งองค์เทวรูป ซึ่งฉลองพระองค์พระมหากษัตริย์ก็เป็นอย่างอาภรณ์ที่แต่งเทวรูป เมื่อเสร็จแล้วจึงเปิดม่าน รับการสักการะบูชาต่อไป

 

เช่นเดียวกับการที่พระมหากษัตริย์เสด็จออกมหาสมาคม ระหว่างการเสด็จออกนั้นก็จะมีการประโคม ซึ่งก็ไม่ต่างกับการประโคมดนตรีเมื่อยามเทพเจ้าเสด็จ ดังการแสดงฤทธานุภาพนอกจากนี้ การเปิดพระวิสูตรไว้ก่อนจะเสด็จ แล้วปิดเมื่อเสด็จมาถึงท้องพระโรง ก่อนจะเปิดขึ้นอีกครั้ง เป็นการเสริมภาพความเป็นทิพยภาวะให้ชัดเจนขึ้น เพราะจากพระที่นั่งที่ว่างเปล่าในตอนแรก เมื่อเปิดพระวิสูตรมาอีกครั้งก็ปรากฏภาพพระมหากษัตริย์ประทับบนพระที่นั่ง รายล้อมด้วยต้นไม้เงิน-ทอง พระราชวงศ์ ข้าราชบริพารที่เป็นดั่งเทพบริวาร ย่อมแสดงความเป็นเทพเจ้าของพระมหากษัตริย์ ที่ทรงปรากฏพระองค์ขึ้นอย่างเป็นทิพย์จนเมื่อเสร็จการแล้ว พระวิสูตรก็จะปิดลง พร้อมกับเสียงประโคมดังเดิม

 

เมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จเข้าข้างในแล้ว พระวิสูตรจะถูกเปิดออกอีกครั้ง พร้อมกับภาพพระที่นั่งอันว่างเปล่า ดังพระเป็นเจ้าหายวับไปในวิมานปัจจุบัน ธรรมเนียมการเสด็จมหาสมาคมได้ลดทอนการเปิด-ปิดพระวิสูตรลง เหลือเพียงการเปิดเพียงแค่ครั้งเดียวเมื่อเสด็จออก และเมื่อปิดพระวิสูตรลงก็จะไม่ได้เปิดซ้ำอีก ธรรมเนียมการเสด็จออกมหาสมาคมอย่างโบราณยังได้ถูกนำมาประยุกต์ให้เข้ากับการปกครองในระบอบรัฐสภา โดยอนุโลมตามธรรมเนียมพิธีเปิดประชุมสภาของอังกฤษ ที่พระมหากษัตริย์ หรือสมเด็จพระบรมราชินีนาถอังกฤษจะเสด็จยังรัฐสภา เพื่อทรงให้สมาชิกสภาขุนนาง และสภาสามัญเข้าเฝ้าฯ และพระราชทานพระราชดำรัส

 

โดยพระองค์จะทรงฉลองพระองค์ และมงกุฎตามอย่างโบราณ และประทับบนพระที่นั่งโธรนตามประเพณีเมื่อธรรมเนียมนี้มาถึงเมืองไทย ก็นำแบบแผนการเสด็จออกมหาสมาคมอย่างโบราณมาใช้ในการเปิดประชุมรัฐสภา เพียงแต่ของไทยจะไม่ได้กระทำทุกปีแบบอังกฤษ กระทำเพียงแค่เมื่อเกิดสมาชิกรัฐสภาชุดใหม่เท่านั้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สยามินทราธิราช บรมนารถบพิตร มีการเสด็จออกมหาสมาคม ทั้งเป็นพระราชพิธีประจำปี และพระราชพิธีในโอกาสพิเศษ รวมเสด็จออกสีหบัญชรทั้งสิ้น 8 ครั้ง แต่ละครั้งมีขึ้นในสถานที่ต่างๆ อาทิ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมาน พระที่นั่งไพศาลทักษิณมหินทรพิมาน สีหบัญชร พระที่นั่งอนันตสมาคม พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท มุขเด็จ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และพระที่นั่งองค์พิเศษ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

 

ทั้งนี้ เพื่อพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาท คณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา คณะทูตานุทูต ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ตลอดจนพสกนิกรทุกหมู่เหล่า เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทการเสด็จออกสีหบัญชรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ในแต่ละครั้งนั้นคึกคักไปด้วยประชาชนจากทั่วสารทิศ มวลมหาประชาชนที่มามีจำนวนมากมายมหาศาล โดยหวังที่จะได้เข้าเฝ้าชื่นชมพระบารมีขององค์พระประมุขศูนย์รวมดวงใจชาวไทยให้ใกล้มากที่สุด

 

ทั้งยังต่างร่วมกันร้องเพลงถวายพระพรในหลวง รวมทั้งโบกธงสัญลักษณ์ แสดงให้เห็นถึงความจงรักภักดีที่มีต่อพระองค์ท่าน พสกนิกรทุกหมู่เหล่าที่มาคอยเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทล้วนปลื้มปิติที่ได้ชื่นชมพระบารมีของพระองค์ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท เพื่อให้ประชาชนเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล ในวันจันทร์ที่ 6 พฤษภาคม 2562 เวลา 16.30 น. โดยเริ่มเปิดให้ประชาชนเข้าพื้นที่ เวลา 12.00น. เป็นต้นไป

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ