ข่าว

เฉลิมพระปรมาภิไธย ในหลวง ร.9 พระราชบิดา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการ เฉลิมพระปรมาภิไธย ในหลวง ร.9 พระราชบิดา เป็น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์ อ่านประกาศกระแสพระบรมราชโองการ เฉลิมพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เป็น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร   

 

เฉลิมพระปรมาภิไธย ในหลวง ร.9 พระราชบิดา

 

          วันที่ 5 พ.ค. 62 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย และสถาปนาพระฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศ์ ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้ นายภูมินทร ปลั่งสมบัติ อาลักษณ์ กองอาลักษณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี อ่านประกาศพระบรมราชโองการเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย และสถาปนาพระฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศ์

 

เฉลิมพระปรมาภิไธย ในหลวง ร.9 พระราชบิดา

 

          การนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เฉลิมพระปรมาภิไธยพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระบรมชนกนาถ เพื่อถวายพระเกียรติยศตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏ ว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

 

          ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เป็นพระมหากษัตริย์ ลำดับที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี พระราชสมภพ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2470 ณ เคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา พระบรมราชชนก สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และพระบรมราชชนนี สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงมีพระเชษฐภคินีและสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล และทรงมีพระบรมราชินี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชโอรส/ธิดา 4 พระองค์ ได้แก่ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี, สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ  สยามมกุฎราชกุมาร (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10),  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

 

          พระนาม “ภูมิพลอดุลเดช” นั้นพระบรมราชชนนีได้รับพระราชทานทางโทรเลขจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2470 โดยทรงกำกับตัวสะกดเป็นอักษรโรมันว่า “Bhumibala Aduladeja” ทำให้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงเข้าพระทัยว่าได้รับพระราชทานนามพระโอรสว่า “ภูมิบาล” ในระยะแรกพระนามของพระองค์สะกดเป็นภาษาไทยว่า “ภูมิพลอดุลเดช” ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเองทรงเขียนว่า “ภูมิพลอดุลยเดช” โดยทรงเขียนทั้งสองแบบสลับกันไป จนมาทรงนิยมใช้แบบหลังซึ่งมีตัว “ย” สะกดตราบปัจจุบัน

 

          พระนามของพระองค์มีความหมายว่า ภูมิพล - ภูมิ หมายความว่า “แผ่นดิน” และ พล หมายความว่า “พลัง” รวมกันแล้วหมายถึง “พลังแห่งแผ่นดิน” ส่วนอดุลยเดช - อดุลย หมายความว่า “ไม่อาจเทียบได้” และ เดช หมายความว่า “อำนาจ” รวมกันแล้วหมายถึง “ผู้มีอำนาจที่ไม่อาจเทียบได้”

 

          เดิมทีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงตั้งพระราชหฤทัยว่าจะทร ครองราชสมบัติแต่ในช่วงการจัดงานพระบรมศพของพระบรมเชษฐาเท่านั้น เพราะยังทรงพระเยาว์และไม่เคยเตรียมพระองค์ในการเป็นพระมหากษัตริย์มาก่อน เหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นในขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับรถพระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินไป ยังท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง เพื่อทรงศึกษาเพิ่มเติมที่สวิตเซอร์แลนด์ ก็ทรงได้ยินเสียงราษฎรคนหนึ่งตะโกนว่า “ในหลวง อย่าทิ้งประชาชน” จึงทรงนึกตอบในพระราชหฤทัยว่า “ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนอย่างไรได้”    

 

          วันที่ 5 พฤษภาคม 2493 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบอย่างโบราณราชประเพณีขึ้น ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เฉลิมพระปรมาภิไธยตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร” พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”  

 

พระราชกรณียกิจ
ตั้งแต่ปี 2502 เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร  พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงกระชับสัมพันธไมตรีกับประเทศต่าง ๆ ทั้งในยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย และ เอเชีย และได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในภูมิภาคต่างๆ ทุกภาคทรงประจักษ์ในปัญหาของราษฎรในชนบทที่ดำรงชีวิตด้วยความยากจน ลำเค็ญและด้อยโอกาส ได้ทรงพระวิริยะอุตสาหะหาทางแก้ปัญหาตลอดมาตราบจนปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่า ทุกหนทุกแห่งบนผืนแผ่นดินไทยที่รอยพระบาทได้ประทับลง ได้ทรงขจัดทุกข์ยากนำความผาสุกและทรงยกฐานะความเป็นอยู่ของราษฎร ให้ดีขึ้นด้วยพระบุญญาธิการและพระปรีชาสามารถปราดเปรื่อง พร้อมด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล ทรงอุทิศพระองค์เพื่อประโยชน์สุขของราษฎร และเพื่อความเจริญพัฒนาของประเทศชาติตลอดระยะเวลาโดยมิได้ทรงคำนึงประโยชน์ สุขส่วนพระองค์เลย

 

          ทั้งนี้ ได้พระราชทานโครงการนานัปการมากกว่า 2,000 โครงการ ทั้งการแพทย์สาธารณสุข การเกษตร การชลประทาน การพัฒนาที่ดิน การศึกษา การพระศาสนา การสังคมวัฒนธรรม การคมนาคม ตลอดจนการเศรษฐกิจเพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรในชนบท ทั้งยังทรงขจัดปัญหาทุกข์ยากของประชาชนในชุมชนเมือง เช่น ทรงแก้ปัญหาการจราจรอุทกภัยและปัญหาน้ำเน่าเสียในปัจจุบัน ได้ทรงริเริ่มโครงการการช่วยสงเคราะห์ และอนุรักษ์ช้างของไทยอีกด้วย

 

          แม้ในยามประเทศประสบภาวะเศรษฐกิจ ตั้งแต่ปี 2539 ก็ได้พระราชทานแนวทางดำรงชีพแบบ “เศรษฐกิจพอเพียง” และ “ทฤษฎีใหม่” ให้ราษฎรได้พึ่งตนเอง ใช้ผืนแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดประกอบอาชีพอยู่กินตามอัตภาพซึ่งราษฎร ได้ยึดถือปฏิบัติเป็นผลดีอยู่ในปัจจุบัน  

 

          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 พระชนมพรรษา 88 พรรษา

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ